ฟังเหตุผลชัดๆ ว่าทำไมเราต้องช่วยกันทำให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองมรดกโลก

ถ้าพูดถึงมรดกโลก ทุกคนน่าจะเคยได้ยินคำนี้ดี แต่ความหมายจริงๆของมันคืออะไร?

มรดกโลกคือ สถานที่ อันได้แก่ ป่าไม ภูเขา ทะเลสาบ ทะเลทราย อนุสาวรีย์ สิ่งก่อสร้างต่างๆ รวมไปถึงเมืองซึ่งคัดเลือกโดยองค์การ UNESCO ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เพื่อเป้นการบ่งบอกถึงคุณค่าของสิ่งที่มนุษยชาติ หรือธรรมชาติ ได้สร้างขึ้นมาและควรจะปกป้องสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร เพื่อให้ได้ตกทอดไปถึงอนาคต

ในขณะที่คุณกำลังอ่านบทความนี้ คนกลุ่มๆหนึ่ง กำลังช่วยกันผลักดันให้เชียงใหม่ถูกเสนอชื่อเป็นเมืองมรดกโลก

แต่ยังคงมีคำถามตัวโตๆ อยู่ระหว่างกระบวนการนี้ว่า ทำไมเราต้องทำให้เมืองนครพิงค์ล้านนาอายุกว่า 722 ปี เป็นเมืองมรดกโลก

ผู้ที่จะให้คำตอบกับเราได้คือ รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ หรืออาจารย์กอล์ฟ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

มรดกโลก 101

ด้วยสถาบันวิจัยสังคมฯ คือตัวตั้งตัวตีของโครงการเชียงใหม่เมืองมรดกโลก อาจารย์กอล์ฟจึงเป็นประธานโครงการโดยปริยาย

แล้วองค์กรการศึกษาทำไมถึงต้องไปช่วยผลักให้เชียงใหม่เป็นมรดกโลก?

“จริงๆ แล้วมีการส่งต่องานมาจากผู้ใหญ่ของเมืองที่พยายามจะรักษามรดกทางด้านวัฒนธรรม โดยครูทำหน้าคือ หนึ่ง-การสร้างองค์ความรู้ สอง-การเชื่อมโยงกับคน เพราะว่าเรื่องมรดกโลกจะสัมพันธ์กับทั้งผู้ที่เป็นเจ้าของมรดกและสิ่งที่เป็นโบราณสถาน ได้แก่ พระที่ดูแลโบราณสถานต่างๆ แล้วยังเกี่ยวข้องกับการปกป้องคุ้มครอง ซึ่งหมายถึงกฎหมาย

“ทางหน่วยงานราชการเองจริงๆ ก็มีการทำงานที่เกี่ยวข้อง แต่ แต่ละคนก็มีหน้าที่ของตนเอง มีขอบเขตของตนเอง เพราะฉะนั้นการที่เป็นองค์กรทางการศึกษาก็ทำหน้าที่เชื่อมองค์กรต่างๆเข้าด้วยกัน” อาจารย์กอล์ฟเริ่มเกริ่นให้ผมฟัง

แต่จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองเก่าแก่ของอาณาจักรล้านนา มีวัดวาอาราม และโบราณสถานต่างๆ เป็นจำนวนมาก กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งจังหวัด เราควรเลือกบริเวณใดที่เลือกอนุรักษ์ให้เป็นมรดกโลก

“ที่เราระบุไว้คือในเขตสี่เหลี่ยมคูเมืองเชียงใหม่ และอีกส่วนหนึ่งก็คือการได้ค้นพบเมื่อเราทำงานเชิงลึกลงไป จึงพบว่าการวางผังเมืองเชียงใหม่ที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสซึ่งเป็นจัตุรัสมากๆ ในช่วงเวลาเมื่อ 722 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญมาก ”

ลักษณะของคูเมืองเชียงใหม่ถ้าสังเกตจากภาพมุมสูง จะเห็นว่าเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสอย่างชัดเจน และเป็นเช่นนี้มาเป็นร้อยๆปีแล้ว แสดงให้เห็นถึงการรังวัดในการสร้างเมืองที่ก้าวหน้ามากในสมัยนั้น

ส่วนสิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่โครงการฯ เลือกอนุรักษ์ไว้คือ คุณค่าทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน แต่สิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับการสร้างเมืองด้วย จังหวัดเชียงใหม่สร้างโดยมีดอยสุเทพเป็นฉากหลัง จึงสัมพันธ์ระหว่างสี่เหลี่ยมคูเมืองกับพื่นที่ดอยสุเทพ โดยคูเมืองเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้าง ส่วนดอยสุเทพเป็นส่วนของธรรมชาติ มีทั้งธรรมชาติและมนุษย์

อาจารย์กอล์ฟจึงนิยามโครงการในครั้งนี้ว่า เป็นการสร้างงานศิลปะที่มีแรงบันดาลใจจากผลงานของมนุษย์ และความสวยงามที่ธรรมชาติรังสรรค์ขึ้นมา หากแต่สถานที่ซึ่งถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น ใช่ว่ามีความต้องการขึ้นมา แล้ว UNESCO จะดำเนินการให้เองโดยที่ท้องถิ่นไม่ต้องทำอะไร ส่วนท้องถิ่นเองก็ต้องทำให้ UNESCO เห็นว่า ที่แห่ง้เหมาะสมที่จะเป็นเมืองมรดกโลกจริงๆ

องค์การ UNESCO จะมีหลักการในการคัดเลือกสำหรับมรดกทางวัฒนธรรมคือ เป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

“กระบวนการเริ่มแรกเราเรียกว่า Value Based คือเราดูเกี่ยวกับเรื่องของคุณค่าก่อน เราต้องดูว่าคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ มีคุณค่าจริงรึเปล่า เริ่มศึกษาวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์ อะไรก็ตาม เสร็จแล้ว สิ่งที่ UNESCO ดูอีกคือ ความจริงแท้และสมบูรณ์” อาจารย์กอล์ฟอธิบาย

ความจริงแท้ สมบูรณ์ เป็นสิ่งที่มีการพูดคุยกันมานานบนโลก ความ จริง แท้ ในแต่ละนิยาม ของแต่ละพื้นที่ก็จะแตกต่างกันออกไป ทางด้านยุโรป จะทำมาจากหิน แต่ทางด้านตะวันออกสิ่งปลูกสร้างมักทำมาจากไม้ ซึ่งไม้จะผุพังไปตามกาลเวลา ซึ่งเชียงใหม่เป็นเมืองทางด้านตะวันออก จึงต้องเอาแนวคิดของประเทศที่อยู่ทางตะวันออกมาเป็นฐานของกระบวนการในการทำงาน

 

ร่วมมือร่วมใจ

การทำให้พื้นที่ขนาดใหญ่กลายเป็นมรดกโลกไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการร่วมมือจากหลายฝ่าย

ความร่วมมือแรกคือ ประชาชน เพราะประชาชนก็อยากที่จะรักษาสิ่งที่พวกเขามีอยู่ อย่างต่อมาคือคณะสงฆ์ เพราะเวลาที่ทีมงานลงพื้นที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับวัดวาอารามก็ต้องเข้าไปหาเจ้าคณะจังหวัดหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องว่าในแต่ละศาสนสถานยินดีในการดำเนินการหรือไม่

ส่วนที่สามคือหน่วยงานราชการ องค์กรที่ช่วยสนันสนุนมาแต่ต้นได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ที่ดูแลโครงการนี้

ในฐานะโครงการอนุรักษ์เมืองเก่า ระบบในเมืองทั้งไฟฟ้า ประปา หรือการคมนาคม ทุกอย่างมีระบบที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว หน้าที่ของโครงการคือ ทำหน้าที่เชื่อมทุกหน่วยงานให้มองเรื่องนี้เป็นภาพเดียวกัน เพราะทุกหน่วยงานจะมีกรอบในการทำงานที่ไม่เหมือนกัน

แต่ถ้าจะให้มามองในสิ่งเดียวกัน โดยมีโจทย์ในเรื่องของการดูแลคุณค่าของสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างมา

 ชาวบ้านก็ต้องร่วมมือเช่นเดียวกัน

  พูดถึงการดำเนินงานในระดับหน่วยงานไปแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ ประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณที่จะขึ้นเป็นมรดกโลก เนื่องจากพวกเขาต้องรับรู้ว่า กำลังจะเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองของเขา

  “แรกๆ ชาวบ้านก็เหมือนเรา เขาสงสัยว่ามันคืออะไร แต่ต่อมา ณ เวลานี้ กลุ่มชาวบ้านเริ่มเข้าใจว่า สิ่งนี้เป็นการรักษามรดกของเขา เช่น เขามาร่วมกันจัดการแสดงฟ้อนรำเวลาที่มีงานต่างๆ เพราะนี่คือสิ่งที่เขาภูมิใจและอยากให้คนอื่นได้ดู นี่คือมรดกของเชียงใหม่ที่คนที่เป็นเจ้าของพื้นที่และภูมิใจอยากให้คนอื่นได้รับรู้รับทราบ” อาจารย์กอล์ฟกล่าว

 

ฟื้น สร้าง ทำลาย?

ภาคประชาชนที่โครงการเชียงใหม่เมืองมรดกโลกร่วมงานด้วย มีเครือข่ายชุมชนภาคประชาชน และประธานชุมชนหลายชุมชนในเขตสี่เหลี่ยมคูเมืองเชียงใหม่ ซึ่งจริงๆ แล้ว กลุ่มคนเหล่านี้ทำงานมาก่อนที่จะมาทำมรดกโลกแล้ว เช่น โครงการฟื้นบ้านย่านเวียงเชียงใหม่ ตรงนั้นเป็นสิ่งแรกๆ โดยที่ยังไม่มีความคิดเรื่องมรดกโลกเลย

เมื่อมีคำว่า “ฟื้น” นั่นหมายความว่าโดนทำลายมาก่อน

“คำว่าทำลาย มันมีในสิ่งของในตอนที่เราเริ่มทำ ทุกอย่างถูกซื้อขายเยอะมาก บ้านเก่าก็ถูกขายทิ้งไป พอสิ่งเหล่านั้นถูกขายก็กลายเป็นตึกใหม่หมด วัฒนธรรมที่อยู่ก็หมดไปเหมือนกัน เราก็ยอมรับในสิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ช่วงหนึ่งที่นักท่องเที่ยวชุกชุมเมื่อหลยปีก่อนมีชาวต่างชาติมาไล่ซื้อพื้นที่เยอะมาก จึงทำให้เกิดการย้ายออกของประชาชนเป็นจำนวนมาก ทำให้คนที่เป็นคนในพื้นที่ไม่สามารถซื้อที่ดินนั้นกลับมาได้ถ้าไม่รวยพอ

“บางทีเราจะทวงคืน แต่เราไม่มีเงินมาทวงคืน แต่เรารักษาสิ่งที่คงเหลืออยู่ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นเพราะว่าเราพบเลยเราเหลืออยู่เพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เหลืออยู่”

“เหมือนตอนนี้เชียงใหม่ไม่ใช่ของคนเชียงใหม่อีกต่อไป เราสามารถพูดอย่างนี้ได้หรือไม่?” ผมถาม

“เกือบแล้วค่ะ เพราะฉะนั้นยิ่งทำด้วยข้อมูลสถิติเท่าไหร่ยิ่งเห็นเท่านั้นหัวใจจะสลายมากขึ้นเท่านั้น” อาจารย์กอล์ฟตอบคำถามของผม

 

การพัฒนาไปทั้งสองทิศทาง

เวลาแรกเริ่มในการผลักดันเมืองๆ หนึ่งสู่การเป็นมรดกโลก ต้องใช้เวลาราว 10-25 ปี

ภาพรวมของเชียงใหม่ตอนนี้ มีโครงการใหญ่ที่ดำเนินการอยู่เรื่องคือ มรดกโลก และ Chiang Mai Smart City ซึ่งดูเป็นการเคลื่อนไหวที่สวนทางกันโดยสิ้นเชิง เพราะสิ่งหนึ่งคือการวิ่งไปข้างหน้า อีกสิ่งหนึ่งคือการอยู่กับสิ่งเดิมๆ

“ถ้าพูดถึง Smart City ทุกคนจะหมายถึงการสร้าง แต่มรดกไม่ได้แปลว่าจะหยุดสร้าง ต้องเข้าใจตรงนี้นิดนึง แต่ทำอย่างไรให้ไปด้วยกัน ไม่งั้นไม่สามารถสร้างรถไฟฟ้าเข้ามาในตัวเมืองเชียงใหม่ได้หรอกค่ะ ” อาจารย์กอล์ฟอธิบาย

ประชาชนมักจะมองว่า เมื่อไหร่ที่มีการอนุรักษ์ หมายถึงการหยุดการเติบโตทุกอย่าง แต่ในความเป็นจริงแล้ว การอนุรักษ์คือการรักษาต้นทุน โดยจะเอาไปทำเป็น Smart Content ซึ่งคำว่า Smart คือการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อใช้ในการที่จะสืบค้นสิ่งที่เราอนุรักษ์

“สิ่งที่เราพบบ่อยมากคือ คุณใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่คุณไม่มีคอนเทนต์อยู่ข้างในเลย แล้วคอนเทนต์มาจากไหน มันก็มาจากสิ่งที่มีการพยายามที่จะอนุรักษ์โดยที่มีเรื่องราวต่างๆให้กับพวกคุณต่อไปในอนาคตนั่นแหละ” อาจารย์กอล์ฟอธิบาย

นอกจากนี้ โครงการเชียงใหม่เมืองมรดกโลก ยังมีการดำเนินการในด้านกฎหมายในการปกป้องคุ้มครองมรดกอีกด้วย

 

เก่าไปใหม่มา

“ถ้าของเก่าควรไป ของใหม่ควรมา เราจะผลักดันเชียงใหม่ให้เป็นมรดกโลกไปทำไม?” ผมถาม

“เพื่อเก็บไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป สิ่งเหล่านี้เก็บได้ไม่หมดหรอกค่ะ มันเก็บได้แค่ส่วนหนึ่ง แต่ในอีกส่วนหนึ่งมันก็ต้องสลายด้วยวัสดุหรือด้วยวิธีใดก็ตาม แต่การสลายนั้นมันก็ยังมีคุณค่าที่สามารถส่งต่อได้ หน้าที่ของพวกเราคือหน้าที่ในการส่งต่อสิ่งเหล่าต่อไป ครูคือคนที่อยู่ในยุคนี้แล้วจะส่งต่อให้พวกเรา แต่ถ้าเกิดว่าเราปล่อยให้มันสลายไปตั้งแต่ตอนนี้ มันก็ไม่มีอะไรไปถึงยุคเรา แล้วเราจะมีคำถามว่าทำไมคนยุคนั้นถึงไม่รู้จักทำ”

นั่นแปลว่าการรักษามรดกที่แท้จริงนั้นไม่ใช่เพียงโทษกันไปมา หากแต่ผู้คนในทุกยุค ทุกสมัยต่างหาก ที่ควรต้องช่วยกันแต่แรก

“มรดกไม่ได้หมายถึงการแช่แข็งทุกอย่าง ครูอยากให้ทุกคนทำในสิ่งที่เราสามารถที่จะทำได้ อย่าเพียงแต่บอกว่าฉันไม่รู้ ฉันไม่ทำ แต่ถ้าเรามาช่วยกันคนละไม้คนละมือ คนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้อาจตั้งคำถามกันบ้างว่า พวกเราจะทำไปทำไม หรือเราจะช่วยกันดูแลยังไง นั่นคือความคิดของพวกเราแล้ว ที่จะช่วยกันในฐานะที่เราก็รักเมืองนี้ด้วยเช่นกัน ครูเชื่อว่าเราคงไม่อยากให้วันนึงเดินกลับเมืองที่เกิดแล้วบอกว่ามันเป็นเมืองของฉันหรือเปล่า หรือฉันกลายเป็นคนแปลกหน้าของเมืองตัวเอง มันเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากแต่ทุกอย่างมันเริ่มจากก้าวที่หนึ่ง ถ้าไม่มีก้าวที่หนึ่ง ก็ไม่มีสอง สามสี่ วันนี้ก็คือก้าวต่อไปสำหรับพวกเราที่จะช่วยกันทำ” อาจารย์กอล์ฟสรุป

เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ artsvisual.co | สิงหาคม 2562

 

Contributors

วิธิสรรค์ พุฒลา

วิศวกรหนุ่มผู้หลงรักในเสียงเพลงและการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจ

พีรศิษฐ์ วงค์อ้าย

Creative Director แห่ง Behind The Scene และ Behind The House

บีซัน ตัน

ช่างภาพหุ่นหมี อารมณ์ดี มุกแป๊ก ปัจจุบันเป็นวิดีโอครีเอเตอร์ที่เว็บไซต์ท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง