สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) : ชีวิต เรื่องราว ความทรงจำ และการเปลี่ยนแปลง

เสียงตึงตัง ตึงตัง ตึงตัง…

ทุ่งนา และทิวเขาที่อยู่ไกลออกไป แสงแดดอ่อนๆยามรุ่งสาง สายลมหนาวพัดผ่านเข้ามาทางหน้าต่างของรถไฟชั้นสาม

ผู้โดยสารเบาบางลงบ้าง เพราะต่างคนต่างลงตามสถานีปลายทางของตนเอง

เรื่องราวรถไฟยังคงดำเนินต่อไป

ย้อนกลับไปสิบกว่าชั่วโมงที่แล้ว ก่อนที่ใบหน้า และร่างกายจะปะทะอุณหภูมิหนาวเย็น ทุกอย่างเริ่มต้นที่ หัวลำโพง

ในวันนี้ เรื่องราวของหัวลำโพงกำลังจะเปลี่ยนไป หัวลำโพงยังคงอยู่ แต่บทบาทในทางการเดินทาง อาจกำลังจบลง

หัวลำโพงเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว และความหวังมาเป็นเวลาเนิ่นนานแล้ว เก้าอี้ที่โถงพักคอยของหัวลำโพงรองรับผู้คนที่หลากหลายมานาน แต่ละคนต่างมีจุดมุ่งหมายในการเดินทางแตกต่างกันไปทั้งสิ้น กลุ่มเพื่อนที่นัดกันไปแสวงหาประสบการณ์ชีวิต ชายวัยชราซึ่งเพิ่งเสร็จจากการพบแพทย์กำลังจะกลับภูมิลำเนา คุณพ่อซึ่งเข้าเมืองกรุงเพื่อเยี่ยมลูกชาย หรือแม้กระทั่งพระภิกสุสงฆ์ และอีกมากมาย สถานีรถไฟหัวลำโพงมีความหลากหลายของเรื่องราวและความทรงจำ

ในการทำให้เรื่องราวของแต่ละคนดำเนินไปอย่างไม่ติดขัด มีผู้อยู่เบื้องหลังมากมาย เพียงแค่เดินเข้ามาในตัวสถานีไปจนถึงตู้รถไฟ สามารถพบเจอได้ตั้งแต่พนักงานจำหน่ายตั๋วซึ่งกำลังตอบคำถามผู้โดยสาร พนักงานทำความสะอาดที่ชานชาลากำลังลากอุปกรณ์คู่ใจ พนักงานซึ่งกำลังเข็นรถเข็นขนผ้าห่ม พนักงานเดินรถกำลังเรียกผู้โดยสารให้ขึ้นรถไฟ และอื่นๆอีกมากมายซึ่งอยู่เบื้องหลัง และล้วนมีส่วนสำคัญ

ในวันที่สถานีรถไฟบางซื่อกำลังมีบทบาทมากขึ้น หัวลำโพงกำลังจะเริ่มค่อยๆถอยออกมาให้น้องใหม่ได้เฉิดฉายแทน หากพูดกันในเชิงการคมนาคม การย้ายสถานีหลักไปที่สถานีบางซื่อก็อาจจะตอบโจทย์ได้ดีกว่าในการคมนาคมที่สะดวก การเปลี่ยนถ่ายรูปแบบของการเดินทางควรเป็นไปอย่างสะดวก กล่าวคือ ควรมีการสร้าง HUB ของการเดินทางขึ้นมา คือที่ๆเดียวสามารถเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการเดินทางได้อย่างครอบคลุม ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น จากสนามบินนั่งรถไฟฟ้าเข้าสู่ใจกลางเมืองได้ง่าย จากเรือเปลี่ยนเป็นรถเมล์ หรือรถไฟเป็นรถทัวร์

การเปลี่ยนสถานีรถไฟหลักจากหัวลำโพงให้กลายเป็นบางซื่อคงสร้างความต่อเนื่องของการเปลี่ยนรูปแบบการคมนาคมได้สะดวกกว่า หัวลำโพงในวันนี้อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมซึ่งยากต่อการเป็น HUB ของการคมนาคม พื้นที่โดยรอบแน่นหนาไปด้วยอาคารซึ่งคงยากลำบากต่อการเวนคืน มีเพียงรถไฟฟ้าใต้ดินเท่านั้นที่สามารถมารับช่วงต่อการเดินทาง นอกนั้นคือรถแท็กซี่ รถเมล์บางสาย และตุ๊กตุ๊ก ซึ่งแท็กซี่เอง แม้จะมีมิเตอร์เพื่อคำนวนราคาตามระยะทาง แต่มักจะมัดมือผู้โดยสารที่เพิ่งลงจากรถไฟ คิดราคาเหมาเพื่อเอาเปรียบ

จากคำบอกเล่าของหนึ่งในพนักงานเดินรถเล่าว่าจากข่าวการปิดตัวสถานีหัวลำโพงที่แพร่ออกไป ช่วงนี้จึงมีผู้คนมาถ่ายรูปกับตัวสถานีมากเป็นพิเศษ แต่หากจะให้ปิดตัวไปเลยทันทีคงเป็นไปได้ยากมาก ข่าวที่ออกไปเหมือนเป็นการโยนหินถามทางจากกระแสตอบรับของสังคมเสียด้วยซ้ำ การที่จะปิดตัวสถานีโดยทันทีจะกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่ใช้รถไฟเพื่อเดินทางมาทำงานจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น จากลาดกระบังเข้ามาที่หัวลำโพง ค่าตั๋วเพียง 5 บาท หนึ่งวันไปกลับ 10 บาท หากสายการเดินรถเข้ามายังหัวลำโพงหยุดไปจริงๆ จากลาดกระบังมีรถฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์เข้ามาถึงมักกะสัน 30 บาท แล้วต่อรถไฟฟ้าใต้ดินมายังหัวลำโพงอีก 31 บาท หนึ่งวันไปกลับ จาก 10 บาท เป็น 122 บาท หากจะต้องหยุดการเดินรถมายังหัวลำโพงจริงๆ ก็ต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น ค่อยๆหยุดไปทีละสาย ซึ่งในส่วนนี้ยังหารือนโยบายกันอยู่

นี่เป็นเพียงการยกตัวอย่างของผลกระทบโดยตรงกับการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ในอีกแง่หนึ่งซึ่งลึกลงไป หัวลำโพงเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทาง เป็นจุดเริ่มต้นของการตอบคำถามในจิตใจขณะที่นั่งรถไฟแล้วมองออกไปนอกหน้าต่าง เป็นสถานที่ที่สะสมเรื่องราว เป็นสถานที่ทำงาน เป็นที่พักผ่อนนอนดูมวยจากทีวีในตู้เก็บของ เป็นที่ที่เห็นความรู้สึกจากสายตาที่หลากหลายของผู้โดยสาร

เพราะสำหรับใครอีกหลายคน

หัวลำโพงคือชีวิต

Contributors

พราน มณีรัตน์

สถาปนิกผู้โตจากกรุงเทพฯ แต่หลงรักเชียงใหม่ เชื่อว่าบ้านที่ดีไม่ใช่บ้านหรู แต่คือบ้านที่อยู่สบาย ออกเดินทางเพื่อระหว่างทาง และแวะพักที่ปลายทาง