ดิจิทัลอัลบั้ม “ผู้เดียว” – สเต๊กจานง่ายๆ แต่ปรุงด้วยลีลาและรสชาติที่จัดจ้านของ Tilly Birds

ในยุค 2020 ของวงการเพลงไม่ว่าจะทั้งไทยและเทศ ต่างมีเพลงป๊อปและฮิปฮอปเป็นเพลงกระแสหลักอยู่นั้น ทำให้วงการเพลงร็อกเลยกลายเป็นกระแสรอง สิ่งที่ท้าทายต่อวงร็อกหลาย ๆ วงก็คือการผสมผสานแนวอื่นเข้ามาเพื่อให้มีผลงานที่สามารถทำให้สปอตไลท์ฉายมาที่วงและอยู่รอดในวงการเพลงนั่นเอง

ส่วนตัวผู้เขียนเองก็เป็นแฟนเพลงวงร็อกหลายๆ วงทั้งไทยและต่างประเทศ ด้วยความสนใจในการทำเพลงในทำบีต ที่ทำให้ผู้เขียนต้องเปิดใจฟังเพลงหลากหลายแนวมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่าคำว่าวงการเพลงร็อกไม่มีวันตายมันเป็นเรื่องจริง แต่ก็ต้องยอมรับว่าการที่ทำให้วงการเพลงร็อกยังอยู่ได้คือ การทดลองผสมผสานหลากหลายแนวให้มีสีสันและความลงตัว จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด ซึ่งผู้เขียนต่างแอบเชียร์ให้วงการเพลงร็อกกลับมามีสีสันอีกครั้ง ท่ามกลางกระแสเพลงฮิปฮอป ป๊อป และดนตรีอิเล็คทรอนิกส์ที่เป็นดนตรีกระแสหลัก เพราะความสามารถในการสร้างสรรค์ที่ไม่มีขีดจำกัดและเสพได้ง่าย

ถึงกระนั้นเราก็ยังเห็นวงร็อกยุคใหม่ที่เราเชียร์มาสักพัก ต่างก็สร้างผลงานและสีสันเพลงร็อกอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Paper Planes, Nobuna, TaitosmitH, Three Man Down แต่มีวงหนึ่งที่เราตื่นเต้นกับการออกเพลงในแต่ละครั้ง เพราะมีการผสมผสานแนวเพลงอื่นและลูกเล่นการเรียบเรียงเพลงที่น่าสนใจและแปลกใหม่

ชื่อของวงนั้นก็คือ Tilly Birds

Photo Courtsey of Tilly Birds Facebook Fanpage, Gene Lab

 

Tilly Birds ประกอบไปด้วยสมาชิก 3 คน ได้แก่ เติร์ดอนุโรจน์ เกตุเลขา (ร้องนำ) บิลลี่ณัฐดนัย ชูชาติ (มือกีตาร์) เจ้าของแชแนลที่ทุกคนต้องร้องอ๋ออย่าง BillBilly01 และไมโลธุวานนท์ ตันติวัฒนวรกุล (มือกลอง) โดยเริ่มจากการแต่งเพลงภาษาอังกฤษมาก่อนแล้วได้ออก EP. Album แรกในชื่อ Tilly Birds หลังจากนั้นได้เข้าร่วมประกวดในรายการ Band Lab รายการเรียลลิตี้หาศิลปินที่จัดโดยค่ายเพลง Gene Lab ซึ่ง Tilly Birds ก็สามารถเข้ารอบจนสามารถเซ็นสัญญาเป็นศิลปินในค่ายได้ในที่สุด

Tilly Birds เป็นวง Alternative / Pop Rock ที่ผู้เขียนรู้สึกได้ว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากวงร็อคสัญชาติอังกฤษอย่าง Arctic Monkeys, Royal Blood, Nothing But Thieves มาพอสมควร โดยรับรู้ได้จากวิธีการคิดริฟฟ์กีตาร์, การใช้คอร์ดในการเรียบเรียงเพลง แต่วงก็ยังหยิบยืมแนวดนตรีต่างๆ มาผสมในงานของเขา ไม่ว่าจะเป็น R&B, Hiphop, Trap, Dream Pop, Electronic, แม้กระทั่ง Salsa เข้ามาผสมกัน 

Photo Courtsey of Tilly Birds Facebook Fanpage, Gene Lab

 

อีกหนึ่งจุดแข็งที่สำคัญคือการสร้าง Sound Design และ Ambience ของแต่ละเพลงที่ทำได้แปลกใหม่และน่าสนใจ จนเป็น 13 เพลงที่มีรสชาติไม่ซ้ำกันแถมฟังง่ายไม่จำเจอีกต่างหาก ซึ่งก็ต้องยกเครดิตในตัววงที่มีโปรดิวเซอร์อย่างบิลลี่ มือกีตาร์ของวงที่ดูภาพรวมทั้งหมด และมีเติร์ดดูแลเนื้อหาของเพลง ซึ่งมีการใช้คำที่ง่าย ทันสมัย และร้องตามง่าย ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่จะพูดเรื่องความรัก ความอกหัก ความเหงาที่ดูเป็นตัวแทนของนิตยสารศาลาคนเศร้าในยุคนี้ แต่จะมีรสชาติที่แตกต่างกันในแง่เรื่องดนตรีอีกทีหนึ่ง

 

Track By Track

ปลายนิ้ว (My Black Mirror)

เพลงเปิดอัลบั้มที่เปิดด้วยเสียง PAD บาง ๆ คลอมากับเสียงร้องของเติร์ด แล้วตามด้วยเสียงกลองไฟฟ้ากับเสียงกีตาร์โปร่ง ก่อนจะเข้าสู่ท่อนฮุคที่ดนตรีมีความเรียบง่ายให้กลิ่นอายแบบ Lo-Fi, Chillhop พร้อมกับการประสานเสียงที่หยอดไว้ในเพลง ว่าด้วยเรื่องราวของคนเคยรัก คนที่เราอยากลืมเท่าไหร่แต่พอเห็นในใบหน้าของเขาในหน้าจอมือถือ ก็ทำให้ความคิดถึงและเรื่องเก่าๆ ในอดีตหวนกลับมา ที่ทำได้แค่เพียงฝากข้อความเสียงไว้ ซึ่งเป็นกิมมิคให้ช่วงท้ายก่อนส่งเข้าเพลงต่อไป

ฤดูหนาว : Bangkok Winter

เพิ่มจังหวะให้สนุกด้วยกรู๊ฟที่ชวนโยกเบาๆ ริฟฟ์กีตาร์ที่เล่นน้อย ๆ แต่ซับซ้อนพร้อมกับการเรียบเรียงที่ค่อยบิวด์อารมณ์ช้า ๆ ก่อนจะระเบิดในช่วงท้าย สิ่งที่น่าสนใจคือเนื้อหาเพลงที่พูดถึงความสัมพันธ์อีกฝ่ายที่มาสร้างความชุ่นฉ่ำในหัวใจแต่ก็ไป ๆ หาย ๆ ราวฤดูหนาวในประเทศไทยที่มาทำให้รู้สึกดีชั่วคราว อีกทั้งยังได้ PAAM (แปม-ศิรภัสรา สินตระการผล) หรือหน้ากากโพนี่ในรายการ The Mask Singer เข้ามาสร้างสีสันแต่ก็ยังมีเซอร์ไพรส์อีกรอบหนึ่งคือการที่ไมโล มือกลองของวงมาโชว์ลีลาการแร๊ปที่มีโฟลว์และไรม์น่าสนใจไม่แพ้กัน

แค่เธอเข้ามา (Worth The Wait)

เปิดมาด้วยเสียงซินธ์ที่ให้กลิ่นอายของซินธ์ป๊อปและซิตี้ป๊อป โดยพูดถึงเรื่องราวของคนที่เจ็บปวดในความรักเก่าๆ ที่โดนทอดทิ้งซ้ำๆ แต่แล้วมีใครสักคนเข้ามาที่ทำให้หัวใจเราชุ่มฉ่ำ อยากมีรักใหม่อีดครั้ง เป็นเพลงป๊อปร็อกที่มีความโรแมนติก ทำให้เรายิ้มไปกับเพลงและน่าจะเป็นที่ชื่นชอบหลายๆ คน

Photo Courtsey of Tilly Birds Facebook Fanpage, Gene Lab

 

เลิก (Cut to Chase!)

แทร็คต่อไปที่เปลี่ยนอารมณ์ความสดใสในเพลงที่แล้วมาเป็นความดาร์กกับเนื้อหาที่อยากจะเลิกจากสถานะความสัมพันธ์ที่แสนคลุมเครือ ที่ได้แต่รอความหวังจากอีกฝ่ายโดยไม่สามารถมีใครใหม่ได้ แปรเปลี่ยนความโกรธที่เมื่อไหร่จะให้คำตอบชัดเจนสักทีมากับพาร์ทดนตรีที่กรู๊ฟ มีลูกเล่นชวนโยกและชวนเกรี้ยวกราดไม่ใช่น้อยในช่วงโซโล่กีตาร์จนจบเพลง และยังมีลูกเล่นในการร้องที่เป็นเสียงกระซิบอีกต่างหาก ท้ายเพลงมีการใส่เสียง Announcer ของสถานีรถไฟฟ้าที่สามารถเปลี่ยนเส้นทางได้ในช่วงท้ายก็มีลูกเล่นที่เก๋ไม่ใช่น้อย

ให้กอดของฉันบอกทุกอย่าง (Just So You Know)

ป๊อปร็อกที่เรียบง่ายแต่แอบมีความหนักแน่น ว่าด้วยเรื่องราวของคน 2 คนที่หายจากไปวงโคจรของกันและกัน แล้วกลับมาเจอหน้ากันแบบบังเอิญ ที่ต่อให้แม้จะมีคำพูดมากมายแต่อาจจะมีไม่มากพอกับความรู้สึกที่เอ่อล้นแต่กอดของฉันที่มีต่อเธอจะบอกทุกความคิดถึง ทุกความรู้สึกที่มีแม้จะเป็นเวลาเพียงสั้นๆ เป็นอีกเพลงที่ได้โชว์ด้านการใช้เสียงสูงของเติร์ดอีกเช่นกัน อีกทั้งช่วงท้ายของเพลงมี Transition ที่ส่งเข้าไปเพลงผู้เดียวที่ให้รู้สึกราวกับเป็นเนื้อเดียวกันอีกต่างหาก

ผู้เดียว (The One)

เป็นป๊อปร็อกจังหวะง่ายๆ แต่ปนไปด้วยความฟุ้งของเสียงกีตาร์ที่ได้กลิ่นอายของดรีมป๊อปเข้ามาสร้างมิติประกอบการใช้คอร์ดที่มีความหวาน ความโรแมนติก ส่วนเนื้อหาก็โรแมนติกไม่แพ้กัน ว่าด้วยเรื่องราวการตามหาคนที่เรารอคอยที่จะรักเขา แม้จะผ่านเจ็บช้ำมากเพียงไหน แต่เธอเป็นผู้เดียวที่อยากสวมแหวนลงที่ที่นิ้วนาง และอยากใช้ชีวิตกับเขาไปตลอดไป เป็นเพลงที่ฟังแล้วน่าจะชวนอมยิ้มไม่ใช่น้อยหรือไม่แน่อาจจะเป็นเพลงประกอบการแต่งงานอีกเพลงเช่นกัน

อยู่ได้ ได้อยู่ (ineednoone)

ยังคงความสนุกอยู่กับการหยิบยืมแนวเพลง Trap เข้ามาสร้างสีสันภายใต้การใช้จังหวะ การใช้ Percussion ผสมการเรียบเรียงที่ชวนโยก ริฟฟ์กีตาร์ที่ง่ายเน้นการคุมอารมณ์เพลง แต่แอบหยอดลูกเล่นสร้างสีสันเล็กๆ น้อยๆ ด้านเนื้อหาก็น่าสนใจไม่แพ้กันเพราะเป็นเพลงปลอบใจคนโสดคนเหงาแบบเราๆ ที่เจ็บช้ำซ้ำๆ อาจจะเพราะไม่ได้เป็นคนที่ใช่หรือยังไม่เจอ แต่เราก็ยังอยู่คนเดียวได้ ซึ่งเรื่องราวที่ว่ามานี้ก็ได้เป็นเนื้อเพลงที่ร้องตามง่ายๆ พร้อมกับลูกเล่นการใช้คำที่มีคำซ้ำๆ ที่อาจจะซ้ำด้วยเสียงหรือซ้ำด้วยคำแต่สร้างความลื่นไหลเป็นอย่างมากรวมไปถึงการเรียบเรียงที่เป็นวิธีที่นิยมกันในเพลงป๊อปและฮิปฮอปยุคหลังมานี้ คือการหยอดท่อนฮุคซ้ำ ๆ กันหลายจุด เพื่อให้คนจดจำได้ (ลองนึกถึงเพลง Better Now ของ Post Malone ดูแล้วจะเห็นภาพชัดเจน) บวกกับท่อนฮุคที่ใช้วลีอยู่ได้ ได้อยู่เข้ามาเป็นระยะ และอีกสิ่งที่ใส่เข้ามาเป็นลูกเล่นในเพลงคือการใช้คอรัสที่ให้กลิ่นอายแบบ Gospel (การร้องเพลงประสานเสียงในโบสถ์คริสต์บรรณาธิการ) เข้ามาจนกลายเป็นเพลงที่นึกภาพตอนเล่นสดที่คนดูสามารถมีส่วนร่วมแบบง่ายๆ ไปเลย

แค่พี่น้อง (Status)

ยังคงความสนุกแบบต่อเนื่องกับเนื้อหาที่ว่า เราทุ่มเทความรักกับอีกฝ่าย คอยไปรับไปส่ง คอยดูแล ทำทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ไฉนเวลาใครต่อใครถามก็ตอบไปว่าแค่พี่น้องซะอย่างงั้น มันเจ็บจี๊ดไปในหัวใจจนอยากตอบกลับว่าพี่น้องประสาอะไรมาพร้อมกับจังหวะที่ได้กลิ่นอายของเพลงแนว Salsa รวมไปถึงริฟฟ์กีตาร์ที่ให้ความรู้สึกแบบ Funk Rock ส่วนผสมเหล่านี้กลายเป็นเพลงที่เป็นตัวแทนของคนที่อยู่ในสถานะพี่น้อง ที่ยังขยับขาตามได้อยู่

คิด(แต่ไม่)ถึง (Same Page?)

ลดความสนุกมาเป็นเพลงที่ให้จังหวะ Medium ที่พูดถึงความสัมพันธ์ของคน 2 คนที่อยู่ห่างกัน โดยที่เราได้แต่ตั้งคำถามว่าต่ออีกฝ่ายว่าความรู้สึกของอีกฝ่ายนั้นเปลี่ยนไปหรือเปล่า และยังคิดถึงกันเหมือนเดิมหรือไม่ ประกอบกับดนตรีที่โดดเด่นด้วยริฟฟ์เบส จังหวะกลองที่เรียบง่าย การใช้เสียงกีตาร์ เสียงอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เข้ามาสร้างบรรยากาศให้รู้สึกราวกับเราอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมในยามค่ำคืน อีกทั้งการใช้เสียงคอรัสมาสอดรับกับเสียงในท่อนที่ติดหูอย่างคิด(แต่ไม่)ถึง คิด คิดๆ(แต่ไม่)ถึงเธอทำให้เกิดช่องว่างราวกับระยะห่างของคนสอง คนและความแปลกใหม่ในเพลงอีกด้วย

ยังคงสวยงาม (When The Film’s Over)

เข้าสู่โหมดเพลงช้าที่ว่าด้วยความรักของคนทั้งสองที่เหมือนกับหนังเรื่องหนึ่งที่จบไปแล้ว แต่ยังสวยงามเสมอ แม้ในวันนี้จะไม่มีเขาอยู่เคียงข้างอีกแล้ว เราคงได้แต่เก็บความรู้สึกดีที่เราต่างมีให้กัน ในพาร์ทดนตรีก็น่าสนใจไม่แพ้กัน การเรียบเรียงที่ค่อยไล่อารมณ์ช้าๆ Sound Design ที่ให้ความรู้สึกล่องลอย เคว้งคว้างราวกับตัวเองกำลังล่องลอยในอวกาศ

ผู้เดียว Pt.2 (What’s Left)

ยังคงความเศร้าอย่างต่อเนื่อง กับเนื้อหาตัดพ้อและการตั้งคำถามต่อชีวิตตนเองที่ต้องเจอความเจ็บช้ำ ความเหนื่อยล้า ความผิดหวังที่เข้ามาจนสุดท้ายได้แต่ถามว่าอะไรคือความหมายของการมีชีวิต อีกทั้งมีการหยิบยืมท่อนฮุคของเพลงผู้เดียวมาใช้ ประกอบพาร์ทดนตรีที่มีกีตาร์โปร่งและการสร้าง Ambience ชวนล่องลอย กลายเป็นเพลงที่เรารู้สึกเศร้าเคว้งคว้างและหม่นหมองที่สุดในอัลบั้ม

ฉันมันเป็นใคร (Who I Am)

สัมผัสได้ว่าเป็นเพลงที่ทะเยอะทะยานที่สุดของวง กับเนื้อหาที่พูดถึงการเลิกรากับคนหนึ่ง ๆ แบบไม่มีชิ้นดีที่ได้แต่ตั้งคำถามว่า ตัวตนของฉันเคยมีค่า มีความหมาย เคยอยู่ในความทรงจำของใครบ้างหรือเปล่า? ก่อนที่ครึ่งหลังจะพลิกเนื้อหามาพูดถึงตัวเราเองก็มีค่าและชีวิตเราที่ตัวเราเป็นคนกำหนดไม่ใช่เขา ไม่ใช่ใครและไม่ใช่คนอื่น ประกอบพาร์ดนตรีที่ดุเดือดไม่แพ้กันกับการเรียบเรียงที่ราวกับแบ่งเป็น 3 พาร์ท 

พาร์ทแรกจะมีริฟฟ์กีตาร์ที่มีกลิ่นอายของ Garage Rock ช้า ๆ เนิบ ๆ ประกอบกับเสียง Percussion มาสร้าง Space ก่อนส่งเข้าท่อนฮุคที่เพิ่มความหนักแน่นและส่งเข้าโซโล่ที่มีความเป็นบลูส์ ก่อนเข้าท่อนร้องประสานเสียงพร้อมกับจังหวะกลองสร้างความเร้าใจจนส่งเข้าฮุคสุดท้ายที่รุนแรงและมีความกรีดร้องและปิดท้ายด้วยริฟฟ์กีตาร์ที่มีอิทธิพลจาก Stoner Rock พร้อมกับการรัวกลองอย่างบ้าคลั่ง ถึงขนาดที่นักร้องนำอย่าง เติร์ด ถึงกับพิมพ์ใน Twitter ว่าเพลงนี้เปรียบเสมือน Bohemian Rhapsody (Queen) ของวงไปเลย

Photo Courtsey of Tilly Birds Facebook Fanpage, Gene Lab

 

ไม่รู้สึก (Unspoken)

เพลงปิดอัลบั้มที่ความช้าที่พูดถึงความเป็นไม่ได้ต่อการห้ามความรู้สึกที่มีต่อกัน ราวกับการห้ามให้ดวงอาทิตย์ส่องแสงที่มันก็เป็นไปไม่ได้ พร้อมกับเสียงกีตาร์โปร่งและเปียโนคลอไปทั้งเพลง เป็นการจบอัลบั้มแบบสวยงาม

 

ภาพรวมของผู้เดียว ดิจิทัลสตูดิโออัลบั้มแรกของ Tilly Birds เป็น Alternative / Pop Rock ที่ฟังง่ายแต่พิถีพิถันในการเรียบเรียง การหยิบยืม Element ดนตรีประเภทอื่นเข้ามาผสมจนลงตัว ประกอบกับลูกเล่นประสานเสียงในแต่ละเพลงที่นอกจากสร้างมิติเพลงแล้วก็ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแต่เพลงอีกต่างหาก ประกอบกับการเรียบเรียงเพลงในอัลบั้มที่มีความต่อเนื่องเป็นอย่างมาก หลายเพลงที่วาง Transition จนเรารู้สึกเป็นเนื้อเดียวกัน อย่าง ให้กอดของฉันบอกเธอทุกอย่าง กับผู้เดียว ที่เมื่อฟังต่อกันจะเห็นว่าบริบทของเนื้อหาที่ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นลูกเล่นที่ทำให้รู้สึกราวกับการฟังอัลบั้มนี้เหมือนการดูหนังที่ต้องดูตั้งแต่ต้นจนจบ

ทางด้านเนื้อหา ในอัลบั้มนี้เรารู้สึกว่าเป็นการพูดถึงเรื่องราวของความรัก ความผิดหวัง ความอกหัก ที่หลายเพลงเราก็รู้สึกว่าเติร์ดแต่งมาจากเรื่องราวที่เจอมากับตัวราวกับให้ผู้ฟังเป็นบุคคลที่สามที่กำลังนั่งชมเรื่องราวที่เขาเจอมา แต่สิ่งที่ดีเป็นอย่างมากคือการใช้ภาษาในเนื้อเพลงที่ไม่ได้ทำให้เรื่องราวที่อยากจะเล่ามันดูเป็นเรื่องส่วนตัวมากเกินไป กลายเป็นเนื้อหาที่จับต้องง่ายและมีความสากลเป็นอย่างมาก ที่อย่างน้อยคนฟังก็รู้สึกว่าเรื่องนี้มันก็เคยขึ้นกับเราอีกเช่นกัน

Photo Courtsey of Tilly Birds Facebook Fanpage, Gene Lab

 

สุดท้ายนี้ ผู้เดียว ดิจิทัลสตูดิโออัลบั้มแรกของ Tilly Birds เป็นอัลบั้มที่ผู้เขียนอยากให้ทุกคนลองฟังเป็นอย่างมาก ชนิดที่เรียกได้ว่าถ้าคุณไม่ได้ฟังอัลบั้มนี้ คุณต้องรู้สึกเสียดายไปอีกนานเพราะเป็นอีกไม่กี่วงในเมืองไทยที่กล้าทดลองในการดนตรีแขนงอื่นมาผสมผสาน แต่ฟังง่ายและสนุกไปกับมัน ซึ่งถ้าเปรียบเสมือนกับอาหารก็คือสเต็กที่ราคาย่อมเยาว์ เข้าถึงคนง่ายแต่มีวัตถุดิบที่ดี มีการปรุงที่มีความพิถีพิถัน จนเมื่อคุณทานคำแรกจนถึงคำสุดท้ายคุณจะรู้สึกอร่อยไปกับอาหารจานนี้แบบคุ้มค่าเลยครับ

Photo Courtsey of Tilly Birds Facebook Fanpage, Gene Lab

 

 

Contributors

ธนกร แสงคำ

ชายวัย 24 ปีที่ตอนนี้ทำมาหากินกับ Youtuber ท่านหนึ่งที่บริษัทโดนงัดมา 2 รอบ มือหนึ่งกุมความฝัน อีกมือกุมขมับบ้าง ก่ายหน้าผากบ้าง หลงในเสียงเพลง รักในศาสตร์ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ไม่ใช่คนเจ้าชู้แต่อยู่อย่างโดดเดี่ยวมา 6 ปีแล้ว