ดอย-นวุติ ลี้พงษ์อยู่ จากสิงห์นักปั่นสู่ห้านาทีก่อนถึงเส้นชัยในเวทีเอเชียนเกมส์

ย้อนกลับเมื่อสมัยยังเป็นเด็ก หนึ่งในภาพจำของการแข่งขันกีฬาก็คือภาพนักกีฬาขึ้นรับเหรียญรางวัลในการแข่งขันกีฬาระดับชาติ ภาพเหล่านั้นถูกฉายซ้ำไปมาให้เราได้เห็นในทุกปีที่การแข่งขันได้วนมาถึง

แต่ก่อนที่นักกีฬาคนหนึ่งจะก้าวไปขึ้นรับเหรียญรางวัลแบบที่เราเห็นในทีวี มีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นก่อนที่พวกเขาจะไปถึงจุดนั้น มีเหตุการณ์หลายครั้งที่นักกีฬาของไทยสามารถก้าวขึ้นมารับรางวัลได้ หนึ่งในเหตุการณ์ที่น่าจดจำ คือ การแข่งขันกีฬาจักรยาน ประเภทถนนบุคคลระยะ 150 กิโลเมตร / ชาย กีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่เต็มไปด้วยนักกีฬาระดับโลก แต่ก็มีม้ามืดที่สามารถเบียดกับนักกีฬาระดับนั้นเพื่อคว้าเหรียญกลับมาได้

วันนี้เราคุยกับดอย-นวุติ ลี้พงษ์อยู่ ผู้เคยเป็นฮีโร่ของชาติในวันนั้น วันนี้เขาอยู่ในฐานะสมาชิกทีมจักรยานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ-โกกิ ซึ่งตอนนี้กำลังคร่ำเคร่งกับการซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อม

กว่าจะมาถึงจุดนั้นเขาต้องเจออะไรบ้าง และวันนั้นที่แข่งขัน ความรู้สึกมันยังไง 

เขาพักเบรคจากการซ้อมมานั่งคุยกับเราแล้ว

จุดเริ่มต้น

เราเริ่มปั่นจักรยานครั้งแรก ก็ตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.3 เลย ตอนนั้นพักอยู่บ้านพักเจ้าหน้าที่บนสถานีวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าดอยตุงที่แม่ทำงานอยู่ ตอนนั้นก็ขี่ๆล้มๆจะขี่ได้ บวกกับช่วงนั้นจักรยานเสือภูเขามันบูมด้วย ดอยตุงก็เลยมีการจัดแข่งขันการปั่นจักรยานประจำทุกปี พ่อก็เลยพาตระเวนแข่งทั่วภาคเหนือเลย แต่รางวัลอะไรเราก็ไม่ค่อยได้ ตอนนั้นกำลังเด็กเลยต้องสู้กับเด็กทีโตกว่า มีได้รางวัลบ้างที่งานแข่งเล็กๆที่อำเภอพาน ตอนนั้นยังเด็กอยู่ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร 

หลังจากนั้นแม่ก็ออกจากงานที่ดอยตุงมาอยู่จังหวัดพะเยา ก็ย้ายเข้า ป.4 ที่โรงเรียนใหม่แต่โรงเรียนนั้นก็ไม่มีกีฬาให้เล่นก็เลยเลิกเล่นไป  ก็ไม่ได้ปั่นจักรยานตั้งแต่นั้นมา จนพอช่วงเข้า ม.1-3 ได้มาเล่นบาส ได้เป็นนักบาสของโรงเรียนแต่มันเหมือนก็ไม่ใช่ทาง เพราะได้ยินเสียงดังๆบนโรงยิมแล้วมันกดดันทำให้ตื่นสนาม พอไปแข่งมันก็ไม่เป็นตัวของตัวเองเลย อาจจะเพราะว่าตื่นสนามและมีงานแข่งน้อยไป ยังไม่ได้เจอประสบการณ์เยอะที่จะรับมือมันได้

ช่วงนั้นเรากับเพื่อนเป็นสายอ่านการ์ตูน ชอบไปเช่าหนังสือการ์ตูนหน้าโรงเรียร แล้วตอน ม.3 ไปหยิบหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “ สิงห์นักปั่น “ พออ่านไปก็ทีความรู้สึกอยากปั่นจักรยานอีกครั้งหนึ่ง เลยขอแม่ซื้อจักรยานเสือหมอบคันแรก กลับไปซื้อที่ร้านเดิม (ร้านนอร์ทเทิร์นไบค์) สมัยอยู่ดอยตุง

หนังสือการ์ตูนที่เป็นแรงบันดาลใจในขณะนั้น

ปั่นจักรยานไปโรงเรียน

พอได้จักรยานเสือหมอบมาก็ปั่นจักรยานจากบ้านประมาณ 6 โมงเช้า ยาวไปถึงโรงเรียนระยะทางเกือบประมาณ 30 กิโลเมตรทุกวัน ก็เริ่มแบบยังขี่ไม่เป็น ใช้แค่เกียร์เดียว หน้าจานใหญ่-หลังเฟืองเล็กสุด แล้วก็ปั่นกลับบ้านหลังซ้อมบาสที่โรงเรียน บางวันก็ต้องกลับดึก วันไหนที่พระจันทร์เต็มดวงจะสว่างไปทั้งถนนเลย แต่วันไหนที่มืดก็ยังมีเส้นขาวคอยนำทาง

ตอนปั่นจักรยานกลับบ้านวันหนึ่งก็มีคนๆ หนึ่งมาเห็น เป็นผู้จัดการทีม (จีระศักดิ์ นิวันติ) ที่คอยคุมทีมจักรยานจังหวัดพะเยาซ้อมจักรยานเขามาเห็น ก็เลยเลี้ยวรถเข้ามาคุย เพราะจำพี่ได้สมัยที่เคยแข่งสมัยที่อยู่ดอยตุง แล้วก็มาชวนไปปั่นให้ทีมจังหวัดพะเยา หลังจากนั้นเลยเริ่มซื้ออุปกรณ์ เริ่มซ้อมจริงจังกับทีมจักรยานจังหวัดพะเยาตั้งแต่ตอนนั้น 

ตอนนั้นผู้จัดการทีมก็เลยพาไปเจอโค้ชจักรยานของจังหวัดพะเยา ชื่อ โค้ช “สมศักดิ์ พรพรรณ” (โค้ชดามพ์ พรพรรณกนก) แกก็พาไปฝึกซ้อมตลอดเลยในช่วงแรกของการแข่งจริงจัง

แรงบันดาลใจ

แรงบันดาลใจในชีวิตจริงเหรอ อืม… ถ้าในประเทศก็จะเป็นรุ่นพี่ที่ซ้อมด้วยกัน ยกตัวอย่างพี่บาส (ภุชงค์ ซ้ายอุดมศิลป์) ในเวลานั้นพี่เขาเป็นนักปั่นดาวรุ่งระดับนักกีฬาทีมชาติ มันเลยได้ดึงความสามารถของเราของเราขึ้นไปด้วย เพราะการได้อยู่คนระดับประเทศแล้วพาเยาวชนไปซ้อม มันทำให้เหมือนเป็นทางลัดที่ทำให้ได้พัฒนาตัวเองได้เร็วขึ้น ส่วนต่างประเทศก็มี Lance Armstrong เพราะตอนนั้นเขารักษามะเร็งจนหายแล้วก็กลับมาชนะได้อีก เป็นแชมป์ตูร์ เดอ ฟรองซ์

สนามแรก

สนามแรกเริ่มต้นตอนพี่อายุ 15 ช่วงนั้นยังปั่นได้ไม่ถึงปีเลย แข่งไม่จบเพราะยางรั่วก่อน แล้วพออายุขึ้น 16 ได้แข่งสนามแรกที่โคราช ก่อนจะเข้าเส้นก็เจอเหตุการณ์ที่จำไม่ลืมเลย

ตอนนี้พี่ได้แข่งระดับชิงแชมป์ประเทศไทยระดับ ยุวชน ตอนอายุ 16 ปี รายการนั้นเป็นรายการแรกๆเลยที่ได้แข่งจริงจัง ตอนนั้นรู้สึกว่าจังหวะหน้าเส้นต้องเร่งแรง คือช่วงใกล้เส้นชัย 50 เมตรสุดท้าย เรารู้สึกเหมือนภาพมันสโลว์ เสียงคนข้างๆที่เชียร์ก็เงียบไป แต่พอพ้นเส้นเสียงและภาพก็กลับมา เขาบอกว่าเป็นอดรีนาลีน แต่ก็เคยเป็นแค่ครั้งเดียวเลย หลังจากนั้นก็ถูกดึงไปเป็นนักกีฬาเยาวชนทีมชาติ

เยาวชนทีมชาติ

ครั้งแรกที่ไปต่างประเทศเลยคือ Tour of Mazandaran  ที่อิหร่าน ไปแข่งหลายวันเลย เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่สมาคมจักรยานได้เริ่มจริงจังที่จะส่งนักกีฬาออกไปแข่งต่างประเทศ แล้วหลังจากงานนั้นก็มีโอกาสได้แข่งขันอีกเยอะเลยทั้ง มาเลเซีย แคนาดา โครเอเชีย แล้วพออายุ 18 ปี เราก็ได้เริ่มขึ้นทีมชาติชุดใหญ่ รายการแรกก็มีรายชื่อแข่งซีเกมส์ที่ลาว 

แต่กว่าจะได้เหรียญทองครั้งแรกตอนอายุ 20 ปี ซีเกมส์ครั้งที่สองที่ประเทศอินโดนีเซีย แข่งแบบทีมไทม์ไทรอัลชายหรือการแข่งขันแบบจับเวลา ที่เราแข่งมันเป็นระบบทีม 4 คน มันจะแบ่งหรือผลัดไปต้านแรงลมเพื่อลดความเหนื่อยของคนในทีมได้ ซึ่งตามกฏคือต้องเข้าเส้นกันให้ได้ 3 คน  ช่วยกันปั่นไปตามที่ซ้อมมา จนพอถึงเส้นชัยได้ก็นั่งกันแบบไม่รู้อะไร เพราะทีมเราไม่รู้เวลา สักพักมีคนต่างชาติเดินมาบอกว่า พวกคุณได้แชมป์ เราคือนัมเบอร์วัน…

ครั้งแรกที่ได้เหรียญทองที่อินโดนีเซีย มันก็ซึ้งนะ ร้องเพลงชาติไปมันอินอยู่ข้างใน คนข้างๆ ก็น้ำตาซึม อาจจะเป็นเพราะไม่ได้อยู่ในประเทศตัวเอง เราไปได้รางวัลที่ต่างประเทศ ไปร้องเพลงของชาติเราที่ต่างประเทศ ความรู้สึกคือมันดีใจ ภูมิใจ ซึ้งใจ หลายๆอย่างปนกันไป หลักๆ คือเราภูมิใจ

มิตรภาพนักกีฬา

เราว่าทุกคนรู้ระบบเกมส์ ตอนแข่งขันก็เต็มที่ตามบทบาทของตัวเองที่ต้องทำ แต่ทำแบบไม่น่าเกลียด ยังอยู่ในกรอบ แต่พอหลังแข่งเสร็จก็ออกไปเที่ยวกันตามปกติ 

เพราะเกมส์การแข่งมันก็มีกันแค่นี้ เจอกันอยู่แค่นี้ ต่อให้ได้ที่หนึ่งแต่ไม่มีใครเอาเลยก็แย่เหมือนกัน เช่นถ้าเราหลุดไปอยู่ด้านหน้า ช่วงที่ช่วยกันผลัดกันหนี คนด้านหน้าจะเจอลมเยอะที่สุด สมมุติหนีกันสามคนก็ต้องช่วยกัน ถ้ามีคนใดคนหนึ่งในนั้นไม่ช่วยกันเต็มที่ให้อีกสองคนพยุง แต่พอถึงหน้าเส้นก็แซงเข้าที่หนึ่ง อันนี้แย่ ต่อให้ภูมิใจที่ได้ที่หนึ่ง แต่นักแข่งคนอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศในการแข่งครั้งต่อไปก็จะไม่อยากเอาไปด้วย เรื่องนี้ก็แล้วแต่มุมมองนะ เพราะมุมมองเราการได้รางวัลก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่สปิริตมันก็สำคัญเช่นเดียวกัน

สู่เอเชียนเกมส์

เราแข่งในกีฬาประเภทจักรยานซึ่งการแข่งขันในระดับนานาชาติก็จะมีซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ ชิงแชมป์เอเชียที่เป็นเฉพาะจักรยานอย่างเดียว สูงขึ้นจากนี้ก็โอลิมปิค ชิงแชมป์โลกจักรยาน ก่อนที่จะแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ได้ ก็ต้องมีคะแนนแรงค์กิ้งเพียงพอถึงจะไปแข่งได้ หรือไม่ก็เป็นนักกีฬาที่สมาคมส่งไป ซึ่ของเราเป็นนักกีฬาที่สมาคมส่งไปร่วมแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์

อาจจะเพราะเราแข่งมาหลายเวทีแล้ว ความกดดันมันเลยไม่เท่ากับการได้แชมป์แล้วต้องมารักษาแชมป์ ยิ่งพวกซีเกมส์ที่เราเป็นแชมป์เก่า เราจะกดดันเยอะกว่า แต่ระดับเอเชียนเกมส์ เราไปแข่งโดยที่เรารู้แล้วว่าคู่แข่งของเราเป็นระดับโปรทัวร์ เราไปเจอคนที่เป็นซุปเปอร์สตาร์ บางคนเป็นไอดอลของตัวเองเลย 

ยิ่งถ้าเป็นจักรยานมันจะมีเกมส์ Pro cycling manager เราเจอนักกีฬาบางคนในนั้นตั้งแต่เค้าอายุน้อยๆ เป็นดาวรุ่ง แล้วตอนหลังมาเราได้เจอเค้าตัวจริงแล้วได้แข่งด้วยกัน ตอนนั้นไม่คิดว่าตัวเองจะได้เหรียญด้วยซ้ำแล้วช่วงนั้นเป็นช่วงที่พีคของตัวเองพอดี  เราคิดแค่ว่าเราจะทำให้ดีที่สุด ตั้งใจซ้อมเต็มที่ 

ฝีปั่น

ผลงานตอนซ้อมตอนนั้นดีมากเลย แต่พอวันแข่งจริง หลังเสียงนกหวีดสตาร์ทปุ๊บ พอสตาร์ทได้ 50 เมตรตีนผีไปติดกับซี่ล้อหลังจักรยาน ดรอปเอาท์ก็หักเลย 

จังหวะนั้นช็อคเลย ที่ซ้อมมาอย่างหนัก แล้วรถพังไปต่อไม่ได้ ตอนนี้ก็เสียความมั่นใจไปเลยนะ หลังจากนั้นทีมสตาฟฟ์ก็เลยเอารถอะไหล่มาเปลี่ยน แต่รถอะไหล่ ความสูงของเบาะกับช่วงหน้าของแฮนด์ มันก็ไม่ได้เหมือนกับรถที่ปั่นมาตลอด แล้วเราเป็นคนที่ค่อนข้างเซนซิทีฟกับเรื่องนี้ พอได้ใช้รถอะไหล่ที่ทีมงานเซ็ทมาไว้กลางๆ มันก็ไม่ชิน ก็ปั่นแบบเฟลๆไปตลอดครึ่งทางเลย

ความรู้สึกตอนนั้นคิดแค่ขี่ให้จบๆ ไม่เอาอะไรแล้ว แล้วระหว่างนั้นพี่ตั้ม (วิสุทธิ์ กสิยะพัท) ผู้จัดการที่ขี่รถตาม รวมถึงเป็นคนที่ติดต่อพี่ก็บอกว่าเดี๋ยวจะเอารถที่ใช้มาให้ขี่ รอแปปหนึ่ง ระหว่างนั้นทีมงานก็เก่งตามหาอะไหล่มาซึ่งก็หามาได้

ในตอนแข่งวันนั้น ก็แข่งไปเรื่อยๆซึ่งตอนนั้นทีมคาซัคสถานคุมเกมส์อยู่ คนเก่งที่สุดของทีมอย่าง Alexey Lutsenko ก็ไม่ได้นำข้างหน้าเพราะมีคนในทีมที่คอยรับลมให้ ตัวเองก็อยู่ในตำแหน่งที่ไม่โดนลม 

พอปั่นไปได้ 65 กิโล ระหว่างนั้นพี่ตั้มก็เรียกให้ไปเอารถของตัวเองกลับมาปั่นต่อ จังหวะที่พี่ตั้มพาพี่ไปเปลี่ยนจักรยาน พี่ตั้มพูดว่า ปี่ยะหื้อคิงกู่อย่างละหนา ตี้เหลืออยู่ที่คิงละ (พี่ทำให้นายทุกอย่างละนะ ที่เหลืออยู่ที่นายแล้ว-แปลจากภาษาเหนือ) 

หลังจากนั้นพอถึงจุดที่จะต้องขึ้นเขา นักปั่นที่รับลมให้เพื่อนคนอื่นเริ่มที่จะปั่นต่อไม่ไหวแล้วเปิดทางให้นักปั่นที่จะได้ลุ้นเหรียญรางวัลขึ้นมารับช่วงต่อแทน เป็นช่วงที่จะเริ่มตัดเกมส์กันแล้ว เขาลูกสุดท้ายก็เริ่มที่จะเป็น Climax ของการแข่งขันครั้งนี้ ยาวเกือบ 2 กิโลเมตรและชันจะเป็นตัวตัดสินแชมป์ จริงๆก็เคยมีประสบการณ์มาซ้อมที่นี่บ้าง รวมถึงเคยมาแข่งซีเกมส์ตอนอายุ 20 ด้วย 

ช่วงก่อนขึ้นช่วงสุดท้ายใจก็ยังไม่มานะ  จังหวะนั้นเราและเพื่อนอีก 3 คนยังอยู่กันครบ อยู่ๆก็คิดมาว่า เพื่อนเราตอนซ้อมมาด้วยกัน เค้าก็ยังอยู่ในกลุ่มได้ เหมือนแบบซ้อมมาด้วยกันเค้าก็ยังขี่มาตรงนี้ได้ แล้วทำไมจะมางอแงตอนนี้ ก็เลยเปลี่ยนมุมมองว่า เอาวะ กูลองบ้างก็ได้ เพื่อนก็ยังอยู่กันครบ ตอนซ้อมระยะนี้ก็ยังทำได้ดี ตอนแข่งทำไมจะทำแบบตอนซ้อมไม่ได้ 

จนเหลือเขาลูกสุดท้าย ตอนนั้น Heart rate ขึ้นเกือบ 190 แล้ว แล้วก็หลุดมาได้ 5 คน นักปั่นญี่ปุนคนหนึ่งก็ลากให้เปปปุไปอย่างถวายชีวิต จนถึง2กิโลสุดท้าย ทุกคนทำเกมส์อะไรไม่ได้แล้ว จังหวะนั้นเหลือกันแค่ 2 คนกับพี่มะตูมก็เลยคุยกันว่าจะจับกันคนละตัว เราจับลูเซนโก้ อีกคนจับเปปปุ จนถึงใกล้เส้นชัยก็สปรินซ์เต็มที่ทั้งที่ตัวเองไม่ใช่สายสปรินซ์ (สปรินซ์คือการไประเบิดแรงทั้งหมดหน้าเส้นชัยเพื่อให้เข้าเส้น) สุดท้ายเข้าเส้นชัยไปทั้งที่เหรียญทองอยู่ตรงหน้าอีกนิดเดียว 

กีฬาประเภททีม

หลังจากนั้นตอนจบเกมส์ เปปปุกับลูเซนโก้ก็มาคุยด้วย เปปปุก็บอกว่าประเทศไทยมีตัวขนาดนี้เลยเหรอ เพราะเปปปุเองไม่เคยมาปั่นกับคนที่ไทยเลย มีแค่ ยูกิยะ อาราชิโร่ ที่เคยมาซ้อมเก็บตัวที่ไทยเกือบทุกปี เลยรู้ศักยภาพของนักปั่นไทยดี แต่ก่อนแข่งยูกิยะได้รับบาดเจ็บเลยไม่ได้มาแข่งด้วย

กีฬาจักรยานเป็นประเภททีม สำหรับเราที่สำคัญคือ มิตรภาพ น้ำใจนักกีฬา สำคัญกว่าการเอาชนะอย่างเดียว ตอนแข่งเราต้องพึ่งพากัน เพราะบางทีเราไม่มีแรงแต่ก็ยังช่วยคนอื่นได้ บางทีคนที่มีแรงดีที่สุดไม่ใช่ว่าจะชนะเสมอไป ไม่ใช่ว่าเรามีแรงแล้วเราไปเลยคนเดียว ทิ้งคนที่เหลือไว้ข้างหลัง พี่เลยมองว่ากีฬาชนิดนี้สปิริตเป็นเรื่องที่สำคัญ

ส่งท้าย

เมื่อเทียบกับสมัยยังเด็กกับตอนนี้ คิดว่าตัวเองมาไกลขนาดไหน

ไกลมาก ตอนแรกที่ปั่นจักรยานอีกครั้งเพราะการ์ตูนเรื่องหนึ่ง แล้วก็ยาวมาถึงตอนนี้ก็มาไกลแล้วเหมือนกัน

กว่าจะมาเป็นนักปั่นจักรยานทีมชาติได้ คุณต้องฝึกซ้อมหนักมากจนต้องเสียชีวิตวัยรุ่นไป มองย้อนกลับไปคุยเสียดายกับมันมั้ย

เราว่าเราไม่เสียดายนะ เพราะมันเป็นสิ่งที่เราทำและมันดี มันเป็นสิ่งที่เด็กหลายๆคนอยากมาอยู่จุดนี้ แต่ก็ต้องตัดสิ่งที่อยากทำหลายอย่างไป อย่างชีวิตมหาลัยที่ไม่มีโอกาสได้ทำเลย เพราะเราได้รู้จักแค่การเป็นนักกีฬา มันก็เป็นอีกบทบาทที่เราได้ทำมันแล้วมันออกมาดี

ถ้าตอนนี้มีเด็กมาบอกว่าอยากเป็นนักกีฬาทีมชาติบ้าง จะบอกน้องๆ ว่ายังไง

ช่วงสมัยวัยรุ่นเป็นช่วงที่เจออะไรใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นจุดเปลี่ยนที่ไขว้เขวได้ง่าย เด็กบางคนมีพรสวรรค์ แต่พอเจอปัจจัยหลายๆอย่างที่มาล่อตาล่อใจก็ทำให้ไปต่อด้านนี้ไม่ได้ อันนี้เจอหลายวงการเลย ถ้าบอกเด็กๆรุ่นต่อไปได้คงบอกให้เด็กมีความตั้งใจ มีวินัยอย่างเต็มที่ ต้องตั้งเป้าที่จะไปถึงให้ได้ ถ้าเจออะไรที่บั่นทอนให้ฝึกซ้อมก็ให้เข้มแข็งกับมัน 

Contributors

ปวรปรัชญ์ จันทร์สุภาเสน

นักศึกษาจากทุ่งรังสิต ผู้รักหมามากกว่าแมวและนอนไม่ค่อยพอ

สมิตา พงษ์ไพบูลย์

อารมณ์ดีขึ้นได้แค่ได้กินของอร่อย ชอบดนตรี ชอบซีรีส์มากกว่าภาพยนตร์ ชอบฝน ต้นไม้ และอิสระ