บัซซี่-ศิวกรณ์ ดาวมหาลัยข้ามเพศสู่การร่วมงานกับ UN Women เพราะเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้วมีข่าวหนึ่งถูกพูดถึงกันอย่างมากมายบนโลกออนไลน์ เมื่อเวทีประกวดดาวเดือนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีภาพจำว่าเป็นการประกวดที่รวมคนสวยหล่อของมหาวิทยาลัยในปีนั้นไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะตำแหน่งของดาวมหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าเป็นตำแหน่งของหญิงสาวที่สวยที่สุดของปี 

แต่ว่าสุดท้ายในปีนั้นผู้ได้รับตำแหน่งดาวมหาวิทยาลัยกลับไม่ใช่เพศหญิง

นั่นคือครั้งแรกที่เราได้รู้จักกับบัซซี่-ศิวกรณ์ ทัศนศร ดาวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประจำปี 2561 และยังเป็นดาวมหาวิทยาลัยที่เป็น Transgender คนแรกของประเทศไทย

ปัจจุบันเราเห็นภาพเธอตามเวทีการชุมนุม และกิจกรรมต่างๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมให้กับกลุ่ม LGBTQ+ และผู้หญิง รวมถึงการทำงานในองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น เธอยังได้รับรางวัล Equality Award 2020 จากองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติหรือ UN Women 

อะไรที่ทำให้เธอมาถึงจุดนี้ อะไรที่ทำให้เธอเป็นแรงผลักดันให้เธอทำ และสิ่งใดกันที่เธอฝันจะไปต่อ 

เธอนั่งรอผมอยู่ และพร้อมเล่าทุกอย่างให้ผมฟังแล้ว

 

1
บัซซี่-ศิวกรณ์ ทัศนศร

 

ณ อาคารกิติยาคารแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบื้องหน้าของผมคือหญิงสาวที่ครั้งหนึ่งหลายคนในธรรมศาสตร์จดจำเธอในภาพของดาวมหาวิทยาลัยคนแรกที่เป็น Transgender แต่หลังภาพจำนั้น เธอย่อมมีชุดประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกับพวกเราทุกคน

นั่นคือการเป็นนักเรียน

ในวัยมัธยม บัซซี่คือนักเรียนและนักกิจกรรมที่เหมือนว่าจะเก่ง จัดเจน และทะมัดทะแมงในสายตาของเพื่อนร่วมรุ่น แต่การเป็นประธานนักเรียนในช่วงวัยและอัตลักษณ์ทางเพศนั้น ท่ามกลางสังคมโรงเรียน เธอต้องเผชิญกับอะไรมากมายเกินกว่าที่เราจะจินตนาการไหว

“บัซซี่ตอน ม.5 ที่เป็นประธานนักเรียนแล้วทุกอย่างถาโถมเข้ามา ด้วยความเป็นเด็กที่เจอผู้ใหญ่เล่นการเมือง เจอผู้ใหญ่ทุจริตคอร์รัปชั่น เจอผู้ใหญ่บอกว่าเราไม่สมประกอบ เจอผู้ใหญ่มากมายถามว่าจะเป็นตุ๊ดทำไม ที่นี่เขาไม่เปิดรับ” บัซซี่เล่า

มันคงจะปกติมากถ้ามันคือช่วงเวลาเกือบสิบปีที่แล้ว แล้วก็ยังจริงอยู่ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในพื้นที่สังคมที่ยังรักษาแนวคิดอนุรักษ์นิยมไว้ แต่บัซซี่ขยายความว่า แนวคิดพวกนั้นมันสะท้อนให้เห็นแนวคิดของผู้ใหญ่ในสังคมไดโนเสาร์ซึ่งแท้จริงแล้ว พวกเขาควรอยู่ในพิพิธภัณฑ์เพราะแนวคิดที่ล้าสมัยพวกนั้น

“มันทำให้โลกของเราไม่พัฒนา ถ้าพวกเขาก็ยังมีความคิดแบบนั้นอยู่ ก็ควรอยู่ในพิพิธภัณฑ์ เอาไว้เป็นตู้โชว์ว่าครั้งหนึ่งเราเคยมีประเทศไทยที่คิดแบบนี้ มันจะได้ทรงคุณค่านิดหนึ่ง มากกว่ามาเพ่นพ่านพูดจาไร้สาระ สังคมมันขับเคลื่อน มันหมุนเร็ว มันไปไกลแล้ว”

ในวัยแห่งความสับสนอลหม่านและการต่อสู้กับเหตุการณ์แห่งการกลั่นแกล้ง สิ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจเธอให้ผ่านเวลานั้นไปได้คือเพื่อนและครอบครัว จนผมลองถามเธอว่า ถ้าให้เธอที่นั่งอยู่ตรงนี้บอกกับประธานนักเรียนชั้น ม.5 คนนั้น เธออยากบอกอะไร

“จะบอกว่าจงทำต่อไป เพราะคุณเก่งมาก คุณเป็นของคุณแบบนี้แหละ และคุณจะยิ่งใหญ่ในอนาคต” บัซซี่ตอบเรา

“แล้วถ้าให้คุณนิยามตัวเองล่ะ คุณจะนิยามว่าอะไร” เราถามต่อ

“ถ้าลองให้นิยามตัวเอง เราขอนิยามตัวเองว่าเป็นไม้กายสิทธิ์แล้วกัน เราอินกับแฮรี่ พอตเตอร์ คือเรามีความเชื่อว่าปากของเราเปรียบเสมือนไม้กายสิทธิ์ที่เมื่อเราพูดหรือเสกคาถาใส่ใคร มันจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเสมอ ง่ายๆ คือ เรามองว่าเราเป็นเหมือนพลังบวก ไม่ว่าจะตรงไหนที่ไหน เราก็จะไปเพิ่มพลังให้กับพวกเขา ไปเพิ่มความหวัง ความเป็นไปได้ รวมถึงเติมเชื้อไฟให้เขามีพลังในการมีชีวิตอยู่

 “เราอุทิศให้กับการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สิ่งนั้นดีขึ้น เราจึงไม่เหนื่อยที่จะทำอะไรสักอย่างหรือแคมเปญเพื่อให้สังคมตระหนักรู้ถึงปัญหาที่มีอยู่” เธอตรงหน้าตอบเราพร้อมรอยยิ้ม

 

2
ดาวมหาวิทยาลัยกับการเคลื่อนไหวทางสังคม

 

ผู้อ่านคงไม่คิดว่าประเทศไทยจะมีดาวมหาวิทยาลัยที่เป็น Transgender

แต่ต้องไม่ลืมว่าการประกวดดาวเดือน ฑูตกิจกรรม หรือ Ambassdor ตามแต่มหาวิทยาลัยไหนจะเรียก เป็นแค่สิ่งสมมติในสังคมๆ หนึ่งที่แทบไม่มีผลหรืออิทธิพลในการชี้นำสังคมใหญ่เลยด้วยซ้ำ ซึ่งต้องยอมรับว่าเมื่อบัซซี่ได้รับตำแหน่งดาวมหาวิทยาลัยฯ และเริ่มทำตามคำตอบบนเวทีประกวดของเธอที่ว่า เธออยากใช้ตำแหน่งนี้เปลี่ยนแปลงความเท่าเทียมกันในสังคม เพศทางเลือก และเพศชายหญิง

“สิ่งที่คุณตอบในวันนั้นกับวันนี้ต่างกันอย่างไร” ผมถาม

“ต่างกันเยอะ แต่ต่างในลักษณะที่เหมือนเดิม เราพูดทุกวันในเรื่องผู้หญิง ผู้ชายและ LGBTQ+ ที่มันจะเกิดในทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิสวัสดิการ รวมไปถึงเสรีภาพ มีคนเห็นด้วยกับเรามากขึ้นในประเด็นนี้ ทำให้เราตระหนักเห็นตัวเองในประเด็นนี้มากขึ้น แถมมีคนบอกว่าบัซซี่ไม่เรียบร้อยเหมือนนางงามเลย (หัวเราะ)

“เรายอมรับว่าตัวเองเป็นกลุ่มคนที่หัวรุนแรงคนหนึ่งเลย ที่เราต้องการบอกกับสังคมว่าสังคมเรามีปัญหา อย่าเพิกเฉย มันทำให้เราอยากที่จะพูดประเด็นนี้ ไม่ว่าจะเวทีไหน ไม่ว่าใครจะเชิญไปพูดหรืองานเสวนาที่ไหน เราจะพูดทุกครั้ง เราเชื่อว่าเมื่อเรามีโอกาสพูด เราจะพูดไม่หยุด และทุกครั้งมันจะเป็นแรงกระเพื่อมให้สังคมได้ระดับหนึ่ง ซึ่งเรามองว่ามันเป็นสัญญาณที่ดีมาก”

ผมอาจต้องถอนคำพูดจากย่อหน้าข้างบน เพราะเมื่อบัซซี่ได้โอกาสในการพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศไม่ว่าจะวาระของผู้หญิง หรือเพศทางเลือก ก็เริ่มเป็นที่สนใจของสังคมจนปัญหาถูกนำไปถกเถียงและมีผู้ตระหนักรู้ถึงมันมากขึ้น จนตอนนี้บัซซี่มองว่าการออกมาแสดงจุดยืนและช่วยเป็นกระบอกเสียงให้ผู้คนนั้น มันสำเร็จแล้ว

“สำหรับเรา ตอนนี้ที่ทุกคนลงท้องถนนแล้วพูดถึงปัญหาเรื่องผู้หญิง พูดถึงปัญหาการกดทับ จนมีกลุ่มผู้หญิงปลดแอกหรือเฟมินิสต์ปลดแอกที่พูดถึงเรื่องปัญหาผู้หญิง แล้วก็มาแต่งเพลงให้เป็นกิมมิคเล็กๆ ถือว่าสังคมเขาตระหนักถึงขั้นนี้แล้ว เพราะว่าแรงที่เรากระเพื่อมทีละนิดจนคนตระหนักรู้ถึงปัญหา ทำให้เรารู้สึกว่าสังคมเปลี่ยนไปมากๆ มันอาจไม่ได้เปลี่ยนพริบตา แต่มันก็ค่อยๆเปลี่ยนเป็นไปตามเส้นทางของประชาธิปไตย“ บัซซี่ขยายความ

“แล้วหลังจากที่คุณได้รับตำแหน่งดาวมหาวิทยาลัยที่เป็น LGBTQ+ คนแรกของประเทศไทยแล้ว

คุณยังรู้สึกว่าสังคมได้เปิดกว้างมากขึ้นจากอดีตจริงๆ หรือไม่” ผมถามต่อ

“เปิดขึ้น แต่ว่ายังไม่ได้มากพอ มันยังมีอีกหลายมิติ ยังมีผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศหลายคนที่ยังถูกกดทับอยู่และมันมีมิติที่ซับซ้อนหลายแง่มุมมาก มันทำให้เราพูดแค่นี้ไม่พอหรอก มันต้องพูดมากกว่านี้ เราคนเดียวพูดไม่พอหรอก มันควรจะมีบัซซี่สัก 10 คนแล้วพูดถึงปัญหาแต่ละมิติ เมื่อคุณเป็นดาวดัง เป็นคนที่มีมงกุฎ ทุกคนย่อมที่จะเปิดรับคุณ เพราะชื่อเสียงและเงินทอง แต่มันยังมีคนอีกจำนวนมากที่อยู่ชายขอบที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือความสุขเฉกเช่นคนอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น คนไร้บ้านที่เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นเกย์ เป็นตุ๊ด หรือคนที่เป็น Sex Worker ที่ขายบริการทางเพศแล้วเป็นเพศทางเลือก พวกเขาเหล่านี้แทบไม่ได้รับโอกาสเลย สื่อเองก็เพิกเฉยต่อพวกเขาเช่นกัน

“เรามองเห็นว่าสื่อหลายสื่อเลือกให้พื้นที่ LGBTQ+ ที่เป็นคนที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว คนพวกนี้เค้าก็จะได้รับ Privilege อยู่แล้ว แต่กลุ่มคนที่เป็น LGBTQ+ ที่อยู่ชายขอบหรือไม่ได้รับความเท่าเทียมทางเพศหรือความเป็นธรรมจากสังคม น้อยครั้งที่สื่อนำเสนอภาพของเพศทางเลือกกลุ่มนี้ ดังนั้นสื่อเหล่านี้จึงพูดไม่ได้ว่าเป็นสื่อที่มีความเท่าเทียมทางเพศ” บัซซี่อธิบาย

 

3
ภาพจำ ความขบขัน และการขับเคลื่อนสังคม

 

เมื่อเรามองภาพจำหรือภาพลักษณ์ที่สังคมไทยสวมทับให้กลุ่มเพศทางเลือก แน่นอน, ไม่วายจะต้องตลกขบขัน เฮฮา สร้างความบันเทิง และถูกปิดกั้นจากค่านิยมบางอย่างในสังคม ซึ่งหลังจากที่ผมติดตามเธอห่างๆ จนได้ร่วมงานกันในฐานะรุ่นน้องร่วมสถาบัน ผมจึงเห็นรุ่นพี่คนนี้ไม่ได้เป็นเหมือนภาพลักษณ์ที่สังคมมอบให้เลยสักนิด

“จริงๆ เราเป็นคนตลกและน่ารักนะ (หัวเราะ) หลายคนอาจมีภาพจำว่ากะเทย ตุ๊ด เกย์ ทอม ดี้ คนเหล่านี้จะต้องร่าเริง จะต้องเป็นคนเก่ง เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ อยู่ด้วยแล้วมีความสุข จริงๆ เราจะบอกว่าเราตรงกันข้าม อยู่ด้วยแล้วอาจจะไม่มีความสุขเพราะบางคนก็ทำแต่งาน ก็อยากจะบอกว่ามันเป็นปัจเจก กะเทยหรือจะเพศต่างๆ ไม่จำเป็นต้องตลก อย่าไปคิดว่าเขาต้องตลก เพราะเนื้อหาของเราไม่ใช่คนตลก ใช่-เนื้อแท้ของเราเป็นคนอารมณ์ดี แค่เห็นคนยิ้มดิฉันก็มีความสุขได้ ไม่ใช่คนที่วี้ดว้ายกระตู้วู้เหมือนในละคร”

ผมจึงถามต่อด้วยความสงสัยอีกว่า เพราะเหตุใดผู้ที่ขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศของ LGBTQ+ ถึงได้มาพูดถึงเรื่องราวของชายจริงหญิงแท้

“เราเกิดในครอบครัวที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำและเราก็ถือว่าเราเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ดังนั้นเราจึงตระหนักเห็นความสำคัญของผู้หญิงที่เป็นเพศแม่มาก เพราะเราถูกเลี้ยงในครอบครัวที่มีแต่ผู้หญิง” 

เพราะการเห็นความสำคัญของเพศแม่จากสายตาของบัซซี่ เธอจึงเห็นการถูกกดทับผ่านมายาคติและค่านิยมที่ผิดและบิดเบี้ยวจากความเป็นมนุษย์อย่างชัดเจนในหลายมิติ เช่น วาทกรรมสุภาษิตไทยประหลาดๆ ที่เราเคยได้ยินอย่าง มีลูกสาวก็เหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน รวมถึงคำสอนทางศาสนาจรดถึงปัญหาความรุนแรงตั้งแต่จุดเล็กๆ อย่างสถาบันครอบครัว จนไปถึงสังคมใหญ่ที่เราเห็นได้ตามพื้นที่ข่าวเหล่านั้น

“มีเพศหญิงถูกกดทับด้วยกรอบและมายาคติที่ผิดและบิดเบี้ยว รวมถึงความเป็นมนุษย์อย่างชัดเจน สังคมโลกเรามีประชากรที่เป็นผู้หญิงมากที่สุด แต่ถูกย่ำยีราวกับพวกเขาไม่ใช่มนุษย์ เราโชคดีนะที่มีโอกาสได้ลงพื้นที่ ได้เห็นผู้หญิงที่ถูกกระทำทั้งในพื้นที่ที่เราตั้งใจไปดู และไม่ตั้งใจไปดู ในทุกทุกพื้นที่ที่เราไป มันทำให้เรารู้สึกหดหู่และทรมานใจมาก ผู้หญิงบางคนถูกทำร้ายจากสามีเพียงเพราะว่าเห็นเขาเป็นที่ระบายอารมณ์ความเครียดของสามี ผู้หญิงบางคนถูกสาดน้ำมันจากสามีเพียงเพราะมีความคิดที่ว่าเป็นเพศที่อ่อนแอกว่าและสังคมไทยเองมองว่าผู้หญิงเป็นสิ่งซื้อขายหรือวัตถุทางเพศ”

 

4
UN Women

 

“อะไรคือจุดเริ่มต้นที่คุณได้เข้ามาร่วมโครงการนี้” ผมถามถึงจุดเริ่มต้องของเธอและการร่วมงานกับองค์การระดับโลกอย่าง UN Women

“มันมีเหตุการณ์น่ารักๆ เหตุการณ์หนึ่งก็คือ มันเริ่มจากการที่เรามองเห็นพี่หมอแอน (ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล-รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) นั่งทำงานอยู่ที่ตึกสำนักงานอธิการบดี เราเห็นพี่หมอแอนนั่งบริหารงานแล้วรู้สึกว่าทำไมผู้หญิงคนนี้ดูมีเสน่ห์จัง ทำไมผู้หญิงคนนี้ถึงมานั่งบริหารอะไรยากๆ ได้ เราจึงอยากทำแบบนี้ได้บ้าง ซึ่งอะไรแบบนี้มันสำคัญมากและที่สำคัญแกต้องทำงานหมอและยังต้องทำงานบริหารงานอีก สำหรับเรามันท้าทายมาก

“ประกอบกับเราเป็นคณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยและความเข้าใจทางเพศของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ทุกครั้งที่มีกรณีการถูกคุกคามทางเพศในมหาวิทยาลัย เราจึงมีโอกาสได้พิจารณาคดีและได้รับรู้เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราเองก็รู้สึกอยากจะแก้ไขปัญหา เราโชคดีมากที่ได้เจอพี่ขวัญ (มณฑิรา นาควิเชียร-เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการงานสื่อสารองค์กรสหประชาชาติ และองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ)​ ที่เป็นผู้ร่วมสังเกตการณ์จากคณะกรรมการชุดนี้เช่นเดียวกัน เราเห็นแกดูมีไฟมาก มีความรู้และเครื่องมือมากมายในการแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และเราก็ได้ตัดสินใจร่วมงาน ร่วมใจที่จะทำโครงการด้วยกัน”

แผนการแรกที่บัซซี่วางแผนไว้ในการร่วมงานกับองค์กรระดับโลกอย่าง UN Women คือ ความเท่าเทียมทางเพศทั้งของกลุ่มเพศทางเลือกและเพศหญิงโดยตรง แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 บัซซี่จึงได้เรียนรู้ถึงปัญหาที่ใหญ่และน่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน นั่นคือ ปัญหาแรงงานข้ามชาติ

“พี่ขวัญเล่าให้เราฟังถึงเรื่องแรงงานข้ามชาติก่อนว่า แรงงานหญิงข้ามชาติมีความทุกข์ทรมานอย่างไรบ้าง และพวกเขาเหล่านั้นต้องเจอกับอะไรบ้าง พี่ขวัญจึงพาเราไปเจอกับพี่ก้อย (กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม-ผู้จัดการโครงการส่งเสริมสิทธิผู้หญิงและเด็ก Thailand Institute of Justice) ซึ่งพี่เขาช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติและเล่าให้ฟังถึงปัญหาของแรงงานต่างๆ จนเราตระหนักเห็นว่ามันมีปัญหาจริงๆ จึงได้เกิดโครงการนี้ คือเราตระหนักเห็นว่ามันเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงมากและต้องแก้ไข เพราะถ้าหากไม่แก้ไข จะไม่ใช่แค่เค้า เราเองก็จะมีปัญหา และเป็นปัญหาที่เราไม่รู้มาก่อน เมื่อเรารู้แล้วก็ไม่ควรเพิกเฉยเพราะเค้าก็เป็นเพื่อนมนุษย์ของเรา

“วันนี้เราพูดเพื่อช่วยเหลือตัวเองมามากพอแล้ว เราเลยอยากพูดเพื่อช่วยเหลือคนอื่นบ้าง พูดตามตรงว่าเราพูดถึงประเด็นความเท่าเทียมไปก็เพื่อตัวเราเองด้วยส่วนหนึ่ง มันก็ Complete แต่มันก็ยังไม่ได้มากที่สุด เราก็จะพยายามทำให้มากกว่านี้รวมถึงประเด็นเรื่องสัญชาติของแรงงานหญิงข้ามชาติควบคู่ไปด้วยกันเพราะมองว่ามันคือปัญหาเดียวกัน” บัซซี่ขยายความ

จึงเป็นที่มาของค่าย Spotlight ที่จัดขึ้นร่วมกับ UN Women เพื่อที่จะสร้างบรรทัดฐานสังคมให้พวกเขากับแรงงานข้ามชาติ เพราะนอกจากจะพูดถึงแรงงานต่างชาติที่เข้ามาใช้แรงงานในประเทศไทย แต่ก็มีคนไทยอีกจำนวนมากที่ต้องข้ามชาติไปใช้แรงงานต่างประเทศด้วยเช่นกัน บัซซี่จึงมองเห็นว่าควรพูดถึงประเด็นนี้และไม่ควรนิ่งเฉย และต้องให้เป็นประเด็นที่พูดกับสังคมให้ได้มากที่สุด ชนชั้นแรงงานจะต้องได้รับความเท่าเทียมในสังคมมากกว่านี้

  “จากการจัดค่าย นอกจากที่เรามองเห็นว่าน้องทุกคนมีปัญหาในเรื่องเพศ เมื่อเราเพิ่มเรื่องนี้เข้าไป น้องเข้าใจปัญหาได้เร็วขึ้น เพราะตอนแรกเราคิดว่าน้องทำเพื่อตัวเอง แต่เขาก็เหมือนกับเราที่ไม่เพิกเฉย น้องได้เห็นถึงปัญหาต่างๆ ว่าปัญหาที่แรงงานข้ามชาติต้องเจอคืออะไร Impact มันจึงเกิดขึ้นเมื่อน้องเอาสิ่งที่เราพูดไปสานต่อ เราไม่อาจรู้ได้ว่ามันจะมีบัซซี่คนที่สอง คนที่สาม คนที่สี่เกิดขึ้นเมื่อไร บัซซี่คนเดียวทำไม่ได้ มันต้องหลายคนที่มาช่วยกันทำ เรามาทำค่ายนี้กันเพื่อให้น้องๆเอาไปพูดต่อ สานต่อเจตนารมณ์ของค่ายของเราสู่คนอื่นต่อ”

 

5
อนาคต

 

“ยังมีอะไรที่คุณรู้สึกอยากจะทำมากขึ้น หรืออยากเปลี่ยนแปลงมันอีกมั้ย” ผมถามกับเธอตรงหน้า

“มีหลายประเด็นเลย แต่หลักๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องแรงงานและสัญชาติ ซึ่งเป็นประเด็นนานาชาติที่ควรตระหนักถึงอยู่ตอนนี้ รวมถึงประเด็นทางการเมืองที่สังคมนำมาสู่การจลาจลที่เกิดขึ้นและการสลายการชุมนุม เราจึงอยากขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองพร้อมกับขับเคลื่อนประเด็นเรื่องสัญชาติควบคู่ไปด้วย เนื่องจากเราเล็งเห็นและได้พบเจอกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นเราตอบตอนนี้ไม่ได้ขอบเขตที่แน่ชัดคืออะไร แต่ที่แน่ๆในตอนนี้คือเรื่องคติทางเพศและเรื่องสัญชาติควบคู่ไปด้วย เพราะว่ามันเป็นปัญหาที่เราตระหนักอยู่ช่วงนี้ แต่คาดว่าคงหนีไม่พ้นเรื่องการเมือง”

ก่อนที่ผมจะหยุดเครื่องอัดเสียง ผมแอบบอกบัซซี่ว่า มีผู้คนมากมายชื่นชมและจับตามองเธอในการออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ และเริ่มยึดถือเธอเป็นแบบอย่าง

ผมจึงถามคำถามสุดท้ายกับเธอว่า เธอมีอะไรอยากบอกคนเหล่านั้นมั้ย

“เราอยากบอกให้ทุกคนเป็นตัวเอง เราไม่ได้สู้เพื่อใคร เราสู้เพื่อตัวเอง เราสู้เพื่อทุกคน เราเห็นคนที่สู้ไปด้วยกันแล้วเรายิ้ม เรามองว่ามันก็เป็นเรื่องที่ดี และอยากจะฝากให้กับทุกๆ คนเลยว่า คนที่อยากจะมาทำงานตรงนี้หรือจะมาขับเคลื่อนสังคม ก็อยากจะให้สู้เพราะว่ามันเหนื่อยมาก เราต้องเจอกับปัญหามากมายที่ต้องตามแ รวมถึงปัญหาของคนด้วย ดังนั้นเราต้องรู้ที่มาของปัญหา อย่าหนีปัญหา และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณอยากทำอะไรในสิ่งที่คุณอยากทำก็ทำมันไปเลย คุณอยากขับเคลื่อนในประเด็นไหนก็ทำไปเลย ไม่จำกัดว่าจะทำแบบไหน”

เธอยิ้มก่อนจะตอบประโยคสุดท้ายที่ว่า

“ที่สำคัญคุณต้องรักตัวเอง เชื่อมันตัวเองและเคารพตัวเองค่ะ”  

Contributors

ปวรปรัชญ์ จันทร์สุภาเสน

นักศึกษาจากทุ่งรังสิต ผู้รักหมามากกว่าแมวและนอนไม่ค่อยพอ

เจนจิรา พวงคำ

ชอบนอน ชอบเด็ก อยากเป็นพี่เลี้ยงพายุ