#ถ้าการเมืองดี ปังปอนด์ ส่องสื่อ ก็ไม่ต้องยื่นแถลงการณ์ตำหนิการทำงานของสื่อให้กับสื่อ

“เทปสปีด ซาวด์สปีด ผู้ชมพร้อม 5-4-3-2”

(เสียงเพลงประจำรายการพร้อมเสียงปรบมือจากผู้ชมในห้องส่ง)

 

ขอต้อนรับกลับเข้าสู่รายการ Behind The Scene ทุกเบื้องหน้า มีเบื้องหลัง ในช่วงพิเศษ #ถ้าการเมืองดี กับการสนทนนากับแขกรับเชิญมากหน้าหลายตาในทุกสาขาวิชาชีพ ที่มีคำถามร่วมกันว่า ถ้าการเมืองดี สังคมวงการที่เขาอยู่จะเป็นอย่างไร

คุณผู้ชมคงคุ้นหน้าคุ้นตาแขกรับเชิญคนนี้บ้างในโลกออนไลน์ในบทบาทของกองบรรณาธิการเว็บไซต์ที่ว่าด้วยเรื่องสื่อที่ชื่อว่าส่องสื่อ ซึ่งพูดถึงความเคลื่อนไหวของสื่อในหลากหลายรูปแบบ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ สื่อใหม่ สื่อโฆษณา หรืออีเวนต์ ที่ตอนนี้ส่องสื่อเดินทางเข้าสู่ปีที่ 4 ซึ่งมีผู้เข้าชมเว็บไซต์ songsue.co รวมกว่า 100,000 ครั้ง

เขาเรียกตัวเองว่า “ผู้สังเกตการณ์สื่อมวลชนในประเทศไทย”

ถึงแม้ว่าสื่อทางเลือกที่เล่าเรื่องหนึ่งอย่างลึกซึ้งเฉพาะเจาจง กำลังกลายเป็นกระแสในวงการคอนเทนต์เมืองไทย และเมื่อรวมกับสถานการณ์ในวงการสื่อที่จรรยาบรรณวิชาชีพเสื่อมถอย การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนหลายสำนักและบุคลากรในวงการสื่อหลายแขนงถูกตั้งคำถามในความเหมาะสม เขาคนนี้และเพื่อนๆ ในองค์กรของเขากลับร่างแถลงการณ์ฉบับหนึ่งเพื่อสะท้อนและตั้งคำถามกลับไปหาผู้ที่กล้าเรียกตัวเองว่าสื่อมวลชน ว่าพวกเขาได้ทำหน้าที่ของสื่ออย่างเต็มภาคภูมิแล้วหรือยัง ลงในเว็บไซต์และช่องทางออนไลน์ของส่องสื่อ แต่มันยังไม่หมดเพียงแค่นั้น

เขาคนนี้เดินทางไปพบสื่อมวลชนที่ทำข่าวการจัดกิจกรรมแฟลชม๊อบของกลุ่มประชาชนปลดแอก เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อยื่นแถลงการณ์ฉบับนี้ให้กับสื่อมวลชน

เราไม่ปฎิเสธว่านี่คือวิถีแห่งประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามกับทุกความเป็นไปในสังคม แต่เมื่อมองในความจำเป็นแล้ว แถลงการณ์ฉบับนี้มีไปเพื่ออะไร และบทบาทของสื่อมวลชนจะไปในทิศทางไหนหลังแถลงการณ์ฉบับนี้อยู่ในมือผู้ที่เกี่ยวข้อง

และคำถามสำคัญที่เราเชิญเขามาพูดคุยกับเราในวันนี้คือ ทำไมเขาถึงเลือกแสดงออกแบบนี้

วันนี้เขาอยู่กับเราแล้ว ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เดินทางมานั่งสัมภาษณ์กับเราด้วยตัวเอง แต่ตอนนี้เขาอยู่ในสายผ่านการวิดีโอคอล

ขอเสียงปรบมือต้อนรับ บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ส่องสื่อ คุณปังปอนด์-กฤตนัน ดิษฐบรรจง

 

ช่วงที่ 1: สอดส่องว่าจะทำสื่อมานานแล้ว

นอกจากฐานะผู้รับสาร ในฐานะนักศึกษาคณะด้านนิเทศศาสตร์ ปังปอนด์จึงมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องสื่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น เซนส์ของการเป็นคนทำสื่อที่ได้จากผลพวงของการเป็นนักศึกษา เขาจึงเริ่มทำสื่อในพื้นที่เล็กๆ ของตัวเองก่อน

“สมัยที่เราเรียนปีหนึ่งมันไม่มีแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของสื่อสารมวลชนอย่างจริงจัง มันไม่มีแหล่งข้อมูลกลางที่เราสามารถหาความรู้และวิจารณ์เรื่องสื่อมวลชนได้ กลายเป็นว่าเราเริ่มตั้งเพจโดยแชร์บทความจากแหล่งข้อมูลอื่นมาลงที่เราก่อน ตอนแรกเราใช้ชื่อว่าถึงเวลาต้องวิจารณ์ เราอยากวิจารณ์เพราะเราชอบดูทีวีอยู่แล้ว ก็เลยน่าจะต้องวิจารณ์ได้ เราทำเพจนี้ด้วยความมึนๆ งงๆ ลองถูกผิดแบบไม่มีหลักการห่าเหวอะไรเลย จากนั้นหลังจากที่เราเรียนนิเทศฯ เลยเปลี่ยนชื่อเป็น Media Focus ที่เราจริงจังและหาข้อมูลมากขึ้นจากแหล่งต่างๆ หลายเพจ” ปังปอนด์เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำสื่อให้ฟัง

ระหว่างทางที่ลองผิดลองถูก ปังปอนด์ยังหาโอกาสและความรู้ให้ตัวเองเสมอด้วยการเข้าค่ายอบรมการทำสื่ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเข้าค่ายเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในการทำเพจโดยสิ้นเชิง

“เราได้ความรู้จากพี่ๆ บก. ข่าวจนเริ่มเปลี่ยนวิธีทำเพจของเรา แรกสุดเลยเริ่มจากการเขียนคอนเทนต์ลงเว็บไซต์ Medium คอนเทนต์แรกคือเราได้รับคำชักชวนจากทางกันตนาให้เขียนงานเกี่ยวกับการเข้ามาของรายการ Drag Race Thailand ซึ่งผลตอบรับมันค่อนข้างดีมาก แต่มันเป็น Platform ที่เข้าถึงได้ยากและมีข้อจำกัดบางประการ ประกอบกับตอนนั้นเราอยากทำเว็บอยู่แล้ว เราก็เลยลงมือทำเว็บแล้วมีคนอ่านประมาณหนึ่ง”

ระหว่างทางที่ปังปอนด์ทำเว็บไซต์เล็กๆ นี้ เขายังพยายามหาโอกาสเพื่อเรียนรู้ในการทำเว็บไซต์และออนไลน์คอนเทนต์อย่างลึกซึ้งขึ้น หนึ่งในความพยายามนั้นคือการสมัครเข้าร่วมค่าย Young Webmaster Camp (YWC) อยู่หลายต่อหลายปี

“เราสมัครค่ายอยู่หลายปีแต่ก็ไม่ติด มีอยู่ปีหนึ่งที่ตอนนั้นเราเปิดเผยตัวเองว่าเราติดเชื้อ HIV และเราใช้เว็บไซต์ส่องสื่อเป็นพอร์ตฟอลิโอ เราเลยได้รับคัดเลือก พอเข้าไปในค่ายก็ได้รับความรู้หลายอย่างมาก ทั้งการทำเว็บไซต์ ทำคอนเทนต์ การตลาด ดีไซน์ พอได้ความรู้เซ็ตนั้นเยอะมาก ก็เลยกลับมาพัฒนาเว็บไซต์มากขึ้น จนใช้เว็บไซต์เป็นเครื่องมือหลักในการเล่าเรื่อง และใช้เพจเป็นเครื่องมือรอง” ปังปอนด์เล่า

 

ช่วงที่ 2: ส่องพัฒนาการของส่องสื่อ

หลังจากได้รับความรู้เต็มกระเป๋า ถึงเวลาที่ปังปอนด์ลุยสนามจริง

แต่ฉันแปลกใจนิดหน่อยที่เขาเลือกใช้เว็บไซต์เป็นเครื่องมือหลัก แทนที่จะใช้โซเชียลมีเดียในการดึงผู้อ่านและผู้ติดตามเข้าสู่สื่อออนไลน์

“เรารู้สึกว่าโซเชียลมีเดียเปลี่ยนได้ตลอด แต่เว็บไซต์มีข้อดีคือ ไม่ว่าคนอ่านจะอยู่ในเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มไหนก็ตาม เว็บไซต์มันไปได้ทุกที่เพียงแค่แปะลิงก์ คนก็พร้อมจะกดอ่านและตามเราไปได้ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างง่ายและคุมแพลตฟอร์มได้เอง

“เราพิสูจน์มาแล้วในระดับหนึ่งจากการทำเว็บไซต์อย่างจริงจัง เราจะเห็นผลตอบรับเลยว่าใครเข้ามาอ่านบ้าง ตัวอย่างเช่น แฟนคลับของละครจากสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ที่เข้ามาอ่านจริงพอสมควร หรือเอาลิงก์ไปแปะในแฟนเพจของดาราก็ตาม” ปังปอนด์ขยายความในการใช้เว็บไซต์เป็นเครื่องมือหลัก

“แล้วจากที่คุณทำสื่อเกี่ยวกับสื่อมาได้สักพักหนึ่ง แต่คุณก็เป็นนักศึกษาที่เรียนสายนิเทศศาสตร์ เมื่อคุณได้สัมภาษณ์ผู้คนในวงการสื่อสารมวลชนหรือเรียนรู้เรื่องในวงการสื่อมาแล้ว มีอะไรที่เหมือนหรือต่างจากตำราเรียนที่คุณท่องมาบ้างมั้ย” ฉันถาม

“แทบจะต้องเขวี้ยงตำราทิ้งไปเลย” ปังปอนด์ตอบแกมหัวเราะ

แต่สิ่งที่ปังปอนด์มองจากการทำงานส่องสื่อควบคู่กับการเรียนในสายนิเทศศาสตร์ไปด้วย เขามองว่าตำราเรียนที่หลายสถาบันการศึกษาใช้อยู่มันล้าสมัยมากพอสมควร ซึ่งจะย้อนกลับไปถึงความหละหลวมของการออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องถึงการคุกคามของสื่อเก่าจากเทคโนโลยีหรือ Tech Disruption ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก รวมทั้งจรรยาบรรณสื่อ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพที่ทุกมหาวิทยาลัยมีการเรียนการสอน แต่ต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้

เพราะหลายกรณีเกี่ยวกับการทำงานของสื่อมวลชนที่เราเห็นตามพื้นที่สื่อ มันพิสูจน์แล้วว่า องค์ความรู้บางอย่าง สอนไปก็เท่านั้น

 

ช่วงที่ 3: รวมพลคนส่องสื่อ

ในช่วงปีแรก ปังปอนด์ทำส่องสื่อแต่เพียงผู้เดียว

ย้ำ ว่าทำเว็บไซต์นี้ด้วยตัวเอง

จนกระทั่งเขาเริ่มเจอญาติมิตรที่สนใจในเรื่องเดียวกันและอยากทำคอนเทนต์เหมือนกันในงานๆ หนึ่ง จึงเกิดการเชื้อเชิญให้มาทำงานร่วมกัน

ตอนนี้ส่องสื่อจึงเรียกได้ว่ามี “ทีม”​ ทำงานร่วมกัน

“เขาบอกเราว่า มีอะไรให้ช่วย ช่วยได้ตลอด” ปังปอนด์บอกฉัน

“จากนั้นเราเริ่มดึงคนอื่นๆ มาเรื่อย เราได้ทีมงานที่มีมุมมองเรื่องสื่อในประเทศเกาหลีหรือซีรีส์เกาหลี หรือกระทั่งการศึกษาเกาหลีมาเสริมซึ่งเป็นส่วนของรายการพอดแคสต์ หรือน้องๆ ที่เคยร่วมค่าย YWC มาช่วย”

จนถึงตอนนี้ส่องสื่อมีทีมงานกว่า 20 ชีวิต เป็นเวลาสองถึงสามปีที่พลพรรคชาวส่องสื่อขยายตัวใหญ่ขึ้นจนสามารถทำงานได้ในหลายภาคส่วน ทั้งบทความ วิดีโอ กราฟิก หรือรายการพอดแคสต์ ซึ่งทุกคนได้ทำในสิ่งที่ทุกอยากทำตามความถนัดและศักยภาพของแต่ละคน

“เราอยากให้ส่องสื่อเป็นพื้นที่ในการฝึกฝนประสบการณ์ชีวิต” ปังปอนด์บอกฉัน

“ยกตัวอย่างวันนี้ (21 สิงหาคม 2563-วันที่สัมภาษณ์) เราทำงานในนาม Media Partner ของงาน iCreator Conference 2020 ซึ่งต้องแข่งกับความเร็วของคอนเทนต์ เราท้าทายน้องในทีมด้วยการให้น้องส่งงานภายใน 20 นาทีหลังจากจบ Session ซึ่งออกมาดีมาก บางคนเหมือนแกะเทปมาเลย ซึ่งเราจะเอามาสรุปอีกครั้งหนึ่งก่อน แล้วมันมีคำสำคัญบางคำที่น้องในทีมเก็บมาได้และช่วยได้มากในการเรียบเรียงและสรุป”

ปัจจุบันส่องสื่อมีแหล่งรายได้ทั้งจากการเผยแพร่บทความ Advertorial ในสื่อต่างๆ และรายได้บางส่วนจากการจำหน่ายสินค้าและการบริจาคบนหน้าเว็บไซต์

สิ่งที่ฉันสงสัยอย่างหนึ่งคือ อะไรที่ทำให้คนกลุ่มนี้ยังทำงานกับส่องสื่อด้วยใจ

“เราคิดว่าแก่นในการทำงานของเรามันชัดเจน เราต้องการเป็นสื่อที่จะสะท้อนวงการสื่อด้วยกันเอง ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าสื่อขาดผู้ที่จะสะท้อนการทำงานของสื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากว่าสื่อจะกำกับดูแลกันเองโดยไม่ต้องมีหน่วยงานไหนมาเกี่ยวข้อง แต่กลายเป็นว่าโมเดลนี้ล้มเหลวอย่างน่าอนาถ เพราะสื่อคาดคนที่จะมองสื่อด้วยกันเอง” ปังปอนด์ตอบคำถามของฉัน

 

ช่วงที่ 4: ส่องความผิดปกติของสื่อ

หนึ่งในคำคลาสสิกของคนทำงานสื่อที่มักจะถูกผู้ชมปาใส่เสมอๆ คือ “จรรยาบรรณสื่อ”

แล้วในความคิดของคนทำสื่ออย่างปังปอนด์ เขาเข้าใจคำนี้ไว้ว่าอย่างไรบ้าง

“มันคือบรรทัดฐานของการนำเสนอข่าวด้วยความจริง ไม่บิดเบือน ไม่ใส่สีตีไข่ ไม่สร้างสถานการณ์หรือข่าวโคมลอยขึ้นมาเอง และนำเสนอโดยไม่ล่วงละเมิดสิทธิ์ของใคร”

“แล้วในความเป็นจริงล่ะ?” ฉันถามกลับ

“ไม่ตรงสักข้อเลย” ปังปอนด์ตอบกลับฉันด้วยเสียงแห้งๆ

“แล้วเห็นความผิดปกติอะไรในวงการสื่อบ้าง” ฉันเปิดประเด็นใหม่กับปังปอนด์

“เราเห็นว่าสื่อเดี๋ยวนี้เน้นเรตติ้งเยอะ แต่ไม่ได้เน้นความจริงหรือการให้สติปัญญากับคนดู ซึ่งอันนี้เป็นสำคั๊ญ สำคัญ ในการสร้างหรือก่อตั้งสื่อขึ้นมา ไม่ว่าจะสื่อสาธารณะหรือสื่อธุรกิจก็ตาม สิ่งสำคัญคือการที่คุณต้องอยู่บนพื้นฐานของการให้ข้อมูล และให้ความรู้กับผู้ชม แต่คุณต้องทำงานให้คุณอยู่รอดได้ด้วย เพราะตอนนี้เราเห็นแต่การนำเสนอข่าวที่บิดเบือนความจริง หรือข่าวที่ชาวบ้านสนใจเท่านั้น” ปังปอนด์ตอบฉัน

จากการจับตาดูท่าทีของสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวการเมือง รวมถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบสองเดือนที่ผ่านมา ปังปอนด์และทีมเห็นตรงกันว่ามีสื่อบางสำนักไม่พูดถึงประเด็นการเคลื่อนไหวเลย ไม่ว่าจะในช่วงรายการข่าวใด บางสื่อกล่าวถึงบ้าง แต่ก็ให้พื้นที่น้อยเสียเกินกว่าจะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น หรือบางสื่อกล่าวถึงจริง แต่ก็บิดเบือนจากความเป็นจริงจนเกิดการชี้นำไปสู่ความแตกแยก รวมทั้งหน่วยงานที่กลุ่มสื่อแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบกันเอง ยังไม่มีท่าทีในการแสดงออกถึงความไม่ปกติในการทำงานของเพื่อนสื่อด้วยกันเอง

ดังนั้นในการเป็นผู้สังเกตการณ์และตรวจสอบสื่อ ปังปอนด์และทีมจึงออกแถลงการณ์เปิดผนึกเพื่อส่งไปยังสื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5 หน่วยงาน ได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ในกรณีการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการนำเสนอข่าวสารการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชน

ใจความสำคัญของแถลงการณ์เปิดผนึกฉบับนี้สามประการคือ หนึ่ง-ต้องการให้ 5 สมาคมที่ถูกกล่าวถึงในแถลงการณ์ให้การคุ้มครอง ดูแล สร้างแผนงานเพื่อการนำเสนอข่าวสารอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา ในช่วงที่มีการชุมนุมหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนและนักศึกษา สอง-สื่อที่เป็นและไม่เป็นสมาชิกในสมาคมดังกล่าวได้รับปกป้องจากการนำเสนอข่าวที่ตนได้เสนอไป และสาม-สื่อต้องนำเสนอข้อมูลที่เป็นจริง ไม่ใส่สีตีไข่ ไม่แสดงความคิดเห็น ไม่นำเสนอ Fake News และให้พื้นที่แก่ฝ่ายการเมืองทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม

 

ช่วงที่ 5: ส่อง-สื่อ หลังได้รับแถลงการณ์

ความคาดหวังของส่องสื่อในการเผยแพร่แถลงการณ์ฉบับนี้คือ กลับไปมองการทำงานของสื่อ ทั้งต่อต้านสื่อที่ทำงานไม่เหมาะสม หรือเป็นกระจกสะท้อนการทำงานของสมาคมต่างๆ ที่ถูกกล่าวถึงในแถลงการณ์และนำไปปฏิบัติตาม

การออกแถลงการณ์บนพื้นที่ออนไลน์ของส่องสื่อก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ปังปอนด์กลับคิดมากกว่านั้น

ในการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอกเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปังปอนด์พิมพ์เอกสารแถลงการณ์ลงในกระดาษและร่อนแจกให้กับพี่ๆ สื่อมวลชนที่ไปสังเกตการณ์และทำข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมด้วยตัวเอง

“เจตนาหลักของแถลงการณ์คือการส่งสารนี้ไปยังนักข่าว ผู้สื่อข่าวที่ทำงานจริงในพื้นที่ ซึ่งหลังจากที่พี่ๆ ได้รับแถลงการณ์แล้ว สิ่งที่เราได้รับกลับมาคือ พี่ๆ นักข่าวบอกเราว่าเขานำเสนอข้อมูลตามความจริงแล้วนะ แต่ปัญหาคือกองบรรณาธิการ โต๊ะข่าว ผู้บริหาร หรือนายทุน นอกจากการยื่นแถลงการณ์นี้ให้ถึงมือนักข่าว เรารับฟังปัญหาของพี่ๆ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ปัญหาเกิดจากอะไรที่ทำให้ไม่สามารถนำเสนอข่าวตามความจริงได้ การที่เรายื่นแถลงการณ์นี้ก็เหมือนบอกกับพี่ๆ สื่อมวลชนว่า ถ้าคุณนำเสนอความจริง อย่างน้อยประชาชนก็จะยืนเคียงข้างคุณ” ปังปอนด์ขยายความ

ฉันสังเกตปังปอนด์ที่ตอบคำถามและเล่าเรื่องทั้งหมดนี้ให้ฉันฟังด้วยแววตาที่แน่วแน่ ถึงพลังเล็กๆ ที่อยากทำให้วงการสื่อสารมวลชนไทยดีขึ้น แต่ก็นั่นแหละ-ยิ่งฉันเป็นสื่อเหมือนกัน ฉันก็ยิ่งเข้าใจอุปสรรคทั้งภายใน และภายนอกที่ทำให้เรื่องนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องในอุดมคติที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้จริงกับวงการสื่อไทย

แต่ปังปอนด์ไม่คิดเช่นนั้น

“เราว่ามันเป็นสิ่งที่สื่อควรทำ มันไม่ใช่เรื่องอุดมคติอะไรเลยด้วยซ้ำ เพราะสื่อในประเทศไทยมีอิสระในการแข่งขันทางธุรกิจอยู่พอสมควร สื่อบางเจ้าที่เรียกตัวเองว่าสื่อหลักของชาติ ทำไมถึงยังกล้าเคลมว่าตัวเองเป็นสื่อหลัก ทั้งที่ตัวเองไม่นำเสนอข่าวให้รอบด้าน ตามความเป็นจริง มันคือคำมั่นสัญญาที่สื่อให้กับประชาชนตั้งนานแล้ว แต่ทำไมถึงยังไม่กล้าทำ”

“แล้วถ้าคุณเป็นสื่อเองล่ะ คุณจะนำเสนอข่าวในช่วงไม่ปกตินี้ยังไง” ฉันถามกลับ

“เราก็จะนำเสนอข้อมูลจริง ถ้าสมมติการชุมนุมพูดถึงอะไร ไม่ใส่อารมณ์ ไม่ใส่ความคิดเห็นของตัวเองลงไป เป็น Reporter กลับไป เราพูดเสมอว่าผู้สื่อข่าวคือ News Reporter ก็ต้องรายงานข่าวไง คุณไม่ได้เป็น หรือเราไม่ใช่ Anchor (ผู้ประกาศข่าว) ที่จะมาแสดงข่าวออกมาทีวี สุดท้ายก็ต้องย้อนกลับมามองตัวเองว่าหน้าที่ของเราคืออะไร คุณไม่ใช่นักแสดง คุณไม่ใช่นักเล่าข่าว แต่คุณคือผู้ “สื่อ” ข่าว ที่ทำหน้าที่แค่สื่อข่าวเพื่อประชาชน” ปังปอนด์ตอบฉัน

น่าเสียดายที่ปังปอนด์บอกผลของการยื่นแถลงการณ์ฉบับนี้ว่ามัน “ล้มเหลว”

ล้มเหลวในที่นี่หมายถึงการทำงานของสื่อที่ไม่มีท่าทีที่เปลี่ยนไป แต่ถ้ามองในภาคประชาชน ตอนนี้ประชาชนกลับสอดส่องดูแลกันมากขึ้น ทั้งประชาชนต่างร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ และสอดส่องการทำงานของสื่อมากขึ้น

ก็น่าจะถือว่าแถลงการณ์นี้ทำงานได้สำเร็จบ้างแล้ว แต่ในระยะยาว ต้องดูท่าทีของสื่อต่อไป

 

ช่วงที่ 6: กลับไปส่องสื่อ

ส่องสื่อคือสื่อทางเลือกขนาดเล็กที่ได้รับความไว้วางใจให้เข้าสัมภาษณ์ผู้มีอิทธิพลในวงการสื่อมาแล้วมากมาย เช่น คุณเขมทัตต์ พลเดช, พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา รวมทั้งได้รับเชิญเป็นวิทยากรในกิจกรรมทางวิชาการ และข้อมูลในเว็บไซต์เป็นที่น่าเชื่อถือจนสื่อใหญ่ใช้อ้างอิงเป็นการภายใน

“ปีนี้เป็นปีที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดของส่องสื่อ ตลอด 7 เดือนก่อนหน้ายอดการเติบโตของเรามันก้าวกระโดดมาก จากปีที่แล้วที่ยอดผู้อ่านหน้าเว็บไซต์รวมอยู่ที่ 3-4 หมื่นวิวต่อปี เดือนนี้เราได้ยอดวิวสะสมรวมเกือบแสนครั้งแล้ว นอกจากนี้เรายังได้รับความน่าเชื่อถือในการอ้างอิงข้อมูลลงในพื้นที่ของสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย เราเป็น Top of Mind ในความคิดของใครหลายๆ คนในเรื่องสื่อ และคนในวงการสื่อก็กำลังจับตาดูเราเหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ Content Creator ไม่กี่เจ้ารู้ว่ากลุ่มเป้าหมายหรือผู้ติดตามกำลังจ้องเราอยู่ และเรารู้ด้วยว่าเขาคือใคร ซึ่งมันบอกเราว่าตอนนี้เราเดินถูกทางแล้ว”

การเดินทางในส่องสื่อของอนาคตก็ยังจะเป็นสื่อที่คอยสังเกตการณ์วงการสื่อสารมวลชน และการทำงานของสื่อต่อไป แต่ก็จะมีคอนเทนต์ที่หลากหลายและเปิดกว้างในหลายวงการมากยิ่งขึ้น เพราะส่องสื่อไม่ได้มองสื่อเป็นแค่สื่อโทรทัศน์ แต่เครื่องมือสื่อสารทั้งอีเวนต์ สื่อนอกบ้านเช่นป้ายโฆษณา จอแอลอีดีหรือ Out of Home Media จะเป็นอีกเครื่องมือที่ส่องสื่อจะเจาะลึกลงไปให้ความเป็นส่องสื่อรอบด้านยิ่งขึ้น

สุดท้ายแล้ว ปังปอนด์ในฐานะสื่อและผู้ที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องและจรรยาบรรณในอาชีพอย่างที่ควรจะเป็น มองคุณค่าของอาชีพสื่อมวลชนไว้ว่าอย่างไร

“คุณค่าของสื่อมวลชน คือการเป็นที่พึ่งของประชาชน ซึ่งมันคือที่พึ่งในการรับข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็วและไม่ลำเอียง”

เรายอมรับว่าการสรุปปิดรายการวันนี้อาจจะหม่นๆ หน่อย เพราะเรายังไม่อาจเปลี่ยนแปลงวงการสื่อสารมวลชนได้ในตอนนี้ แต่เราเชื่อเหลือเกินว่า มันต้องมีสักวันที่วงการสื่อสารมวลชนไทยจะพัฒนาคุณภาพทั้งเนื้องานและจริยธรรมได้ดีขึ้น

ถ้าการเมืองดี

 

ขอขอบคุณแขกรับเชิญที่สละเวลามาพูดคุยกับเรา

ขอบคุณสำหรับการติดตามรายการ พบกันใหม่โอกาสหน้า

สวัสดี.

 


ถ้าการเมืองดี วงการสื่อสารมวลชนไทยจะเป็นอย่างไร

ถ้าการเมืองดี และมีระบบที่ตรวจสอบได้ สื่อมวลชนจะมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร และสื่อมวลชนก็จะได้รับข่าวสารครบถ้วน เข้าใจ และสร้างวิจารณญาณในการรับข่าวสารได้มากขึ้น มันจะไม่มี Fake News หรือข่าวโคมลอยที่เกิดขึ้นเลย เพราะอย่าลืมว่ารัฐบาลสร้างกลไกให้บุคคลภายนอกตรวจสอบไม่ได้

 

ภาพประกอบ: กฤตนัน ดิษฐบรรจง

Contributors

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด