เบื้องหลังความสำเร็จที่มากกว่าความโชคดีของ Brewginning ร้านกาแฟใจกลางช้างม่อยอายุ 1 ปี

Brewginning คือร้านกาแฟที่ซ่อนอยู่ในย่านช้างม่อย หนึ่งในย่านการค้าที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่

สองเจ้าของร้านอย่างโชค-พีรณัฐ กาบเปง และอาร์ท-ณัฐดนัย สนธิเณร ใช้เวลาเกือบสิบปีในการเริ่มก่อร่างความฝันจนลงมือทำตามห้วงความคิดนั้น ลงเล่าเรียนวิชาการทำกาแฟจากเซียนในพื้นที่ จนบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปฝึกวิชาไกลถึงออสเตรเลีย ใช้เงินเก็บซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อรอเวลาเปิดร้านอย่างที่ฝันไว้

แน่นอน, เรื่องทั้งหมดมันไม่ง่ายอย่างตามสูตรสำเร็จที่เราเห็นได้ในหลายธุรกิจ

หากเอาตำราในการทำธุรกิจมากางและตัดสิน Brewginning การยืนระยะกิจการได้ 1 ปี ดูไม่ใช่ข้อพิสูจน์ความสำเร็จหรือความยั่งยืนของธุรกิจ แต่ถ้าว่าด้วยเรื่องการทำตามความฝันแบบปราศจากองค์ความรู้เรื่องการทำธุรกิจ โชคและอาร์ทประสานเสียงบอกฉันเสมอในการพูดคุยแทบทุกครั้งทั้งระหว่างอัดเสียงหรือหยุดเทป ถึงความสำเร็จของ Brewginning ว่า

“เราว่าเราโชคดี”

นอกจากความโชคดีที่เขาทั้งสองมักกล่าวถึงเสมอๆ ฉันกลับมองว่ามันมีทั้งเรื่องของความพยายาม การอดทนรอ การเผชิญหน้ากับปัญหาอย่างไม่ลดละ และการไว้เนื้อเชื่อใจของเพื่อนที่ตัดสินใจลงหลักปักฐานทำสิ่งที่เชื่อมั่นร่วมกัน

บทสัมภาษณ์นี้อาจไม่ได้ข้นคลั่กไปด้วยองค์ความรู้เรื่องกาแฟ หรือชุดเคล็ดลับเรื่องการทำธุรกิจ

แต่ถ้าให้ฉันสรุปแก่นสำคัญของบทสัมภาษณ์ตั้งแต่ตอนนี้ มันเป็นเรื่องของการทำตามความฝันอย่างถึงที่สุดร่วมกับเพื่อนที่พร้อมเดินโดยสารความฝันนี้ไปด้วยกัน ที่ทำให้ Brewginning มีวันนี้

หยิบแก้วกาแฟใกล้มือ แล้วมานั่งฟังเรื่องของโชคกับอาร์ทกันเถอะ

1

คั่วอ่อน: ชีวิตอยู่ได้ด้วยกาแฟ

ลาเต้เย็นที่ฉันสั่งถูกเสิร์ฟลงโต๊ะ จิบแรกที่ฉันสัมผัสกาแฟที่ชายตรงหน้าบรรจงชงให้ฉัน มันเป็นกาแฟรสชาติดีที่เขาชงด้วยวิธีการที่แม่นยำอย่างที่บาริสต้าคนหนึ่งพึงจะทำ พร้อมกับวัตถุดิบที่ฉันมั่นใจว่าเขาเลือกมันมาอย่างดี

ถ้าคนที่คิดจะเปิดร้านกาแฟ ไม่ดื่มกาแฟ มันก็คงจะผิดถนัดตา

โชคและอาร์ทก็เช่นกัน เพราะทั้งสองต่างมีกาแฟเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ประกบกันอย่างแนบสนิทพอดี

เหมือนกับประโยคที่ใครสักคนพูดไว้ว่า “Start your life with Coffee”

“ตั้งแต่เรารู้จักกาแฟ เรารู้จักเพื่อน รู้จักสังคมมากขึ้น ทำให้เราพูดเก่งมากขึ้น สังเกตมากขึ้น พอเราสนใจอยากลองทำกาแฟ เวลาเราไปที่ร้านกาแฟมันไม่ใช่แค่จะไปชิม เราอยากลอง อยากรู้วิธีการทำให้มากขึ้น” อาร์ทเริ่มต้นเล่าถึงอิทธิพลของกาแฟในชีวิตของเรา

ส่วนของโชคนั้นอาจคล้ายๆ กับอาร์ท แต่เพราะชีวิตในภาคกลางวันมีร้านกาแฟเป็นจุดนัดพบมิตรภาพ และมันเป็นช่วงเวลาที่ดีที่ควรอยู่ในชีวิตของเขา

“เราชอบบรรยากาศในร้านกาแฟ มันเหมือนร้านเหล้าที่เราได้เจอเพื่อน ได้พูดคุย ได้ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกัน แต่เปลี่ยนจากกลางคืนเป็นกลางวัน ส่วนเรื่องกาแฟจริงๆ อาจจะคล้ายๆ กับอาร์ท แต่เพราะเราชอบดื่มกาแฟ เราเลยอยากทำกาแฟ แล้วการที่เราจะเก่งได้ ก็ต้องเจอคนเก่งๆ” โชคขยายความ

ถึงตอนนี้เส้นทางชีวิตหลังเรียนจบมหาวิทยาลัยของเพื่อนสองคนที่โตมาด้วยกันแต่เด็กอาจเดินทางเป็นคู่ขนาน อาร์ททำกิจการค้าขายร่วมกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ส่วนโชคตัดสินใจสมัครเป็นพนักงานที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งเพื่อหวังเรียนรู้วิชาการชงกาแฟ

“ซึ่งทั้งหมดเริ่มจากศูนย์เลยนะ” โชคพูดกับฉันอย่างจริงจัง

สิ่งที่โชคคิดไว้ก่อนจะเริ่มเข้าสู่การเป็นพนักงานร้านกาแฟคือ บาริสต้าจะชงกาแฟหล่อๆ บิด ชง เสิร์ฟ แค่นั้น แต่ความจริงในการจะเป็นบาริสต้าที่ดีและใช้การได้สักคน มันมีรายละเอียดมากกว่านั้น

“มันมีรายละเอียดยิบย่อยเยอะมากกว่าการเก๊กหล่อ ทำกาแฟอยู่หน้าเครื่องเท่ๆ อย่างเดียว มันต้องกวาดร้าน ล้างห้องน้ำ เช็คของ เราทำทุกอย่างจนเข้าใจเนื้องานทั้งหน้าและหลังร้าน”

หลายเดือนผ่านไป โชคมั่นใจในเส้นทางชีวิตของตนว่าคงจะเดินอยู่บนเส้นทางสายกาแฟ โชคจึงเริ่มนำความฝันไปขายอาร์ทและหุ้นส่วนอีกหนึ่งคนว่า อยากเปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเอง

“ทำไมคุณถึงตัดสินใจเลือกทำร้านกาแฟกับโชค” ฉันถามอาร์ท

“จริงๆ เราเริ่มทำร้านกับโชคเพราะเราทำด้วยความสนุกนะ เราตั้งใจอยากทำมันด้วยความสนุก ไม่อยากทำให้มันแย่ เราทำด้วยแพสชั่นของเราที่คิดไว้แล้วว่า ยังไงเราก็ต้องเปิดร้านให้ได้” อาร์ทตอบฉัน

2

คั่วกลาง: สองเขตแดน ความฝันเดียว

โชคบอกฉันเองว่า เขาโชคดีสมชื่อเพราะมีผู้คนดีๆ มากมายคอยให้การสนับสนุนเขา ตั้งแต่เพื่อนคู่ใจอย่างอาร์ทและหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งที่เชื่อมั่นในความฝัน ทั้งที่ยังไมเ่ห็นภาพการเติบโต หรือการปูทางสู่เส้นทางแห่งความฝันที่พี่สาวจัดการเรื่องการดำเนินการทุกอย่างที่ประเทศออสเตรเลียให้ แถมยังได้เพื่อนคนไทยที่ดีมากๆ อีกด้วย แต่อุปสรรคอย่างแรกที่เขาบอกกับฉันว่า มันคอยฉุดรั้งให้เขาไปได้ไม่ไกลกว่าที่ควรจะเป็นคือ ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ

“ทุกวันนี้เรายังเสียใจในเรื่องภาษาอยู่เลย จริงๆ เราพูดได้ในระดับหนึ่ง แต่ทักษะเราไม่เพียงพอสำหรับร้านกาแฟดีๆ เพราะร้านกาแฟที่ออสเตรเลีย เราในฐานะบาริสต้าต้องสื่อสารและคุยกับลูกค้าให้ได้ทุกเรื่อง ทุกเรื่องจริงๆ ตอนนั้นเรามองร้านกาแฟที่อยากทำไว้หลายร้านมากๆ ที่เจ้าของลงมาชงกาแฟเอง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำเพราะเรื่องภาษาล้วนๆ เลย เราไปสัมภาษณ์ร้านกาแฟ 10 ร้าน บางร้านชมว่าเราทำกาแฟดีมาก แต่ก็ไม่ได้งานเพราะเราสื่อสารไม่ได้” โชคขยายความ

สุดท้ายโชคก็ได้งานที่ร้านกาแฟที่มีเจ้าของเป็นชาวจีน ซึ่งมีพนักงานคนไทยอยู่ในร้านด้วย การทำงานในร้านกาแฟ เป็นช่วงเวลาสองปีที่เหมือนจะเป็นดั่งฝันที่ทำงาน เก็บเงิน กลับมาเปิดร้านกาแฟที่เมืองไทยตามความฝันที่ได้ยึดมั่นกับเพื่อนวัยเด็กเอาไว้

ส่วนอาร์ทเองที่ทำธุรกิจอยู่ที่เมืองไทยก็ยังติดต่อกับโชคอยู่ตลอด และเพราะเป็นธุรกิจที่ลงมือและลงแรงร่วมกัน อาร์ทจึงใช้เงินเก็บซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับร้านกาแฟเตรียมไว้ พร้อมๆ กับการเรียนรู้วิธีการทำร้านกาแฟทั้งหมดด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นจากยูทูป อินเทอร์เน็ต หรือจากโชคที่สอนอาร์ทผ่านวิดีโอคอลจากแดนไกล

“ถ้าย้อนกลับไปสัก 10 ปีที่แล้ว การเรียนรู้เรื่องการทำกาแฟอาจจะยาก แต่ตอนนี้มันไม่ได้ซับซ้อนเหมือนเมื่อก่อน เพราะก่อนหน้านี้คนไม่ได้ศึกษาเยอะ มีร้านจำหน่ายวัตถุดิบทำกาแฟเยอะขึ้น มีคนเผยแพร่ความรู้และเคล็ดลับเยอะขึ้นจนใช้เวลาแทบจะอาทิตย์เดียวด้วยซ้ำในการเรียนทำกาแฟ” อาร์ทขยายความ

แต่ในเวลาคู่ขนานที่ต่างคนต่างพูดคุยกันถึงความฝันผ่านจอสี่เหลี่ยม โชคกลับรับรู้ความจริงอย่างหนึ่งว่า การทำงานที่ร้านกาแฟร้านเดิม จะทำให้เป้าหมายในการเก็บเงินทุนใช้เวลานานเกินว่าที่คิด จนโชคต้องยอมเปลี่ยนงานไปทำงานในโกดังส่งของร่วมกับเพื่อนรุ่นพี่ของเขา

“มันเหมือนฝันสลายเลยนะ ที่ฝันจะไม่เป็นจริง” โชคบอกฉัน

“ตอนนั้นรู้สึกแย่มาก เหมือนเราต้องทิ้งความฝัน เราก็เข้าใจชีวิตมากขึ้นนะว่าเราต้องอยู่กับความจริง แต่เราจะทำยังไงที่จะทำให้ความจริงของเราไปถึงความฝันได้ เราก็แค่ก้มหน้าก้มตำทำในสิ่งที่เราต้องทำ”

3

คั่วเข้ม: เริ่มต้นมันไม่ง่าย

สองปีต่อมา โชคกลับมาเมืองไทยพร้อมทุนรอนอีกจำหนวนหนึ่ง

และนั่นเหมือนเป็นไฟต์บังคับแก่อาร์ทและหุ้นส่วนว่า ถึงเวลาต้องเปิดร้านกาแฟแล้ว

แผนการแรกสุดหลังจากโชคกลับจากเมืองไทย Brewginning สามหุ้นส่วนวางแผนจะเปิดร้านที่กรุงเทพฯ แต่เพราะความเปลี่ยนผันบางอย่างที่วัดใจในมิตรภาพของหุ้นส่วนด้วยกัน โชค อาร์ท และหุ้นส่วนอีกหนึ่งคนจึงตกลงกันว่า จะกลับเอาความฝันก้อนนี้กลับบ้านเกิดของพวกเขา นั่นคือ จังหวัดเชียงใหม่

“ตอนนั้นลงเงินเก็บของหุ้นส่วนทุกคนไปจนเหลือแค่ครึ่งเดียว มันเป็นช่วงตัดสินใจเลยว่าใครจะทำต่อ แต่ยังไงมันก็ต้องมีคำตอบ ถึงแม้ลูกค้ากรุงเทพฯ จะเยอะ และพฤติกรรมผู้บริโภคของคนเชียงใหม่จะเดายาก แต่บ้านยังไงก็เป็นบ้านเรา เราเลยกลับเชียงใหม่” อาร์ทเล่าถึงการตัดสินใจร่วมกันของเขาและเพื่อนๆ ที่จะกลับบ้าน

เมื่อตัดสินใจกลับมาเปิดร้านกาแฟที่บ้านของตัวเอง สิ่งแรกที่อาร์ท โชค และหุ้นส่วนคิดร่วมกันคือ อยากให้ร้านกาแฟของเขาเป็นร้านที่ใครก็ตามสามารถกลับมาดื่มได้ทุกวัน และอยากให้ชาวต่างชาติมาใช้บริการ โดยมีโจทย์เพิ่มขึ้นมาอีกคือ ต้องเป็นย่านที่นักท่องเที่ยวสัญจรไปมา และเป็นย่านที่มีตึกเก่า

ทำไมต้องเป็นตึกเก่า?

“เราชอบความจริง ความเก่าที่มีเอกลักษณ์ของมัน เราเลยอยากเก็บมันเอาไว้ ยิ่งคนชอบเสพเรื่องราว พลังของตึกนี้มันเล่าแทนตัวตนของเราหมดแล้ว” อาร์ทตอบคำถามของฉัน

“ผมมองว่ามันมีรายละเอียดที่ลึกกว่าความเป็นตึกเก่านะ มันมีเรื่องเล่าเวลาลูกค้ามาถามว่า ตึกนี้อายุกี่ปี ใครเป็นเจ้าของ ทำไมถึงเลือกตึกนี้มาทำร้าน มันยิ่งเหมือนเป็นเรื่องชวนคุยระหว่างลูกค้ากับเรา” โชคเสริม

ด้วยงบประมาณในการทำร้านที่น้อยลงเรื่อยๆ หุ้นส่วนแทบจะต้องลงมารีโนเวทตึกร่วมกับสล่า (ช่าง) ที่หามาด้วยค่าจ้างราคาประหยัด และถึงแม้ว่าทุกอย่างจะถูกเตรียมการจนพร้อมสำหรับเปิดร้านกาแฟแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์หรือสถานที่ สุดท้ายแล้ว เรื่องการคำนวณต้นทุน-กำไร หรือวางแผนทางธุรกิจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ Brewginning ต้องทำอย่างไม่มีข้อยกเว้น เพียงแต่มันไม่ได้ลึกหรือละเอียดอย่างธุรกิจอื่นๆ

“จริงๆ เราวางแผนกันไว้ว่าจะทำสักสองปีน่าจะรู้เรื่อง เพราะแค่ปีเดียวมันยังบอกอะไรไม่ได้มาก เจอไม่ครบทุกรสเลย แถมช่วง 6 เดือนแรกเราก็เจอโควิด มันเซอร์ไพรส์มาก แต่เราก็ปรับตัวด้วยการขายแบบกลับบ้าน มันก็ไม่ได้ส่งผลกับเรามาก ตอนนั้นคิดแค่ว่าวันเดียวขายได้แค่ 60 แก้วก็ดีแล้ว” อาร์ทขยายความถึงการวางแผนธุรกิจของ Brewginning

4

Decaf: โชคช่วย

ระหว่างทางที่สามหุ้นส่วนแห่ง Brewginning กำลังลงแรงสร้างร้านกันอย่างแข็งขัน โชคสังเกตเห็นว่ามีใครบางคนกำลังคอยสังเกตพวกเขาอยู่

“ช่วงก่อนเราเปิดร้าน พี่เอ็กซ์ (ศิรัส อัศวชัยพงษ์: เจ้าของร้าน Stand Behind The Yellow Line และโครงการโกดังราชวงศ์) เขาอยู่แถวช้างม่อยพอดี แล้วเขาก็เห็นเรากำลังปรับปรุงตึกอยู่ทุกวัน ดูทรงแล้วเหมือนจะมีอะไรบางอย่าง พี่เอ็กซ์เลยอาสามาเปิดแผ่นเสียงไวนิลให้ร้านเราในวันเปิดร้านวันแรก คือเราไม่เคยอยู่ในวงการแผ่นเสียงด้วยนะ พี่เอ็กซ์ก็พาเพื่อนๆ แก๊งแผ่นเสียงมาช่วยเปิด จนเป็นอีเวนต์ที่เขามาช่วยจัดแบบหลวมๆ ในวันเปิดร้านวันแรก แล้วร้านเราก็กลายเป็นกระแสเลย คนมาเยอะมาก” โชคเล่าถึงความโชคดีที่ได้เจอพี่เอ็กซ์

“แล้วคิดว่าวันนั้นคนมาที่ร้านเยอะเพราะอะไร” ฉันถาม

“ไม่รู้” โชคตอบทันทีจนเราระเบิดหัวเราะออกมาพร้อมกัน

แต่จริงๆ โชคกับอาร์ทวิเคราะห์ให้ฉันฟังว่า Brewginning สร้างภาพจำด้วยสไตล์การตกแต่งร้านแบบจีนๆ ที่โดดเด่นด้วยสีแดง ไม่เหมือนร้านกาแฟอื่นๆ ที่มาโทนมินิมอล ไม่ว่าใครผ่านไปมาต้องสังเกตถึงสีที่สะดุดตาแถมร้านยังเปิดโล่งให้คนเห็นอยู่ตลอดว่าด้านในอาคารเก่านี้คือร้านกาแฟ รวมทั้งในช่วงการปรับปรุงอาคารที่ได้รับความสนใจจากผู้คนที่สัญจรไปมา และการพีอาร์แบบง่ายๆ ในแฟนเพจของร้าน น่าจะเป็นมวลรวมที่ทำให้การเปิด Brewginning ในวันแรกได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจนติดตลาดในที่สุด

“มันเกิดคาดมากๆ เคยขายได้พีคสุดวันละ 200 แก้ว” อาร์ทบอกฉัน

โดยเฉลี่ยแล้ว Brewginning มีลูกค้าชาวไทยเป็นสัดส่วนที่มากกว่าชาวต่างชาติ และมีลูกค้าขาประจำแวะมาใช้บริการพอๆ กับลูกค้าขาจรอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าคุณจะขับรถผ่านถนนช้างม่อยตอนไหน ร้านกาแฟสีแดงในตึกเก่าจะเต็มไปด้วยผู้คนเสมอๆ

อีกสิ่งหนึ่งที่โชคและอาร์ททำเพื่อให้เกิดความแตกต่างจากร้านกาแฟอื่นๆ คือ Brewginning คือร้านกาแฟร้านแรกที่มีดนตรีสดในร้าน ถ้าคุณเดินตัดผ่านโซนบาร์เข้าไปในตัวอาคาร คุณจะเจอห้องที่จัดที่นั่งแบบอัฒจันทร์ ให้คุณได้จิบกาแฟและนั่งฟังดนตรีสดได้ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และนักขัตฤกษ์

เมื่อย้อนกลับมาถามถึงสิ่งที่ทำให้ Brewginning สำเร็จมาถึงจุดที่เปิดร้านมาได้ครบ 1 ปี โชคและอาร์ทตอบตรงกันอีกครั้งว่า

“เราโชคดี”

“เราได้ใช้ประสบการณ์ทุกอย่างตั้งแต่ที่ทำงานมาหมดเลย หรือตอนที่เราอยู่ออสเตรเลียที่เราทำงานมา เราครูพักลักจำมาทั้งจากในงานและช่วงวันหยุดที่เราไปนั่งร้านกาแฟ เราจำหมดเลยว่าเขามีวิธีรับออเดอร์ยังไง เสิร์ฟ บริหารจัดการยังไง เราจำเอามาใช้หมด ทั้งหมดมันมาจากประสบการณ์ของตัวเอง” โชคตอบคำถามในมุมของเขา

ถ้าว่ากันเป็นนิยายสักเรื่อง เรื่องนี้มันควรจะจบที่ตัวเอกสองคนได้รับสิ่งที่ตนปรารถนาจากความมุมานะอย่างสมใจ หากแต่ว่าโลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น โชคและอาร์ทยังต้องพัฒนาร้านให้ไปไกลจากจุดเดิมที่ควรเป็นเสมอ ทั้งคุณภาพ และการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า

“หนึ่งปีสอนอะไรเราเยอะมาก หลักๆ ก็สอนเรื่องความรับผิดชอบ อย่างเช่นเราเปิดร้านทุกวันตอนเช้า แต่เราเปิดร้านสาย เราโดนลูกค้าบ่น แปลว่าทุกสิ่งที่คุณสื่อสารไปว่าจะทำ คุณต้องทำให้ได้” อาร์ทเล่าถึงบทเรียนจากการทำร้าน Brewginning

“สิ่งสำคัญที่สุดมันน่าจะเป็นความจริงใจในการบริการลูกค้า บางครั้งเราเจอลูกค้าประจำแล้วกาแฟที่เราชงมันไม่ดีพอ เราก็จะบอกลูกค้าไปตามตรงว่า ผมไม่อยากให้พี่ดื่มเลย เพราะผมรู้สึกว่ากาแฟแก้วนี้ไม่ใช่แค่กาแฟ มันคือทุกอย่างที่เราลงมือทำมา มันคือบรรยากาศที่เราตั้งใจสร้างขึ้นมา เรื่องราวที่คุยกัน มันคือองค์ประกอบทั้งหมด ฉะนั้นมีลูกค้าหลายคนไม่ได้มาเพื่อดื่มกาแฟ แต่อยากได้อะไรใหม่ๆ กลับไป” โชคบอกฉัน

Contributors

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด