Aramarom: อารมณ์สถานและงานออกแบบที่อยากให้ทุกคนสำรวจถึงสุขภาพจิตใจของตัวเองอีกครั้ง

เชื่อว่าผู้อ่าน (บางท่าน) อาจจะรู้สึกตกใจเมื่อเห็นชื่อผู้เขียนว่าปกติมีแต่บทความรีวิวอัลบั้มเพลง (อดใจรออีกนิดนึงนะครับ เร็วๆ นี้มีแน่นอน) ซึ่งจริงๆ แล้วตัวผู้เขียนจบสายศิลปะมาก่อน และอีกหนึ่งความสนใจที่เราไปค้นหา และอยากให้ผู้อ่านทุกท่านได้สัมผัสอีกมุมหนึ่งนั่นก็คือ “การเล่าประสบการณ์ในการสัมผัสและรับชมนิทรรศการต่างๆ” นั่นเอง

พูดมาซะเหยียดยาวขนาดนี้ ก็ต้องตั้งคำถามว่า “ในสถานการณ์ Covid-19 ยังมีการจัดงานแสดงศิลปะอยู่เหรอ….”

จริงๆ แล้วมีครับ แต่อยู่ในรูปแบบของออนไลน์และการจำกัดคนเข้าร่วมงานซึ่งตอนนี้กรุงเทพฯ ผ่อนคลายมาตรการให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ได้แล้ว ซึ่งหนึ่งในงานใหญ่นั่นก็คือ Bangkok Design Week 2021 หรือเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพ 2564 ที่ให้ทุกคนที่เข้ามางานนี้ได้สัมผัสกับงานออกแบบ งานนิทรรศการและงาน Showcase ต่างๆ ที่จัดในโซนบางรัก-ตลาดน้อย

แต่ต้องบอกก่อนว่าเราจะไม่ได้รีวิวงาน BKKDW 2021 ทั้งหมดหรอกครับ เพราะตัวผู้เขียนเองยังไม่ได้ไปดูทั้งหมด แต่อยากขออนุญาตพูดถึงงานหนึ่งที่เป็น Highlight สำคัญเหมือนกัน นั่นก็คือ Aramarom

Aramarom เป็นนิทรรศการ Digital Art เกี่ยวกับสุขภาพทางใจที่จัดโดย Eyedropper Fill ซึ่งได้ Ooca แพลตฟอร์มสำหรับปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาออนไลน์มาเป็นพาร์ตเนอร์อีกด้วย โดยผู้จัดงานมุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างประสบการณ์ในการสำรวจ รู้จักและเข้าใจถึงจิตใจและอารมณ์ของตัวเองภายการนำเสนอแบบ Interactive Installation Art เพื่อให้ผลลัพธ์สุดท้ายที่ผู้ชมควรได้รับคือการจัดงานปัญหาสุขภาพจิตของเราให้ได้

ซึ่งผู้เขียนจะค่อยๆ เล่าในแต่ละ Station เพื่อให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ได้เจอในวันนั้นนะครับ และขอบอกก่อนว่างานนี้เป็นตัว Prototype ซึ่งเต็มทุกรอบแล้ว แต่ผู้จัดบอกว่าในอนาคตคงได้มีการต่อยอดไปมากกว่านี้อีก

เมื่อเข้ามาถึงงานและลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เราจะไปที่ด่านแรกกันก่อนนั่นก็คือจุดสำรวจใจ เป็น Interactive Station เพื่อมาเช็คตัวเองว่ามีภาวะอารมณ์ของตัวเองอะไรอย่างไร อย่างผู้เขียนได้เป็นก้อนหินสีแดง เมื่อทำแบบสอบถามเรียบร้อยแล้ว เราจะได้ QR Code ที่เป็น Audio Guide เข้าไปงานซึ่งงานนี้ต้องพกหูฟังไปด้วยนะครับ

และเราก็ไปกันต่อที่อุโมงค์จงกรม ตรงนี้ผู้จัดจะให้เราเปิด Audio Guide และให้เราหยุดอยู่ตรงนั้นระยะหนึ่งเพื่อให้เราตั้งสติและมีสมาธิในการโฟกัสกับด่านแต่ละด่านที่จะเจอนับจากนี้ พอให้สัญญาณเริ่มเดินเราจะได้เข้าไปที่อุโมงค์จงกรม ซึ่งจริงๆ แล้วมันคือการเดินจงกรมนั่นแหละ แต่ถูกแบบให้จับต้องง่ายด้วยแสง เสียงและพื้นที่ที่ใช้ผ้ามาเป็นตัวของอุโมงค์เพื่อที่ให้เราได้สัมผัสและมีสมาธิกับทุกย่างก้าวนั่นเอง

พันจากอุโมงค์จงกรมไปแล้วจะเจอกับห้องก้อนหินสีแดง

ห้องนี้เป็นห้องที่อยู่ในรูปแบบของความตึงเครียดที่เมื่อเข้าไปแล้วจะเจอกับแท่งเป่าลมที่ฉาบด้วยแสงสีทั้งห้อง โดยห้องนี้ Audio Guide จะบอกว่าเราสามารถระบายอารมณ์กับแท่งลมได้อย่างเต็มที่ แต่ขอให้ไม่กระทบถึงคนรอบข้าง

แน่นอนครับ เราก็จัดการปล่อยเต็มที่เลย ซึ่งเมื่อเราระบายอารมณ์จนได้ที่แล้ว ตัว Audio Guide จะบอกเราว่าลองนึกดูแท่งลมที่เราทุบตีตรงนั้นเป็นตัวเราเองล่ะ ซึ่งหลังจากตรงนั้นเราลองเปลี่ยนจากการทุบตีมาเป็นการสัมผัสและการกอดที่อ่อนโยน จนเราตระหนักได้ว่าการจัดการความโกรธ ความตึงเครียดของตัวเองนั้น การระบายอารมณ์ในเชิงทำร้ายตัวเอง เช่น การทุบตี การคิดในแง่ลบกับตัวเองซ้ำๆ ไม่ใช่หนทางในการแก้ไขปัญหาเหมือนกับการที่เราทุบตี เราผลักแท่งลมตรงนั้น ยิ่งผลักแรงยิ่งกระทบต่อตัวเรามากขึ้น

กลับกันถ้าเราอ่อนโยนกับมัน เราแก้ไขด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ เช่น การเขียน การเล่นดนตรี การถ่ายภาพแทน ซึ่งนั่นก็ให้ผลลัพธ์ในการปลดปล่อยอารมณ์ที่ไม่ต่างกันนั่นแหละ

พ้นจากห้องก้อนหินสีแดงเราจะเจอกับห้องดอกหญ้าสีเหลือง ห้องนี้เป็นตัวแทนของความวิตกกังวล

เมื่อเราเข้าไปถึงแล้วเราจะเจอกับ Light Installation เป็นแสงสีเหลืองกับพื้นหญ้าเทียม ที่ Audio Guide แนะนำเราว่าสามารถจับเส้นแสงตรงนั้นได้ โดย Light Installation ในพื้นที่จะเป็นไกด์ในการกำหนดหายใจของเรา โดยคอนเซปต์ของห้องนี้คือ การที่ตัวเรามีความวิตกกังวล ความฟุ้งซ่าน ไม่ต่างกับดอกหญ้าที่ลอยฟุ้งอยู่รอบตัว เมื่อมาสัมผัสกับตัวเรานั้น ก็ต้องใช้เวลาในการสลัดมันออก ไม่ต่างความฟุ้งซ่านที่เรามีภายใต้ความคิดต่ออดีตที่ผ่านพ้นไป อนาคตที่ยังไม่มาและสภาพสังคมที่กดดันในเราไม่ได้เป็นและทำในสิ่งที่ตัวเองเป็น การคาดหวังในความสัมพันธ์และผลลัพธ์ต่อสิ่งอื่น เหตุต่างๆ ที่เรากล่าวมาส่งผลให้เรามีความวิตกกังวลในตัวเอง ซึ่งการมีความวิตกกังวลเป็นเรื่องที่ดี เพราะเราสามารถตั้งรับและกระตุ้นเราให้ตื่นตัวต่อปัญหาที่มีอยู่ข้างหน้า แต่ถ้ามันเยอะมากไปก็จะทำร้ายเราอย่างช้าๆ อะไรที่เคยจัดการได้ง่ายกลับการเป็นเรื่องยาก มีความอ่อนเพลีย เครียด เราจะไม่กล้าตัดสินใจที่จะเลือกทางใดทางหนึ่งเพราะเราไม่สามารถหยุดความคิดที่ฟุ้งซ่านได้

และการที่มี Light Installation เป็นแท่งสีเหลืองและให้เราได้นั้นก็เพื่อให้แท่งแสงตรงนั้นเป็นการกำหนดการหายใจของเรา ให้เราได้หายใจเข้าและออกอย่างช้า ๆ เพื่อให้เราจดจ่ออยู่กับลมหายใจและโฟกัสอยู่กับ “ปัจจุบัน” ซึ่งเราตระหนักได้ว่าหลายครั้งที่เรามีความกังวล ความฟุ้งซ่านนั่นก็เพราะเราจดจ่อกับอดีตที่สวยงามหรือผิดพลาด เราชอบที่จะทำนายอนาคตของตัวเองมากกว่าที่จะมองปัจจุบัน เรามีความห่วงใยต่อผู้อื่นมากพอจนกลายเป็นความคาดหวังต่อผลลัพธ์นั่นแหละ การอยู่กับปัจจุบันคือคำตอบในการแก้ปัญหาเหล่านี้

พอเราอยู่กับปัจจุบันเราจะละทิ้งอดีตที่เลวร้ายได้ ส่วนอดีตที่สวยงามก็เลือกจะเก็บไว้แต่ตระหนักว่ามันไม่สามารถย้อนกลับไปได้

พอเราอยู่กับปัจจุบัน อนาคตที่เราทำนายก็กลายเป็นเรื่องสมมติเพราะมันยังไม่ได้เกิดขึ้น

พอเราอยู่กับปัจจุบัน ความห่วงใยที่เราให้จะมีแต่พอดีทำให้เราไม่ต้องรู้สึกคาดหวังต่อผลลัพธ์ว่าเราควรได้แบบนี้

การอยู่กับปัจจุบันคือหนทางที่แก้ไขของเรื่องและการมีความวิตกกังวลก็ควรมีแต่พอดี

พ้นจากห้องดอกหญ้าสีเหลือง เราจะเจอกับห้องก้อนเมฆสีน้ำเงิน 

ห้องนี้เป็นตัวแทนของความซึมเศร้า เมื่อเราเข้าไปจะเจอกับเบาะลูกโป่งที่เราสามารถนั่งลงได้ พอนั่งลงไปเราก็จะสัมผัสถึงความอ่อนโยนของเบาะประกอบกับตัว Audio Guide จะพูดถึงความเศร้าที่เราแบกไว้ราวกับก้อนเมฆที่กักเก็บความชื้นไว้ ยิ่งเรากักเก็บความซึมเศร้าไว้มาก ความรู้สึกเราจะมืดหม่นไม่ต่างกับก้อนเมฆก่อนฝนตกที่มืดครึ้มแต่ไม่สามารถปลดปล่อยได้

ความซึมเศร้ามันเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นกับทุกคน แต่กลับกันการปลดปล่อยกับความซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะการมีพื้นที่ปลอดภัยในการปลดปล่อยในปัจจุบันไม่ได้มีมากพอ ทุกวันนี้โรคซึมเศร้าก็เป็นโรคสำคัญอีกโรคที่ผู้คนประสบหรือเป็นกัน อาจจะด้วยสังคมที่เร่งเร้าให้เราประสบความสำเร็จ เร่งเราให้แปรเปลี่ยนให้ตัวเราคล้อยตามให้สังคมที่วางกรอบไว้ สังคมที่เรามีความเคารพซึ่งกันและกันน้อยพอๆ กับเงินในกระเป๋าสตางค์ที่ไร้การเยียวยาในสถานการณ์การเกิดปัญหา COVID-19 ของภาครัฐ (หรือจริงๆ มีแหละ แต่มันดันไม่ตรงเป้าหรือรัฐโอบอุ้มไม่ดีพอ) อะไรต่างๆ หล่อหลอมให้เรามีความซึมเศร้ากัดกินเราไปเรื่อยๆ อาจจะเพราะเราไม่ได้สมบูรณ์แบบแบบที่สังคมตีกรอบไว้ อาจจะเพราะเราไม่ได้เป็นในสิ่งที่สังคมต้องการ เราอาจจะเศร้าเพราะถูกบังคับชักใยภายใต้สังคมที่เป็นการสังคมใกล้ที่สุดอย่าง “ครอบครัว” ซึ่งความเศร้าทุกคนมันต้องมีแหละ แต่การเข้าใจต่อคนที่ประสบกับเรื่องนี้กับไม่มีมากพอ ท้ายที่สุดแล้วการที่เราจะจัดการกับความซึมเศร้าได้คือการคือได้ระบายออกมา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเขียน ถ่ายภาพ หรือแม้กระทั่งการเล่าให้คนที่เราไว้ใจ ทุกสิ่งล้วนเป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้

ขณะเดียวกันเราควรที่จะเข้าใจต่อคนที่ประสบกับความซึมเศร้าด้วย ว่าเขาไม่ได้เป็นคนอ่อนแอแต่มันมีหลายปัจจัยจากสารเคมีในสมองที่เปลี่ยนหรือผลกระทบจากเรื่องราวของแต่ละคน และมันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่มันคือเรื่องใหญ่มากพอที่จะเกิดปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดได้ ฉะนั้นการมี Empathy หรือการเข้าใจผู้อื่นคือเรื่องสำคัญและความเป็นเรื่องพื้นฐานที่มนุษย์ควรมี เมื่อเรามี Empathy เราจะรับฟังอย่างจริงใจ เราจะไม่ตัดสินแทนและเราจะสามารถเข้าไปโลกเดียวกับและเข้าใจโลกของคน ๆ หนึ่งได้ เป็นเรื่องที่ผู้เขียนตระหนักเป็นอย่างมาก

พอเราสัมผัสความอ่อนนุ่มของเบาะและเสียง Audio Guide พลางๆ เราจะรู้สึกผ่อนคลายเป็นอย่างมาก คำตอบที่เราได้จากห้องนี้คือ การยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเราเอง และการตระหนักต่อคุณค่าของตัวเอง ตรงกับประโยคหนึ่งที่เราเตือนใจในบ่อยครั้งคือ อย่าเอาคุณของค่าตัวเองไปไว้ที่อื่น พอเราเอาคุณค่าตัวเองไปไว้ที่อื่น เราจะไม่ตระหนักและละเลยอารมณ์ตัวเอง ซึ่งกว่าจะรู้ตัวเองก็สายไปเสียแล้ว

กลับกันถ้าเรามีสติรับรู้คุณค่าตัวเอง เราจะตระหนักกับสิ่งที่มากระทบต่อตัวเอง เราจะรู้เท่าทันอารมณ์และจัดการมันได้ ท้ายที่สุดเราไม่อยากให้ทุกคนกักเก็บความเศร้าของตัวเองมาเกินเหมือนกับเมฆครึ้มก่อนฝนตก เราอยากให้ยอมรับและปลดปล่อยความเศร้าออกมาแม้กระทั่งการร้องไห้ที่เรามองว่าเป็นการแสดงความอ่อนแอ นั่นก็คือกระบวนการหนึ่งในการปลดปล่อยความเศร้า เราหวังให้ทุกคนได้ปลดปล่อยความเศร้าเหมือนกับฝนที่ตกออกมา

เพราะท้ายที่สุด ฟ้าหลังฝนมันยังสวยงามเสมอ

หลังจากไปเจอมาทั้ง 3 ห้องแล้ว ถ้าเรายังรู้สึกค้างคาต่ออารมณ์ที่เรามียังมี ก็ยังมีพื้นที่สะท้อนใจ ที่มีอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรม Deep Listening จาก Ooca ที่เราสามารถพูดคุยหรือแบ่งปันประสบการณ์ต่องานนี้ได้ด้วย

ท้ายที่สุดถึงแม้ Aramarom จะเป็น Prototype ที่รอการต่อยอดในอนาคต แต่หลังจากจบงานนี้ไป มันทำให้เราได้ตระหนักต่อตัวเอง ตระหนักถึงอารมณ์และความนึกคิดของตัวเอง เพราะไม่มีใครเข้าใจตัวเองได้มากเท่าตัวเองนั่นแหละ

ขณะเดียวกันเราอยากให้สังคมรอบข้างมี Empathy มากขึ้น เพราะเมื่อเรามี Empathy เราจะรับฟังปัญหาแบบไม่ตัดสินและสามารถสะท้อนความคิดและเข้าใจโลกอีกฝ่ายได้ ซึ่งอย่างน้อยมันยังบรรเทาปัญหาที่อีกฝ่ายได้เจอลงได้บ้าง จริงอยู่ที่ทุกคนย่อมจะสนใจแต่เรื่องของตัวเอง แต่การได้รับฟังและเข้าใจด้วยความที่เรามี Empathy มากพอ มันก็สามารถช่วยคน ๆ หนึ่งได้ในวันที่อีกฝ่ายรู้สึกไร้หนทางออกได้และเรายังเข้าใจปัญหาและสามารถต่อยอดเพื่อให้ตัวเราที่จะเจอปัญหาในอนาคตสามารถแก้ปัญหาได้อย่างถี่ถ้วนได้

หวังว่าในความหนักหนาที่เราล้วนแต่แบกโลกแต่ใบของเรา จะมีใครสักคนที่สามารถแบ่งเบาความหนักหนาที่เราแบกโลกใบนี้ไว้อยู่นะครับ

ภาพประกอบ: Eyedropper Fill, ธนกร แสนคำ


หมายเหตุ: เนื่องจากผู้จัดนิทรรศการฯ ได้แจ้งว่าพบผู้ติดเชื้อโควิดเข้าร่วมงาน จึงส่งผลให้นิทรรศการดังกล่าวและเทศกาล Bangkok Design Week 2021 ต้องปิดทำการตั้งแต่วันที่ 16-18 มิถุนายน 2564 จึงขอแนะนำให้ผู้อ่านตรวจสอบรายละเอียดกับผู้จัดงานเพื่อประกอบการตัดสินใจเข้าชม

Contributors

ธนกร แสงคำ

ชายวัย 24 ปีที่ตอนนี้ทำมาหากินกับ Youtuber ท่านหนึ่งที่บริษัทโดนงัดมา 2 รอบ มือหนึ่งกุมความฝัน อีกมือกุมขมับบ้าง ก่ายหน้าผากบ้าง หลงในเสียงเพลง รักในศาสตร์ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ไม่ใช่คนเจ้าชู้แต่อยู่อย่างโดดเดี่ยวมา 6 ปีแล้ว