มวย เกม เพลงแรป: การค้นหาตัวเองของ POMPADOUR

ปอม-นนทกร สุทธิพันธุ์ หรือชื่อในวงการแรปว่า POMPADOUR คือหนึ่งในผู้แข่งขันรายการ The Rapper ประจำทีมโค้ช URBOYTJ ที่ถึงแม้ว่าเขาจะไปไม่ถึงรอบไฟนอล แต่ผลงานในการแรปและเสน่ห์ของเขายังเป็นที่จดจำและโดนใจสาวๆ จนมีแฟนๆ เริ่มติตามผลงานของเขา ยิ่งการที่เขาเป็นส่วนหนึ่งใน The Rapper All Star Concert ยิ่งทำให้เขาเฉิดฉายในวงการฮิปฮอปไทย และเป็นที่รู้จักในวงกว้างกว่าเดิม

ไม่กี่เดือนให้หลัง เขาจึงปล่อยซิงเกิลแรกในฐานะแรปเปอร์อย่างเต็มตัวอย่าง หนาวๆ ในตอนเช้า หรือซิงเกิลใหม่ชื่อโคตรกวนอย่างรักแท้หายากยิ่งกว่าเห็ดถอบ

จริงๆ แล้วเราเคยเห็นปอมในพื้นที่สื่อบ้างซึ่งไม่ใช่ฐานะแรปเปอร์ หากแต่เป็นเกมเมอร์ที่ร่วมรายการแข่งขันเกมอีสปอร์ตอย่าง King of Gamers ซีซั่น 2 ที่เราได้เห็นอีกด้านในฐานะเกมเมอร์ที่จริงจังกับการต่อสู้ในสมรภูมิแห่งเกมเมอร์ ที่น่าเสียดายว่าเขาไม่ชนะการแข่งขันในซีซั่นนั้น

และในสายตาของฉันที่เป็นรุ่นพี่ที่คณะฯ ของปอม ฉันเห็นเขาในวัยเฟรชชี่ที่เป็นนักกีฬามวยสากลประจำคณะ ที่เป็นตัวแทนลงนวมในสนามแข่งขันกีฬานักศึกษาใหม่ และได้ยินมาบ้างว่าเขารักดนตรีในระดับที่แต่งและโปรดิวซ์เพลงเองตั้งแต่เรียนมัธยม

ดังนั้น ถ้าเปรียบข้อเขียนที่คุณกำลังจะได้อ่านด้านล่างนี้เป็นการทดลองและค้นหาตัวตนอย่างบ้าบิ่นของเด็กหนุ่มวัย 23 คนหนึ่งที่ทั้งลองผิด ลองถูก ลองจริง ลองเล่น หรือลองอย่างหนักหน่วง

สิ่งที่เขาเป็นและผลงานที่เขา ณ ตอนนี้คงพอทำให้เราอุปาทานได้ว่า

เขาคงหาเส้นทางของเจอแล้ว

 

เกมกีฬา

เด็กชายปอมเติบโตในร้านขายอุปกรณ์กีฬาที่พ่อของเขาเป็นเจ้าของ

ไม่ต่างจากเด็กชายไทยหลายๆ บ้าน ที่พ่อลูกมักจะออกมาเล่นสนุกร่วมกันโดยเฉพาะการเล่นกีฬา พ่อของปอมมักเอานวมมวยมาต่อยเล่นกับลูกชายของเขา พร้อมอุปกรณ์อื่นๆ ที่ทำให้ปอมเริ่มสนุกกับกีฬามวยสากล จนปอมเริ่มพาตัวเองเข้าสู่ค่ายมวยเพื่อเรียนรู้และฝึกฝนอย่างจริงจัง

“ตอนนั้นประมาณช่วงปิดเทอม ม.2 พ่อผมเห็นผมชอบมวย ก็ส่งผมไปเรียนต่อยมวยที่ค่ายประมาณหนึ่งเดือน ช่วงนั้นก็ซ้อมหนัก ซ้อมจริงจังมากเหมือนนักมวยเลย ก็คือต้องไปวิ่งก่อนประมาณ 5-6 กิโลเมตร แล้วกลับมากระโดดเชือกอีกประมาณ 15-20 นาที ก็ซ้อมต่อยกระสอบ ต่อยเป้า จนมีลงนวมกัน ต่อยกันหน้าเขียวบ้าง (หัวเราะ)”

หลายปีให้หลังเมื่อปอมเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ธรรมเนียมของน้องใหม่คือต้องเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาเฟรชชี่ที่หลายคณะจะลงแข่งขันกัน แน่นอน, ปอมเลือกลงแข่งในกีฬามวยสากล และเขาก็เอาชนะคู่แข่งน้องใหม่ต่างคณะไปได้อย่างไม่ต้องสงสัยจนกลายเป็นแชมป์ในปีนั้น

“เอาจริงๆ ตอนต่อยผมก็คิดว่า แหนะ พวกมึงมันมวยกากอยู่นะ (หัวเราะ) ล้อเล่นนะครับ เอาจริงๆ ต่อยมวยก็สนุกครับ ได้ออกกำลังกาย ได้ฝึกระเบียบวินัยในตัวเองด้วย ได้ลดน้ำหนักด้วย เวลาจะไปชกมวย คือถ้าน้ำหนักเกินก็แพ้เลย คือต้องควบคุมน้ำหนัก กินน้อย ออกกำลังกายให้ต่อเนื่อง” ปอมเล่าถึงช่วงชีวิตในการเป็นนักมวยให้ฉันฟัง

 

เกมอีสปอร์ต

นอกจากกีฬา เด็กชายไทยต้องโตมากับเกม และนั่นก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นสำหรับปอม

ยิ่งที่พักอาศัยของปอมอยู่ในร้านอินเทอร์เน็ตแล้ว ยิ่งทำให้เขาใช้เวลาส่วนหนึ่งในชีวิตไปกับการเล่นเกมที่บ้าน จึงไม่แปลกที่จะถูกแปะป้ายว่าเขาคือเด็กติดเกมคนหนึ่ง

แล้วในฐานะเด็กเล่นเกมคนหนึ่ง เขาคิดว่าวาทกรรม “เด็กติดเกม” ในทรรศนะของเขาคืออะไร

“ผมว่าเด็กติดเกมมีสองประเภทคือแยกแยะได้ แต่ว่าเขาก็ไม่ได้ทิ้งกิจกรรมอย่างอื่นหรือความรับผิดชอบในชีวิต เค้าก็ยังเรียนได้ ทำกิจกรรม มีปฎิสัมพันธ์เข้ากับคนอื่นได้ แล้วก็อีกแบบนึงคือ ที่เล่นเกมทั้งวันก็ติด ติดจริงจนไม่เอาอะไรเลย”

“แล้วคุณเป็นเด็กติดเกมประเภทไหน” ฉันถาม

“สำหรับผม ผมว่ามันแล้วแต่ช่วงครับ บางช่วงผมก็ติด บางช่วงผมก็ไม่ติด ถ้าช่วงไหนมีอะไรทำเยอะๆ ก็จะไม่ค่อยเล่น แต่แบบว่างๆ ก็จะเล่น แต่ผมไม่ได้ติดเกมขนาดนั้นนะ ผมก็ชอบเล่นเกมมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ก็บังเอิญได้ไปแข่งเกม” ปอมตอบคำถามของฉัน

แต่ปอมก็มีช่วงที่อินกับการเล่นเกมอย่างหนักหน่วง ทั้งการติดอันดับหนึ่งใน 70 ผู้เล่นที่มีคะแนนสูงสุดของเกม Leage of Legends แต่เขาก็แลกความทุ่มเทนั้นด้วยการไม่ไปเรียนหนังสือและใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น

“ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยก็จะมีช่วงนึงที่ผมติดเกมหนักๆ แบบไปนอนร้านเกมเลย เล่นตั้งแต่สองทุ่มถึงเจ็ดโมงเช้าเลย ผมจะมีเพื่อนคนนึงที่กรุงเทพฯ ที่เล่นด้วยกัน มันได้ฝึกรูปแบบในการเล่น มันต้องมีการวางแผนให้ดี ซึ่งการเล่นเกมพวกนี้ ถ้าอยากจะไปอยู่ในจุดสูงๆ เราจะต้องมีแผนที่เราคิดว่ามันเวิร์กในระยะยาว ตานั้นเราอาจจะแพ้ แต่ตาต่อไปมันต้องมีโอกาสชนะมากกว่า แล้วก็เล่นแบบเดิมๆ ไปเรื่อยๆ อันดับมันก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ” ปอมอธิบาย

เมื่อถึงช่วงเวลาที่กีฬาอีสปอร์ตเริ่มเป็นที่นิยมในสื่อกระแสหลักอย่างโทรทัศน์ จนมีรายการแข่งขันเกมอีสปอร์ตเกิดขึ้น ปอมจึงตัดสินใจลงสนามแข่งขันเป็นครั้งแรกในการแข่งขัน King of Gamers ซีซั่น 2 ที่เขาเองแทบไม่รู้อะไรในการแข่งขันครั้งนั้นเลย

“ตอนที่ผมไปออดิชั่น ผมไปเองคนเดียว แล้วเหมือนรายการจะคัดคนที่เก่งที่สุดในสายนั้นมารวมทีมกัน แล้วผมติดหนึ่งใน 16 ทีมจากผู้สมัคร 2,000 คน ก็เลยได้เอาไปรวมทีมชื่อ Toxic Spider การแข่งแบบนี้คือ คุณเก่งคนเดียวไม่ได้ ถ้าเราได้ทีมดีก็โชคดี

“ตอนแข่งผมเป็นตัว Jungle คือตัวเดินเกม ทีมจะมีกัปตันเป็นคนสั่งการในทีม คนนี้ก็จะมีความรู้เยอะ แต่ไม่ได้มีความรู้ในเกมเยอะขนาดนั้น แต่ผมมี Skill-Play ที่เล่นได้ ผมก็ทำตามคำสั่งได้ ทีมก็เลยดี แต่พอเข้ารอบสอง รายการย้ายกัปตันผมไปอีกทีม แล้วให้ผมเป็นกัปตันแทน ก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง แล้วผมเป็นพวกไม่ค่อยชอบสั่งด้วย สั่งแล้วไม่ค่อยหนักแน่น ก็ปล่อยเลยตามเลยแล้วก็แพ้” ปอมเล่าถึงการแข่งขันครั้งนั้นให้ฉันฟัง

 

เกมร้อง-เกมแรป

การแข่งขันจบลง ชีวิตต้องดำเนินต่อไป แต่จะไปในเส้นทางไหนก็สุดแล้วแต่ความปรารถนาของแต่ละบุคคล

ในช่วงชีวิตนับแต่วัยเด็กถึงวัยรุ่น นอกจากเกมและกีฬา ปอมเติบโตมากับดนตรีทั้งการร้องเพลงในคณะนักร้องประสานเสียง และเล่นดนตรีหลากหลายแนว จนนำพาปอมไปสู่การเริ่มแต่งและทำเพลงเอง และไม่ต่างจากเด็กในวัยเดียวกัน ปอมได้รับอิทธิพลจากเพลงแรปทั้งในช่วงก่อนและช่วงที่เพลงฮิปฮอปไทยเบ่งบานถึงขีดสุด จนเขาเริ่มหัดร้องและทำเพลงแรปด้วยตัวเอง

“ผมมาเริ่มแรปจริงๆ ก่อนรายการ The Rapper สักปีสองปีครับ ตอนนั้นมีเพื่อนที่แรปเหมือนกันสัก 2-3 คน มันเหมือนช่วยให้เราไม่เหงา มีคนทำเพลงเหมือนกัน ก็ช่วยกัน เราทำเพลงแล้วก็เอาไปโชว์ให้เพื่อนดู แล้วเพื่อนก็เปิดเพลงที่เขาทำให้เราดู ก็เหมือนได้แลกเปลี่ยนกัน

“ผมว่าแรปมันน่าสนใจที่เราได้ปลดปล่อยความเป็นตัวเอง เราอยากทำ อยากร้องแบบนี้ แต่เราก็เอาสิ่งที่เราอยากพูดหรือสิ่งที่อยากให้คนอื่นได้ยินไปใส่ลงในเพลง ลงในทำนอง” ปอมเล่าถึงความน่าสนใจของเพลงแรปให้ฉันฟัง

และเช่นเดิม เมื่อเพลงแรปเบ่งบานและมีพื้นที่สื่อมากขึ้นทั้งการเผยแพร่เพลงหรือเวทีประกวดแข่งขันที่แพร่หลาย ปอมจึงอยากลงสนามนี้ด้วยเหตุผลคล้ายๆ คนหลายๆ คนคือ การเปิดโอกาสให้ตัวเองเริ่มสร้างชื่อเสียงในวงการแรปไทย

“ก่อนแข่งออดิชั่น ช่วงนั้นก็ซ้อมครับ แต่งเพลง ก็ซ้อมเกือบทุกวัน ถ้าว่างๆ ก็แรปเรื่อยๆ พยายามทำให้มันมั่นใจที่สุดเพื่อขึ้นเวทีจะได้ไม่หลุด ไม่ตื่นเต้น ตอนแข่งครั้งแรกแบบตื่นเต้นมาก นอนไม่หลับเลย (หัวเราะ)”

แล้วการแข่งขันรอบออดิชั่นผ่านไป แบทเทิลก็ผ่านไป จนถึงรอบ Playoff ที่เขาพ่ายแพ้ในที่สุด

ถึงแม้ว่าเขาจะไม่สมหวังในการแข่งขันครั้งนี้ปอมบอกฉันว่า The Rapper เป็นเหมือนโรงเรียนที่เขาได้เจอครูบาอาจารย์ทั้งรุ่นใหญ่ในตำนานและรุ่นใหม่ที่เขาได้เรียนรู้จากมัน จนสามารถนำมาปรับใช้กับผลงานและก้าวใหม่ของเขาในวงการแรปในอนาคต

 

เกมชีวิตของศิลปินตัวจริง

ตั้งแต่ที่เขาเริ่มแต่งเพลงแรกในชีวิต เขาแต่งเพลงมาแล้ว 30 กว่าเพลง บางเพลงใช้ระยะเวลาแต่งสั้นมากเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่บางเพลงก็แต่งไม่จบ

หนาวๆ ในตอนเช้า ก็เป็นอีกเพลงหนึ่งที่เขาลงมือแต่งในตอนเช้าจริงๆ และใช้เวลาอันสั้นจนได้เพลงขนาด 4 นาทีกว่านี้ออกมา

“คือวันนั้นเป็นวันที่ผมว่าง แล้วก็ทำเพลง แต่งเพลง ช่วงที่แต่งก็เป็นตอนเช้าไง ก็เลยแต่งชื่อเพลงว่าหนาวๆ ในตอนเช้า ผมก็ทำดนตรี แต่งเนื้อ อัดเพลงจนเสร็จหมดแล้ว จากนั้นอีกอาทิตย์นึงก็มีพี่ในวงการแรปชวนผมไปทำเพลง วันนั้นผมก็เอาคอมพิวเตอร์ไปด้วย พี่เค้าก็ถามว่ามีเพลงอะไรอยากทำมั้ย แนวไหน ผมก็เลยเปิดเพลงนี้ให้พี่เค้าฟัง แล้วพี่ก็บอกว่าเค้าชอบ เลยชวนทำบีตให้ใหม่ อัดใหม่ โปรดิวซ์ใหม่หมดเลย”

เมื่อซิงเกิลแรกของเขาถูกปล่อยลงสู่สาธารณะ ถึงแม้ว่ายอดวิวอาจไม่ได้มากมายเท่าศิลปินรุ่นเพื่อนหรือรุ่นพี่ในวงการ แต่เพลงนี้ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดี

และเสียงตอบรับที่ไม่ดีจากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ไม่เปิดเผยตัวตนในเชิงกลั่นแกล้งและด่าทอเสียหาย

ในฐานะบุคคลสาธารณะ ปอมจัดการกับเรื่องนี้ยังไง

“ลบทิ้ง” ปอมตอบคำถามของฉันทันที ก่อนเราทั้งสองจะระเบิดหัวเราะออกมาพร้อมกัน

“การเป็นคนมีชื่อเสียง มันจะมีพวก Hater คอยด่าเราตลอดเวลา ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าเพื่ออะไร ตอนผมประกวดก็จะมีคนมาด่า ผมก็คิดในใจว่า กูไปทำอะไรให้มึง หรือด่าว่าควรไปประกวดไมค์ทองคำ ยิ่งเพลงที่ผมปล่อยไปมันก็มีคนด่าว่าขี้เก๊กว่ะ หน้าก็ไม่หล่อ ก็จะมีคนมาด่าตลอดเวลา ผมว่าอย่าไปสนใจเลยครับ มันไม่มีตัวตนพวกที่แบบใช้รูปการ์ตูนเป็นโปรไฟล์ที่เราไม่สามารถหาตัวจริงของมันได้ แต่มันสามารถทำอะไรกับเราได้หมดเลย ผมไม่สนใจเลยนะ” ปอมขยายความ

“แต่วิธีการจัดการกับคำคอมเมนต์ที่ดีที่สุดคือการเผชิญหน้ามันไม่ใช่เหรอ” ฉันสงสัย

“ผมไม่ตอบนะ คือลบคอมเมนต์ทิ้งไปเลย ด่าก็ลบเลย รำคาญ ไม่อยากเห็น” ปอมตอบฉัน

ถึงตรงนี้คงเป็นจุดเริ่มต้นของเกมตาใหม่ในชีวิตของปอม ทั้งในฐานะศิลปินและนักแต่งเพลงอิสระ

เรายังไม่รู้ในเร็วๆ นี้ว่าเกมชีวิตตานี้ของปอมจะจบยังไง แต่ปอมจะยังเดินทางต่อในเส้นทางของการเป็นศิลปินและนักแต่งเพลงต่อไป

“เอาจริงๆ ก็แต่งเพลงไปอย่างนี้แหละครับ ก็ทำงานไปเรื่อยๆ แต่จริงๆ ก็คาดหวังให้เพลงเราดังนะนะ แต่ก็ไม่อยากเครียดกับมันมาก คือมันใช้เวลา ถ้าเราเครียดเราจะดาวน์ไปทุกวันๆ เพราะอย่างมากเดือนนึงเราก็ปล่อยได้แค่เพลงเดียว มันไม่สามารถทำได้ตลอด

“โชคดีที่มันเป็นสิ่งที่ผมอยากทำมาตลอด มันทำให้เราไม่ต้องเครียดที่จะทำให้คนอื่นเห็นว่าเรากำลังทำอะไรมันเป็นแบบนี้นะ เหมือนสร้างตัวเองให้คนอื่นเห็นอะ คือแค่เราก็อยู่ไป ทำตามที่เราต้องการทำ” ปอมบอกกับฉัน

 

เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ bottomlineis.co | พฤศจิกายน 2562

Contributors

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด

วิธิสรรค์ พุฒลา

วิศวกรหนุ่มผู้หลงรักในเสียงเพลงและการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจ