รีวิวซีรีส์ Start-Up ในโลกของสตาร์ทอัพ โดยเจ้าของสตาร์ทอัพ เพื่อคนทำสตาร์ทอัพ

สตาร์ทอัพ (Startup) คำที่ติดเทรนด์ช่วงนี้ ด้วยอิทธิพลของซีรีส์เกาหลีที่ฉายอยู่บน Netflix แต่หลายคนกลับมีคำถามว่าสตาร์ทอัพ คืออะไร 

มีคนนิยามไว้มากมาย แต่ที่พอจะเห็นภาพชัดที่สุดคือ ความเป็นธุรกิจที่สามารถทำซ้ำได้ (Repeatable) และขยายได้ (Scalable) ด้วยทรัพยากรที่ไม่เพิ่มขึ้นตามมาก นึกภาพง่ายๆ หากวาดเป็นกราฟการเติบโตของธุรกิจ SME จะมีกราฟที่เพิ่มขึ้นเป็นเส้นตรง หรือหมาถยึงการเติบโตของรายได้จะมีรายจ่ายที่เพิ่มมาเท่าๆ กัน แต่สตาร์ทอัพจะเป็นกราฟ Exponential Growth หรือการเติบโตแบบก้าวกระโดดที่ใช้เวลาน้อยกว่า แต่การเติบโตของรายได้มีรายจ่ายที่เพิ่มมาไม่สูงตาม เพราะใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วย 

ลองนึกร้านอาหาร 2 ร้าน ร้าน A ใช้คนทำงาน ยิ่งขายดี ยิ่งต้องจ้างพนักงานเพิ่มด้วยข้อจำกัดของมนุษย์ หรือด้านกฎหมายแรงงาน ทำให้ร้าน A มีการเติบโตที่ช้า เทียบกับร้าน B ใช้หุ่นยนต์ทำงานมีการลงทุนสูงในช่วงแรก แต่หุ่นยนต์สามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมง ทำให้ร้าน B สามารถคืนทุนได้เร็ว และสามารถขยายสาขาออกไปได้ง่าย 

ถ้าจะให้ลงรายละเอียดอ่านถึงพรุ่งนี้บ่ายสามก็ไม่จบ (ฮา) ในที่นี้เราจึงจะเล่าพร้อมเปรียบเทียบไปตาม Timeline ของซีรีส์

 

Founder

ในช่วงแรกเป็นการปูเรื่องภาพรวม รายละเอียดเล็กๆของเรื่องนี้คือการใส่คำอธิบายศัพท์ในวงการสตาร์ทอัพเข้าไปแทนการเล่าเรื่องด้วยบทพูดหรือตัวละคร ทำให้การดำเนินเรื่องสามารถเจาะลึกถึงความเป็นสตาร์ทอัพได้

โดยซีรีส์เล่าเรื่องของซัมซานเทค สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นด้วยเพื่อนนักพัฒนา 3 คน ที่ลาออกจากงานมาทำตามความฝันเพราะเบื่อหนายกับการทำงานในบริษัท โดยเขามีเงินลงทุนเริ่มต้นมาจากพ่อของนัมโดซานที่เป็นคนลงทุนเริ่มต้น 

เรากำลังจะพูดถึง 3F แหล่งเงินทุนเริ่มต้นของสตาร์ทอัพที่ย่อมาจาก Family, Friends, Fools พูดง่ายๆ ก็คือ คนที่จะกล้าลงทุนกับธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง แต่แผนธุรกิจที่มียังไม่แน่นอน มีแค่ครอบครัว เพื่อน และคนโง่ ก็คงจะเป็นคำพูดที่แรงไป ถ้าพูดถึงแหล่งเงินทุนเริ่มต้นของสตาร์ทอัพมีเส้นหนาๆ ที่กั้นอยู่ในกรณีของ Angel Investor หรือนักลงทุนใจดี ถ้าไอเดียน่าสนใจไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี แผนธุรกิจ หรือแม้กระทั่งแพสชั่นที่ตรงกันก็เกิดการลงทุนได้ 

ส่วนในเมืองไทย กรณีนี้มักจะเกิดกับบริษัทที่สร้างรายได้แล้ว และต้องมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน

 

Accelerator

Sandbox พื้นที่แห่งความฝันของเหล่าสตาร์ทอัพ เรียกว่าเป็น Accelerator หรือ Incubator มันคือหน่วยงานที่สนับสนุนทั้งเรื่องของความรู้ และเงินทุนผ่านการนำเสนอโดยโครงการโดยตรง หรือการแข่งขันจากในเรื่องที่ใช้คำว่า Hackathon หรือการระดมสมองสร้างนวัตกรรมในเวลาที่จำกัด โดยมีขั้นตอนการคัดเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย และไม่ค่อยได้เห็นในเมืองไทย เนื่องจากทีมส่วนใหญ่จะมีตำแหน่งสำคัญครบก่อนเข้าแข่งขัน และด้วยความสัมพันธ์ของทีมก่อนหน้านี้แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเปลี่ยนให้คนนอกที่ไม่รู้จักกันดีมาเป็น CEO แต่ก็มีความจริงที่พิมพ์ไปก็หนาวๆ ร้อนๆ ไปว่า

ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความสามารถเป็น CEO การคัดเลือกในซีรีส์จึงเป็นวิธีที่สมเหตุสมผล 

หลังจากนั่นเมื่อรวมทีมได้แล้วเข้าสู่ช่วง Hackathon สำหรับในเมืองไทย ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบ Workshop ให้ความรู้พร้อมไปกับการพัฒนาโครงการ เพราะสตาร์ทอัพมักจะสนับสนุนผ่านสถานศึกษา ผู้เข้าร่วมจำเป็นต้องผ่านเงื่อนไขมากมายที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นศิษย์เก่าจบไม่เกินจำนวนปีที่กำหนด หรือเป็นนักศึกษาปัจจุบัน 

แล้วถ้าเป็นแบบนี้มีข้อเสียตรงไหน

ขอยกตัวอย่างด้วยเรื่องตลกที่มักจะใช้หยอกล้อกันเป็น Incubator Insight ว่า “เงินรางวัลที่ได้ไปอย่ากลายเป็นมอเตอร์ไซค์ Honda Wave” 

นี่เป็น Pain Point ของ Incubator ที่ส่งต่อมาจากช่วงที่สตาร์ทอัพเป็นกระแสยอดฮิตเมื่อ 3-4 ปีก่อนแล้วเงียบหายไป ในช่วงนั้นมีโครงการต่างๆ มากมายที่ได้เงินทุนง่ายๆ ผ่านการแข่งขัน เช่นเดียวกันคนมีความสามารถหลายรายก็ได้รางวัลโดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะทำธุรกิจนั้นจริงๆ วิบากกรรมนี้เลยมาตกกับสตาร์ทอัพในช่วงนี้ ที่ไม่ว่าจะการแข่งขัน หรือขอทุนเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนในการให้ทุนไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ่ายก่อนเบิกทีหลัง หรือการให้สิ่งอำนวยความสะดวกที่ตีเป็นมูลค่าแทนการให้เงิน

Pitching

ก่อนจะนอกเรื่องไปไกลที่น่าสนใจที่สุดคือ 3 Minutes Pitch หรือการนำเสนอธุรกิจภายใน 3 นาที ถ้านึกไม่ออกให้ลองดูรายการ Shark Tank Thailand ก็ได้ ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัว การทำ Pitching ที่ดี ต้องการเตรียมเนื้อหาต้องคม ครบ และวาดฝันให้นักลงทุนได้ แต่การสรุป 3 นาทีนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะออกมาจากผลงานเพียงเดียว มันเป็นการสรุปทั้งธุรกิจ รวมถึงทุกสิ่งที่ทำมาตลอดการก่อตั้ง ในช่วงเวลาสั้นๆ แค่นั้น แต่จากซีรีส์ ซัมซานยังอยู่ใน Idea stage และด้วยความที่เป็น B2B Model (Business to Business) และมี Pain Point ที่ชัดอยู่แล้ว ทุกอย่างเลยดูลงตัวและสมเหตุสมผล

ประเด็นต่อมาเป็นเรื่องที่มีปัญหามากที่สุดในตอนเริ่มธุรกิจ ซึ่งแน่นอนสตาร์ทอัพส่วนใหญ่เริ่มต้นมากับเพื่อน พี่ น้อง หรือคนสนิท ดังนั้นการแบ่งหุ้นโดยการหารด้วยจำนวนคนให้ได้จำนวนหุ้นที่เท่าๆ กันเป็นสัดส่วนที่นิยมใช้กันมาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดถ้าต้องการจะเริ่มต้นธุรกิจขึ้นมา

แต่ในกรณีสตาร์ทอัพนั่นต่างออกไป เพราะหุ้นในบริษัทนั้นบอกถึงอำนาจการตัดสินใจในบริษัทหากทุกคนถือหุ้นด้วยสัดส่วนที่เท่ากัน เมื่อเกิดปัญหา หรือมีความคิดเห็นไม่ตรงกันการแก้ปัญหาจะมีความล่าช้าจนในบางกรณีอาจถึงต้องยุติกิจการ ซึ่งแน่นอนการแบ่งหุ้นด้วยสัดส่วนที่เท่ากันเป็นเรื่องยากที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับนักลงทุน

Key Man จึงเป็นคนสำคัญที่จะรักษาผลประโชยน์ให้กับบริษัท และยังคงอำนาจการตัดสินใจไว้เมื่อเกิดการลงทุน

คำถามที่สตาร์ทอัพทุกรายที่เริ่มดำเนินกิจการแล้วคืออัตราของการเผาเงินทุน (Burn Rate) แปลง่ายๆ คือมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่ หรือที่เจ็บกว่านั่นคือ “บริษัทจะอยู่ได้อีกกี่เดือน?” ซึ่งเป็นสิ่งมักถูกถามในเวลาที่คนมีฝันไปขอทุน

เป็นคำถามที่ยากจะตอบแต่ถ้าตัดความรู้สึกส่วนตัวออกไป การทำ Financial Projections (แผนทางการเงิน) ที่ละเอียดจะทำให้เห็นภาพรวมการเงินในบริษัท

 

Funding

เป้าหมายของการทำสตาร์ทอัพบางคนมีเป้าหมายในการ IPO (การเสนอขายหุ้นแก่บุคคลภายนอก) หรือทำให้รุ่งแล้ว Exit ออกมาก็มีให้เห็น ซึ่งการเข้าซื้อส่วนใหญ่มักเกิดกับบริษัทที่มีฐานผู้ใช้บริการจำนวนมากและมีเทคโนโลยีที่เป็นผู้นำ แต่ในกรณีนี้ให้ความสำคัญไปกับทักษะของทีมพัฒนา และตั้งใจจะดองโปรเจคเดิมในตอนที่เข้าซื้อเราจึงได้ยินคำว่า Acquire ในเรื่อง น่าเสียดายที่การดำเนินเรื่องเลือกข้ามการระดมทุนที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ไปอย่างน่าเสียดาย มีแค่คำศัพท์เกี่ยวกับ Funding Round มาเพียงเล็กๆ น้อยๆ 

ถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้และเคยดูซีรีส์มาก่อน หากจำได้ Sandbox เป็น VC (Venture Capital) การที่ให้สิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่าง รวมถึงเงินเริ่มต้น 200 ล้านวอน นับว่าเป็นการระดมทุนหรือไม่? คงต้องย้อนกลับไปดูที่สัดส่วนการผู้ถือหุ้นของซัมซานเทค ที่ไม่มีชื่อของ Sandbox หรือบริษัทที่เป็น VC อยู่แม้แต่เปอร์เซ็นเดียวเรียกได้ว่าเป็น Accelerator ในฝันของสตาร์ทอัพอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ซีรีส์เรื่องนี้สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของสตาร์ทอัพออกมาได้ดีระดับหนึ่ง ก่อนที่ตอนจบจะมาถึงในอีกไม่ช้า ในฐานะคนทำสตาร์ทอัพ เราอยากให้ทุกคนได้ติดตามกัน แล้วมาแสดงความคิดเห็นกันว่ารู้สึกอย่างไรกับการตามฝันของสามสหายแห่งซัมซานเทค และความสัมพันธ์ของคนคู่ในซีรีส์เรื่องนี้

 

Photos Courtsey of tvN

Contributors

พิสิฐ เหลี่ยมมุกดา

ผู้ประกอบการที่เข้าใจปัญหาของ SME หันมาทำสตาร์ทอัพเป็นงานหลักเพราะต้องการลดช่องว่างด้านเทคโนโลยีของธุรกิจ