เชียงใหม่ใต้วัฒนธรรมเก่า: ตามหาสมดุลวัฒนธรรมกับป้าจิ๋ม-เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่

เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีเสน่ห์โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์และเมืองที่น่าอยู่น่าเที่ยว เป็นจุดหมายของใครหลายคน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลต่างๆ ที่เมืองเชียงใหม่มักจะจัดงาน ทำงานตกแต่งเมืองให้สวยงามต้อนรับผู้มาเยือนทั้งเก่าและใหม่

8 ปีมาแล้ว เมื่อลมหนาวเริ่มพัดมาทักทาย เชียงใหม่จะถูกตกแต่งให้สวยงามและมีการจัดงานใหญ่ของเมือง ที่แม่งานนำโดยเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ วันนี้เราได้มีโอกาสมาคุยกับป้าจิ๋ม-เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง หญิงร่างเล็กแต่ใจใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่

บทบาทของเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่คืออะไร

“เครือข่ายของเราเริ่มต้นจากการที่เราอยากจะรณรงค์เรื่องประเพณีและวัฒนธรรม ที่บางอย่างมีประเด็นเรื่องการขายวัฒนธรรม จนทำให้ความหมายมันผิดเพี้ยนไป มันกลายเป็นธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น การปล่อยโคมไฟ ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว การปล่อยโคมไฟเป็นสิ่งที่นิยมกันเป็นอย่างมาก แม้ไม่ได้อยู่ในช่วงเทศกาล เพียงแค่มีนักท่องเที่ยวหรือแขกบ้านแขกเมืองมาเยือนจังหวัดเชียงใหม่ ก็มีการปล่อยโคมกันแล้ว ทำให้คนในเขตเมืองเก่า (เชียงใหม่) เจอสภาวะไฟดับบ่อย เพราะโคมตกลงมาโดนเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า เกิดไฟไหม้เพราะโคมตกลงมาบนหลังคาบ้าน เกิดขยะเกลื่อนเมือง”

“ต้นเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เราลุกขึ้นมาทำงานจุดประทีป (ต๋ามผางประทีป) เพื่อทดแทนการปล่อยโคม เพราะโคมไฟตกลงมาบนหลังคาบ้านคนในชุมชน ทำให้คนในบ้านตกใจ จนกระโดดลงมาจากชั้น 2 ของบ้านแล้วขาหัก จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เราต้องกลับมาคิดวิธีแก้ไขปัญหา แทนที่เราจะต้องระแวง นอนไม่หลับเพราะกลัวโคมตกลงมา คอยถือไม้สอย(ไม้ซ้าว)ยาว ๆ เพื่อปัดโคมที่ตกลงมา ทั้งกรณีที่โคมตกลงมาที่ร้านจินเฮงฮวดในกาดหลวงจนทำให้ไฟใหม้ร้านไปทั้งหลัง เราจึงติดว่าเราควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อทดแทนการปล่อยโคม เพราะการสื่อสาร การให้ความหมายของการปล่อยโคมนั้นมันเพี้ยนไปจากสมัยก่อน เดิมเราปล่อยว่าวฮมหรือโคมควัน ซึ่งเขาจะปล่อยวัดละลูกเท่านั้น ตอนเราเป็นเด็ก ตอนที่เขาปล่อยเขาจะปล่อยตอนกลางวันช่วยที่เราเรียนอยู่ หากใครได้ยินเสียงประทัด (บะท่บ) ก็จะชวนกันวิ่งไปดูโคมควัน จนไม่เป็นอันเรียน เพราะสมัยก่อนเขาบอกว่าการปล่อยโคมคือการเคารพสักการะพระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ เราจึงมองว่าโคมนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์ และเป็นงานส่วนรวมที่ทุกคนไปวัดเพื่อที่จะช่วยกันสร้างโคมสัก 1 ลูกขึ้นมา และจะมีเวลาในการปล่อยคือหลังจากสวดบนวิหารเสร็จ ก่อนเพลจะมีการปล่อยโคมเนื่องจากความกดอากาศกำลังอยู่ในช่วงที่เหมาะสม ทุก ๆ อย่างมันถูกแฝงอยู่ในภูมิปัญญาของเราทั้งหมด แต่เมื่อยุคสมัยมันเปลี่ยนไปและมีคนหยิบเอาโคมไฟขึ้นมาใช้จัดงานอีเว้นท์ จึงกลายเป็นว่าทุกคนตื่นเต้น เพราะปล่อยขึ้นไปแล้วมันสวยงาม แต่กลับไม่ได้คำนึงถึงผลที่จะตามมา”

‘ต๋ามผางประทีปส่องฟ้า ฮักษาเมือง’

“คนเมือง (คนท้องถิ่นภาคเหนือ) เรามีจารีต (ฮีต) ที่จะอ่อนน้อมต่อสิ่งเราใช้ เราต้องไปขอขมา (สุมา) ต่อสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น บ่อน้ำ เครื่องมือทำมาหากิน บันไดบ้าน ห้องน้ำ ห้องครัว เราต้องไปจุดประทีป เพื่อขอบคุณและขมาที่เขาได้ให้ประโยชน์กับเราและเราได้ใช้เขา นี่คือวิถีของคนเมือง  เราจึงหยิบจุดนี้ขึ้นมา ในทุกปีเราจุดตามบ้านกันอยู่แล้ว เราจึงชวนกันว่าเราลองจุดรอบคูเมือง (เชียงใหม่) กันดีไหม เพื่อดูว่าเมื่อเรานำจารีตเก่าของเรามาใช้ทดแทนการปล่อยโคมแล้ว จะเป็นอย่างไร จึงเป็นที่มาของงาน ‘ต๋ามผางประทีปส่องฟ้า ฮักษาเมือง’ โดยเริ่มแรกเรายังไม่มีเงินมาก เราจุดได้เพียง 25,000 ดวง ซึ่งเป็นดวงเล็ก ๆ ที่จุดได้เพียง 15 นาทีก็ดับ ลมพัดมาแรง ๆ ก็ดับ แต่มันกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้คนเห็นว่าวิวัฒนาการในศิลปวัฒนธรรมของเรามันสามารถปรับไปตามยุคสมัยได้ โดยไม่ละทิ้งจารีตเดิมของเรา พอทำได้ปีสองปีก็มีหน่วยงานเช่น เทศบาลและอบจ. มาสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งถ้าเทียบกับการจ้างออกาไนซ์มาจัดงาน มันใช้งบน้อยมาก พวกเราที่รวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายเมืองเก่า ทั้งเมืองเก่าชั้นในและชั้นนอก และเพื่อนพี่น้องที่ทำงานร่วมกันมาตลอด ก็เข้ามาช่วยกัน งานจึงเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ จนตอนนี้เข้าปีที่ 9 ที่เราจัดงานเราสามารถจุดประทีปรอบคูเมืองได้ถึง 100,000 ดวง”

“แทนที่เราจะไปปล่อยโคมตามงานอีเว้นท์ทั้งหลายที่ส่วนมากออกาไนซ์ข้างนอกมาเป็นคนจัดงาน เพียงแต่อาศัยพื้นที่เรา ทิ้งขยะไว้ให้เรา โดยที่เราไม่รู้ว่าเม็ดเงินตกถึงคนเชียงใหม่จริง ๆ เท่าไหร่ ปีนี้เราจึงเสริมงานของเราด้วยการบูชา(ปู่จา)โคมแขวน เพระแหล่งที่ทำงานฝีมือโคมแขวน แหล่งใหญ่คือชุมชนเมืองสาตร ซึ่งมีอาชีพทำโคมแขวนอยู่แล้ว ในส่วนของเครือข่ายของเรามองว่าการที่เราจ้างเขาทำโคมมันทำให้กระจายรายได้สู่ชุมชนจริง ๆ ถึงชาวบ้านจริง ๆ และการแขวนโคมมันไม่เหมือนกับการปล่อยโคมที่ปล่อยได้ครั้งเดียวแล้วก็ทิ้งไป แต่โคมแขวนสามารถคงอยู่ได้เป็นเดือน ซึ่งมันสามารถตกแต่งเมืองของเราได้ บางคนอาจจะไม่มีเวลามาเที่ยววันลอยกระทงก็ยังสามารถมาก่อนหรือหลังและยังพบกับความสวยงามของโคมแขวนได้”

“มันมีกรณีตัวอย่างที่เมื่อปีใหม่ที่ผ่านมา มีข่าวว่าที่เยอรมันมีคนสั่งซื้อโคมไฟทางออนไลน์ แล้วปล่อยโคมไฟไปตกในสวนสัตว์ ทำให้เสียชีวตเป็นจำนวนมาก เราจึงมองว่า เราจะต้องรอให้มันไหม้สิ่งสำคัญของเราก่อนหรือเราถึงจะตระหนักรู้ว่าสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เราควรมองถึงคงามปลอดภัย และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า”

“จริง ๆ บ้านเราก็มีกฏหมายควบคุม มีเขตห้ามปล่อยในเขตเมือง ในเขตการบิน แต่มันจัดการไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ ก็ขอเรียกร้องให้หน่วยงานพิจารณาปรับ ในส่วนของเชียงใหม่เราก็มีคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยจังหวัด ประชุมไปก็หลายครั้ง แต่สุดท้ายพอประกาศออกมาก็เหมือนเดิม สิ่งที่เราเสนอไปหลาย ๆ อย่างก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ เราจึงตั้งคำถามว่าจังหวัดของเรามีความจริงใจในการที่คิดจะแก้ไขปัญหามากพอหรือยัง”

โคมไฟมาจากไหน

ถ้านับจากอายุของป้าที่อายุ 60 กว่าปีแล้ว ตอนเด็กป้าไม่เคยเห็นนะ เห็นแต่โคมควัน แต่เห็นเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วที่พิธีเปิดงานกีฬาซีเกมส์ที่จัดที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี หลังจากนั้นพอมีคนเห็นแล้วว่าปล่อยขึ้นไปบนฟ้าแล้วมันสวยงาม ทุก ๆ ก็เลยเห่อปล่อยโคมกัน และจุดสังเกตุหนึ่งที่ป้าพบว่าเหตุใดผู้คนจึงเดินทางมาปล่อยโคมที่บ้านเรากัน เพราะที่อื่นการปล่อยโคมมันผิดกฎหมาย ซึ่งบ้านเราไม่มีกฎหมายควบคุมในเรื่องนี้ มีคนพูดถึงกรณีที่ไต้หวัน ว่าทำไมถึงปล่อยได้ ป้าจิ๋มก็ไปดูงานมาแล้ว ที่ไต้หวันเขากำหนดจุดปล่อยชัดเจน แต่เท่าที่สอบถามจากชาวบ้านโดยรอบที่ได้รับผลกระทบจากขยะที่มันตกลงมา เขาเองก็ได้รับผลกระทบเหมือนเรา เขาเองยังพูดเลนว่าถ้าเราจัดการเรื่องนี้ได้สำเร็จ เขาจะมาดูงานที่เชียงใหม่ของเรา แสดงว่าโคมไฟนี้คือตัวปัญหาที่ทุกคนอยากจะจัดการกับมัน แต่ทีนี้มันยังไม่มีอะไรมาทดแทนภาพจำอันสวยงามของการปล่อยโคมขึ้นฟ้าจะมีภาพอื่นที่งดงามกว่านั้นไหม เราก็อยู่ในระหว่างที่พยายามจะรณรงค์กันต่อไป”

“ปีหน้า เมืองเชียงใหม่ของเราจะมีอายุครบ 725 ปี ถ้าเราวางแผนตั้งแต่ตอนนี้ เราก็สามารถทำราวโคมแขวนรอบคูเมืองเลยก็ได้ มีโคมแขวนเป็นล้านดวงเลยก็ได้ อย่างเช่น จังหวัดลำพูนตอนนี้ที่กำลังจัดงานโคมแขวนกันทั่วเมือง งดงามมาก ทุก ๆ คนไปเที่ยว ไปถ่ายรูป ไปบูชาโคมแขวน โดยไม่ปล่อยโคมไฟเลยสักลูก เขาก็ยังทำได้ แล้วเชียงใหม่เรามีอะไรล่ะ ถ้าเรายังไม่เริ่มคิดถึงการสร้างสรรค์ที่ควบคู่ไปกับการรักษาจารีตเก่าไว้ การท่องเที่ยวในบ้านเราก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเมืองอยู่เหมือนกัน”

จัดงานเข้าสู่ปีที่ 9 ป้าจิ๋มเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

“คนรับรู้เรื่องการแก้ปัญหาเมืองโดยใช้การจัดการและการสร้างสรรค์งานแบบใหม่มา เรามีเด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามามีส่วนร่วม มาช่วยเรา เป็นกลุ่มนางรำ(จ้างฟ้อน) เด็กนักศึกษาที่มาช่วยงาน หรือแม้แต่คนที่ผ่านมาเห็นงานของเรา เขาจะรับรู้ถึงความคิดของเราในเรื่องการใช้ความสร้างสรรค์ พัฒนาวัฒนธรรมดั้งเดิมมาแก้ไขปัญหาระดับเมืองที่เกิดขึ้น เพราะเรามองว่าคนในชุมชนต่าง ๆ ก็ต่างสูงอายุ ร่วงโรยไปตามวัย สิ่งที่เราจะทำได้ในตอนนี้ก็เพียงส่งต่อสิ่ง ๆ ต่างให้เยาวชน”

นอกจากงานรณรงค์เรื่องประทีปและโคมแล้ว เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่มีหน้าที่อะไรอีกบ้าง

“งานหลักๆ ของเครือข่าย มีอยู่ 2 งาน คือ ‘ต๋ามผางประทีปส่องฟ้า ฮักษาเมือง’ และ ‘งาน‘งานยอสรวยไหว้สาพญามังราย’ ในวันที่ 12 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันสร้างเมืองเชียงและตรงกับเทศกาลสงกรานต์ (ปี๋ใหม่เมือง) เราจัดเพราะอยากให้คนตระหนักรู้ว่า เมืองเราสร้างมาแล้ว 700 กว่าปี มันมีความสำคัญอย่างไร เพราะถ้าคนเห็นคุณค่าของเมืองแล้ว ก็จะเกิดความรู้สึกที่อยากจะรักษาเมืองตามมา”

“แต่ที่นี้ด้วยความที่เป็นเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ มะนทำให้วงที่เราอยู่มันมาจากหลากหลายชุมชน แล้วพอสมาชิกในเครือข่ายฯมีปัญหาในชุมชนเกิดขึ้น เราก็จะเข้าไปช่วยกัน ไปดูว่าเราพอจะทำอะไรได้บ้าง เช่น ชุมชนริมคลองแม่ข่ามีปัญหาขยะ มีคนเก็บขยะอยู่แล้ว แต่กำลังด้านงบประมาณมีไม่พอ เราก็เข้าไปจัดตั้งกองทุน เงินก็ไม่ได้มากมาย แต่มันก็เพียงพอที่จะจัดการกับปัญหาขยะในชุมชนที่ต่อเนื่องได้ พอมีอะไรจะช่วยได้ เราก็จะช่วย เพราะยังไงเราก็ทำงานร่วมกันอยู่แล้ว หลายเรื่องราวล้วนมาจากสมาชิกในเครือข่ายฯทั้งนั้น มันทำให้เวลานี้ชื่อของเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่จะไปแตะอยู่ในหลายประเด็นของเมือง”

เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่เชื่อมตัวเองเข้ากับโลกสมัยใหม่ยังไง

“เรามองว่าเครือข่ายฯของเราที่พยายามทำงานหลาย ๆ อย่าง เราไม่ได้คิดจะให้เชียงใหม่กลับสู่บรรยากาศเมื่อ 700 ปีที่ผ่านมา แต่เรามองว่า ณ เวลานี้เรามีอะไรที่สามารถรักษาได้บ้าง เราก็รักษาไว้ เราไม่ได้อนุรักษ์เสียจนหัวชนฝา การพัฒนาและการอนุกรักษ์มันไปด้วยกันได้ เพียงแต่ว่ามันต้องมีการคุยกัน มีการเจรจา มีการออกแบบที่ดี เรามองว่าการทำงานพาทุกมานั่งคุยกันแล้วบอกความคิดของทุกคน เราเชื่อว่ามันดีกว่าทำใครทำมันแล้วมาทะเลาะกัน มันดีกว่าการที่เราจะอนุรักษ์โดยไม่สนใจใคร (บ่ฟังเหนือฟังใต้) หรือพัฒนาจนละทิ้งจารีตประเพณี (ฮีตฮอย) เก่าของเรา”

อยากฝากอะไรถึงคน (ใน) เมืองเชียงใหม่

“ป้าเชื่อแน่ว่าเชียงใหม่มันมีเสน่ห์ ทุก ๆ คนต่างก็อยากมาอยู่ แต่สิ่งที่อยากฝากก็คือ มาอยู่แล้วรักเมืองเราด้วย บางคนมาอยู่เพียงเพื่อทำมาหากินเฉย ๆ แต่การที่จะดูแลรักษาเมืองเนี่ย เขาละเลยจุดนี้ไป ถ้าจุดนี้ไม่ได้รับการดูแลรักษาร่วมกัน อีกหน่อยเชียงใหม่ก็กลายเป็นกรุงเทพ มีแต่ผับแต่บาร์ มีแต่ตึกสูง ไม่ต่างจากกรุงเทพหรือพัทยา เสน่ห์ของเชียงใหม่ที่ทำให้คนทั้งหลายอยากมาอยู่ มันมีอยู่จุดหนึ่ง เชื่อแน่ว่าทุกคนรู้ว่าจุดไหนที่ทำให้ทุกคนอยากมาอยู่เชียงใหม่ ควรจะรักษาจุดนั้นไว้ให้ดี อย่านึกถึงเรื่องผลประโยชน์ของตัวเองมากเกินไป ควรจะตอบแทนเมืองตามสมควรบ้าง เพื่อทำให้เมืองเราดำรงอยู่และเป็นสถานที่ที่ใครมาก็ประทับใจ”

อะไรที่ทำให้ป้าจิ๋มลุกขึ้นมาทำงานเพื่อเมือง

“เพราะอยากให้เมืองเราดี เพราะเราเกิด โตที่นี่ ที่นี่ทำงานที่นี่ เรามองว่าเมืองเราอยู่อย่างมีความสุข ตอนยังเป็นหนุ่มสาวเราก็ทำมาหากินปกติไป จนเมื่อเริ่มอายุมาขึ้นมันมีสิ่งที่มากระทบเราโดยตรง จึงได้ฉุกคิดว่าการที่เราเพิกเฉยหรือไม่ได้ออกมาเรียกร้อง ปกป้องอะไรเพราะว่ามันยังไม่กระทบตัวเราเท่านั้นเอง อย่างกรณีของป้าจิ๋ม คือเรื่องบาร์ข้างบ้านส่งเสียงดังรบกวนการอยู่อาศัย ทำให้ลุกขึ้นมาถามว่าเราควรมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอยู่ในเมืองของเราอย่างมีความสุขไหม สิ่งนั้นทำให้เราลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ์ ปกป้องเมืองของเรา และทำมาเรื่อย ๆ จนถึงตอนนี้ เพียงเพราะเราอยากอยู่ดี(อยู่ม่วน)อย่างที่เราเคยอยู่มา ถ้าเราช่วยกัน ป้าจิ๋มเชื่อว่าเราทำได้แน่นอน”

Contributors

โอบเอื้อ กันธิยะ

สถาปนิกชาวเชียงใหม่ที่ถนัดเขียนมากกว่าวาด ถนัดเล่าบอกมากกว่าร่างแบบ

ปิยวัฒน์ แสงเงินชัย

อดีต Visual Director และกองบรรณาธิการ Behind The Scene