Where we belong: Coming of age และการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในสังคมที่โคตรไม่เวิร์ก

In Partnership with ชีพจรลงเฟรม

ถ้าใครเคยดูหนังของคงเดช จาตุรันต์รัศมีมาเป็นทุนอยู่ก่อน คงจะไม่รู้สึกแปลกใจมากเท่าไร เพราะทั้งฝีไม้ลายมือ และวิทยายุทธต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหนัง ก็เป็นอะไรที่โคตรจะ “คงเดช” เอาเสียมากๆ Where we belong ที่ตรงนั้นมีฉันหรือเปล่า เป็นหนังแนว Coming of age ว่าด้วยเรื่องราวของซู เด็กสาวผู้ไร้ความฝันที่มีเพียงเป้าหมายว่าอยากจะไปให้ไกลจากที่ที่เธออยู่ ซูที่สามารถสอบชิงทุนไปเรียนต่อที่ฟินแลนด์ได้เป็นผลสำเร็จต้องพบเจอกับปัญหาทางบ้านที่พยายามรั้งไม่ให้เธอไป รวมถึงเบล เพื่อนที่พยายามอย่างมากที่จะทำให้ความทรงจำสุดท้ายของซูกับบ้านเกิดเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุด 

ใครจะคิดว่าสารตั้งต้นเพียงเท่านี้ จะส่งให้ Where we belong คว้ารางวัลมากมายบนเวทีสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 29 ตั้งแต่ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (คงเดช จาตุรันต์รัศมี) บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (คงเดช จาตุรันต์รัศมี) ลำดับภาพยอดเยี่ยม (ลี ชาตะเมธีกุล, หรินทร์ แพทรงไทย) ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (ธนชัย อุชชิน) นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม รวมถึงรางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม  ทำไมภาพยนตร์ Coming of age ที่มีนักแสดงเป็นไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปถึงสามารถกวาดรางวัลไปได้เยอะขนาดนั้น  คำตอบง่ายๆ คือ เพราะหนังมันทำให้เราเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนในหลายๆ แง่  เริ่มจากรางวัลที่น่าสนใจมากๆ อย่าง นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมที่มิวสิค BNK48 (แพรวา สุธรรมพงษ์) สามารถคว้ามาได้ และเชื่อว่าพอพูดถึงชื่อวง BNK48 หลายๆ คนก็คงมีภาพจำและอคติหลายแบบปรากฏขึ้น แม้แต่เรื่องนี้เองก็เคยถูกครหาว่าก็แค่หนังนอกกระแสที่หวังเพิ่มยอดขายด้วยการหลอกโอตะ (คำเรียกแฟนคลับวง BNK48) ไปดู 

ซึ่งเราหลายๆ คน ก็คงได้มีโอกาสพบเห็นความสามารถทางการแสดงของเกิร์ลกรุ๊ปวงนี้มาบ้างไม่มากก็น้อยตามพื้นที่สื่อ และใครที่ยังไม่ได้ดู ก็คงไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เห็นการแสดงที่ยอดเยี่ยมจากศิลปินกลุ่มนี้  เพียงแต่ถ้าคุณได้ดูหนังเรื่องนี้จนจบเรื่อง คุณจะต้องทึ่งว่าเด็กพวกนี้มันเล่นได้ขนาดนี้เลยเหรอ ตัวละครที่มาจากวงล้วนถูกปั้นแต่งให้รับบท “ธรรมดา” ในแบบต่างๆ และถูกรังสรรค์ให้ทำหน้าที่ในหนังคนละอย่าง แน่นอนว่ามันก็มีบางฉากที่นักแสดงเล่นแข็ง บางซีนที่ดูไม่เป็นธรรมชาติอยู่บ้างที่อาจจะต้องยอมเพราะเงื่อนไขต่างๆ แต่เมื่อกล้องจับภาพมายังซู (เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ) และเบล บอกเลยว่าคุณแทบจะลืมไปเลยด้วยซ้ำว่านี่คือเด็กวงไอดอลแบ๊วๆ ในอคติที่เคยรู้สึกมา 

บนมาตรฐานที่ต้องสู้ในระดับเดียวกับผู้เข้าชิงรุ่นใหญ่อย่างหัทยา วงษ์กระจ่าง (โปรเม อัจฉริยะต้องสร้าง) คัทลียา แมคอินทอช (อ้าย..คนหล่อลวง) อาภาศิริ จันทรัศมี (ฮาวทูทิ้ง ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ) รวมถึงนักแสดงคลื่นลูกใหม่ที่มาแรงมากๆ อย่างษริกา สารทศิลป์ศุภา (ฮาวทูทิ้ง ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ) แทบจะไม่ต้องตั้งคำถามเลยว่าต้องแสดงได้ดีขนาดไหน ซึ่งมันน่าสนใจตรงที่ว่า ถ้า BNK48 แสดงได้ดีขนาดนี้ ทำไมที่ผ่านมาถึงแทบไม่เคยเห็นมาก่อน นั่นก็จะกลายเป็นการมาตอกย้ำเหตุผลว่า ทำไมคงเดชถึงสามารถปาดหน้าพุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ผู้กำกับมือรางวัลเทศกาลนานาชาติจากกระเบนราหู หรือชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล (ดิว ไปด้วยกันนะ) แม้แต่สิทธิศิริ มงคลศิริ (แสงกระสือ) และผู้กำกับขวัญใจวัยรุ่นอย่าง นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ (ฮาวทูทิ้ง​ ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ) แล้วคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จ อีกทั้งลำดับภาพกับเพลงประกอบก็คงไม่มีอะไรให้กังขากันมาก หากดูจากชื่อชั้นของเจ้าของผลงาน  ยิ่งพอพูดถึงส่วนสำคัญมาก ๆ ที่ส่ง Where we belong ไปถึงรางวัลสูงสุดอย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ก็คงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่คิดถึง บทภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัล “ยอดเยี่ยม” ต่อท้ายมาเช่นเดียวกัน 

ถ้าให้ตอบว่าอะไรทำให้ Where we belong สามารถเอาชนะบทภาพยนตร์ที่ดีมากๆ อย่าง ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ, ดิว…ไปด้วยกันนะ, แสงกระสือ และ Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน มาได้ ในฐานะที่ได้ดูมาครบทุกเรื่องแล้วจึงตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า เพราะหนังมันไปได้ไกลกว่าจริงๆ  คือกลายเป็นว่า แม้หน้าหนังจะดูเป็นหนัง Coming of age วัยรุ่นๆ ไร้แก่นสาร แต่ฉากหลังของหนังกลับพาเราขยายขอบเขตของเรื่อง “ที่ที่ไม่ใช่ของเรา” ไปได้ไกลถึงภาพขยายสุดท้ายที่คงเดชอยากให้เราเห็น การที่เราพูดถึงเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่อยากหนีออกจากบ้านเกิดเพราะไม่เคยให้อะไรที่ดีไว้กับเธอเลย ชีวิตที่ไร้ความฝันเพราะถูกบีบให้ต้องอยู่หน้าหม้อก๋วยเตี๋ยวแทบตลอดเวลา เสียงคัดค้านที่อยากให้ซูอยู่สืบทอดกิจการที่บ้านทั้งที่คนที่พูดแทบไม่ได้มีส่วนเสียหรือแบกรับภาระใดๆ แต่กลับพยายามกดทับให้ซูต้องแบกภาระนั้นๆ พ่อที่ทำทุกทางเพื่อให้ลูกไม่หนีไปไหน ตัวละครน้องชายที่นั่งมองดูพี่สาวตัวเองออกจากบ้านไปโดยคำนึงถึงว่าวันใด Coming of age ของตัวเองจะมาถึงบ้าง 

ทั้งหมดที่ร่ายมา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความ “ชาญฉลาด” ของบทภาพยนตร์ที่ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นแค่เรื่องของซู แต่แม่งเป็นเรื่องของทุกคน มันเป็นภาพขยายของผู้คนที่ได้เกิดมาบนแผ่นดินที่เชื่อกันว่าโชคดีที่สุดในโลก สิ่งตอบแทนจากการสูญเสียความฝันก็มีเพียงได้มีโอกาสเรียนบ้าง รับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นบ้าง ให้พอได้หลอกๆ ตัวเองว่า อย่างน้อยมันก็ไม่ได้แย่ไปเสียทั้งหมด ทั้งที่เราต่างก็รู้ดีแก่ใจว่ามันดีกว่านี้ได้  เลยกลายเป็นว่าสิ่งต่างๆ ในหนังไม่ได้เพียงทำให้รู้ว่าตัวละครคิดอะไร แต่ยังทำให้รู้ด้วยว่าทำไมตัวละครถึงคิดแบบนั้น  Where we belong เลยไม่ได้เป็นแค่หนัง Coming of age ของซูหรือตัวละครในเรื่องเพียงเท่านั้น หากแต่เป็นภาพสะท้อน Coming of age ของสภาพสังคม “บ้านเกิด” ไปในตัวด้วย ซึ่งอาจจะต้องยอมรับว่า Where we belong ทำได้ดีกว่าบรรดาบทภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ในลิสต์ 

และอย่างที่บอกไปว่าถ้าใครเคยดูหนังคงเดชมาก่อน ก็คงไม่ได้ตื่นเต้น หรือหวีดว้าวกับมันมากนัก เพราะมันก็ดูจะเป็นหนังคงเดชแบบที่คงเดชทำทุกๆ ที 

เพียงแต่ครั้งนี้ในสนามกลับไม่ได้มีคู่แข่งที่แข็งแรงพอจะเบียดหนัง “มาตรฐาน” ของคงเดชให้แพ้ได้ก็เท่านั้นเอง 

Photo Courtsey of BNK48 Films, IAM

Contributors

พีรพล ธงภักดิ์

ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ รวมกลุ่มกับเพื่อนในกลุ่มชีพจรลงเฟรม