เอหิปัสสิโก-ความเชื่อไม่อาจเปลี่ยนแปลงความจริง และความจริงไม่อาจทำลายความเชื่อ

In Partnership with ชีพจรลงเฟรม

ถ้าต้องพูดถึงหนังเรื่องนี้แบบสั้นๆ ส่วนตัวจะเรียกหนังทำนองนี้ว่า “หนังนวพลช่วงปลาย” ซึ่งอาจจะฟังดูใจร้ายอยู่สักหน่อย แต่รู้สึกแบบนั้นอยู่แทบตลอดเวลา

ภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องราวของวัดพระธรรมกาย ทั้งในแง่ปูมหลัง หลักการ อคติ การตามติดสัมภาษณ์ผู้ศรัทธาในหลากแง่มุม รวมถึงเหตุการบุกจับพระธัมมชโย-เจ้าอาวาสของวัด ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของวงการศาสนาไทย

แม้ในทางประชาสัมพันธ์ รวมถึงตามหลักวิชาภาพยนตร์ศึกษาก็อาจจะเรียกหนังเรื่องนี้ว่าเป็น “สารคดี” (Documentary) ซึ่งก็คงจะถูกยกไปไว้ในทางของ Non-Fiction Moving Image แต่จากการได้สัมผัสจนจบรู้สึกอยากเลี่ยงไปใช้คำว่า Documentative Fiction มากกว่า

เพราะถึงแม้เรื่องราวทั้งหมดจะยึดโยงอยู่บนการสัมภาษณ์คนจริงๆ ข้อมูลแบบ “Reality” แต่ข้อมูลเหล่านั้นกลับถูกเรียบเรียงจนกลายเป็นความหมายอื่น ที่ไม่แม้แต่จะหวนกลับมาพูดถึงต้นตอหรือแก่นสารต่างๆ ของ subject ทั้งตัววัดพระธรรมกายเอง ข้อถกเถียง หรือผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมด พูดให้เข้าใจง่ายก็คงว่า เอหิปัสสิโก เป็นเพียงการ “ตีชิ่ง” โดยมีประเด็นเรื่องวัดพระธรรมกายบังหน้า

ซึ่งหลายคนก็อาจจะรู้สึกทำนองว่า “แล้วมันผิดยังไงเล่า” ก็จะยืนยันให้ชัดเจนตรงนี้ว่าไม่ได้มีความผิดอะไร หรือแม้แต่การเขียนในทำนองนี้ก็ไม่ได้มีความตั้งใจเพื่อที่จะ “ลดทอน” หรือ “กดทับ” ให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นสิ่งทำนองว่า “อย่าเรียกตัวเองว่าสารคดี” อะไรเทือกนั้น เพียงแต่โดยส่วนตัว (อีกนั่นแหละ) อยากทำให้เห็นภาพชัดว่าหนังเรื่องนี้กำลังทำงานยังไง และจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในแบบใด มุ่งเน้นสังเคราะห์งานเพื่อร่วมกันหา “คำตอบ” ของคำถามทั้งที่หนังพยายามจะถามเราตรงๆ แอบถาม รวมถึงที่ “ไม่ได้ตั้งใจถาม” ด้วย

อีกส่วนหนึ่งที่มีผลต่อความรู้สึก ประเภทที่ว่า “เหมือนไม่ได้ดูสารคดีอยู่” คืองานเรียบเรียงและตัดต่อที่ “สนุก” จนทำให้ไม่มีความรู้สึกคงค้างแบบการดูสารคดีโดยทั่วๆ ไป หรือถ้าเจาะให้ชัดลงไปอีกคือวิธีการวางสัดส่วนและองค์ประกอบของงานตัดต่อมี “การเล่า” ที่ใกล้เคียงความเป็นหนังอย่างมาก จังหวะผ่อน จังหวะเร่ง แมตช์คัตต่างๆ ซึ่งก็คงไม่นำไปสู่ข้อถกเถียงที่ว่า “แล้วเป็นสารคดีมันต้องน่าเบื่อเท่านั้นหรือ” อะไรทำนองนั้นเช่นกัน

เพียงแต่สิ่งที่ต้องพูดถึง คือการที่หนังทำท่าว่าจะ “จริงจัง” กับประเด็นวัดพระธรรมกาย ก่อนจะมุ่งเป้าไปเล่นประเด็นอื่นโดยมีวัดพระธรรมกายบังหน้า มันทำให้เราถูกดึงความสนใจไปแทบจะตลอดเวลา กลายเป็นตัวละครที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายจำนวนมากซึ่งปรากฎให้พบเห็นเหมือนเป็นเพียง Flat character ที่ถูกนำมาใช้เพื่อจะเขี่ยทิ้งในจังหวะต่อๆ ไป รวมถึงมีหลายต่อหลายครั้งที่ให้ความรู้สึกเหมือนตั้งใจ “ประจาน” Subject ที่ตัวเองเลือกเสียอีก มันเลยรู้สึกเหมือนคนทั้งหลายที่เราเห็นไม่ได้เป็น “คน” แต่เป็นเพียงตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ “ดำเนินเรื่อง” บางอย่างตามที่ผู้กำกับต้องการ

แน่นอนว่าประเด็นนี้ก็ยังคงเป็นความอีโมส่วนตัวแบบที่ก็คงไม่กล้ามานั่งพูดว่ามันผิดหรือถูก ควรทำหรือไม่ควรทำ แค่เพียงสงสัยว่าในขณะที่งาน Fiction ต่างชื่มชมกันในแง่ของการ “สร้างตัวละคร” ที่มีชีวิต และ “เป็นมนุษย์” มากๆ งานที่กำลังถูกรับรองว่าเป็น Non-Fiction จะสามารถถ่าย “มนุษย์” ให้ดูแห้งแล้งไร้ชีวิตได้จริงๆ หรือ

และอย่างที่ได้มีการปาดหัวไว้ตั้งแต่ต้นว่าหนังมีความเป็น “หนังนวพลช่วงปลาย” ที่ก็อาจจะต้องยอมรับจริงๆ ว่าหนังแนวนี้มีอิทธิพลและเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งนอกจากแนวทางที่เป็นลักษณะคล้ายๆ กันแล้ว อีกจุดหนึ่งที่หนังกลุ่มนี้มีร่วมกันคือ “ไม่รู้ว่ากำลังถามอะไร”

เอหิปัสสิโกเปิดคำถามง่ายๆ ว่า “Why this is so bad?” ตามมาด้วยคำถามพ่วงยิบย่อยอย่าง อันนั้นจริงไหม อันนี้จริงหรือเปล่า มองทั่วๆ ไปก็คงดูเป็น “สารคดีพระวัดพระธรรมกาย” ที่น่าสนใจ

อีกทั้งเมื่อขยายคำถามไปเป็น “Is this ‘Really’ bad?” ผ่านปรากฏการณ์ที่กลับมาตั้งคำถามทุกอย่างสำหรับข้อมูลต่าง ๆ ก่อนหน้า มองเผิน ๆ ก็ดูจะเป็น Argumentative Films ทั่วไปที่มีการตัดต่อที่สนุกสุดมัน

เพียงแต่พอมาถึง “คำตอบ” เอหิปัสสิโกกลับกลายเป็นนักการเซนผู้อยู่กึ่งกลางระหว่างขาวและดำ ชั่วและดี ตอบคำถามที่ตัวเองสร้างมาอย่างเป็นปรัชญาว่า “ทุกอย่างมันก็มีทั้งดีและไม่ดี” กลายเป็นหนัง “ปลายเปิด” ที่มักจะให้คำอธิบายต่อท้ายว่า “ให้นำไปคิดต่อ” เช่นเดียวกับที่อดีตพระนักวิชาการของวัดพระธรรมกายได้ว่าไว้ ซึ่งมันเลยกลายเป็นเหมือนทั้งหมดที่ผ่านมาไร้ความหมาย ถ้าเราจะต้องไปสอบถามนักวิชาการ สอบถามคนจำนวนมากเพื่อมาอธิบายแบบ Post-Modern ทำนองว่า “อยู่ที่เรามองมันจากมุมไหน” แล้วประเด็นที่ว่า “วัดพระธรรมกายโดนโค่นล้มเพราะบิดเบือนพุทธศาสนารวมถึงอคติต่าง ๆ ที่เรารับรู้กัน มันจริงหรือไม่” เลยกลายเป็นแค่ว่า “ก็อยู่ที่คุณจะเชื่อว่าจริงไม่จริง”

มาถึงตรงนี้บางท่านอาจจะพอนึกออกแล้วว่าทำไมถึงเรียกหนังกลุ่มนี้ว่า “หนังนวพลช่วงปลาย”

สุดท้ายแล้วเราเลยตอบไม่ได้ว่าหนังเรื่องนี้ต้องการสื่อสารอะไร เพราะถ้าเมื่อมองย้อนกลับไปว่า “มันเป็นแค่สารคดี มีหน้าที่แค่พูดข้อเท็จจริง” ก็จะไปชนกำแพงที่ได้บอกมาว่าเรารู้สึก “เชื่อ” มันในฐานะ “ข้อเท็จจริง” ได้ยากมากจากการที่มันมีกลิ่นของความเป็น Fiction เต็มไปหมด

มันเลยน่าสนใจว่า “คำถามจริงๆ” ของผู้สร้างคืออะไร เพราะสุดท้ายถ้าเราจะตอบมันแบบนี้ก็เท่ากับจริง ๆ เราไม่ได้ถามอะไรเลยมาตั้งแต่ต้น เราก็แค่คนที่รู้อยู่แล้ว ถามใครก็ตอบได้ว่า “ทุกอย่างมันมีทั้งดีและไม่ดี” “ข้อมูลต่างๆ มันอยู่ที่ว่าเราจะเชื่อว่าจริงหรือไม่จริง” แล้วกลายเป็นว่าหนังเรื่องนี้ก็คงไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าข้อคิดที่ได้จากเรื่องประเภทว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ทั้งที่เอาจริงๆ เราไม่ต้องทำหนังเพื่อบอกเรื่องพวกนี้ก็ได้ (ซึ่งก็หมายถึง จะทำก็ได้อีกนั่นแหละ)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพอมันไม่ได้ตอบคำถาม หรือตอบเหมือนไม่ได้ถามอะไร สุดท้าย “คำถามมันก็ยังอยู่” ถ้าเราเข้าใจว่าการตอบทำนองว่า “เหรียญมันมีสองด้าน” มันจะผลักดันอะไรได้ ป่านนี้ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้ไปตั้งโคโลเนียลบนดวงจันทร์แล้ว

ทำให้ลำพังแค่ความรู้สึกร่วมว่ามันเป็น “สารคดี” ที่น้อยอยู่ก่อนแล้ว ความรู้สึกกับตัวละครที่ว่ามา บวกกับการตอบคำถามแบบที่อ้างอิงอยู่บนศีลธรรมแบบ “เป็นผู้บริสุทธ์ไม่แปดเปื้อนเพราะเป็นกลาง” ในยุคที่ข้อถกเถียงทำนองว่า “เป็นกลางมีจริงหรือ อยู่ตรงไหน” มันยิ่งทำให้รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ดูไม่ได้มีพลังสมกับที่ทำท่าว่าจะถูกแบนไปก่อนหน้านี้ ซึ่งก็ยิ่งมาตอกย้ำถึง “ความเปราะบาง” ของสิ่งที่เรียกว่า “ความมั่นคง” เข้าไปใหญ่

ความงดงามของหนัง คือการเกิดขึ้นในปีที่วัดพระธรรมกายกลายเป็นแค่ “เรื่องเล่าในอดีต” ทำให้ความเจือจางของการห้ำหั่นกันระหว่างอคติของฝั่งศิษยานุศิษย์กับอคติของผู้ต่อต้านเป็นเพียง “ข้อมูลคงค้าง” ที่เหมือนๆ จะจำได้นะว่าเคยไม่ชอบ และคิดว่าน่าจะไม่ชอบเพราะอย่างนี้แหละ ซึ่งมันถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ตรึกตรองถึง “ข้อเท็จจริง” ต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นโดยไม่โดนม่านอคติอันหนาแน่นแบบตอนนั้นคอยบดบังทัศนวิสัย อีกทั้งยังถือเป็นการ Archive เหตุการณ์ต่างๆ ในประเด็นที่ถือว่าสมบูรณ์ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะกลายเป็นสมบัติให้คนรุ่นหลังที่สนใจได้นำไปใช้ต่อได้

และแม้ในส่วนตัวจะมีความรู้สึกกับหนังเอนเอียงไปทางลบเพราะหนังเหมือนตอบตัวเองไม่ได้ว่ากำลังเลือกจะพูดถึงอะไร แต่การเลือกเข้าไปดูหนังเรื่องนี้ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องเลวร้ายด้วยเหตุผลง่ายๆ ดังชื่อหนังที่ว่า

เอหิปัสสิโก

Come and See

ภาพประกอบ: underDOC Film Facebook Fanpage

Contributors

พีรพล ธงภักดิ์

ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ รวมกลุ่มกับเพื่อนในกลุ่มชีพจรลงเฟรม