ประสบการณ์แข่งขันของนักกีฬาลีลาศประจำมหาวิทยาลัย กับเรื่องราวที่ทำให้เขาหลงรักการเต้น

 เอาอีก! แรงอีก!! แรงขึ้นอีก!!!”

เป็นเสียงของผู้จัดการทีมกีฬาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ดังเสมอเมื่อเราเปิดวิดีโอในมือถือตอนที่เราเป็นนักกีฬา

แต่ว่ามีแค่ทีมของเราคนเดียวซะเมื่อไหร่ ทีมรอบข้างเขาก็เสียงดังไม่แพ้กัน บรรยากาศเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราเจอมาตลอด 3 ปีที่เราก้าวเข้าสู่วงการนักกีฬาของมหาวิทยาลัย ในทุกการแข่งขันล้วนมีแต่ความทรงจำ บทเรียน บาดแผล และประสบการณ์อันล้ำค่ากับเราเสมอ มันทำให้เราหวนคิดถึงกลิ่นของการเป็นนักกีฬา ที่ตัวเราไม่คิดไม่ฝันว่าเราจะมีจุดนี้กับคนอื่นเขาบ้างสักครั้งในชีวิต

ความฝันของเด็กผู้ชายหลายคนคือ การได้เป็นหนุ่มป๊อป นักดนตรี นักกีฬาของโรงเรียนหรือของมหาวิทยาลัย ที่มีสาวๆ ชื่นชอบมากมาย แต่นั่นก็ต้องเป็นนักฟุตบอล นักบาสเก็ตบอล ตัดภาพมาที่เรา-ที่มีส่วนสูงไม่ถึง 170 เซนติเมตร น้ำหนักไม่ถึง 55 กิโลกรัม (ในตอนนั้น) จะไปเป็นนักกีฬาอะไรได้วะ จนเรามาได้รู้จักกับกีฬาชนิดหนึ่ง ที่มันช่างเข้ากับเราซะเหลือเกิน เราได้แต่พูดว่า “กูไปอยู่ที่ไหนมาวะ ทำไมแถวบ้านกูไม่มีแบบนี้ ทำไมถึงเพิ่งจะมาเจอ”

กีฬานั่นคือกีฬาลีลาศนั่นเอง

 

ฝันฟ้าเฟื่องฟลอร์ … ไฉไล

ลีลาศเป็นกีฬาที่ไกลตัวเพราะทุกคนเคยชินกับภาพการเต้นของผู้สูงอายุตามลานแอโรบิค งานเลี้ยงผู้สูงอายุ หรือถูกบรรจุอยู่ในวิชาพละเท่านั้น สำหรับเราลีลาศเป็นกีฬาที่ต้องใช้ทักษะร่างกาย และประสาทสัมผัสสูงมาก เพราะต้องจำฟิกเกอร์ (จำท่า) ต้องฟังจังหวะ แบ่งสัดส่วนร่างกาย ลีลาศจึงเป็นกีฬาที่ต้องทรมานร่างกาย เพื่อให้ได้สิ่งที่สวยงามขึ้นมา

เราจึงเห็นได้ว่าคนที่เป็นนักกีฬาทีมชาติ หรือนักกีฬาระดับโลกมักจะเริ่มฝึกกันตั้งแต่อายุ 4-5 ปี และลีลาศเป็นกีฬาที่เข้าใจยากมากที่สุด คนดูจะไม่มีทางรู้เลยว่าคู่ไหนจะชนะ จะได้คะแนนจากอะไร หลังจากนี้ เราจะพามาทำความรู้จักของกีฬาชนิดนี้กันในแบบง่ายๆกัน

ลีลาศในภาษาอังกฤษเราจะเรียกว่า Dancesport (หรือ Ballroom Dance ก็ได้-บรรณาธิการ) โดยทั่วไป การแข่งขันอาชีพจะมีการแบ่งเป็นรุ่นตามอายุ แต่ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยจะแบ่งการแข่งขันเป็นคลาส แบ่งเป็นคลาส A ไปจนถึงคลาส E โดยจังหวะเราจะแบ่งออกเป็นแบบนี้

แบบที่หนึ่งเรียกว่าประเภท Standard มีทั้งหมด 5 จังหวะ คือจังหวะ Waltz, Tango, Foxtrot, Viennese Waltz และ Quickstep ให้จินตนาการง่ายๆ ว่าเป็นการเต้นแบบเจ้าหญิงเจ้าชาย ผู้ชายใส่ทักซิโด ผู้หญิงใส่ชุดราตรี กระโปรงสุ่มไก่หวานๆ

อีกแบบหนึ่งเรียกว่าประเภท Latin America มีทั้งหมด 5 จังหวะเหมือนกัน คือจังหวะ Samba, Cha Cha Cha (ที่หลายคนชอบเรียกว่า 3 ช่า ทั้งๆ ที่ต่างกันราวฟ้ากับเหว), Rumba, Paso noble และ Jive รวมกันทั้งหมด 10 จังหวะถ้วน ซึ่งเราจะแข่งกันใน 1 Heat หรือ 1 รอบ ประมาณ 1นาที 30 วินาที แต่จะไม่เกิน 2 นาที ถ้าตกรอบแล้วคือตกรอบเลย เราจึงต้องใส่แบบจัดเต็มในทุกๆ รอบคือ เต้นสุดกำลังให้เหมือนเป็นรอบสุดท้าย เพราะเราไม่มีโอกาสแก้ตัวอีกแล้ว ถ้าเราตกรอบ รออีกทีก็ปีหน้า

 

เส้นทางสู่ฟลอร์เฟื่องฟ้า

เส้นทางการเริ่มเป็นนักกีฬาของเรามันค่อนข้างรวดเร็ว เหมือนช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น ในตอนที่เรายังเป็นนักศึกษา เราเป็นพวกสปีชีส์มนุษย์ค้างคาว (กลางวันหลับ กลางคืนใช้ชีวิต) ไม่ชื่นชอบการเรียนเช้า จริง ๆ แล้วไม่ชอบเรียนถึงจะถูก แต่กลับมีแรงพลังกับการทำกิจกรรมอย่างล้นเหลือ ต่อให้จะไม่เคยทำมาก่อน ก็ขอให้ได้ลอง ยิ่งเป็นสิ่งใหม่ ยิ่งท้าทาย ยิ่งชอบ ยิ่งมีทักษะติดตัวมากเท่าไหร่ เราจะรู้สึกดีมาก โดยเริ่มจากการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยมาก่อน ซึ่งในนั้นมีเพื่อน LGBTIQ+ มากมาย จนมีอยู่วันหนึ่งตอนเรียนเข้าปี 3 เรามีเพื่อนคนหนึ่งเข้ามาชวนว่า “อยากเป็นนักกีฬาของมหาวิทยาลัยไหม ถ้าอยากมาเจอที่โรงเรียนสาธิตฯนะ”

แค่คำพูดง่ายๆ เพียงเท่านี้ทำให้เรามุ่งหน้าไปยังโรงเรียนสาธิตฯ เพื่อทำอีกหนึ่งความฝันของเด็กผู้ชายคือ การเป็นนักกีฬา โดยที่ไม่รู้มาก่อนว่ากีฬานั้นคืออะไร

และแล้วสิ่งที่เราสงสัยก็คลายลง ภาพตรงหน้าของเราคือน้องๆ นักเรียนโรงเรียนสาธิตฯ กำลังเต้นในจังหวะที่เราไม่รู้จักมาก่อน ภาพตรงหน้านั้นเพลินสายตามาก ทุกท่วงท่ามันสวยงาม อ่อนโยน และมีพลังไปพร้อมๆ กันได้อย่างไม่น่าเชื่อ หลังจากที่ได้ทำความรู้จักกับเจ้าสิ่งนี้คร่าว ๆ แล้ว เราก็ตอบตกลงโดยที่ยังไม่เห็นหน้าค่าตาคู่เต้นของเรามาก่อน

หนึ่งเดือนหลังจากนั้นเราก็ได้เจอหน้าคู่ของเรา ที่เป็นน้องปี 1 ต่างคณะกัน ต่อไปการเตรียมร่างกายของเรา  ถ้าไม่เดินสลับวิ่ง 10 กิโลเมตร ก็จะ Jogging, กระโดด, วิ่งเร็วมากๆ ตามที่โค้ชสั่ง ทำแบบนี้ 30 นาที บางวันก็เข้าฟิตเนสบ้าง ว่ายน้ำบ้าง แล้วต่อไปจะเป็นการฝึกพื้นฐานการเต้น แล้วก็เข้า Figure หรือการเต้นจริงนั่นเอง ในบางครั้งก็จะมีการรับ Figure ในตอนที่เรายังต่อท่าไม่จบ

 

 

บนถนนลูกรัง

ตลอดเวลา 3 ปีที่เป็นนักกีฬาลีลาศในมหาวิทยาลัย เราเจอสิ่งกีดขวางมากมาย ทั้งเรื่องงบประมาณที่เป็นกำลังหลักของการซ้อมที่ทางพี่เจ้าหน้าที่งานกีฬาให้เหตุผลว่า ลีลาศไม่ใช่กีฬาการันตีเหรียญรางวัล ไม่เหมือนเรือพาย, ฮอกกี้ หรือปันจักสิลัต ทางผู้ใหญ่ก็ไม่กล้าที่จะลงทุนกับเรา เราเลยไม่มีเงินไปจ่ายค่าเรียน ทำให้จำนวนเวลาที่เราจะได้เจอโค้ชมันก็น้อยตามมา

เราจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการเอาเงินที่ต้องจ่ายค่าอุปกรณ์ของนักกีฬาซึ่งก็คือค่าชุด เอามาจ่ายค่าเรียนเต้นแทน ยิ่งเวลาที่ไม่ตรงกันของเราและคู่เต้น เพราะเราเรียนต่างคณะ ต่างชั้นปี รวมถึงการที่ไม่มีประสบการณ์ในการแข่งขันมาก่อน ทุกคนต่างก็ใหม่กันทั้งหมด และอาการบาดเจ็บที่เข้ามาแทรกกลางระหว่างเรา ในช่วงปีแรกและปี 2 สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ  เราไม่ได้เลือกจังหวะเอง ทำให้ไม่ค่อยตั้งใจเต้น เพราะอยากเต้นจังหวะอื่นมากกว่า

จนขึ้นปี 3 และเป็นปีสุดท้ายของการเต้น เรากับคู่เต้นได้เลือกจังหวะเอง เราเลยเต็มที่กับมันมาก ส่วนการฝึกพื้นฐานมันค่อนข้างจะขัดกับร่างกายไปนิดนึง ตอนนั้นเราก็อายุ 19 แล้ว ต้องมาแบ่งร่างกายให้ดี ถ้าเต้นแบบ Standard เราต้องฝึกกำลังขาให้ดี เพราะต้องใช้กำลังขาอย่างหนักมาก เวลาเข้าคู่ ไหล่ต้องตรงขนานกับพื้น ไม่ทิ้งน้ำหนักที่คู่ตัวเอง หน้าท้องต้องชนกันตลอดเวลา ต้องยืดอก ไม่กด ไม่ห่อไหล่ มองหน้ากันคนละทาง ดูเย่อหยิ่ง องอาจ สง่าผ่าเผยให้เหมือนเจ้าหญิงเจ้าชายในหนังเลยล่ะ ส่วนจังหวะ Latin American คือมันดีมากกกก ถูกใจเรากับคู่มาก ๆ การฝึกพื้นฐานของร่างกายในจังหวะ Latin American เราต้องทำเอวเป็นเลข 8 เรื่องของการ Walk ที่องศาของเท้าต้องเฉียงออก ปลายเท้าต้องเฉียดไปกับพื้น สะโพกกับเท้าที่เดินต้องสัมพันธ์กัน สีหน้า การใส่อารมณ์กับแต่ละจังหวะไม่เหมือนกัน เช่น Rumba ต้องมีความเย้ายวน เซ็กซี่ Cha Cha Cha ต้องดูทะเล้น เจ้าเล่ห์ Jive ต้องสนุกสนาน มีชีวิตชีวา Samba ก็ให้นึกถึงงานคาร์นิวาลที่บราซิลได้เลย ส่วนแบบ Paso noble ต้องแข็งแรง ดุดัน เหมือนมาธาดอร์ พื้นฐานเราต้องแน่น กว่าจะได้เข้าคู่ต้องฝึกพื้นฐานก่อนทุกครั้งเพื่อให้กล้ามเนื้อจำสภาพที่ถูกต้อง

คือจริงๆ รายละเอียดมันมีมากกว่านั้นเยอะ ที่บอกมาแค่อาหารเรียกน้ำย่อย จานหลักคือการเข้าคู่ และประคองการเต้นให้จบเพลงถือเป็นจานหลักที่อร่อยมาก เพราะชอบมีปัญหาการลืมฟิกเกอร์ และปัญหาสำคัญของเราเลยคืออาการบาดเจ็บ โดยปกติเราจะมีปัญหาจากการบาดเจ็บที่หัวเข่าซ้ายมาก่อน แต่ที่หนักที่สุด คืออาการเยื่อหุ้มปอดอักเสบที่เกิดจากการที่ปอดกับซี่โครงขยายตัวไม่สัมพันธ์กัน เลยมีอาการเจ็บปอดเวลาหายใจ ทำให้ออกกำลังกายหนักไม่ได้ แล้วอีกสองสัปดาห์จะแข่งแล้ว ตอนนั้นก็ท้อนะ แต่มันมีแรงผลักบางอย่างที่ทำให้เราอยากชนะ

ก็เรื่องผู้หญิงและหัวใจดวงน้อยๆ นี่แหละ

เรื่องกลางฟลอร์

ย้อนไปช่วงต้นปี 2563 ก่อนช่วงโควิดระบาดไม่นาน เรามีโปรแกรมแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยรังสิต

แค่เริ่มก็แย่แล้ว เดินทางก็นาน เหนื่อยก็เหนื่อย ปัตตานี – รังสิตไม่ใช่แค่ปากซอย เพราะเมื่อเดินทางถึงที่พัก ก็ต้องไปซ้อมจริงเลย เพราะวันรุ่งขึ้นจะต้องแข่งแล้ว แล้วด้วยการแข่งลีลาศจะแบ่งเป็น 3 วัน วันแรกคือวันซ้อมใหญ่ในฟลอร์กับประชุมผู้จัดการทีม วันที่สองคือแข่งรอบคัดเลือก และวันสุดท้ายคือรอบชิงฯ

การซ้อมจริงคือ ในฟลอร์เค้าจะเปิดเพลงวนไปเรื่อยๆ พอถึงจังหวะที่เราต้องลงแข่ง เราก็ไปซ้อมในฟลอร์ได้ โดยที่จะเปิดจังหวะละ 2 เพลง เวลาจะเท่ากับแข่งจริงๆ

หลังจากหมดเวลาซ้อมแล้ว ผู้จัดการทีมก็สั่งให้พักผ่อนให้พอ เตรียมชุด ขัดรองเท้า เพราะต้องรีบตื่นมาแต่งหน้า เราต้องแต่งหน้าเอง ทำผมเอง ช่วยเหลือกันเองในทีม ใครที่เสร็จแล้วก็มาช่วยกันต่อไปจนครบทุกคู่

ในปีนั้นมหาวิทยาลัยเราส่งทั้งหมด 4 คู่ ก็แอบวุ่นๆ อยู่เหมือนกัน พอไปถึงหน้าฟลอร์ตอนที่ลงทะเบียนนักกีฬา จะต้องมีหมายเลขติดที่ด้านหลังเสื้อผู้ชาย ซึ่งเราได้หมายเลข 99

การแข่งขันในช่วงเช้าจะเป็นพิธีเปิด มีเดินขบวนนักกีฬา และจะเป็นการแข่งรอบคัดเลือกประเภท Standard ช่วงบ่ายจะเป็นการแข่งประเภท Latin American ในครั้งนี้เราลงแข่งในจังหวะ Cha Cha Cha และ Jive เป็นจังหวะที่เรากับคู่เต้นเลือกเองก่อนที่เราจะแยกย้ายกันไปฝึกงาน ซึ่งโดยปกติแล้วเราจะกินแห้วตั้งแต่รอบแรกทุกครั้ง แต่ครั้งนี้ เราผ่านวันแรกไปได้แบบน่าทึ่ง เพราะปกติเวลาแข่งเสร็จเราจะเหนื่อยมาก ต้องให้ผู้จัดการทีมไปดูผลให้หลังแข่งเสร็จ

ผลออกมาคือเราเข้ารอบทั้งสองจังหวะเลย มันอธิบายไม่ถูก ไม่รู้จะไปเปรียบเทียบกับอะไร ไม่ได้รู้สึกดีใจอะไรแบบนี้มานานมาก เพราะในปีก่อนๆ เรามักจะคอตกกลับที่พักในวันแรก แล้วไปเป็นผู้ชมในวันที่คู่อื่นเขาชิงชนะเลิศกัน

แต่ครั้งนี้ไม่ใช่อีกแล้ว เราจะได้ไปต่อ

หลังจากนั้นเรากลับมาพักผ่อน แช่เท้า นวดเท้า พักผ่อนเอาแรงให้ได้มากที่สุด

คืนวันนั้นเป็นวันที่หลับสบายที่สุดวันหนึ่งในชีวิต

วันรุ่งขึ้นก็เป็นแบบเดิม รีบช่วยกันแต่งหน้า แต่ไม่ทำผม เพราะค้างจากทรงเดิมของเมื่อวานอยู่แล้ว เคล็ดลับง่ายๆ คืออัดสเปรย์เอาไว้ให้แข็งที่สุด เพื่อที่วันต่อมาจะได้ไม่ต้องทำผมอีก

พอถึงสนามแข่ง เราพบกับภาพเดิมที่ไม่เหมือนเดิม ทุกปีเราเป็นแค่ผู้ชม แต่ตอนนี้หลายคนต้องมาชมเราแทน

ความรู้สึกตื้นตันยังคงอยู่ในลมหายใจทั้งเข้าและออก และมีเซอรไพรส์ด้วย เพราะพ่อกับแม่ที่บอกว่าติดธุระมาดูเราแข่งด้วย

การแข่งชันในช่วงเช้าของวันที่สอง เราก็เชียร์น้องๆ ในทีม ที่แข่งต่อในประเภท Standard ก่อน แต่น่าเสียดายที่ทีมไปได้แค่รอบรองชนะเลิศ แต่มันก็สุดยอดมากสำหรับพวกเขา เพราะทีมของเราไม่เคยมาถึงจุดนี้มาก่อน พอมาถึงช่วงบ่ายมันคือตาของเรากับน้องอีกคู่หนึ่ง เช่นกัน คู่ของน้องในทีมก็ไปถึงรอบรองฯ และเราก็ไปถึงรอบรองฯ ในจังหวะ Cha Cha Cha แต่ในจังหวะ Jive เราได้เข้ารอบชิงชนะเลิศ

คือกีฬาลีลาศจะมีการให้รางวัลที่ค่อนข้างแปลกไปจากกีฬาอื่น คืออันดับที่ 1 ถึง 6 จะได้รับรางวัล ยิ่งในการเต้นรอบชิงชนะเลิศทั้งที มันจะราบรื่นเกินไปมันจะไปสนุกได้อย่างไร อุปสรรคอย่างแรกที่เจอคือ ไฟดับตอนกำลังจะแข่งรอบชิงฯ จากเครื่องที่กำลังติด มันก็ค่อยๆเ ย็นลง เลยต้องขยับตัวตลอดเวลาเพื่อให้เครื่องติด อย่างที่สอง เราได้ทำความรู้จักกับคู่อื่นๆ ด้วย มีอยู่คู่หนึ่งที่เราช่วยเขา เพราะว่าอยู่  ก็นอนลงไป (น่าจะจุก) เราก็ไปช่วยให้เขาดีขึ้น เราเลยมีเพื่อนคุย แม้จะมาในรอบสุดท้ายก็ตาม

พอไฟติด (ทั้งไฟในห้องและไฟของเรา) ก็มาเริ่มการแข่งกันใหม่ รอบชิงชนะเลิศเป็นการเต้นที่นานมาก เพลงมันยาวเหมือนแกล้งกัน ตอนนั้นขามันยกแทบจะไม่ไหว  เริ่มมีอาการเจ็บที่ปอดอีกรอบ

แต่มันจะไม่มีอีกแล้ว อีกแค่ก้าวเดียว เราจะได้ไปยืนในจุดที่เราฝันว่าสักครั้งก่อนเรียนจบ เราจะได้ไปยืนมัน ขอเพียงแค่ครั้งเดียว…..

และลำดับต่อไป จะเป็นการประกาศผลประเภท Latin American Single dance Class E ในจังหวะ Jive รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 6 หมายเลข 99 วิวรรธน์ สัจจวงศ์และ ศิรัชญา ทองตรี จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

แล้วเราก็ทำมันได้จริง ๆ ตอนนั้นหูอื้อ ตาเบลอ ภาพรอบตัวมันช้าไปหมด ในใจคืออยากจะกระโดดกอดกันกับคู่เต้น แต่ต้องเก็บทรงไว้ก่อน หลังรับรางวัลเราวิ่งไปกอดทุกคนในทีม โทรหาทุกคนที่อยากบอก ยิ้มจนหน้าตึงแก้มแตก

หลังจากถ่ายรูปกันเสร็จเราก็ไปฉลองกัน เอารางวัลไปนอนกอดสมใจ ถึงจะไม่ได้เหรียญ แต่การที่ได้ไปยืนรับรางวัล ได้ยินเสียงประกาศชื่อ แค่นี้ก็เป็นอีกก้าวที่เราได้ดินหน้าต่อไป สิ่งที่ได้มาไม่ได้มีแค่รางวัล เราได้ทั้งสุขภาพกาย และใจที่ดี ได้ใช้ชีวิต ได้พบผู้คน ได้เจอโลกใหม่ ได้แรงบันดาลใจ ได้หลงรักสิ่งใหม่ ปลุกไฟให้สู้กับความล้มเหลวที่ตามมา

และที่สำคัญ คือการได้ชนะใจตนเอง

ไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะมีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศดี ๆ ถ้ามีโอกาสอีกครั้ง เราจะไม่มีทางปล่อยให้หลุดมือเด็ดขาด เพราะรองเท้าหนังส้นสูง กางเกงเอวสูงขาบาน เสื้อรัดรูปโชว์กล้ามเนื้อ และทรงผมเรียบแปล้ เงาวับ ยังคงรอเวลาที่จะได้รับเสียงเพลง และแสงไฟอีกครั้ง

 

 

Contributors

วิวรรธน์ สัจจวงศ์

คุณครูภาษาอังกฤษหัวขบถที่กำลังเตรียมเข้าสู่ระบบราชการ ชอบฟังเพลงเก่า อ่านคดีฆาตกรรม และรักการดูตลกคาเฟ่