Rockkhound ช่างภาพและนักทำวิดีโอฝีมือระดับโลกที่น้อยคนจะรู้ว่าเขาคือคนไทย

หลายปีก่อน ไม่มีใครคิดว่าผู้ใช้อินสตาแกรมที่ชื่อ @rockkhound เป็นผู้ใช้งานชาวไทย

ภาพทั้งหมดที่เขาถ่ายและอัพโหลดลงแพลตฟอร์มถ่ายภาพที่ใหม่มากในสมัยนั้นกำลังมาแรงด้วยแนวทางการถ่ายรูปที่ชัดเจนไม่เหมือนใคร จนเขากลายเป็น Suggested User ที่อินสตาแกรมแนะนำให้เรากดติดตาม

หลายปีต่อมา เขาโยกย้ายตัวเองจากการถ่ายภาพนิ่งมาถ่ายภาพเคลื่อนไหว

ไม่ใช่เพราะตลาดคอนเทนต์วิดีโอที่กำลังโตขึ้นอย่างน่าสนุกแบบมีนัยยะสำคัญ แต่เพราะการทำคอนเทนต์ภาพเคลื่อนไหวมันเซ็กซี่กว่านั้น

และงานเหล่านั้นทำให้เราได้รู้จักเขาจริงๆ เสียที ว่าเขาคือคนไทย

ตั้ม-ชนิพล กุศลชาติธรรม คืออดีตพนักงานโรงแรม พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ทิ้งตั๋วเที่ยวเดียวในการเป็นสจ๊วดเพื่อหยิบกล้อง (และอุปกรณ์อีกมาก) ไปทำในสิ่งที่เขาเชื่อผ่านการเล่าในพื้นที่ขนาดใหญ่บนโลกออนไลน์ จนทำให้งานของตั้มไปได้ไกลกว่าความคาดหมายของเขามาก ตั้มได้รับงานจ้างจากหน่วยงาน องค์กร และแบรนด์สินค้ามากมายนับแต่เขากดชัตเตอร์เล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย และหนึ่งในเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งเกินกว่าที่เขาคาดหมายคือ การได้เป็นหนึ่งในกรรมการผู้ตัดสินภาพถ่ายที่จัดโดยสมาร์ทโฟนจากแดนมังกร

เราพบกันใจกลางทองหล่อในบ่ายวันหยุด ตั้มพบฉันในลุคสบายๆ แต่ไม่ได้ทิ้งความเป็นนักเดินทางที่ผ่านจุดหมายมากมาย และนักเล่าเรื่องด้วยภาพด้วยกล้องดิจิทัลตัวเก่งของเขาที่สะพายติดตัวมาด้วย

โดยหลักการแล้ว มันคือการนั่งสัมภาษณ์ของแหล่งข้อมูลกับผู้สัมภาษณ์ แต่ฉันอยากให้บทสนทนาต่อไปนี้คือการเดินทางระหว่างฉัน-และชายผู้เดินทางบนเส้นทางประสบการณ์การเรียนรู้และลงสนามจริงเป็นเวลาเกือบสิบปี ที่เขายืนยันกับฉันด้วยตัวเองว่า เขาไม่ใช่คนที่น่าอิจฉาอะไรเลยสักนิด แต่เพราะเขายังเรียนรู้อยู่ทุกวัน

และถึงเวลาที่เขาจะส่งต่อความรู้ทั้งหมดที่เขามี ให้กับคนที่มีฝันเดียวกันกับเขา

 

คุณทำหนังสือเดินทางเล่มล่าสุดเมื่อไหร่

สองเดือนที่แล้ว (เดือนพฤษภาคม 2562)

คุณเดินทางมาแล้วกี่ประเทศ

โหเยอะนะ ถ้าไม่นับก็ประมาณ 30 บวกลบ

ในวัยหนุ่มของคุณ คำตอบในสายอาชีพหลังเรียนจบมหาวิทยาลัยคืออะไร

ไม่มีคำตอบ พอยิ่งเข้าใกล้วัยที่เข้ามหาลัยไปแล้ว เรารู้แล้วล่ะว่าเราชอบภาษาอังกฤษ แล้วเราก็รู้แล้วว่า อาชีพที่ใช้ภาษาทำง่ายแล้วสโขปลงมามันเหลือไม่เยอะ ตอนที่เรียนจบก็ทำงานเป็นเซลล์ให้บริษัทที่บ้าน มันไม่ใช่งานที่เราอยากจะทำ แม่ก็บอกให้ลองไปสมัครงานที่อื่นดู เราก็เรียนการโรงแรมมา เราก็ไปสมัครงานโรงแรมละกัน ตอนนั้นมาอยู่ในช่วงที่อินสตาแกรมออกใหม่ๆ พอดี ก็ดาวน์โหลดมา เพื่อนๆ ก็จะเซลฟี่ หรืออวดไลฟ์สไตล์ แต่ที่เรามีก็คือโทรศัพท์กับงานที่เราทำก็เลยชอบที่จะเดินทางถ่ายรูป เพราะว่าในนั้นมันมีภาพของคนที่เป็นคนที่ถ่ายรูปสวยอยู่ทั่วโลกเต็มไปหมดเลย

แค่กดปุ่ม Explore ในอินสตาแกรมก็คือการเปิดโลกของคุณแล้ว

จริงๆ สมัยก่อนมันไม่ใช่คำว่า Explore ด้วยซ้ำ มันใช้คำว่า Popular พอกดดูแล้วเห็นรูปสวยๆ เต็มไปหมดเลย ของแบบนั้นมันเป็นอะไรที่ไกลตัวจากงานที่เราทำมาก เราทำงานอยู่ที่โรงแรมในสุขุมวิท แล้วจะทำยังไงให้ตัวผมไปอยู่ในที่ๆ มีทะเลสาบ หิมะ ภูเขา ที่แบบสวยขนาดนั้นได้ มันไกลตัว เราก็เลยเลือกถ่ายรูปจากสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวก่อน

คุณมีพื้นฐานการถ่ายรูปมาก่อนมั้ย

ไม่เลยครับ เป็นคนที่ไม่เคยเรียนเรื่องถ่ายภาพมาก่อนเลย เรื่องถ่ายภาพคือไกลตัวผมมาก มากๆ ครับ ตอนนั้นเรียกว่าใช้อะไรที่มีอยู่ ก็ต้องใช้ให้เต็มที่ไปก่อน เพราะว่าเราไม่ได้มีเงินเยอะ เพราะตอนนั้นสมาร์ทโฟนเพิ่งถ่ายรูปได้ เราไม่ได้ต้องการอะไรมาก แค่ต้องการแค่พื้นที่ๆ เราถ่ายรูปได้ เราแต่งรูปในสไตล์เรา ตอนนั้นเราคิดแค่นั้นเลยครับ จากนั้นเราก็ฝึกถ่ายรูปไปเรื่อยๆ แรกๆ เราไม่รู้ว่าเราถ่ายสไตล์ไหน เราก็เริ่มจากการทำ Montage ให้มี Reference จนผ่านไปสองสามปีจึงรู้ว่าอยากถ่ายอะไร

คุณเรียนรู้เทคนิคการถ่ายรูปจากอะไร

ในอินสตาแกรม วิธีเดียวที่จะคุยกับคนอื่นได้คือคอมเมนต์ เราก็นั่งคุยกับช่างภาพที่เราชอบงานของเขาในช่องคอมเมนต์ ถามว่าใช้แอปอะไรบ้าง แล้วเราก็โหลดมาทุกแอปเลย หรือบางทีเราถ่ายรูปมาเราใจร้อน เราเลือกถ่ายที่แบบ Location สวย แต่ไม่ได้ดูแสง ไม่ได้ดูองค์ประกอบอื่น มันก็เลยเป็นอย่างที่เราต้องการไม่ได้

มีค่านิยมหนึ่งที่ถูกสร้างว่า คนที่ใช้กล้อง DSLR คือคนถ่ายรูปเก่งและเชี่ยวชาญ มันบั่นทอนความตั้งใจในการเรียนรู้ของคุณมั้ย

เวลาผมเห็นถือกล้องผมจะรู้สึกว่าเขาทำเป็นอาชีพ มันดูเป็นมืออาชีพ เขาถ่ายรูปมาเยอะแล้ว มานานแล้ว สมาร์ทโฟนมันก็เลยตอบโจทย์กับอะไรที่เป็นพนักงานกินเงินเดือนที่ต้องตอกบัตรเข้า-ออก เลิกงานแล้วเรามีเวลาเหลือแค่นี้ ยิ่งเรื่องการลงทุน โหย ตอนนั้นเงินเดือนหมื่นสอง หมื่นสาม จะให้ไปซื้อกล้องก็คงไกลตัวมาก

ความเปลี่ยนแปลงหลังจากคุณเริ่มถ่ายภาพลงอินสตาแกรมเกิดขึ้นตอนไหน

ผมได้รับเลือกให้เป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่อินสตาแกรมเลือกเป็น Suggested User Lists (ผู้ติดตามแนะนำ) เลยทำให้ผู้ติดตามเยอะขึ้นพอเริ่มเพิ่มมากขึ้นมันก็อยู่ในช่วงที่ผมเปลี่ยนงานเป็นสจ๊วดพอดี ผมเลยได้งานจ้างงานแรก เป็นงานถ่ายโฆษณารถมอเตอร์ไซค์ ทำให้รู้ว่าอินสตาแกรมเป็นเป็นพอร์ตฟอลิโอของเราได้เลย เราก็เลยเริ่มตั้งใจที่จะทำให้ไอจีเป็นพอร์ตฟอลิโอของเรามากขึ้น

ช่วงชีวิตในการเป็นสจ๊วดและช่างภาพในขณะเดียวกัน มันบอกอะไรคุณบ้าง

ผมเป็นสจ๊วดอยู่ประมาณ 6 ปีครับ กระเป๋าที่ผมแพคไปเปิดออกมาไม่มีเสื้อผ้าเลยนะ มีแต่กล้อง เราได้ออกเดินทางถ่ายรูป ได้เที่ยวด้วยใช่มั้ย เอารูปลงไอจี ได้เจอคน ได้เจอ Community ใหม่ การที่เรารู้จักกับคนท้องถิ่นหมายความว่าเราเข้าถึงตลาดช่างภาพของบางประเทศด้วย ยิ่งชื่อเราด้วย เราเอาชื่อเราไปให้ทุกคนรู้จัก ผมไม่เคยเอาหน้าไปขายแต่มันก็ทำให้งานเข้ามาจากต่างประเทศเยอะมาก ในขณะที่ผมทำสองอาชีพ สามอาชีพ ผมก็รู้สึกว่า ผมใช้อาชีพสจ๊วดเก็บเงินซื้ออุปกรณ์ ใช้เวลาที่บินถึงที่จะรอขึ้นไฟลต์ใหม่ไปถ่ายงาน กลับมากรุงเทพฯ มีงานถ่ายบ้างก็ออกไปถ่าย อยู่ประมาณ 3-4 ปีครับ

คุณตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางมาถ่ายภาพเต็มตัวเพราะอะไร

มีอยู่วันหยุดหนึ่งผมคิดในใจว่า ถ้าเป็นสจ๊วดอย่างนี้เราได้เดินทาง เราได้ถ่ายรูปด้วย แต่ด้วยความที่ว่าเราอยากเก่งขึ้นทุกวัน มันไม่ใช่แค่เราจะไปฟลุ๊คเจออะไรก็ได้ หรือว่าอยากทำโปรเจคต์ที่ใหญ่ขึ้น พัฒนามากขึ้น แต่การเดินทางไปต่างประเทศมันสิ้นสุดลงแค่นั้น มันคือเราได้เวลาที่เราจะลงแรงกับโปรเจคต์หนึ่งนานขึ้น เพิ่มทีม เพิ่มรายละเอียดต่างๆ ในงาน เราก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราทำสองอาชีพต่อไป ผมไม่สามารถสุดในสายงานไหนได้เลย

ก่อนหน้านี้ผมไม่รู้สึกว่าผมได้พักผ่อนเลย ผมบินเสร็จ เข้านอน ตื่นมาทำงานเลย คือผมไม่มีวันหยุดพัก แล้วผมรู้สึกโอเคกับมัน ผมรู้สึกว่าถ้าไม่ยุ่งตอนนี้จะไปยุ่งตอนไหน แล้วผมก็ตั้งใจที่จะลาออกมาทำงานตรงนี้เต็มตัวแล้ว ผมก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นก่อนว่าผมสามารถลงหลักปักฐานกับมันได้โดยที่ไม่มีอาชีพสจ๊วด

จุดไหนที่คุณเริ่มสนใจงานภาพเคลื่อนไหว

ผมชอบภาพ ผมชอบดูหนัง มันเลยทำให้ผมรู้สึกอยากลองทำวิดีโอดู มันมีเนื้อเรื่อง มีวัตถุเสียง การจัดไฟ อะไรอีกเยอะมาก แต่เริ่มจริงๆ มันก็เกิดแค่ว่าเราลองซื้อกล้องวิดีโอ ซื้อโดรนแล้วก็ไปถ่ายเลย มันก็ยากเหมือนกันนะ เพราะว่าตอนแรกเราคิดว่ามันก็เหมือนกับตอนถ่ายรูป แต่เรา edit ไม่ได้เลย ทำไมเราถึงถ่ายไม่ได้ ในขณะที่ผมค่อนข้างถ่ายรูปมานานแล้ว แล้วผมต้องมาเริ่มใหม่กับวิดีโอ ผมก็เริ่มรู้สึกอึดอัดกับตัวเองมากว่าทำไมถึงทำไม่ได้สักทีวะ มันก็เลยเป็นจุดที่ว่าต้องรีบๆ ทำให้ตัวเองทำวิดีโอให้ได้เหมือนกัน

การถ่ายรูปมันเป็นแพสชั่นที่สนุก แต่คุณเริ่มกดดันตัวเองกับการถ่ายวิดีโอเพราะอะไร

เพราะว่าผมรู้ว่า ผมถ่ายรูปมาถึงระดับหนึ่งแล้ว เรารู้ว่าการถ่ายรูปเราต้องทำอะไร หนึ่ง สอง สาม ให้ได้ของแบบนี้ แต่กับวิดีโอเราต้องมาเรียนรู้ใหม่ เหมือนกับถ่ายรูปใหม่ มันคนละศาสตร์ ใกล้เคียงแต่คนละศาสตร์

เมนเทอร์ในการทำวิดีโอของคุณคือใคร

ผมเพื่อนๆ ชาวต่างชาติที่เป็นยูทูปเบอร์ แต่ว่าเค้าไม่ได้เป็นยูทูปเบอร์อย่างเดียว เค้าเป็น Director เป็น DP (Director of Photography-ผู้กำกับภาพ) ที่เราไม่ได้ดูเพื่อแค่เอาสนุก แต่เราดูเพื่อศึกษาเลย เรา บางทีเราดูหนังเราเข้าใจว่า โห ทำไมท่อนนี้เค้าถึงใช้ซาวด์แบบนี้ เราก็เอามาเทียบกับงานของเราว่า อ๋อ โอเค วิดีโอของเราเนิบ วิดีโอของเราน่าเบื่อ เพราะว่าเราไม่ได้มี movement หรือเราไม่ได้มีสตอรี่อะไรในนั้นเลย

แปลว่าในการทำวิดีโอแต่ละชิ้น คุณต้องทำรีเสิร์ชหนักขึ้น

ใช่ เราทำรีเสิร์ชหนักมาก คือแบบ เราแทบจะทำไพล็อท (เทปตัวอย่าง) ก่อนไปถ่ายอยู่แล้ว เรารู้ว่าเราต้องถ่ายทั้งหมด จังหวัดนี้ 15 โลเคชั่น 20 โลเคชั่น เราต้องรู้ตั้งแต่จุด A ไปจุด B จนถึงถึงจุดสุดท้ายใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ ไม่ต่างจากการถ่ายหนัง เพราะฉะนั้นผมจะขนซาวด์ไปด้วย เปิดในรถตลอดเพื่อให้รู้ว่า เราต้องกำกับแบบนี้ สุดท้ายเราก็จะมีส่วนประกอบของภาพใหญ่ๆ แล้วเราก็มาตัดที่ห้องตามแพลนที่วางไว้

ทุกวันนี้คุณคิดว่าประสบการณ์ที่มีมันเพียงพอสำหรับการทำงานในทุกเมื่อเชื่อวันของคุณหรือยัง

ผมถูกสอนมาว่า ต่อให้ผมทำไม่เป็น ผมก็ต้องบอกว่า โอเค ทำเป็น ต้องหาทางให้ได้ก่อนถ่ายว่าเค้าถ่ายกันยังไง สมมติมีลูกค้าบอกว่าให้ถ่ายนางแบบลุคนี้ แต่ผมไม่รู้ว่าต้องใช้อะไรบ้าง ถ่ายมันถ่ายได้ สบายมาก คุยงานเสร็จ ได้รับบรีฟเสร็จกลับไป ผมไปศึกษา Test Shot แล้วก็ค่อยไปถ่าย ไม่อย่างนั้นเราก็จะแบบ ไม่ได้ถูกผลักดันตัวเอง ไม่ได้บีบตัวเองให้ทำ

ผมดีใจมากเลยนะ โอกาสกับ ททท.​ (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) เขาให้โอกาสผมทำโปรเจคต์เที่ยวไทยเท่ ผมใช้กล้องตัวเดียว โดรนลำนึง ทำเที่ยวไทยเท่กลายมาเป็น Amazing ไทยเท่ มันเป็นโปรเจคต์ที่ใหญ่ ก็เลยมีเส้นเรื่องที่ชัดเจนมากขึ้น การเล่า การใช้ Sound Design การใช้อะไรมันก็ชัดเจนไปในทางที่เราจะดึงอารมณ์คนไปก่อนได้ จนสุดท้ายได้มาทำโปรเจคต์ Amazing Thailand ซึ่งเป็นโปรเจคต์ที่ใหญ่ที่ผมแฮปปี้มาก เราไม่สามารถไปถ่ายหน้างานอย่างเดียวได้ ความตั้งใจเวลาถ่ายสำคัญโคตรเลย อย่างผมไปน้ำตกอย่างนี้ คุณก็รู้ว่าน้ำตกคนโคตรเยอะ แต่เราก็ต้องเอาช็อตแบบไม่มีคนให้ได้ ก็เลยต้องเปียก อะไรก็ต้องทำทั้งหมด แล้วคือในขณะคนเป็นร้อยมองอยู่เราต้องไม่เขิน ให้ได้ภาพที่กลับมาตัดแล้ว มันสมควรที่จะไปอยู่ในคำว่า Amazing Thailand ทริปนั้น 7 วันผมนอนไปไม่ถึง 12 ชั่วโมงเลยมั้ง

แล้วคุณทุ่มเทแรงกาย แรงใจทั้งหมดไปเพื่ออะไร

เพื่อให้ผมชอบงานตัวเอง ใช่ ผมชอบงานตัวเองก็พอแล้ว

ช่วงหลังๆ มานี้ คุณเริ่มทำคอนเทนต์ Tutorial มากขึ้น เริ่มจากอะไร

คือแฟนเพจผม มันมีแต่งานๆๆๆๆ แล้วลูกเพจก็อาจจะตั้งคำถามว่า Rockkhound คืออะไรกันแน่ อะไรคือเบื้องหลังของคำพูดนี้ จริงๆ ผมก็ ทริปล่าสุดที่กลับมาผมบอกตัวเองว่า แบบ ผมอยากทำอะไรที่มันเป็นมนุษย์มากขึ้น คือคนกำลังเข้าใจแบรนด์ Rockkhound แบบเท่มากอะ จนบางทีลืมไปว่ามันมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราเหนื่อยเป็น เจ็บเป็น เราหัวเราะ ร้องไห้ เราเล่นตลกกับเพื่อนๆ เหมือนกับพวกคุณ เพราะฉะนั้นเราคือคนๆ หนึ่ง แล้วในความที่เราเป็นมนุษย์ แค่อยากจะแชร์สิ่งที่เรามี ที่เรารู้ อยากจะทำให้ตัวเองเป็น episode ที่ทำ อยากจะให้เป็นเหมือนห้องเรียนที่ไม่น่าเบื่อแล้วกัน ห้องเรียนที่ดูน่าเรียน

คุณเรียกตัวเองว่าเป็น Influencer มั้ย

Influencer มันเป็นคำที่แปลกมาก ผมว่ามันประหลาด เราก็คือช่างภาพวิดีโอคนนึง แต่ถ้าสมมติว่างานผมมันแบบ คุณชอบงานผม แล้วคุณดู คุณมีความสุข แล้วมันนำพาให้คุณไปถ่าย ไปทำอะไรบ้างในทางของคุณ ผมก็แฮปปี้ ไม่ว่าคุณจะเรียกมันว่าอะไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะเรียกผมเป็น Influencer, Blogger หรืออะไรก็ตาม

แล้วเมื่อถึงเวลาที่ต้องกรอกเอกสารต่างๆ ช่องอาชีพกรอกอะไร

ช่างภาพครับ (หัวเราะ)

 

 

ภาพประกอบเสริม: ชนิพล กุศลชาติธรรม
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ bottomlineis.co | พฤศจิกายน 2562

 

 

Contributors

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด

บีซัน ตัน

ช่างภาพหุ่นหมี อารมณ์ดี มุกแป๊ก ปัจจุบันเป็นวิดีโอครีเอเตอร์ที่เว็บไซต์ท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง