นิทานบ้านต้นไม้: คาเฟ่เล็กๆ ในพะเยาที่รวมผู้คน-สังคม-ธรรมชาติ ไว้อย่างเรียบง่ายและอบอุ่น

ยามบ่ายของวันศุกร์ในวันที่แดดสดใส ณ ร้านแห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยร่มไม้ เราได้นัดสัมภาษณ์ผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของร้านที่ร่มรื่นและอบอุ่นแห่งนี้ดังชื่อนิทานบ้านต้นไม้ ที่มีแตง-บงกช กาญจนรัตนากร คอยดูแลอยู่ในฐานะเจ้าของร้าน

ร้านแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงร้านกาแฟหรือคาเฟ่ที่คอยเสิร์ฟเครื่องดื่มและขนมให้แก่ลูกค้าที่วนเวียนมาเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ถูกจัดขึ้นอย่างอบอุ่นในทุกฤดูกาล เรามาฟังกันวิธีคิดที่เธอทำยังไงให้ร้านแห่งนี้ไม่เพียงแต่ให้ผู้คนได้มีช่วงเวลาดีดีเพียงเท่านั้น

แต่ยังมอบความอบอุ่นใจให้กับผู้คนที่มาร่วมกิจกรรม และยังทำให้จังหวัดเล็กๆ อย่างพะเยามีชีวิตขึ้นได้จากความอบอุ่นเหล่านี้

นิทานบ้านต้นไม้

อยากให้คุณแนะนำนิทานบ้านต้นไม้ให้เรารู้จักหน่อย

เราเป็นโฮมคาเฟ่เล็กๆ ขายกาแฟ ขนม ไอศกรีมโฮมเมดที่ฝันอยากจะเป็นพื้นที่ในการสื่อสารแนวความคิด และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นที่เราสนใจ หรือมีความเชื่อมโยงกับชุมชนหรือสังคม

ชื่อร้านมีคำว่านิทาน เพราะนิทานมันเหมือนเป็นตัวแทนของเมสเสจทางความคิดที่เราอยากจะสื่อสาร และคำว่านิทานบ้านต้นไม้ ก็ตรงตัวเลย อยากจะสื่อสารเกี่ยวกับคุณค่าของสิ่งที่อยู่ใกล้ๆตัวเรา คือ ครอบครัว และธรรมชาติรอบตัว

ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็มาจากแนวคิดของเราที่เชื่อว่าทุกอย่างมีคุณค่าในตัวเอง แต่ประเด็นที่เราจะโฟกัสเป็นพิเศษก็คือ เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ และระหว่างคนกับสังคม ซึ่งสังคมที่ใกล้ตัวเราที่สุดก็คือครอบครัว เลยใช้คำว่าบ้านมาแทนคุณค่าของครอบครัว แล้วให้ต้นไม้เป็นตัวแทนของธรรมชาติ 

เราก็จะโฟกัสอยู่สองประเด็นนี้เป็นหลักในตอนเริ่มต้น แต่ทำไปทำมามันก็เริ่มแตกแขนง หลังจากนั้นก็มีการทำอีเวนต์ ทั้งข้างในและข้างนอก ก็ทำให้เราค่อยๆ ได้สื่อสารในสิ่งที่เราอยากจะทำมากขึ้น จากเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเรามากๆ ก็เริ่มขยายออกไปในสิ่งที่กว้างมากขึ้น แต่คอนเซ็ปต์หลักนั้นเหมือนเดิม ก็คืออยากจะทำให้ทุกคนเห็นว่าทุกอย่างมีคุณค่าในตัวของมันเอง 

ในความเชื่อว่าทุกอย่างมีคุณค่าในตัวของมันเอง มีมาตั้งเริ่มต้น แล้วทำไมคุณถึงค่อยๆ เริ่มต่อยอดและสร้างกิจกรรมขึ้น?

ใช่ แต่พอเวลาผ่านไปมันก็ค่อยๆ ชัดเจนมากขึ้น ในส่วนของการทำอีเว้นท์ที่สวนหลังบ้าน หลักๆเลยก็เพื่อสะท้อนคุณค่าของต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่ และให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ แล้วก็เป็นการสร้างเครือข่ายในชุมชน

ในแต่ละครั้งเราได้มีโอกาสรู้จักผู้คนมากขึ้น อย่างงานที่เราทำ ก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเกิดขึ้นที่นี่เท่านั้น มันสามารถเปลี่ยนไปที่ไหนก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือเรามีเครือข่ายที่เราสามารถรวมกลุ่มกันแล้วไปอยู่ด้วยกันตรงไหนก็ได้ นอกจากเรื่องในเชิงเศรษฐกิจที่จับต้องได้แล้ว ประเด็นหลักที่สำคัญอีกอย่างเลยก็คือการส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจในสังคม คอนเซ็ปต์รวมๆก็จะเป็นประมาณนี้ โดยงานล่าสุดก็คือกาดนัดสามฤดู จะเป็นงานที่มุ่งเน้นในเรื่องการเสริมสร้างความรักความเข้าใจในชุมชนเป็นส่วนหนึ่งในโปรเจ็ค “ดอกไม้บานที่สวนหลังบ้าน” ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรเจ็คใหญ่ทั้งหมด

ล้มลุกคลุกคลานในบ้านของเรา

ช่วยเล่าช่วงที่ก่อตั้งร้านใหม่แรกๆ ให้ฟังหน่อย

จริงๆ ตอนนั้นเราเริ่มทำผลิตภัณฑ์ก่อน แล้วร้านเนี่ยก็ตามมาทีหลัง อย่างที่บ้านทำมะม่วงกวน กล้วยตาก คือคุณยายทำอยู่แล้ว ส่วนเราเองก็จบ Food Science มาโดยตรง เลยอยากจะมาลองต่อยอดผลิตภัณฑ์ตรงนี้ดู แต่เราก็มองว่าการสื่อสารเรื่องราวมันก็สำคัญ ก็เลยอยากมีหน้าร้านไปด้วย

ตอนเรียนจบใหม่ๆ ก็ร้อนวิชา ตอนนั่นกำลังอินเกี่ยวกับ Creative Economy ซึ่งก็คือการต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ ให้มันมีมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจ ก็เลยกลับมาทดลองกับของตัวเองดู เริ่มจากพัฒนาผลิตภัณฑ์ก่อนแล้วทดลองขายดู ทำไปสักพักก็รู้สึกว่าตัวผลิตภัณฑ์มันสื่อสารเรื่องราวค่อนข้างยาก ก็คิดว่าการมีหน้าร้านจะทำให้คนรู้จักเรื่องราวคุณค่าของผลิตภัณฑ์มากขึ้น จึงเริ่มต้นทำคาเฟ่เล็กๆ ขึ้นมาภายในบ้าน

ผลิตภัณฑ์ตัวแรกก็เป็นบราวนี่กล้วยตาก แล้วก็มีพวกไอศกรีมโฮมเมดที่เราก็เคยหัดทำตอนสมัยเรียน ตอนแรกยังไม่มีกาแฟเลย จนรู้สึกว่าจริงๆ เราก็ชอบกินกาแฟทุกวันอยู่แล้ว เลยค่อยๆ เพิ่มเติมเข้ามา ทีแรกก็ใช้เครื่องทำกาแฟมือสามจนเราทำไปได้สักระยะ เริ่มมีทุนบ้าง จึงค่อยๆ ขยับขยายขึ้น เพราะว่าตอนแรกเริ่มเลยเราก็เหมือนแบบอยากจะมีพื้นที่ทดลองด้วยแหละว่าเราจะสามารถเติบโตจากสิ่งเล็กๆ ที่เรามีให้มันค่อยๆ ใหญ่ขึ้นได้มากแค่ไหน ตอนนั้นคิดว่าถ้าเราเก่งพอ อยู่ที่ไหนทำอะไรมันก็ไม่น่าจะยากเกินไปที่จะประสบความสำเร็จ จึงเริ่มจากสิ่งที่เราพอจะมี เริ่มต้นเล็กๆ ค่อยๆโตไปพร้อมกับลูกค้า มาจนถึงวันนี้ก็ถือว่ามาไกลเหมือนกัน

สังเกตว่าลูกค้าก็โตขึ้นและวนเวียนกลับมาเรื่อยๆ

ใช่ นอกจากร้านที่โตขึ้น เราก็เห็นการเติบโตของลูกค้าเช่นกัน แต่ละคนก็มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตให้เราได้เรียนรู้หลายๆอย่าง

อยากรู้ว่าการที่ร้านค่อยๆ โต โมเดลนี้ยังใช้กับปัจจุบันได้มั้ย

น่าจะใช้ได้ตลอดนะ ยังเชื่อว่าการที่เราค่อยๆ เติบโตจากสิ่งที่เรามี จะทำให้สิ่งที่เราทำอยู่มีความยั่งยืนมากในแง่ของธุรกิจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ต้องรู้จักการปรับตัวด้วย อย่างตัวพี่เอง ในตอนแรกก็ไม่ได้อยากโฟกัสในเรื่องกาแฟเท่าไหร่ คืออยากจะเน้นเฉพาะสิ่งที่เรามีเท่านั้น แต่วันหนึ่งพอเราเริ่มมีทุนขึ้นมาบ้าง ก็ได้ลองเอาผลิตภัณฑ์กาแฟ ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ในปัจจุบันเข้ามาเสริม ซึ่งกลายเป็นส่วนช่วยให้ธุรกิจของเราไปได้ดีมากขึ้น และช่วยดึงดูดลูกค้าให้มาฟังสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสาร ตอนแรกอาจจะเน้นคอนเซปแบบแน่นๆ แต่ในชีวิตจริงของการทำธุรกิจ พี่ก็ได้เรียนรู้ในเรื่องของความยืดหยุ่น บางทีเราอาจจะต้องยอมละทิ้งบางอย่างไปบ้าง เพื่อให้สิ่งที่เรากำลังทำอยู่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ในภาพรวม

ถ้าพูดถึงคอนเซ็ปต์ของร้าน สิ่งที่คุณทำคือร้านกาแฟที่แปลกใหม่และคนในหัวเมืองใหญ่จะเข้าใจ แต่จังหวัดเล็กๆ อย่างพะเยาไม่ใช่จังหวัดที่ร้านกาแฟเป็นที่นิยม มีช่วงเวลาที่ลูกค้าไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณทำมั้ย และผ่านมันมาได้ยังไง

มีแน่นอน จนถึงทุกวันนี้เราก็ไม่รู้ว่าคนเข้าใจเรามากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นเมื่อก่อนตอนที่เรายังไม่โตขนาดนี้ ก็มีแอบเฟลๆ บ้าง เกิดความรู้สึกว่าทำไปเพื่ออะไร ทำไปแล้ว คนก็ไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่เราอยากจะสื่อสารเท่าไหร่ แต่สุดท้ายแล้ว ทุกอย่างก็ต้องกลับมาที่ตัวเราเอง ถ้าเรารู้ตัวว่ากำลังตั้งใจทำอะไรอยู่ มันก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับวันนี้ คนอื่นไม่เข้าใจในแมสเสจวันนี้ พรุ่งนี้เค้าอาจจะเข้าใจก็ได้ ทุกอย่างต่างต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้นก็ให้โฟกัสกับตรงนี้ดีกว่า ให้กลับมาคุยกับตัวเองบ่อยๆ

 

กิจกรรมกระชับมิตร

กิจกรรมที่เริ่มจัดในร้านครั้งแรกคืออะไร?

ตอนแรกเลย คือกาดเช้าข้าวหนม เป็นตลาดอาหารเช้าในช่วงหน้าหนาว ทำวันเสาร์-อาทิตย์ ก็ทำกับเพื่อนๆ ชวนกันมาทำตลาดเล็กๆ กัน ทำอยู่แค่เดือนเดียว (หัวเราะ) แล้วก็เหมือนแบบต่างคนก็ไม่ว่าง ก็เลยไม่ได้ทำต่อ แล้วหลังจากนั้นก็มีงานอื่นๆ ตามมาเรื่อยๆ

แต่ช่วงนั้นยังไม่ได้ทำเป็นจริงเป็นจัง เพิ่งมาเริ่มชัดเจนกับคอนเซ็ปต์ที่อยากจะทำจริงๆ เมื่อประมานสองปีที่แล้ว ตอนที่พี่มิลค์ (เพ็ญพิศุทธิ์ พวงสุวรรณ-มิลค์ The Voice) กลับมาอยู่บ้านที่พะเยา พี่มิลค์จะถนัดในเรื่องการจัดกิจกรรมการแสดง ด้วยความที่บ้านเราอยู่ข้างกัน เลยชวนมาจัดกิจกรรมด้วยกันที่ร้าน แล้วหลังจากนั้นคอนเซ็ปต์เราก็เหมือนค่อยๆชัดเจนมากขึ้น ว่าเราอยากจะจัดกิจกรรมต่างๆขึ้นเพื่อที่จะสะท้อนคุณค่าบางอย่างในสังคม งานแรกที่เราทำด้วยกัน ก็คือทำมินิคอนเสิร์ตการกุศล ชื่อว่า Down To Earth เป็นมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินในท้องถิ่น ที่เราตั้งใจทำขึ้นเพื่อเอาเงินที่ได้จากการจัดงานส่วนนี้ไป ต่อยอดเพื่อทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมต่อไป หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยการจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปสอนทำนู่นนี่นั่น และตลาดนัดรูปแบบต่างๆ รวมถึงกาดนัดสามฤดูที่อยู่ใน โปรเจคต์ดอกไม้บานที่สวนหลังบ้าน

โปรเจคต์นี้ได้คอนเซ็ปต์มาจากพื้นที่สวนของร้านเลยใช่มั้ย

ใช่ค่ะ เป็นอีเวนต์เล็กๆ ที่ทำขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขภายใต้ความหลากหลายในสังคม ไม่ว่าจะด้วยเพศ เชื้อชาติ วัย ศาสนาต่างๆ 

เราเชื่อว่าการมีพื้นที่เล็กๆ ที่ส่งเสริมให้ทุกคนสามารถแสดงความเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แต่ละคนสามารถมองเห็นและเชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเองมากขึ้น และเมื่อเรามองเห็นคุณค่าของตัวเอง เราก็จะมองเห็นคุณค่าของคนอื่นด้วย เราเลยอยากสร้างพื้นที่ที่ทุกคนสามารถมาเบ่งบานร่วมกัน เพราะฉะนั้นงานที่เราตั้งใจจัดขึ้นจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะวัยใดวัยหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น อยากจะทำให้ทุกคนสามารถมาร่วมแชร์สิ่งดีๆ ที่มีให้แก่กันและกัน เลยเป็นที่มาของการทำกาดทั้งสามฤดูที่ผ่านมาล่าสุด

สังเกตได้เลยว่ากิจกรรมของคุณทำให้พะเยามีชีวิตชีวาขึ้น คุณคงได้รู้จักคนใหม่ๆ ที่ทำอะไรน่าสนใจแต่ไม่มีพื้นที่ให้เขาแสดงออกใช่มั้ย

แม้กระทั่งตัวเราเอง ถ้าไม่ได้มาทำตรงนี้ก็คงไม่รู้เลยนะว่าพะเยามีอย่างนี้ด้วยเหรอ ทำให้เราได้เห็นว่าแต่ละคนก็มีศักยภาพมากมาย น่าเสียดายที่ไม่มีพื้นที่ในการแสดงออกตรงนี้เท่าไหร่ มันคงจะเป็นเรื่องที่ดีนะถ้าเราสามารถสร้างพื้นที่ให้คนได้มองเห็นคุณค่าตรงนี้ร่วมกัน

ตอนที่จัดกิจกรรมรู้สึกยังไงบ้าง

อืม ก็เหนื่อยนะ (หัวเราะ) แต่ก็มีความสุขทุกครั้ง หัวใจพองโต เพราะเรารู้สึกว่าได้ทำอะไรที่มันมีความหมาย พอทำแล้วก็อยากทำอีก อยากทำต่อไปเรื่อยๆ

ผลลัพธ์น่าพอใจมั้ย

ดีนะ ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเลย บางทีเราอาจจะเคยรู้สึกว่าเป็นคนตัวเล็กๆ จะทำได้หรือเปล่านะ พอเราทำได้มันก็สร้างความมั่นใจให้เราแล้วก็คนที่อยู่รอบข้าง ทำให้คนอื่นเห็นว่าทุกคนก็มีศักยภาพในตัวเองนะ ทำไมเราต้องอยากที่จะไปอยู่ในที่ๆคนให้คำนิยาม น่าอยู่ ในเมื่อเราสามารถเป็นคนที่สร้างมันได้

สังเกตว่าคนที่มานิทานบ้านต้นไม้ ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ผู้ปกครองพามาทำกิจกรรม คุณคิดว่ากิจกรรมของร้านที่พยายามเปิดพื้นที่แสดงออกหรือให้เด็กได้มีพื้นที่เรียนรู้ มันมีส่วนช่วยในการทำให้เขาเติบโตไปได้ดีกว่าเดิมมั้ย

นึกถึงตอนเราเป็นเด็ก เติบโตมากับการเล่นอะไรที่มันได้ลงมือทำ ได้อยู่กับธรรมชาติ แต่พอโตขึ้นมาเรารู้สึกว่าบางอย่างที่ดีตรงนี้มันหายไป เราก็เลยอยากจะนำมันกลับมา แต่จริงๆ แล้ว เราก็ไม่ได้โฟกัสเฉพาะเด็ก อยากจะสร้างโอกาสให้ทุกคน ได้มีพื้นที่ในการแสดงศักยภาพเชิงบวกที่ตัวเองมีอย่างเต็มที่ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพราะนี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ว่าชอบไม่ชอบ ถนัดไม่ถนัดอะไร ถ้าเราไม่ได้มาสัมผัสกับสิ่งนี้เราก็อาจจะไม่รู้ เด็กบางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองชอบวาดภาพ แต่พอได้มาเวิร์กชอปก็รู้

เวิร์กช็อปนี้ก็จะทำให้เด็กได้มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้นมากกว่าแค่ไปโรงเรียน

เราก็ยังเชื่อว่าการได้เห็นอะไรกว้างๆมันดีกว่าแคบๆแน่นอน นึกถึงตัวเองเหมือนกันว่าตอนเรียน เส้นทางในการเรียนรู้มันค่อนข้างจำกัด ถ้าคนเราได้มีตัวเลือกที่หลายหลาย ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีนะ

ประเด็นนี้น่าสนใจเลยนะ ด้วยพื้นฐานที่ว่าพะเยาไม่ได้มีอะไรหลากหลายให้เกิดการเรียนรู้

ถ้าเราสามารถสร้างสรรค์อะไรที่มันหลากหลายมากขึ้นได้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีเลย แต่ ณ ตอนนี้ก็ยังถือว่าตัวเลือกในการใช้ชีวิตของเรายังไม่ได้หลากหลายมากนะ ในอนาคตก็เลยอยากพัฒนาให้มีกิจกรรมที่มากกว่านี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ต้องไม่ลืมความเป็นตัวตน ความเรียบง่าย เข้าถึงได้ น่ารัก อบอุ่น อันนี้ก็คือความเป็นพะเยา และเราก็ไม่อยากจะให้รู้สึกว่าเราจะต้องเจริญทางด้านวัตถุเท่านั้น แต่เป็นทางด้านของภายในด้วย

ถ้ามองในแง่ของตลาดที่ผู้ปกครองสามารถมากับลูกๆ ได้ ครอบครัวได้มีกิจกรรมร่วมกัน มันยังมีอยู่น้อยมาก การมีพื้นที่ตรงนี้คงเป็นอะไรที่ดีสำหรับการเติบโตของเด็กๆ ใช่มั้ย

การมีพื้นที่ที่ทุกวัยในครอบครัวสามารถมาแชร์โมเม้นท์ร่วมกันน่าจะเป็นส่วนส่งเสริมให้ทั้งเด็กๆ และผู้ใหญ่ได้เติบโตขึ้นภายใต้ความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นปัจจัยหลักในการจัดงานของเราเลยก็คือ หนึ่ง-ต้องมีความหลากหลาย สอง-จะทำยังไงให้ความหลากหลายเหล่านี้อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ก็เลยพยายามจัดให้มีกิจกรรมที่สามารถตอบโจทย์คนในหลากหลายช่วงวัย หลากหลายประเภท และทำให้ทุกอย่างมีความกลมกลืนเข้าด้วยกัน ด้วยการสร้างบรรยากาศที่ดี

ตอนแรกมันเป็นงานของดอกไม้บานที่สวนหลังบ้าน แล้วก็ต่อยอดไปเป็นล้าลาลอย คอฟฟี่แอนด์ทีเลิฟเว่อ อยากรู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นจากอะไร เป็นการขยายคอนเซ็ปต์รึเปล่า?

ใช่ค่ะ คอนเซ็ปต์ที่เป็นแกนหลักเลยก็คือ เรื่องเดียวกัน คือการสะท้อนคุณค่าและชื่นชมสิ่งที่มีอยู่ 

งานล้าลาลอย เป็นงานลอยกระทง งานนี้ทำให้ได้รู้ว่าที่จริงแล้วบ้านเรานั้นมีอะไรมากมายหลายสิ่งที่น่าสนใจ ที่ควรจะได้รับการชื่นชม และส่งต่อคุณค่า แต่ที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ค่อยมีพื้นที่ในการสะท้อนคุณค่าตรงนี้เท่าไหร่ คนรุ่นใหม่ไม่รู้ว่าคนรุ่นก่อนมีดียังไง คนรุ่นก่อนก็ไม่รู้ว่าคนรุ่นใหม่มีดีตรงไหน เราไม่ได้รู้จักกันอย่างแท้จริง เพราะเราไม่ได้มีพื้นที่ในการปฏิสัมพันธ์กันมากขนาดนั้น มันก็เลยเกิดเป็นงานนี้ขึ้นมา มีตลาดนัด มีเวทีในการแสดงความสามารถ ที่ทำขึ้นในรูปแบบย้อนยุค จุดนั้นวงดนตรีบาร์ขาว (สถานบันเทิงชื่อดังของจังหวัดพะเยาในช่วงเวลา 50-60 ปีที่แล้ว-ผู้เขียน) ซึ่งเป็นวงรุ่นพ่อ ได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง หลังจากห่างหายมาประมาณ 50 ปี ได้เห็นสมาชิกวงรุ่นเดอะถือไม้เท้าไปซ้อมดนตรีด้วยกัน รู้สึกได้เลยว่าวันนั้นเป็นวันที่พวกเขากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แล้วก็ยังมีกิจกรรมลีลาศย้อนยุค ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีกลุ่มนี้อยู่ ทุกคนตื่นเต้นกันมากเลยนะ ไปตัดชุดสวยมาใหม่ แม้วันนั้นจะมีฝนตก แต่ก็แสดงเต็มที่กันมาก คนยุคเราก็ได้สนุกสนานไปด้วย

หลายคอนเซ็ปต์มันสามารถเชื่อมคนยุคเก่ากับยุคใหม่ได้ดีเลย

นั่นคือสิ่งที่เราตั้งใจจะทำ ทำให้สังคมที่มีความหลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข ซึ่งสำหรับเราแล้ว คิดว่ามันต้องมาจากการที่เราสามารถมองเห็นคุณค่าของกันและกันได้อย่างแท้จริง ชื่นชมกันและกันด้วยใจจริง ส่วนหนึ่งเพราะมีพื้นที่ให้คนได้มามองเห็นกันและกัน ให้คนได้มา “ให้ในสิ่งที่มี รับในสิ่งที่ขาด”  ตรงนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ทำให้คนเราสามารถโอบกอดความแตกต่างของกันและกันได้ 

 

ณ เวลานี้

ให้มองตอนนี้กับตอนเริ่มต้นร้าน มันมีความแตกต่างมากน้อยขนาดไหน

ร้านเกือบ 7 ปีแล้วนะ (มองไปยังร้าน) มันก็แข็งแรงขึ้น ชัดเจนขึ้น ในแง่ของคอนเซ็ปต์ ทุกอย่างค่อยๆ ตกผลึก เราก็น่าจะสื่อสารได้ดีมากขึ้น ทางด้านวัตถุก็เติบโตขึ้น ร้านขยายขึ้น สินค้าก็มีมากขึ้น 

ในฐานะที่เป็นคนสร้างคอมมิวนิตี้นี้ขึ้นมา คุณคิดยังไงกับการที่ร้านได้เป็นพื้นที่ได้ช่วยให้คนพะเยาได้มีพื้นที่ผ่อนคลายและแสดงผลงานสร้างสรรค์

จริงๆ แล้วต้องบอกว่าเป็นอะไรที่เราทุกคนร่วมกันสร้างนะ คือตัวเราเองก็พยายามผลักดันมาตั้งนานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จขนาดนั้น จนกระทั่งมีหลายๆคนเข้ามาเติมเต็ม คอยสนับสนุน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำให้เรารู้สึกดีมากๆ

คิดว่านิทานบ้านต้นไม้จะมาถึงจุดนี้มั้ย

ไม่ได้คิดเลย ไม่ได้คิดถึงเป้าหมายขนาดนั้น ว่าจะต้องมาไกลแค่ไหน รู้แค่ว่าอยากทำอะไรแบบนี้นะ อยากสร้างพื้นที่ สร้างกิจกรรมประมาณนี้นะ แต่มั่นใจว่าสิ่งที่ทำอยู่จะทำให้ตัวเองรู้สึกดีกับชีวิต 

คุณมีแผนอะไรที่อยากจะทำต่อในอนาคตมั้ย

จริงๆ ก็อยากทำหลายอย่างนะ ใกล้ที่สุดเลยก็คงเป็นเกี่ยวกับด้านวัฒนธรรม และอยากจะพัฒนาย่านนี้ให้เป็น Creative District แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มตรงไหน

ตอนนี้คุณอายุ 32 ปี ซึ่งเริ่มทำร้านนี้ตอน 25 ในช่วงอายุนั้นควรจะไปทำงานในเมืองใหญ่เพื่อพัฒนาตัวเองไปให้ถึงที่สุด อยากรู้ว่าสุดท้ายอะไรทำให้คุณตัดสินใจทำร้านนี้

อย่างที่บอก เรามีคำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้วว่าอยู่ตรงไหนที่เราน่าจะมีโอกาสพัฒนาตัวเองได้มากสุด เป็นคนนึงที่ชอบถามตัวเองอยู่บ่อยๆว่า ทำอะไรแล้วรู้สึกมีความหมายกับชีวิต ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความเชื่อของเราด้วยที่เราคิดว่า ทุกอย่างมีคุณค่าในตัวของมันเอง เลยมีความรู้สึกว่าอยู่ที่ไหนไม่ได้แตกต่างกันมากเท่าไหร่ ในแง่ของการสร้างโอกาสในการทำงานหรือการสร้างความสุขให้แก่ชีวิต เพราะถ้าเราสามารถมองเห็นคุณค่า ความสวยงามในสิ่งต่างๆ เราก็สามารถมีความสุขได้ในทุกๆที่ สิ่งสำคัญคือ อยู่ตรงไหนแล้วทำให้เราได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ และมีความหมายที่สุด เรามีความเชื่ออย่างงั้น ก็เลยมาทดลองกับตัวเองดู 

ซึ่งมันก็ประสบความสำเร็จมากๆ

หลายอย่างก็ค่อนข้างเป็นไปตามสมมติฐานนะ แต่ก็อาจจะไม่ได้ร้อยเปอร์เซนต์ ระหว่างทางมันก็มีอุปสรรคมากมายอยู่เหมือนกัน แต่ในส่วนของเรา ก็รู้สึกว่าการอยู่ที่นี่ ทำให้เราได้มีโอกาสในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆตามความเชื่อ คือถ้าไปอยู่เมืองใหญ่ๆเราก็อาจจะไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหน บางทีนะ โอกาสก็เป็นสิ่งสำคัญมากๆ คนเราอาจมีโอกาสไม่เท่ากัน เราเลยคิดว่า ถ้าเราจะให้อะไรกับสังคมสักอย่าง ก็คงเป็นการให้โอกาส

Contributors

ปวรปรัชญ์ จันทร์สุภาเสน

นักศึกษาจากทุ่งรังสิต ผู้รักหมามากกว่าแมวและนอนไม่ค่อยพอ