ห่อวอ: เครื่องเทศแห่งป่าเขาที่แสดงถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

ท่ามกลางสถานการณ์การต่อสู้ทางกฎหมายระหว่างอำนาจรัฐและสิทธิมนุษยชนของชาวบ้านหมู่บ้านบางกลอย หมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใจกลางป่าแก่งกระจานมาแล้วมากกว่า 100 ปี ความเข้าใจของสังคมต่อวิถีชีวิต ภูมิปัญญาในการดูแลป่าอย่างชนชาวปกาเกอะญอนั้น ยังไม่ถูกถ่ายทอดออกไปในวงกว้าง วันนี้เราจึงอยากจะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกับป่าผ่านพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่าห่อวอ

ห่อวอ หรือ ผักอีหลึน เป็นพืชในวงศ์ Lamiaceae วงศ์เดียวกับกะเพราและโหระพา มักโตในที่โล่งท่ามกลางป่าดิบเขาและป่าเต็งรังบนที่สูง พบได้ในอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ลาว ไทย และเวียดนาม ลักษณะคล้ายต้นแมงลัก ออกดอกสีขาวแกมม่วงในเดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์ ติดผลในเดือนธันวาคม – เมษายน

แม้เป็นพืชที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก และหาพบได้ยาก แต่ห่อวอกลับเป็นเครื่องเทศชั้นดีที่อยู่ในแทบจะทุกเมนูของชาวปกาเกอะญอ เพราะลำต้นและใบมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ ใบสดจึงถูกนำมาใส่ในอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติ นอกจากนี้ยังสามารถนำใบไปตากแห้งเพื่อเก็บไว้ปรุงรสอาหารได้อีกด้วย เสมือนเป็นผงชูรสจากธรรมชาติโดยแท้ โดยเมนูที่ชูรสของสมุนไพรชนิดนี้ได้ดี คือ น้ำพริกห่อวอ

ดร.สุวิชาน พัฒนาไพร ชาวปกาเกอะญอผู้เป็นอาจารย์ประจำ “วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย” มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เคยกล่าวถึง ส่วนหนึ่งของเพลง ธา บทกวีของชาวปกาเกอะญอบทหนึ่งไว้ว่า แล เลอ ฆึ ถี่ ห่อ วอ พอ หน่อ บะ นา เยอ เหม่ ที ลอ (ท่ามกลางไร่ข้าวดอยดอกห่อวอผลิดอกงดงาม หวนถึงยามนึกถึงเธอนำ้ตาฉันร่วงโรย)

บทธาบทนี้มีนัยแสดงถึงบริบทของวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับป่าเขาของชาวปกาเกอะญอ ที่ใดมีไร่หมุนเวียน ที่นั่นมีห่อวอ เพราะไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอนั้นเป็นมากกว่าพื้นที่ปลูกข้าว แต่เป็นพื้นที่เพาะเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านที่นานาชนิด เป็นพื้นที่ทางเลือกในการสร้างวิถีชีวิตพึ่งพาป่าเขาอย่างยั่งยืน

เมื่อเรากล่าวถึงนิเวศธรรมชาติที่สมบูรณ์นั้น มักถูกคิดโดยตัดมนุษย์ออก ราวกับว่ามนุษย์นั้นมิใช่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ซึ่งหากเรายังคิดอยู่บนพื้นฐานเช่นนี้ เราอาจจะไม่พบคำตอบของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้เลย

นั่งลงเถิดพี่น้องเอ๋ย ชิมน้ำพริกห่อวอถ้วยนี้ด้วยกันก่อน แล้วค่อยเอื้อนเอ่ยเรื่องราวต่อจากนั้น

Contributors

โอบเอื้อ กันธิยะ

สถาปนิกชาวเชียงใหม่ที่ถนัดเขียนมากกว่าวาด ถนัดเล่าบอกมากกว่าร่างแบบ