คุยกับ “ฮ่องเต้ พรรควิฬาร์” เหยื่อบุลลี่, นักเรียนนอก, ช้างเผือก สู่นักเคลื่อนไหวแห่งนครพิงค์

ฮ่องเต้-ธนาธร วิทยเบญจางค์ คือนักศึกษาสายปรัชญาในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนกิจกรรมแฟลชม๊อบในนครพิงค์ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา

ชีวิตของเขาผ่านการดูถูกเหยียดหยามตั้งแต่รูปร่างที่ไม่สมส่วนตามสุขบัญญัติแห่งชาติ จนถึงการเติบโตในสังคมที่เขาตั้งคำถามมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ถึงเมื่อเขาพาตัวเองข้ามเขตแดนออกนอกประเทศจนตอกย้ำความเชื่อในใจ จากการเห็นความเหลื่อมล้ำที่เขาสัมผัสได้ด้วยตัวเอง

จากนั้นเขากลับมาเมืองไทยและไม่มีอะไรซับซ้อนเหมือนนักศึกษาที่พ่วงตำแหน่งนักกิจกรรมคนอื่นๆ ที่ตัดสลับกันระหว่างไปเรียนหนังสือ-จับไมค์ในม๊อบ-เดินเข้าเดินออกสถานีตำรวจและชั้นศาลจากการเป็นผู้ต้องหาในคดีความหลายๆ กระทงจากการทำกิจกรรมที่ว่า

และใช่-เขาไม่ยอมแพ้ ต่อให้จะต้องเอาตัวเองไปนอนตะรางมาแล้ว

เมื่อวานนี้ (17 พฤศจิกายน) หลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์เต็มหน้าฟีด พวกเราทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่ามันรุนแรงและเกินกว่าเหตุกว่าการฉีดน้ำใจกลางสยามเมื่อ 16 ตุลาคมเป็นไหนๆ ฮ่องเต้และแนวร่วมของเขาในชื่อพรรควิฬาร์ จึงเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดแฟลชม๊อบอีกครั้ง โดยมีจุดประสงค์คือ ไปแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ซึ่งใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่สถานีตำรวจ

หลายคนน่ารู้กันอยู่แล้วว่าความพยายามของขบวนจากอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ไปถึงสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ว่าสำเร็จหรือล้มเหลว แต่ถ้ามองกันในแง่การแสดงออก นี่คงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดตามสิทธิหน้าที่พลเมืองและเจ้าของประเทศพึงจะได้รับ (ถึงแม้ก่อนกลับจะมีการแจกอาหารบางอย่างให้เจ้าหน้าที่ก็ตามทีเถอะนะ)

จริงๆ แล้วเราคุยกับฮ่องเต้ตั้งแต่ 13 ตุลาคม 2563, สามวันก่อนการสลายการชุมนุมใหญ่ หลังจากเราแยกย้ายกันจึงทราบว่า ฮ่องเต้โดนหมายจับร่วมกับรามิล-วิธญา คลังนิล และมิว-วัชรภัทร ธรรมจักร เราจึงพักการเผยแพร่บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ไปก่อน

แต่เพราะแฟลชม๊อบทั้งหมดทำงานจนประสบผล และมันสมควรแก่เวลา เราจึงขอเชิญคุณทำความรู้จักกับนักศึกษาคนนี้ ที่ไม่ใช่ในฐานะแกนนำหรือผู้จัดม๊อบ

เพราะมันคือเรื่องของประชาชนที่เรียกร้องเพื่อสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมกันของประชาชนด้วยกัน อย่างที่ควรจะเป็นซักที

คุณเห็นความไม่ปกติในสังคมจากอะไร

เอาตั้งแต่เริ่มสังเกตเห็นก็เริ่มตั้งแต่ช่วงเด็กๆ เพราะที่บ้านมีโรงงาน ก็สงสัยว่าทำไมแรงงานเค้าอยู่ต่างกับเรา รวมถึงช่วงประถมก็มีความสงสัยว่าให้ยืนกลางแดด หรือว่าต้องเชื่อฟังครูที่ทั้งตีเรา คือประกอบกับช่วงประถมผมก็เป็นเด็กอ้วน โดนบุลลี่ ผมก็พอเข้าใจว่าทำไมความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสถานศึกษาเนี่ย ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนมาเหลียวแล

จนกระทั่งมาจริงๆ จัง มาสนใจก็ตอนรัฐประหารปี 2557 ตอนนั้นผมอยู่ ม.ปลาย ทำให้มีความสนใจมากขึ้นว่า แม่ง รัฐประหารอีกแล้วเหรอ ยิ่งผมก็ยังทันตอนรัฐประหารปี 2549 เนาะ ตอนนั้นทุกคนสนใจหมดว่าได้หยุดเรียน แต่ผมสงสัยว่ามันมีรถถังออกมา บวกกับผมเคยเห็นภาพตอนเด็กๆ ช่วงปี 53 ช่วงนั้นที่มีการยิงกันแล้วขาขาดหรือตาย ผมเห็นภาพนั้นมาแล้วจากสื่อ แล้วพอตอนรอบปี 57 เรามีความสงสัยว่าแล้วทำไมคนยังไม่สนใจอะไรกันเลยเหรอ มันเกิดอะรไขึ้น มันจะเกิดความรุนแรงกันอีกแล้วเหรอ ทำให้เริ่มสนใจมากขึ้น

เมื่อเก็บสำรวจกับเพื่อนฝูงในวัยเดียวกัน เพื่อนมีความคิดเหมือนคุณมั้ย

ไม่ครับ อย่างมากก็เรื่องยืนร้องเพลงชาติ ทุกคนบ่นเพราะด้วยความเป็นเด็กเพราะว่ามันร้อน แต่ผมไปต่อยอดตรงที่ผมโดนกลั่นแกล้ง คือมันมีหลายๆ รอบที่โดนกลั่นแกล้งแล้วครูใช้อำนาจของตนเองในการที่จะมาซ้ำเติมด้วย ก็คือให้โดนทำโทษทั้งคู่ ซึ่งมันไม่แฟร์ เราก็เลยมีความรู้สึกว่า อะไรที่มันไม่แฟร์ เราไม่ชอบ มันจะเป็นพื้นฐานของเราในเรื่องที่ว่า ทุกอย่างต้องแฟร์สิ

นิสัยส่วนตัวของคุณ คุณเป็นคนยอมคนมั้ย

เอาจริงคือ สมัยก่อนยอม แต่พอยิ่งโตมาเรื่อยๆ ก็ยิ่งสู้มากขึ้น ผ่านคำดูถูกด้วยที่ครูคนหนึ่งด่าว่า “ตัวใหญ่ ใจเสาะ” ก็ค่อยๆ เปลี่ยนมาถึงทุกวันนี้ ก็คงไม่มีใครกล้าว่าแล้วล่ะฮะว่าใจเสาะ

ในสิ่งที่เราโดนบุลลี่มา มันทำให้เรามีความมั่นใจในการใช้ชีวิตหรือตัดสินใจอะไรน้อยลงมั้ย

น้อยลงสิฮะ (ตอบทันที) การที่เราโดนบุลลี่ โดนกดขี่ไม่ให้แสดงออกทางความคิด มันเป็นเรื่องที่โหดร้ายนะ โดยเฉพาะเด็กช่วงอย่างที่ผมโตมา มันกลายเป็นว่า สิ่งที่เราต้องเจอมันกดไม่ให้เรากล้าออกมาพูดอะไรบางอย่าง รู้ว่าบางอย่างพูดออกไปมันไม่ได้ช่วยอะไรเรา มันจะสร้างปัญหาให้กับเราด้วย แต่สิ่งเหล่านี้มันค่อยๆ เปลี่ยนไปผมต้องบอกว่าโชคดีด้วยที่ขึ้นมัธยมต้น มา คนที่บุลลี่ก็ค่อยๆ หายไป บวกกับร่างกายเราโตขึ้น แข็งแรงขึ้น เด็กหน้ากลมๆ ตัวเตี้ยๆ ก็สูงขึ้นเรื่อยๆ คนก็ไม่ค่อยแกล้งกันแล้ว อาจจะมีเรื่องของคำพูดที่กระทบกระเทือนเราบ้าง

ทำไมถึงไปเรียนต่อต่างประเทศ

คือมันเป็นเรื่องระบบการศึกษาที่เราเรียนสายวิทย์ เราก็ถูกเกิดความคาดหวัง ส่วนตัวผมอยากเรียนสายศิลป์ ผมอยากเรียนปรัชญาอยู่แล้ว แต่ผู้ปกครองเค้าไม่ให้ เค้าบอกว่าการเรียนสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เป็นอะไรที่มันตกงาน ลำบาก ไม่ต้องไปเรียน เรียนไปไม่ได้รู้จะได้อะไร ก็เลยโดนบังคับให้เรียนสายวิทย์ แล้วพอเรียนสายวิทย์มันเนื่องด้วยว่าเราต้องหาอะไรที่มันมีความรู้สึกว่า พอเราไม่ได้เรียนปรัชญา ผมก็หาว่าอะไรใกล้เคียงกับปรัชญา แล้วผู้ใหญ่ก็จะยอมรับ ก็คือแพทย์

ก็ไม่วายไปตามค่านิยมเก่าๆ หรือ Stereotype คนไทยอยู่ดี

ใช่ ก็ถามว่าไปเรียนแพทย์ในเมืองไทยไม่ได้แน่นอน ผมไม่ได้มีหัวมาทางสายวิทย์อยู่แล้ว ผมชอบด้านภาษา สังคม ดังนั้นก็เลยไปเมืองนอก ยิ่งไหนๆ เราก็พอได้ภาษาจีน แล้วก็สอบ HSK ได้ระดับ 3 (จาก 6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด-ผู้เขียน) ทำให้เราได้มีโอกาสได้ทุนไปเรียนต่อ เรามีความหวังว่าการที่เราไปเรียนแพทย์แผนจีนมันจะช่วยยกระดับคนที่ถูกผู้ใหญ่มองว่า เออ ขี้แพ้ พ่ายแพ้ เป็นเด็กเอาแต่ใจ ไม่เอาการเอางาน เค้าก็จะมองเราใหม่

เมื่อไปเรียนต่อที่ประเทศจีนแล้ว คุณเจออะไรบ้างที่ทำให้รู้สึกว่า “นี่ไม่ใช่ที่ของเรา”

นอกจากเสรีภาพแล้ว ผมมีความรู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวเรา เราออกไปอยู่ข้างนอก เราเจอผู้คนที่หลากหลาย ซึ่งต้องบอกว่าผมโชคดีที่เจอคนดีๆ ที่เป็นคนไทยที่อยู่ที่หางโจว อาจารย์ก็นิสัยดี ก่อนหน้านี้หนึ่งปี ผมเรียนที่คุณหมิง สภาพเมืองที่ผมไป ที่อยู่ในซอยซอยก็จะสกปรกหน่อยๆ แล้ววิถีชีวิตก็จะต่างกัน คุณภาพชีวิตที่แตกต่างกัน ปีต่อมาผมย้ายมาเรียนที่หางโจว ที่เป็นเมืองคนรวย แต่คุณหมิงเมืองคนจน มันเลยต่างกัน ตอนผมอยู่คุณหมิง ผมต้องบอกจริงๆ ว่าหลายอย่างมันสกปรกมาก ห้องพักผมมีแมลงสาปวิ่งเกือบทุกคืน ต่างกับที่หางโจวมันดีกว่าแบบเห็นได้ชัด

เราได้รับรู้ถึงความอยุติธรรมในสังคม เรื่องความเหลื่อมล้ำ แล้วสิ่งที่ผมได้รับอีกอย่างก็คือ มันมีเรื่องของความยุติธรรมที่เกิดขึ้นที่ตอนนั้น ผมขอไม่เล่ารายละเอียดนะครับ แต่ผมไม่กล้าเข้าไปห้าม ทั้งๆ ที่ผมสนใจเรื่องการเมืองแล้ว แต่พออยู่ในสถานการณ์จริงๆ ผมยืนนิ่ง มันอยู่ต่อหน้าผมห่างไปประมาณเมตรนึง เพื่อนผมก็พากลับ แล้วผมก็ไม่กล้าเข้าไปห้าม หมายความว่าผมยังใจเสาะอยู่ ผมก็เลย ช่วงที่ผมกลับมาจากจีนปีแรกๆ ก็เลยออกกำลังกาย เปลี่ยนตัวเอง ให้มีความกล้ามากขึ้น มีความรู้สึกว่าสามารถช่วยใครได้จริงๆ ไม่ใช่ว่ามีแค่อุดมการณ์ ในการปฏิบัติเราทำไม่ได้เลย

แต่รูปลักษณ์ภายนอกก็ไม่น่าเกี่ยวกับใจที่อยากช่วยคนไม่ใช่เหรอ

ผมว่ามันเกี่ยวกันนะ ไม่ใช่เกี่ยวกับร่างกายที่คนอื่นมองกัน มันเกี่ยวกับภาพลักษณ์ พอภาพลักษณ์เราเป็นยังไง ในสายตาคนอื่นเค้าต้องตัดสินเรา อย่างตอนนั้นที่ผมดูดีขึ้น สูงขึ้น ผอมลง แต่ผมไม่มีกล้ามเนื้ออะไรเลย ผมรู้สึกด้อยค่าในตัวเองนะ ผมรู้สึกไร้ค่า อาจารย์ช่วง ม.ปลายก็ลดคุณค่าด้วยคำว่า ผอมแต่ก็ยังอ้วนอยู่ อวบอยู่ ตัวตั้งใหญ่มีแรงแค่นี้เหรอ มันทำให้เรารู้สึกว่าเราทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นก็เหมือนเป็นการว่าภาพลักษณ์เราไม่สำคัญ แต่คนอื่นมองมาแล้วทำร้ายจิตใจเราเรื่อยๆ มันเป็นตัวแปรสำคัญที่เราจะกล้าหรือไม่กล้า

การได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ ทำให้สถานะทางสังคมของคุณดีขึ้นมั้ย

ในสังคมทุนนิยม ทุกอย่างมันถูกตีเป็นมูลค่า เราถูกตีค่าภายในสังคมทุนนิยมอยู่แล้ว ดังนั้นผมจึงอ๋อนี่แหละตอนได้มาศึกษาในสายสังคมศาสตร์ว่า สิ่งที่เราโดนมันถูกอธิบายได้ว่ามันเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง เราไม่ได้ห่วยเพราะเราห่วย เราไม่ได้ห่วยเพราะเราไม่ขยันหรือไม่ฉลาด มันเกิดจากโครงสร้างบีบให้เราต้องมาทุกข์ทรมานกับสิ่งที่เราเป็น

ในเมื่อชีวิตเจอแต่สิ่งที่ไม่ยุติธรรม คุณเคยสัมผัสกับความยุติธรรมบ้างมั้ย

การที่เราออกมาสู้อะไรสักอย่างนี่คือจุดเปลี่ยนเลย กล้าที่จะตัดสินใจไปเรียนต่อที่จีน จากที่โดนดูถูก ความรู้สึกเราไม่ชนะอะไรสักอย่าง ยิ่งกว่านั้นคือเรากล้าที่จะทิ้งทุนการศึกษาที่เราไป เพื่อกลับมาเมืองไทยเป็นการกล้าที่ผมแน่วแน่มากที่สุดแล้วตอนนั้นในการกลับมาเรียนที่ไทย ยื่นที่ มช. ผมไม่เคยบอกครอบครัวผมเลยด้วยซ้ำว่าผมลาออกแล้ว ผมกลับมาอีกทีคือเค้ามารู้เพราะผมบอกว่า ผมไปสอบแอดมิชชั่นส์นะ เค้าถึงรู้

เป็นการตัดสินใจที่ยากหรือง่าย

ยากมาก เรากลับมาเราไม่รู้ว่าเราจะเจออะไร แล้วโดยเฉพาะสังคมที่เราเจอที่ไทยก่อนจะไปจีนมันแย่ ไม่ว่าจะในโรงเรียน หรือจะสังคมรอบข้างที่พยายามกดดันเรา เราเลือกการเรียนสายปรัชญาหรือคุรุศาสตร์ มันอาจจะดูโง่ แต่นั่นแหละฮะ เป็นสิ่งที่บอกว่าเรากล้าตัดสินใจได้ มันเพิ่มความกล้าให้เราได้

รู้สึกแพ้มั้ยที่ตัดสินใจกลับมาเมืองไทย

ผมรู้สึกว่าผมชนะ ผมไม่รู้สึกแพ้ ผมไม่รู้สึกว่าสองปีที่ผ่านมามันเสียเวลา เพราะสิ่งที่เราต้องเจอ ความอดอยาก การได้พยายามอะไรสักอย่างมันเป็นสิ่งที่มีค่า มันช่วยเติมพลังให้เรากลับมามีความมั่นใจอีกครั้งหนึ่งในการก้าวเดินสู่เส้นทางที่เราต้องการ

พอรู้มั้ยว่าสังคมในมหาวิทยาลัยเลวร้าย

ผมทำใจเลย (ตอบทันที) เพราะผมบอกรุ่นพี่คนนึงที่เคารพมากตอนอยู่ที่จีน เค้าก็เตือนว่าย้ายไปอยู่ประเทศอื่นเถอะ ไปทางยุโรป คือประเทศแรกๆ ที่ตัดสินใจไม่ใช่ไทย คือโปแลนด์ แต่สุดท้ายผมรู้ว่าเราก็ต้องกลับมาสอบ IELTS อยู่ดี เราอยู่ไทยแล้วค่อยไปตอนปริญญาโทดีกว่า เราสู้บ้างก็ดี

แล้วเมื่อมาเรียนจริงๆ ที่มหาวิทยาลัยในไทย คุณรับบทอะไรในการรับน้อง

รับทุกบทครับ คือผมเป็นคนที่สงสัยมานานว่าระบบที่เพื่อนๆ เข้าไปกันก่อนผมสองปีเ จากส่วนตัวที่ผมไปจีน ถึงผมจะบอกว่ามันเป็นประเทศที่ลิดรอนเสรีภาพ แต่ว่าการรับน้องมันไม่มี ยังมีเสรีภาพระหว่างนักศึกษากับนักศึกษา ผมก็เลยอยากรู้ว่าในระบบมันเน่าเฟะขนาดไหน เลยเข้ารับน้อง แล้วก็ไปประกวดดาวเดือนด้วย แล้วก็รู้สึกว่ามันเน่าจริงๆ อะ (หัวเราะ) มันไม่มีอะไรเลย อย่างประกวดดาวเดือน หน้าตามันเป็นส่วนชีวัดได้ยังไงว่าเราดีไม่ดี สังคมภายในมีแต่การแก่งแย่งกัน หักกันว่าฉันเหนือ ซึ่งผมมีปมเรื่องนี้ ผมไม่ชอบ หรือแม้กระทั่งเรื่องรับน้อง คุณเป็นใคร ผ่านประสบการณ์มาเยอะขนาดไหนถึงมีสิทธิ์มาสอนชาวบ้าน ผมก็สงสัย บวกกับผมไปอยู่ต่างประเทศที่เราก็รู้สึกว่าเรามีประสบการณ์เยอะอะ หลายๆ อย่างที่เค้าไม่ได้เจออะ เค้าได้เจออย่างเรารึเปล่า ก็เลยขบถกับมัน

การรับน้องยุคนี้เบาหรือแรง

จริงๆ มันทำร้ายจิตใจเยอะมาก เพราะมันไม่ได้โจมตีทางร่างกาย การที่เรารู้กันว่าเมเจอร์ผมเป็นพวกขี้แพ้ เพราะคนจะใส่เป็นอันดับสองหรือสามในการเลือกคณะเข้าแอดมิชชั่นส์ แค่นี้มันก็ถูกทำร้ายจิตใจมากพอแล้ว ยิ่งพอมารับน้อง รุ่นพี่มาบอกว่าคุณยังทำอะไรไม่ได้ มันยิ่งซ้ำเติมไปอีก หรือง่ายๆ ก็คือ มันทำร้ายความมั่นใจของคนที่จะศึกษาในคณะนี้ หรือคนที่อยากจะศึกษาในคณะนี้ อย่างผมตั้งใจอยากเรียนปรัชญาและอยากเรียนเพราะมันใกล้บ้าน ยิ่งพออ่านรีวิวที่บอกว่าเมเจอร์นี้มีคุณภาพระดับประเทศ แต่พอมาเจอของจริงแล้ววันๆ คุณทำแต่กิจกรรม ไปเรียงหินภาคฯ ไปขโมยป้ายเค้ามา มันไม่มีสมอง มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย มันยิ่งซ้ำเติมความรู้สึกคนที่โดนลดคุณค่ามาจากข้างนอกว่าเค้าทำได้แค่นี้ การเป็นนักศึกษาของเค้าคือแค่ขโมยป้าย ร้องเพลง แทนที่ปีหนึ่งจะได้กำลังใจหรือช่วยเค้าในการทำกิจกรรม อ่านหนังสือ ผลิตงานทางวิชาการ หรืออะไรก็ได้ที่มันสอดคล้องกับความเป็นภาคอย่างแท้จริง ที่ในสายตาชาวโลกเค้ายอมรับ แต่นี่คือคุณมาทำอะไรที่ชาวบ้านเค้าไม่ชอบอยู่แล้ว ไม่เมคเซนส์ ก็ยิ่งกดคุณค่าของเค้าลงไปอีก โดยที่เค้าไม่รู้ตัว

พรรควิฬาร์ของคุณขับเคลื่อนเรื่องอะไรบ้าง

มันเริ่มจากกลุ่มนักศึกษาที่รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมทางการเมืองซึ่งอยากเป็นพรรคสำหรับเลือกตั้งในมหาวิทยาลัยจริงๆ แต่ว่ากฎต่างๆ ในมหาวิทยาลัยไม่เอื้ออำนวยในการผลักดันตรงนี้ ดังนั้นเราจึงออกมาผลักดันในเรื่องภายนอกด้วยคู่ขนานกันไป ก็ยังเริ่มทำพรรคกันได้ไม่ถึงปี ที่เริ่มทำกันเป็นเชิงประจักษ์คือการจัดกิจกรรมม๊อบที่ประตูท่าแพ หลังจากเยาวชนปลดแอก (เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563)

เหตุผลออกมาจัดแฟลม๊อบครั้งนั้นคือ

ณ ตอนนั้นผมรู้สึกว่าไม่ควรที่จะทำให้คนที่จะแสดงจุดยืนโดดเดี่ยวหรือโดนทิ้ง เราควรจะต้องซัพพอร์ต เราต้องทำอะไรเพื่อช่วยพวกเขาด้วยสิ ซึ่งอย่างที่เห็นก็คือ งานวันนั้นไม่มีงบ ลำโพงยืม ไมค์ยืม แต่ก็รู้สึกได้ว่าเราทำ เราสนับสนุน ไม่งั้นมันจะรู้สึกเก้ๆ กังๆ อะ ก็เลยกลายเป็นกิจกรรมต่อๆ มาที่ใครทำอะไร เราก็ช่วยซัพพอร์ต

การทำงานกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง จุดร่วมที่คนทำงานมีเหมือนกันคืออะไร

หลายๆ คนก็รู้เหมือนกันว่าชีวิตตอนนี้มันไม่โอเค ไม่ว่าจะไม่โอเคเรื่องอะไร บางคนมีปัญหาเรื่องฐานะ การเหยียดเพศ ความมั่นคงในชีวิต หรือการเข้าถึงความรู้ ซึ่งนี่คือจุดร่วม เราทุกคนต้องการให้สิ่งที่เรียกว่ารัฐเนี่ย มาช่วยทำให้ชีวิตของเค้าดีขึ้น ไม่ใช่ว่าทำให้คนที่ไม่มีกลุ่มมีชีวิตที่ดีอยู่แล้ว ดีขึ้นไปอีก นี่คือจุดร่วมเลย

เมื่อคุณเลือกออกมาเคลื่อนไหวฯ คุณรู้สึกโดดเดี่ยวมั้ย

ต้องบอกว่ายิ่งทำก็จะยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะคนที่ให้กำลังใจกันเองก็คือกลุ่มนักกิจกรรมกันเอง แต่คนที่คอยมาเล่นมุก “คุกนะๆ” “อยากกินอะไรมั้ย” หรือการล้อเลียนการกระทำของเรา นี่แหละทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง จนกลายเป็นคำถามในใจว่าเราทำไปทำไม พวกนี้ไม่เคยคิดหันมาเข้าร่วมกับเรา ไม่ว่าจะมาชุมนุม มาช่วยขับเคลื่อน หรือมาทำอะไรสักอย่าง

แต่ถ้ามองดีๆ คนก็มาร่วมกิจกรรมที่คุณจัดเยอะขึ้นเรื่อยๆ นะ

ความรู้สึกนั้นมันจางลงเยอะครับ เพราะสเกลงานมันใหญ่ขึ้น แต่ก็อย่าลืมว่าโซเชียลมีเดียนี่แหละ คือสิ่งที่บั่นทอนเราเลย

คุณจัดม๊อบครั้งแรกก็โดนคดีเลย ชีวิตนักศึกษาที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลตลอดเวลามันวุ่นวายมากน้อยขนาดไหน

ผมโดนดคีหลายๆ คดีพร้อมกัน แล้วก็ทำกิจกรรมขับเคลื่อนไปด้วย มันลำบากชีวิตในการเรียน มันก็มีปัญหา ซึ่งการเข้าห้องฝากขังไม่ได้มีปัญหาอะไรสำหรับผม แต่ปัญหาคือมันมีคนสมน้ำหน้า โดยเฉพาะพวกเพื่อนรอบข้าง มันจะเป็นสิ่งที่บั่นทอนมากที่สุด แล้วเค้าก็มาตั้งคำถามว่า “ทำทำไม”

แล้วทำทำไม

ศรัทธาแหละ ศรัทธาล้วนๆ

เราศรัทธาและเชื่อเสมอว่าอุดมการณ์ของเรามันแน่ มันคือของ เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง อย่างน้อยเราทำเพื่อคนอื่น ทำเพื่อคนที่รัก คนอื่นจะว่ายังไงช่างมัน แต่สุดท้ายคนที่เห็นคุณค่าก็คือตัวเราเอง ถ้าเราทำอะไรที่มันพยายามถึงที่สุดแล้วจริงๆ เราเป็นที่จดจำแน่นอน ต่อให้เราตายก็ตาม

แล้วถึงตอนนี้คุณทำมันจนถึงที่สุดแล้วรึยัง

ไปได้อีกครับ ถึงแม้ว่าตอนนี้จะป่วยแล้วก็ตาม (หัวเราะ)

กำลังใจของคุณคืออะไร

อาจจะบ้าก็ได้นะครับ แต่ผมว่ามันคือศรัทธา ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำมันไม่สูญเปล่า ผมเชื่อว่ามันมีคุณค่าโดยไม่ต้องมีเหตุผลว่ามันมีคุณค่ากับใคร แต่มันมีคุณค่ากับอะไรสักอย่าง มันเหมือนความเชื่อทางศาสนานะ สำหรับผม อุดมการณ์ของผมมีความแน่วแน่

ในการปราศัยแต่ละครั้ง คุณเตรียมตัวยังไง

ถ้าเมื่อก่อนผมแทบไม่เตรียมนะ ผมมีความรู้สึกว่าการเตรียมมันไม่สด แต่พอปราศัยไปเรื่อยๆ ผมได้รับคำวิจารณ์มาหลายๆ อย่างว่ามันไปเรื่อยๆ พอมารู้สึกเองก็จริงๆ เพราะตอนพูดมันจบไม่ลง หรือเลยเวลาไป 10-20 นาที เราก็เลยต้องปรับ อย่างล่าสุดที่ผ่านมาก็จะเขียนสคริปต์เป็นหัวข้อๆ แล้วก็มีการรีเสิร์ชเพิ่มขึ้น ซึ่งมันก็โอเคขึ้น

คุณคิดว่าพลังของนักกิจกรรม หรือกิจกรรมของคุณมีผลต่อสังคมยังไง

มันมีผลมาก แต่เราก็ยังไม่เห็นเลยว่าข้อเรียกร้องกี่ข้อๆ ทั้ง 3-2-1 หรือ 10 ข้อ ยังไม่ได้ตอบรับสักอย่าง มันมีผลต่อประชาชนที่มาร่วม แต่รัฐบาลทำอะไรกับคำตอบของเรารึเปล่า เราต้องแยกกันตรงนี้ มันอิมแพคต่อสังคม แต่มันไม่ได้ถูกกดดันให้ข้อเรียกร้องผ่านสักข้อเลย

แล้วอย่างนี้เราจะต่อสู้กันไปเพื่ออะไร

เราต้องศรัทธาสิ ถ้าเราท้อ เราเลิก มันก็หมายความว่าสิ่งที่เราทำมาสูญเปล่า ยิ่งทำมาแล้ว ไปต่อ จะเหนื่อย จะท้อ ไม่งั้นสิ่งที่ทำมาจะทำไปเพื่ออะไร เราทำมาขนาดนี้แล้วเราจะหยุดนะ โดยที่เราไม่ได้อะไรเลย แล้วเราทำเพื่ออะไร มันต้องไปถึงจุดที่มันเกิดขึ้นได้แล้ว มันถึงจะตอบคำถามได้ว่าเราสู้ไปเพื่ออะไร มากกว่าการที่เราจะมาบอกตัวเองว่ามันไม่ได้อะไรเลย เราถึงจะตอบได้

ตอนนี้คุณคาดหวังอะไรจากรัฐบาล

รอบนี้ผมไม่ได้คาดหวังอะไรเยอะนอกจากว่ารัฐบาลจะไม่คุกคาม ไม่ออกมาต่อต้านประชาชน เค้าอาจไม่ทำตามข้อเรียกร้องก็ได้ แต่แน่ๆ คือเค้าไม่ทำร้ายเรา นั่นคือสิ่งที่คิดว่ามันสำเร็จในระดับหนึ่ง ต่อให้ข้อเรียกร้องไม่สำเร็จก็ตาม

สิ่งที่รัฐบาลตอบโต้มาสั่นคลอนศรัทธาในใจคุณมั้ย

เอาจริงๆ ผมไม่กลัวตายอยู่แล้ว อย่างตอนเข้าคุกผมก็ไม่ได้รู้สึกอะไร แต่สิ่งที่ผมรู้สึกคือเพื่อนๆ คือต้องบอกว่าที่เขามาขู่ เราต้องกดดันเค้ากลับ คนเราเยอะนะ เราจะทำยังไงให้เค้าไม่กล้ายิงเพื่อนเรา

ถ้าการต่อสู้ครั้งนี้ประชาชนชนะ คุณคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ทุกอย่างก็คงจะดีขึ้นน่ะ เพราะเรามีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน แต่ถามว่าหยุดมั้ย เป้าหมายผมไม่ได้มีอยู่แค่นั้น ผมจะไปต่อ เพราะแน่นอน ต่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ความเหลื่อมล้ำหรืออำนาจบางอย่างก็ยังมีอยู่ หรือประเด็นอื่นๆ ก็ยังมีอยู่ เราก็คงยังต้องทำงานต่อไปจนกว่าจะตาย

เรียนจบแล้วคุณอยากทำอะไร

มีหลายอย่างครับ แต่ก็อยากทำงานขับเคลื่อนและช่วยเหลือคนอื่นไปเรื่อยๆ อยากพัฒนาให้สังคมดีขึ้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นนักการเมืองหรือนักกิจกรรม หรือนักวิชาการต่อไปก็ได้ อยู่ที่ว่าผมจะไปถึงจุดไหน หลังๆ ผมไม่ค่อยอยากที่จะมานั่งกำหนดแล้วว่าฉันจะต้องเป็นอาชีพนั้น อาชีพนี้ ถึงจะทำสิ่งนี้ได้ เพราะสิ่งที่ผ่านมาทำให้ผมรู้ว่า เราจะอยู่จุดไหนก็ตาม เราไปทำอาชีพที่เราชอบ ยังไงมันได้ทำในสิ่งที่เราต้องการได้อยู่แล้ว เพราะสิ่งที่เราต้องการคือพัฒนาสังคมไปพร้อมกัน

คำถามสุดท้าย, คุณมีอะไรอยากพูดมั้ย

ผมอยากพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า ดราม่าต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ต ผมรู้ว่าทุกคนต่างต้องการทำเพื่ออุดมการณ์ของตนเอง แต่การที่เรามาต่อสู้โดยไม่ได้ใช้หลักการอะไรมาพูดคุยกัน มันคุยกันไม่รู้เรื่อง อีโก้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นควรจะลดกันบ้าง การพูดคุยกันมันจะนำไปสู่สังคมที่มีอารยะมากขึ้น ไม่ใช่การตบตีหรือใช้กำลัง ดังนั้นแล้วเราควรพูดคุยแลกเปลี่ยนกันให้มากขึ้น

Contributors

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด