แชร์ 4 ขั้นตอนของกอล์ฟ-นลธวัช มะชัย ที่ส่ง The Noise ขึ้นไปสู่เวทีระดับเอเชีย

คู่สนทนาของฉันไม่อนุญาตให้ขนานนามเขาว่า “นักกิจกรรม”

หากแต่ให้ใช้คำว่า “นักปฏิบัติการทางสังคม”

ชายหนุ่มวัยกลัดมันจากพื้นที่ปลายด้ามขวาน ผู้โยกย้ายสำมะโนครัวชั่วคราวขึ้นมายังหัวเมืองใหญ่ทางตอนเหนือเพื่อศึกษาเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษา มีกิจกรรมที่ทำควบคู่กันไปคือ การดำเนินปฏิบัติการทางสังคมอย่างที่เขาเคยกล่าวกับฉันมาแล้วหลายปี บ้างก็สุ่มเสี่ยงต่อการเข้าตะราง บ้างก็ส่งผลทางสังคมไม่ว่าจะเล็กใหญ่ ทั้งในและต่างประเทศ เขาใช้เครื่องมือมากมายในปฏิบัติการของเขา ทั้งการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์หรือการสะท้อนภาพความไม่เข้าร่องเข้ารอยของระบบสังคมและการเมืองไทยด้วยการแสดง หรือ Performance สารพัดรูปแบบ

กอล์ฟ-นลธวัช มะชัย คือคู่สนทนาคนที่ว่า กอล์ฟสร้างงานในชื่อกลุ่มลานยิ้ม และลานยิ้มการละครที่มีผลงานมากมาย ทั้งสะพานขาด ละครเวทีมีบทพูดที่สร้างจากเรื่องสั้นของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์, The Cage กรงรัก กักขัง เฆี่ยนฉัน ฟาดฉัน ให้รุ่มร้อนดังเปลวเพลิง ที่เพิ่งเสร็จสิ้นการแสดงในเทศกาลละครเยาวชน Act Up เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา หรือ Performance อย่างทรงกรวย, Reborn หรือ The Noise ผลงานล่าสุดที่เขาและญาติมิตรแห่งลานยิ้มการละครหมกมุ่นกับมันอย่างมาก

การแสดงที่ไม่มีบทพูด มีแต่ตัวละคร 4 ตัว และเสียงรบกวนทั้งจากตัวแสดงหรือสิ่งประกอบฉากรายล้อมที่สร้างเสียงรบกวนพร้อมกับท่วงท่าที่สะท้อนภาพสังคมไทยบางอย่างออกมาให้ผู้ชมได้ขบคิดไปพร้อมกับลีลาที่จัดจ้านของนักแสดง นั่นคือแก่นสารที่กอล์ฟและเพื่อนๆ แห่งลานยิ้มการละครสื่อสารออกมาให้เราได้เห็นในลีลาที่ต่างออกไปจากทุกการแสดงที่ผ่านมา

The Noise รูดม่านปิดการแสดงไปแล้วบนเวที Asian Youth Theatre Festival ที่จัดขึ้น ณ กรุงซาบา ประเทศมาเลเซียในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ฉันในฐานะผู้ชมรอบ Sneak Preview เมื่อกลางปีที่ผ่านมาตามคำเชิญของกลุ่มฯ ได้เห็นความก้าวหน้าและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาละครเรื่องนี้ ด้วยการมอบข้อเสนอแนะในฐานะผู้ชม และขอสนทนากับกอล์ฟหลังจบกระบวนการ จนสรุปบทสนทนาเหล่านั้นเป็นก้อนความคิดผ่าน 4 กระบวนการผลิต The Noise ที่กอล์ฟถอดบทเรียนจากงานละครชิ้นนี้ เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาละครที่ไม่ใช่แค่อยากให้วงการละครเวทีไทยมีความหวือหวา

แต่ใช้ละครเป็นพาหะสำคัญที่จะร้องป่าวความเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมไทย

Pre-Production: คำตอบเป็นพลวัต เฉลยไม่มีอยู่จริง

“ในไทยมันมีคนทำงาน Physical Theatre ไม่กี่กลุ่ม ซึ่งการทำ Physical Theatre เป็นโจทย์ของลานยิ้มในปีนี้เลยเพราะเป็นทิศทางที่เราสนใจ แต่ทีนี้มันไม่ใช่แค่พูดว่าเราจะทำแล้วมันจะทำได้ มันต้องศึกษาอย่างจริงจัง เพราะงานทุกชิ้นของเราคือการเรียนรู้ การเรียนรู้ของเราก็จะนำไปสู่การค้นคว้าอย่างหนัก กลุ่มลานยิ้มเรามันก็โตมาจากการทำ Action Research ของเรา ทั้งส่วนที่เราทำงานเกี่ยวกับสังคม ขยับมางานครีเอทีฟ ขยับมางานศิลปะทั้งแบบ Visual Art จนกลายเป็นละครเวที เราก็เลยค้นพบว่ายิ่งอยากค้นคว้า และด้านอีกด้านนึงเราก็อยากพิสูจน์หรือท้าทายคำสอนบางอย่าง

The Noise มันก็เกิดคำถามง่ายๆ ว่าสัญลักษณ์หรือ Symbolic มันเกิดขึ้นจากอะไร เราค้นพบว่าจริงๆ สัญลักษณ์ไม่ได้เกิดจากผู้รับหรือส่งสาร มันเกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้ว ผมในฐานะศิลปินไม่ได้สร้างสัญลักษณ์นี้ขึ้นมา คือสัญลักษณ์นี้มันมีความหมายของมันอยู่แล้วก่อนที่จะทำงานชิ้นนี้ มันไม่ได้เกิดมาจากการสร้างจากเงื่อนไขของเรา เพราะผู้ชมรับรู้มันอยู่แล้ว ก็เลยหยิบสัญลักษณ์พวกนี้มาใช้ เลยกลายเป็นว่าเราทำงานด้วยการกระโดดเข้ามารีเสิร์ชว่า Symbolic นี้หมายถึงอะไรๆ ท้ายที่สุดมันไม่ได้กลับมาค้นหาความหมายการของเคลื่อนไหวในลักษณะที่มันเรียบง่ายมากๆ หรือในลักษณะที่ไม่ต้องสวยหรูหรือบทเรียนคนอื่น ไม่ต้องพูดตามบทเรียนคนอื่น ตอนนี้มันเคลื่อนไหวแล้ว มันก็จะกลับมาถึงคำเดิมที่ลานยิ้มยึดกันมาตั้งแต่วันแรกเลยว่า ‘คำตอบคือพลวัต เฉลยไม่มีอยู่จริง’ ฉะนั้นเรายังเชื่อว่าคำตอบมันเปลี่ยนตลอดเวลาตามสังคม เฉลยจึงไม่มีทางมีอยู่จริง”

Research: ร้อยคน ร้อยความ ล้านความหมาย

“ตอนผมทำ Performance ชื่อ Reborn มันฉีกความรู้สึกนึกคิดของผมทิ้งหมดเลย เราทำเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ 14 ตุลาคม, 6 ตุลาคม, พฤษภาทมิฬ การประท้วงขับไล่ของกลุ่มคนเสื้อแดงปี 2553 มาถึงการรัฐประหารปี 2557 เราเล่นที่หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งชาติสิงคโปร์ คอการเมืองสิงคโปร์ทำให้เราก้าวข้ามบางอย่างก็คือ เขาไม่กลัวเลยว่าความหมายที่เราส่งคืออะไร อย่างผู้ชมคนหนึ่งบอกว่า เขาตีความว่า Reborn คือการเกิดใหม่ มันคือวัฎฎะสงสาร คือวัฎจักรของธรรมชาติ ของต้นไม้ ถ้ายังคิดแบบสังคมไทยเราอาจบอกตัวเองว่า ‘คุณพระ ที่กูคิดทำงานกันปีครึ่งก็กลายเป็นศูนย์เลยสิ’ (หัวเราะ) เพราะชาชินกับอุปทานหมู่ที่มีคนเปิด จะต้องมีคนคล้อยตามจนเห็นด้วย ถ้าไม่เห็นด้วยจากคนแรกที่พูด คุณจะกลายเป็นตัวประหลาด ถ้าเกิดเราคิดแบบนี้คือมันไม่ใช่ สารมันเดินทางของมัน แล้วก็ทำหน้าที่ของมัน ผู้ชมบอกว่า ‘ขอบคุณมากเลยที่คุณสื่อสารในสิ่งที่เรากำลังอึดอัด’ ไม่เลย เราต้องขอบคุณด้วยซ้ำ ผมไม่ได้สื่อสารในสิ่งที่คุณกำลังอึดอัด คุณเอางานของเรา ประเมินค่า ตีความงานของเราใหม่ แล้วกล้าที่จะฉีกความหมายทุกอย่างที่คณะละครเอาไปเสิร์ฟให้คุณ แล้วตีความออกมาเพื่อรับใช้ชีวิตของคุณอีกครั้งหนึ่ง”

Production: การแตกสลายของเงื่อนไขที่โอบรัด

“ผมกำลังมองในฐานะของนักวิจารณ์นะ ผมรู้สึกว่า The Noise กำลังพาทีมไปให้ไกลกว่าความคิด-ความอ่านของตัวเอง หมายถึงว่า เรายังทดลองงานในพื้นที่ของตัวเอง แล้วให้จินตนาการ ให้ความคิด ให้ทรรศนะ ออกเดินทางไปพร้อมกับการเดินทางที่เราเห็นโลกจริงๆ แล้วเราก็ค้นพบแล้วว่าเราให้เงื่อนไขเป็นร้อยเป็นพันอย่างจากการเดินทางของ มันโอบรัดเข้ามาเรื่อยๆ จนเราอึดอัดแล้วไม่รู้จะทำยังไง แล้วสภาวะความอึดอัดของการทำโปรดัคชั่นนี้แตกสลายตัวเองออกมา แล้วผมคิดว่านั่นแหละคือจุดที่คนทำละครเกิดปัญญาโดยไม่ต้องเดินทางไปเก็บองค์ความรู้จากที่ใดๆ แต่เกิดจากการที่เราไม่รู้ เราไม่ต้องรู้แม้กระทั่งทฤษฎีการละครก็ได้ เราทำ เราเห็น เราเจอข้อจำกัด แล้วเราพยายามที่จะทลายข้อจำกัด จนมันรัดแน่นแล้วมันก็แตก ถึงแม้ว่าจะยังไม่แตกร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันเกิดการแตกกระจายความรู้ของพวกเราเอง”

Aftermath & Post-Production: ทำให้ละครเป็นการเรียนรู้

“เวลาเราจะสร้างละครหนึ่งชิ้นในพื้นที่ละครมันมีจุดเริ่มต้น มีพรีฯ มีจุดซ้อม มีช่วงแสดง มีโพสต์ฯ แล้วก็จะรู้ว่าจุดจบที่เรามานั่งกินเหล้าเบียร์ฉลองกัน ขอบคุณคนนั้น-คนนี้ ที่ทำให้โชว์ประสบความสำเร็จ แล้วก็มีมิตรภาพ กอดกัน มันเห็นจุดจบแบบนั้น แต่ผมอยากรู้เหลือเกินว่าการเดินทางของสิ่งที่เราไม่ได้วางจุดจบเอาไว้ของ The Noise มันวางไว้ตรงไหน

“พอทำกันไปกันมา ก่อนหน้านี้ที่เราได้รับเชิญให้ไปแสดงที่มาเลเซียยังไม่มีโปรเจคต์เลย ก็เลยคุยกับทีมว่าเราจะเอา The Noise ไปแสดงมั้ย ซึ่งจริงๆ เราแทบจะไม่ได้ผ่านการจัดวางเอาไว้ด้วยซ้ำว่าจะไปมาเลเซีย แต่พอเอาไปแสดงที่มาเลเซียปั๊บ เพื่อนจากเกาหลีก็ชวนไปเล่นเกาหลีอีก คือเราไม่รู้จุดจบไงครับ แต่ระหว่างทางมันเกิดการสร้างกลุ่มละครเกิดขึ้น ฉะนั้นมันเห็นการเชื่อมโยง เชื่อมรอยประสานในฐานะประวัติศาสตร์ของงานชิ้นนี้ ที่ทำให้เกิดกลุ่มคนทำละคร

“ผมหวังอย่างเดียวกับโปรดัคชั่นนี้อย่างเดียวว่าต้องเกิดบทเรียน และมันเกิดโมเดลของการทำงานที่ไม่ต้องทำงานผ่านโครงสร้างเดิมๆ อยู่ตลอดเวลา แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีการ Top Down (การทำงานจากบนสู่ล่าง) เกิดขึ้น ซึ่งมันมีอยู่แล้ว แต่ว่ามันมีสภาวะที่ Top Down บางช่วงขณะที่จำเป็น ต้องใช้ลักษณะนี้ในการทำงานเท่านั้น แล้วถ้าไม่ใช่ช่วงนี้คุณก็มีลักษณะการทำงานอื่นๆ ที่สลับสลบปนเปกันไป แล้วในงานหนึ่งชิ้นคุณมีการทำงานที่มันแตกต่างกันออกไป มันเกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง มันเห็นการทำงานที่โตขึ้นในฐานะของเราที่เราสังเกตงานชิ้นนี้มาตั้งแต่ต้น แล้วเรามีเพื่อนร่วมงานทุกคนอยู่ด้วยกัน แต่เขาไม่ได้รู้เป้าอะฮะ มีผมรู้คนเดียว เพื่อที่จะทดลองว่ามันจะไปจบตรงไหน”

ภาพประกอบ: นลธวัช มะชัย
เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ bottomlineis.co | พฤศจิกายน 2562

Contributors

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด