Little Hum Studio สตูดิโอของคนตัวเล็ก ที่ทำงานเพื่อคนตัวเล็กๆ

บนถนนเส้นหลักสายหนึ่งที่เชื่อมชุมชนร่ำเปิงและถนนสุเทพ (ถนนหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) เข้าด้วยกัน ปัจจุบันกลายเป็นถนนที่เต็มไปด้วยร้านกาแฟและสถานที่ท่องเที่ยว ในมุมหนึ่งของถนนมี Community เล็ก ๆ ชื่อเวิ้งมาลัย ที่ประกอบไปด้วยร้านรวงต่างๆ และในมุมหนึ่ง มีห้องขนาดเล็กพื้นที่ไม่ถึง 5 ตารางเมตร ที่ถูกต่อเติมอยู่ออกมาบริเวณข้างบันไดอาคารไม้กึ่งปูนของร้าน paper spoon นั่นคือสตูดิโอที่มีชื่อว่า Little Hum Studio

Little Hum Studio เป็นผลผลิตจากความฝันที่ค่อยๆ ประกอบร่างขึ้นมาของ สาว-ขนิษฐา ศักดิ์ดวง และเชน-เอกสิทธิ์ ชูวงษ์ สองสถาปนิกที่เป็นทั้งคู่คิดและคู่ชีวิต เป็นเวลากว่า 5 ปีที่สตูดิโอนี้ได้ผลิตผลงานน้อยใหญ่จากความรักและความตั้งใจของทั้งสองคน งานหลักๆ Little Hum Studio ของสตูดิโอประกอบไปด้วย งานผลิตสื่อเพื่อชุมชน งานออกแบบผังพื้นที่เกษตรกรรม และงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน ผ่านการนำเสนองานผ่านภาพสีน้ำที่เป็นเอกลักลักษณ์ของสตูดิโอ สาวและเชนเล่าให้ฟังว่า งานแต่ละประเภทมีที่มาที่ไปเกิดจากความสนใจและความถนัดของทั้ง 2 คน

ที่ประกอบเข้าด้วยกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

LITTLE HUM(AN)

ในภาพวาดสีน้ำของเชน สิ่งที่เราจะเห็นเสมอคือ ภาพคน สัตว์ และธรรมชาติ และนั่นเป็นหนึ่งในนิยามของชื่อ ‘LITTLE HUM’

“LITTLE HUM มาจาก LITTLE HUMAN ความหมายคือ เราเป็นคนตัวเล็กที่ทำงานให้คนตัวเล็กๆ ได้เปล่งเสียงออกมา และทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยได้เข้าถึงงานออกแบบ ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ชุมชนเพียงอย่างเดียว หลายครั้งเราได้เจอกับ พี่ๆ จากหลากหลายสาขาอาชีพที่อยากออกแบบพื้นที่รองรับบั้นปลายชีวิต แต่เขาไม่ใช่นักธุรกิจที่จะจ้างบริษัทสถาปนิกใหญ่ๆ มาออกแบบให้ได้ เพราะฉะนั้นการทำงานของเราจะออกมาในรูปแบบที่เราจะทำงานให้เพื่อน หรือให้คนรู้จักกัน เพราะเรามองในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างกันมากกว่า

“ตอนนี้งานออกแบบสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ที่สตูดิโอรับมาจากสายสัมพันธ์เป็นหลัก หากไม่รู้จักหรือรู้ใจกัน บางครั้งก็จะขอปฏิเสธงานนั้นไป”

“อีกเหตุผลที่ คำว่า LITTLE HUMAN มันถูกตัดบางอักษรลงไป เพราะเดิมทีเราเป็นสถาปนิกชุมชนที่ต้องทำงานกับคนเป็นส่วนใหญ่ เมื่อแยกตัวออกมา ในตอนแรกเราไม่แน่ใจเลยว่าจะได้ทำงานกับคนอีกไหม ก็เลยกร่อนตัวอักษรลงไป แต่ยังคงใช้แนวคิดของกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมเป็นแกนยึดหลักอยู่เสมอ”

 

(สถาปนิก) สำหรับคนตัวเล็ก

ก่อนหน้านี้ สาวและเชนเคยทำงานในกลุ่มสถาปนิกชุมชนของจังหวัดเชียงใหม่มาตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2558

“’ตอนนั้นงานที่มีแบ่งออกเป็นหลายประเภท มีทั้งงานชุมชนเมือง งานวัฒนธรรม งานสิ่งแวดล้อม งานที่อยู่อาศัย งานเพื่อคนไร้บ้าน ซึ่งสถาปนิกแต่ละคนก็ทำงานแต่ละประเภทต่างกัน แต่จะได้เรียนรู้งานของกันและกันผ่านการไปช่วยงานแต่ละโปรเจคต์”

“ในตอนแรกที่ทำงานเราได้รู้จักชุมชน เช่น เครือข่ายชุมชนเมืองริมคลอง หรือเครือข่ายหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานร่วมกับกลุ่มคนไร้บ้านในพื้นที่ชุมชนแออัด หรืองานวัฒนธรรมที่เน้นฟื้นฟูโครงสร้างชุมชนในเมืองเก่า และอีกด้านหนึ่งคือ งานออกแบบผังพื้นที่ทับซ้อนในชนบท ที่นำมาสู่งานที่เป็นอาชีพปัจจุบันของเรา”

 

งานเย็น​ (ใจ)

“งานชนบทที่ได้รับตอนนั้นคือ งานวางผังที่ดิน ผังชีวิตตำบลแม่ทา ซึ่งเป็นตำบลที่มีเขตทับซ้อนกับเขตป่าสงวน เราได้เข้าไปทำงานกับชุมชน และได้มีโอกาสเรียนรู้วิถีภูมิปัญญา จึงค้นพบว่า จริงๆ แล้ว เราชอบงานเย็น” งานเย็นคือ การมองจังหวะก้าวสู่อนาคตแล้วค่อยวางแผนพร้อมผังจัดการทรัพยากรในชุมชน ออกมาเป็นงานที่ต้องใช้เวลาจากรุ่นสู่รุ่น ถึงจะปรากฏภาพให้เห็น ต่างกับงานร้อน เช่น งานชุมชนเมืองที่ต้องใช้พลังสูง อยู่กับปัญหาและแข่งขันกับเวลา” สาวอธิบายงานเย็นที่เปลี่ยนวิธีคิดของเธอ

“ประมาณปีที่ 5 ของการทำงานในนามกลุ่มสถาปนิกชุมชน ทุกคนเริ่มเห็นความถนัดในการทำงานของตัวเอง ทั้งงานเมือง งานผัง จะมีการทำสื่อเพื่อสื่อสารกับชุมชนเผยแพร่ออกไป เราที่ช่วยวาดงานเพื่อสื่อสารก็ค้นพบแนวทางในการใช้ภาพวาดภาพสื่อสารกับชุมชน และเมื่อฐานงานชุมชนเดิมของเรามีเครือข่ายงานหลายด้าน ตอนออกมาจากกลุ่ม  เราจึงมีโอกาสได้รับงานวาดภาพเพื่อสื่อสารให้แก่งานโครงการหลายประเภทที่เคยทำงานเมืองด้านต่างๆร่วมกันมา หนึ่งในคนที่มีคุณูปการกับเรามากคือ พี่แบน (แบน แสนเมือง-บรรณาธิการนิตยสาร COMPASS) ที่จ้างพวกเราวาดแผนที่เป็นงานจ้างชิ้นแรก ทำให้เรามีงานภาพวาดสีน้ำปรากฏออกไป พอพี่ๆน้องๆเครือข่ายอื่น ๆ เห็นลักษณะงานที่เราทำจึงติดต่อ สร้างงานให้เราในเวลาต่อมา” เชนเล่าถึงจุดเปลี่ยนในการทำงานของเขาและสาว

 

ประกอบ (ร่าง) อาชีพจากการทดลอง

“ในปีแรก เราทดลองในสิ่งที่ตัวเองสนใจคือผังเกษตร เราไปเรียนมาและทดลองทุกอย่างที่ได้เรียนมา อันไหนทำได้ทำไม่ได้แล้วเขียนสื่อสารลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวตลอดเวลาเพื่อสื่อสารให้ทุกคนรู้จักงานออกแบบผังมากขึ้น เพราะในตอนนั้นงานออกแบบผังเกษตรถือว่ายังใหม่มาก ในช่วงแรกเรารับออกแบบผังแลกกับการฝากปลูกต้นไม้ไว้ในพื้นที่ มันทำให้เราได้สังคมเพื่อนกลุ่มใหม่และที่อยู่อาศัย ในตอนนั้นคนแรกๆที่ให้โอกาสเราออกแบบผังคือ พี่ๆ จากเวิ้งมาลัย เริ่มจากชวนมานั่งคุยด้วยกันแล้ว พี่เก็ท พี่จ๋า ก็ให้ออกแบบผังที่แม่ริม พี่ๆ ยังเป็นเจ้าของบ้านเช่าของเราในปัจจุบัน เพราะงานผังเป็นงานระยะยาว หากมาอยู่ใกล้กัน มีอะไรจะได้ปรึกษากันได้ง่าย ซึ่งปัจจุบันเราก็อยู่ตรงนี้มา 5 ปีแล้ว และมันก็เป็นงานออกแบบชิ้นแรกถือเป็นจุดเริ่มต้นสายอาชีพงานออกแบบผังเกษตรของเรา” สาวเล่าถึงการทดลองทำงานผังเกษตร

“LITTLE HUM เกิดจากงานที่เราสองคนถนัด คนหนึ่งถนัดวาดภาพสื่อสาร อีกคนหนึ่งชอบงานเกษตร และจุดร่วมคือเราสองคนจบสถาปัตย์มาจึงมางานออกแบบสถาปัตยกรรมเราจึงทำได้ ซึ่งงานออกแบบสถาปัตยกรรมปัจจุบันเป็นงานที่ต่อเนื่องมาจากงานออกแบบผังเกษตร เมื่อออกแบบผังแล้วลูกค้าอยากได้อาคารหรือบ้านเล็ก ๆ ในพื้นที่เราจึงออกแบบให้ อีกทั้งยังมีงานเชิงนิเวศธรรมชาติ เช่นงานสำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่จะเชื่อมโยงกับงานวาดภาพและเขียนการสื่อสาร เราไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าสตูดิโอควรทำอะไรบ้าง เพราะมันเป็นอาชีพที่ทุกคนยังไม่ค่อยรู้จัก ทุกอย่างจึงเกิดจากการทดลองและมองตามโจทย์ว่าเราสองคนทำอะไรได้บ้าง” เชนและสาวเสริมให้เราเข้าใจมากขึ้น

ในเนื้อ (งาน) ในตัว (เรา)

“แม้จะไม่ได้เป็นสถาปนิกชุมชนแล้วแต่กระบวนการคิดและวิธีการทำงานยังคงใช้ทักษะของการเป็นสถาปนิกชุมชนแทรกเข้าไปในการทำงานของเราเสมอ งานที่เราทำเราไม่ได้รับฟังแค่เพียงบุคคลเดียว ออกแบบบ้านเราก็ออกแบบให้คนทั้งครอบครัว ออกแบบผังเราก็ออกแบบให้สิ่งมีชีวิตทั้งหมดในระบบนิเวศ เรายังใช้การรับฟังและกระบวนการมีส่วนร่วมในงานของเราทุกชิ้น

“บทบาทของเราคือการลงไปทำงานกับคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งมันแตกต่างจากกระบวนการที่เราได้เรียนมา ที่เราจะรับโจทย์จากลูกค้าเพียงคนเดียว ออกแบบสิ่งต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์คน ๆ เดียว แต่โจทย์ของชุมชนมักจะเริ่มจากด้วยปัญหาบางอย่างและมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมาก กระบวนการทำงานจึงมุ่งเน้นไปในทางการแก้ไขปัญหาพร้อมหาช่องโอกาสความเป็นไปได้อยู่เสมอ แม้จะมีงานที่ผู้ว่าจ้างให้ออกแบบงานเพียงอย่างเดียว แต่เราก็จะแทรกกระบวนการมีส่วนร่วมให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปเสมอ เพราะเราเชื่อว่ามันจะเป็นวิธีที่ทำให้งานออกแบบของเรามีความยั่งยืนกว่า

 “บางครั้งการได้รับโจทย์จากลูกค้าเราต้องควานหาความต้องการจริง ๆ ของเขาให้เจอ เราต้องนำตัวเองลงไปสำรวจ ไม่ว่าจะเป็นงานประเภทไหนเราต้องใช้สายตาที่สนใจเป็นพิเศษ ถึงจะดึงเนื้อหาและเสน่ห์ของงานนั้น ๆ ออกมาได้ ยกตัวอย่างเช่นงานวางผังเกษตรที่เราจะไม่ได้มองแค่ว่าจะปลูกอะไรบ้าง แต่เราจะถามลูกค้าว่า คุณอยากใช้ชีวิตยังไงในที่แห่งนี้ ให้เขามองภาพว่าเขาออกแบบชีวิตร่วมไปกับเรา ทั้งยังสำรวจนิเวศรอบข้างของเขา ครอบครัวของเขา แล้วดึงมาเป็นส่วนหนึ่งในงานออกแบบของเราให้งานของเราพอดีกับทุก ๆ ฝ่าย

“ในงานผังที่ทำงานกับชุมชน การที่จะทำให้งานสื่อสารของเราเข้าถึงคนได้มากขึ้น เราต้องใช้ทักษะในการฟังและสรุปประเด็นให้เราสื่อสารประเด็นออกมาได้อย่างถูกต้อง ส่วนในงานภาพวาดงานบางครั้งเราจำเป็นต้องใช้ภาพวาดของคนในชุมชนจริง ๆ มาวาดเพื่อเปิดโอกาสในการสื่อสารได้ง่ายขึ้นและชุมชนจะได้มีความรู้สึกว่ามีฉันอยู่ในนั้น ทำให้เขารู้สึกมีตัวตน มันเป็นการเปิดประตูหลาย ๆ บานให้เขา เพราะพวกเราเชื่อว่าเราสามารถเป็นกระบอกเสียงให้แก่คนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านั้นได้”

 

LITTLE HUM(BLE)

“ช่วงแรก ๆ เราก็ทำงานวาดภาพในคอม แต่มีอยู่ช่วงที่เรารู้สึกอยากวาดมันออกมาด้วยมือ เราก็เลยวาดภาพสีน้ำ แรก ๆ มันก็ไม่ได้ออกมาดีนะ แต่พอเราทำมันไปเรื่อย ๆ อยู่ดี ๆ มันก็กลายเป็นความเชี่ยวชาญของเรา ทำมันจนถนัดมือเรา ทำมันจนมันง่ายกับเรา รู้ตัวอีกที่มันก็กลายเป็นทักษะติดตัวเราไปแล้ว พอเราจะไปทำอย่างอื่นมันก็ไม่ถนัดแล้ว ซึ่งเราไม่ได้กำหนดว่า LITTLE HUM จะต้องทำงานสีน้ำเท่านั้น เพียงแต่เราว่ามีทักษะความเชี่ยวชาญอยู่เท่านั้นต่างหาก

“เหตุผลที่ต้องเป็นสีน้ำเพราะว่าเราสื่อสารกับคนได้ง่ายผ่านภาพวาด มันทำได้ด้วยมือทำให้เข้าถึงคนรับสารได้ง่าย ดูแล้วสบายตา มันทำให้งานของเรามีความอ่อนน้อมถ่อมตน สามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่เราอยากสื่อสารได้ดี และเปิดรอยยิ้มของผู้คนได้เสมอ”

ไม่ใช่แค่เพียงงานวาดภาพสีน้ำเท่านั้นที่แสดงออกมาถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน แต่สาวและเชนยังบอกเราถึงรายละเอียดในกระบวนการทำงานที่ต้องใช้หัวใจที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเข้าไปทำงาน

“ครั้งหนึ่งเราเคยไปทำงานออกแบบห้องเรียนชุมชน ในชุมชนแห่งหนึ่งที่เราไม่สร้างสามารถทำงานผ่านโครงสร้างของชุมชนได้ ไม่มีใครอยากให้เราลงชุมชน ฝ่ายไหนก็ไม่อยากคุยกับเรา ไม่อยากให้ข้อมูลเรา แต่เราใช้วิธีการที่ตลกมาก คือเราลงไปในพื้นที่เองเลย ไม่ต้องทำกระบวนชุมชน เราใช้วิธีการเดินไปทั่วชุมชน เดินให้คนในชุมชนเห็นหน้า ไปซื้อน้ำ กินขนม ไปใช้ชีวิตอยู่จนคนในชุมชนเข้ามาถามเราเองว่าเรามาทำอะไร และนัดคนในชุมชนมาทำกระบวนการร่วมกันได้ในที่สุด เราทำไปโดยที่ไม่ได้คิดถึงมุมที่เขาอาจจะต่อต้านเรา เพราะเราเชื่อว่าหากเรามีเจตนารมณ์ที่ดี ปลายทางมันจะเกิดผลลัทธ์ที่ดี และมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ”

 

งานที่เป็น (เหมือน) ชีวิต

“สำหรับเรา Calling work คืองานเขียน เพราะเราชอบเขียน งานชุมชนและงานออกแบบผังเกษตร คือ Career ส่วน Job คืองานกราฟิก งานกราฟิกเป็นงานที่ไม่ได้มีความหมายกับตัวเรามากนัก บางครั้งการแก้โทนปรับสีจึงเป็นเรื่องน่าหงุดหงิด แต่หากเป็นการแก้ผังที่เรารู้ว่าแก้จุดนี้แล้วจะทำให้ชีวิตคนในชุมชนดีขึ้นอย่างไร เราไม่เคยย่อท้อที่ต้องแก้งานแบบนั้นซ้ำ ๆ เพราะเรารู้สึกว่างานนั้นมีความหมายต่อเราและผู้อื่น” สาวย้ำถึงคุณค่าของเนื้องานที่เธอทำ และมันทำให้เธอยังคงทำ Little Hum อย่างมีความสุข

ส่วนเชนเองเสริมขึ้นอีกว่า นอกจากสตูดิโอเล็กๆ แห่งนี้ เขายังทำงานศิลปะชิ้นเล็กๆ ที่ยิ่งตอกย้ำถึงคุณค่าของงานที่เขาได้ลงมือทำด้วยตัวเอง

“นอกจากงานหลักที่เป็นอาชีพหล่อเลี้ยงตัวเองแล้ว เราก็จะมีงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เป็นความสุขให้กับตัวเองทำอยู่เสมอ เช่น เพื่อนจ้างให้วาดปฏิทิน วาดภาพประกอบหนังสือ ทำโปสการ์ดไปขายที่ถนนคนเดินวัวลายและวางขายที่ร้านเล่า (ร้านหนังสือบนถนนนิมมานเหมินทร์ จังหวัดเชียงใหม่) เมื่อคนมาซื้อโปสการ์ดของเราเรารู้สึกมีความสุขมาก ไม่ใช่เพราะว่าเราขายของได้นะ แต่เพราะงานเราได้ให้ความสุขบางอย่างกับเขาไป บางทีก็มีเด็กมาดูแล้วยิ้มหัวเราะ จินตนาการต่อยอดจากสิ่งที่เราวาดไป เราเห็นเขามีความสุข เราก็รู้สึกว่างานเรามีความหมาย

“สำหรับเรา เราทำงานจนเป็นเหมือนชีวิต การไปทำงานเหมือนการไปเจอเพื่อน พอได้เห็นว่างานที่เราทำจะสามารถไปใช้แก้ปัญหาหรือแก้โจทย์ในชีวิตของคนอื่น ๆ ได้ เรารู้สึกว่านั่นมีความหมาย และหากเราไม่ได้ทำงานที่มีคุณค่าต่อชีวิตของตัวเรา วันนึงเราจะรู้สึกกลายเป็นคนที่ไร้ความหมาย”

เบื้องหลังของสตูดิโอที่มีพื้นที่ไม่ถึง 5 ตารางเมตรนี้ ได้บอกกับเราว่า ไม่สำคัญว่าพื้นที่จะเล็กหรือใหญ่มากเพียงใด ไม่สำคัญว่าจะเป็นคนตัวใหญ่หรือคนตัวเล็ก เราต่างสร้างคุณค่าความหมายและความสุขให้แก่กันและกันได้ ทั้งผู้อื่นและตัวเราเอง

Contributors

โอบเอื้อ กันธิยะ

สถาปนิกชาวเชียงใหม่ที่ถนัดเขียนมากกว่าวาด ถนัดเล่าบอกมากกว่าร่างแบบ