เบื้องหลังการเป็น 6 คนสุดท้ายใน KAC-งานแข่งมิวสิกเกมระดับเอเชียของแฟค Keshiki27

แฟค-วศิน สุวรรณ คือหนึ่งในผู้เข้าแข่งขัน 6 คนสุดท้ายที่เคยไปยืนอยู่บนเวที Konami Arcade Championship หรือ KAC การแข่งขันเกมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียจากค่ายเกมที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีอย่าง Konami ซึ่งเขาได้ประลองฝีมือจนเป็นผู้เข้าแข่งขันในเวทีใหญ่ด้วยเกม DanceRush Stardom

จากชีวิตของเด็กผู้ชายที่ขับเคลื่อนด้วยเกมตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงวัยนักศึกษาที่เขาเคยไปใช้ชีวิตอยู่ในแดนอาทิตย์อุทัยถึง 2 ครั้ง ช่วงเวลาที่อยู่ในญี่ปุ่นทำให้เขาได้ตะลุยโลกของเกมจนค้นพบความน่าสนใจของเกมที่มีดนตรีเป็นแกนขับเคลื่อนหลักหรือมิวสิกเกม ซึ่งนั่นทำให้เขาเริ่มสนุกกับการเต้นเข้าจังหวะ นำไปสู่ฝึกฝนและเคี่ยวกรำทักษะจนทำให้เขาพาตัวเองไปสู่สังเวียนการแข่งขันมิวสิกเกมหลายต่อหลายเกม จนมาสุดที่การแข่งขันระดับเอเชียที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเขาก็วาดลวดลายอยู่บนแฟนเพจของเขาเองในชื่อ Dancin’ at D R-cade

เรายังยืนยันในจุดยืนของสื่อมวลชนที่มีกองบรรณาธิการผู้ขับเคลื่อนชีวิตด้วยเกมเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงหลักว่า เกมไม่เคยทำให้ใครเสียผู้เสียคน หนำซ้ำมันเป้นการฝึกปรือทักษะหรือแรงบันดาลใจในการเลือกเส้นทางชีวิตของคนๆ หนึ่งไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น

แฟคบอกเราว่ายังมีความท้าทายอีกมากมายที่รอเขาอยู่ แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในโลกแห่งมิวสิกเกมตลอดหลายปีที่ผ่านมาที่เขาผ่านมาหลายสนาม ได้สถิติตั้งแต่แย่ที่สุดจนถึงดีที่สุดก็ทำให้เขาได้เรียนรู้หลายสิ่งจากการเล่นเกม

ซึ่งเขาบอกว่าเป้าหมายสูงสุดไม่ใช่มิตรภาพ แต่เป็นความพอใจในการไต่ภูเขาลูกใหม่ๆ แห่งความท้าทายที่เขาอยากพิสูจน์ตัวเองให้ได้ในที่สุด

ทำไมคนเราต้องเล่นเกม

ก็ต้องถามกลับว่าคนที่ไม่เล่นเกมเนี่ย ชีวิตคุณไม่เบื่อบ้างเหรอฮะ (หัวเราะ) ไม่เครียดบ้างเหรอ คุณสนุกกับงาน 100 เปอร์เซนต์เหรอ เช่นว่าถ้าไปเจอเจ้านาย นั่งอยู่หน้าคอมทำบัญชีแบบนี้นะฮะ ไม่เบื่อเหรอ แต่คนส่วนใหญ่คนปกติทั่วไปคงเบื่อและเครียดจนต้องหาที่ระบายบ้าง และเกมนี่แหละคือคำตอบ

คุณอินกับการเล่นเกมขนาดไหน

ค่อนข้างอินนะ ต่อให้ไม่ใช่มิวสิกเกมก็อยากจะเล่นให้มันคุ้มที่สุด แบบเก็บทุกอย่าง ปลดล็อกทุกอย่าง พยายามหาว่ามันมีความลับอะไรซ่อนอยู่บ้างมั้ย แล้วก็เคลียร์ให้ครบทุกเลเวล

รู้จักมิวสิกเกมได้ยังไง

จริงๆ เกมแรกสุดนะที่เคยเห็นเพื่อนเล่นคือ O2Jam ซึ่งมันเก่ามาก แต่ผมเป็นคนขี้อายมากก็เลยไม่ได้ถามเพื่อนว่ามันชื่อเกมอะไร แต่เห็นเพื่อนเล่นในคอมพิวเตอร์ โห โน้ตมาอย่างเร็วอ่ะ มันมีอะไรไม่รู้วิ่งมาจากข้างบนจอลงมาข้างล่างแล้วมันก็กดทันด้วย มันดูเท่ว่ะ นั่นคือเกมมิวสิกแรกที่จำได้ว่าเคยเห็น แต่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเรียกประเภทเป็นมิวสิกเกม

แล้วเกมแรกที่ได้เล่นจริงๆ คือเกมอะไร

Dance Dance Revolution ครับ ช่วงนั้นน่าจะอยู่ ม.2 มันมีอยู่วันนึงที่ไปเดินห้าง แล้วเห็นเขาเอาแผ่นเกมเต้นเป็นแผ่นบางๆ เสียบกับเครื่อง PlayStation ได้เอามาวางขายในห้างสำหรับเอาไว้เล่นที่บ้านได้ ผมก็ลองไปเล่นดูแล้วก็ เออ สนุกว่ะ นั่นคือเกมแรกจริงๆ ที่ได้เล่น 

ประสบการณ์ตอนเหยียบลูกศรครั้งแรกเป็นยังไงบ้าง

ความรู้สึกแรกคือมันร้อนครับ (หัวเราะ) เพราะว่าเล่นในบ้านแล้วแม่ไม่ให้เปิดแอร์ แต่มันสนุกมาก เทียบกับเกมอื่นๆ ในเครื่องเพลย์ฯ เราต้องจับจอยสติ๊ก แต่อันนี้เราขยับร่ากายจริงๆ มันรู้สึก Real มากกว่า รู้สึกว่าได้ออกกำลังกายด้วย

จากนั้นคุณก็ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่น เราได้ยินมาว่าคุณก็อินกับวัฒนธรรมการเล่นเกมของคนญี่ปุ่นมากๆ 

แน่นอนครับ ไม่พลาดอยู่แล้ว ร้านอาเขตที่ญี่ปุ่นเยอะกว่า ดีกว่าไทย แล้วก็มีความแตกต่างพอสมควรนะอย่างแรกเลยคือตู้เกมญี่ปุ่นไม่ได้ตั้งเหมือนในไทย สังเกตว่าตู้เกมในไทยจะต้องตั้งในห้าง ไม่มีตึกของตัวเอง แต่ญี่ปุ่นเนี่ย มีอยู่บ้างที่มันตั้งอยู่ในห้าง แต่มันจะมีอีกส่วนนึงเขาจะมีตึกเป็นของตัวเอง แต่ทั้งตึก 2-3 ชั้น บางที่มีชั้นใต้ดินจะเป็นตู้เกมหมดคละประเภทไป อย่างที่สองคือเวลาเปิดเปิดได้นานกว่าถ้ามีตึกแยกของตัวเอง บางที่ก็เปิดถึงเที่ยงคืนหรือว่าเลยเที่ยงคืน อย่างที่สามก็คือแน่นอน เพราะว่าเขาเป็นผู้ผลิต ความหลากหลายของเกมประเภทของเกมก็จะเยอะกว่า มีหลายอย่างให้เล่นมากกว่า สภาพตู้ก็ดูแลดีกว่า อย่างที่สี่คือการบริการของญี่ปุ่น คือพนักงานเขาเข้าใจจริง อย่างสุดท้ายแน่นอนครับสังคมผู้เล่น ญี่ปุ่นจริงจังกว่าเยอะ มีจำนวนคนที่เราเห็นแล้วเรารู้สึกว่าเขาเก่งเยอะกว่า หาได้ไม่ยากน่าจะมีอยู่ทุกที่ทุกแห่ง

ความรู้สึกแรกที่เล่นเกมเซนเตอร์ที่ญี่ปุ่นเป็นยังไงบ้าง

โหมันก็นานแล้วนะช่วงนั้นผมอยู่ ม.5 จำครั้งแรกไม่ได้ แต่จำได้ว่าผมจะสนุกกับมันทุกครั้ง แต่ผมไปบ่อยนะ สัปดาห์ละครั้งสองครั้ง ถ้าช่วงนั้นผมจะเล่นเครื่อง UFO Catcher (ประเทศไทยเรียกว่าตู้คีบตุ๊กตา-ผู้เขียน) ที่ญี่ปุ่นมันมีสารพัดเลยนะ มันมีขนม โมเดล ซึ่งบางทีมันอาจจะไม่ใช่ฟิกเกอร์โมเดลของแท้หรือเป็นแบนด์หรูอะไร หรือบางทีขนมถ้าไปซื้อเองอาจจะคุ้มกว่า แต่ว่าพอตักได้แล้วมันรู้สึกชนะ มันอินน่ะ บางทีขนม 400 เยน (~120 บาท) ผมก็เสียเงินคีบไป 700 – 800 เยน (~280 – 320 บาท) คือโดยรวมก็ขาดทุนล่ะฮะ (หัวเราะ)

คุณอินกับเกมขนาดไหนถึงรู้สึกว่าต้องลองลงแข่ง

ก็เป็นตอน ม.5 ที่ไปญี่ปุ่น เกมเต้นที่มันมีที่นั่นคือ Dance Dance Revolution (DDR) เวอร์ชันตู้ของญี่ปุ่นเลย ก็อินกับมันอยู่แหละนะ อินถึงขนาดที่ว่าตอน ม.6 รู้สึกว่าแผ่นเกมเต้นที่มันอยู่ที่บ้านน่ะ มันสู้ของจริงไม่ได้ แต่ตอน ม.6 ในช่วงนั้นที่เมืองไทยรู้สึกมันไม่มี DDR ที่เป็นตู้เกมเหลืออยู่แล้ว หรืออาจจะมีแต่หายากจนผมหาไม่เจอก็ได้ แต่มันมีเกมใหม่ขึ้นมาชื่อว่า Pump it Up เป็นเกมเต้นเหมือนกันแต่มาจากเกาหลี เกมมี 5 ปุ่ม ซึ่งพอเราลองเล่นปุ๊บก็ เออ มันก็แทนกันได้นี่นา ก็เลยอินกับ Pump it Up ตั้งแต่ตอนนั้น 

อะไรที่ทำให้คุณตัดสินใจเล่นมิวสิกเกมแบบจริงจัง

ผมรู้สึกว่าชีวิตที่ผ่านมาของตัวเองอยู่เพื่อพ่อแม่หรืออยู่เพื่อคนอื่นตลอด อย่างตอนที่เลือกเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ก็ง่ายๆ เลย คิดว่าเราก็พอเรียนไหว คือเลือกคณะที่พอดูมีอนาคต ให้แบบว่าพ่อแม่รู้สึกปลอดภัยหายห่วงก็โอเค ซึ่งสุดท้ายเราก็เรียนจบมาได้เกียรตินิยมอันดับสอง แต่เอาตรงๆ คือไม่ได้ชอบอะไรมันขนาดนั้น แค่แบบรู้เรื่องเรียนแล้วเข้าใจ ทำข้อสอบได้ แต่มันก็ยังไม่ใช่อยู่ดี รู้สึกว่าที่ผ่านมาเนี่ยตั้งแต่เด็กจนถึงมหาลัย ตัวเองแบบว่ายังใช้ชีวิตบนพื้นฐาน Academic จ๋าไปนิดนึง ยังใช้ชีวิตไม่คุ้ม

แล้วคำว่าใช้ชีวิตคุ้มในความหมายของคุณคืออะไร

การได้ลองทุกสิ่งทุกอย่างแล้วค้นพบในสิ่งที่ตัวเองชอบ แล้วก็ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ แล้วก็ยังสามารถหารายได้ไปกับมันด้วย

การเล่นเกมของคุณไปสุดที่การลงแข่งได้ยังไง

อย่างเกม Pump it Up หรือ DDR ก็ตาม เรื่องของเกมเต้นประเภทเหยียบลูกศรจะแบ่งสไตล์การเล่นได้เป็น 2 แบบ คือแบบ Speed ที่เล่นเพลงยากๆ ความเร็วสูงๆ โน้ต (ลูกศร) ดูยากๆ ขึ้นถี่ๆ ที่ผู้เล่นเขาจับบาร์ข้างหลังแล้วเหยียบรัวๆ คือมันไม่ค่อยเหมือนเต้นจริงๆ หรอก แต่มันดูน่าทึ่งนะ ดูเหนือมนุษย์ ผมทำไม่ไหว แต่มันจะมีการเล่นอีกวิธีนึงคือ Freestyle ก็คือเลือกเพลงซึ่งส่วนมากก็จะเลือกเพลงง่ายๆ แล้วพยายามใส่ท่าเต้นที่เราคิดเองเราออกแบบเองเข้าไปให้มันเหมือนเต้นจริงๆ เหยียบลูกศรไปด้วยแล้วพยายามเต้นจริงไปด้วย ซึ่งผมฝึกเยอะมากฮะสัปดาห์ละครั้งเป็นขั้นต่ำ เล่นวันนึงก็เสียเงินประมาณ 100 – 200 บาท

การเล่นเกมเต้นด้วยวิธี Freestyle มีความยากหรือง่ายยังไงบ้าง

ก็แล้วแต่คนนะ ถ้าหันหน้าเข้าตู้แล้วเราจำเพลงได้ จำโน๊ตได้ เข้าใจจังหวะอยู่แล้ว มันก็ไม่ยากขนาดนั้น แต่ว่าเวลาไปแข่งเนี่ยมันก็จะมีความยาก คือไม่ได้มีกฎบอกชัดเจน แต่พวกเราจะรู้ๆ กันว่าควรจะหันหน้าออกจากตู้ ก็คือดูโน้ตได้บ้าง แต่อย่าเยอะเกินจนน่าเกลียด อาจจะหันหน้าหาคนดูบ้าง หันหน้าเข้าจอบ้าง เพราะว่าต้องสื่อให้คนดูเห็นจริงๆ ว่ามันเหมือนโชว์ แต่ผมโชคดีอย่างหนึ่งคือผมมีพื้นฐานบีบอยก็เลยเอามาใส่ได้ เลยคิดว่าที่เราเล่นเกมแบบ Freestyle ได้เพราะเรามีพื้นฐานเต้นจริง มันก็ได้เปรียบคนที่อยากจะฟรีสไตล์แต่เต้นไม่เป็นมาก่อน เลยทำให้ด้านนี้เราได้เปรียบ ก็เลยเอาดีตรงนี้แล้วกัน พอเห็นป้ายว่าเขาจัดแข่ง แบ่งเป็นประเภท Speed ก็คือที่เต้นแบบเหยียบลูกศรเร็วๆ เราไม่สนใจ แต่มีประเภท Freestyle ด้วย ก็ลงไปเลย 

แล้วในการลงแข่งครั้งนั้น คาดหวังรางวัลหรือไปเพราะความสนุก

ก็ทั้งคู่นะ ตอนนั้นก็อยากได้รางวัลด้วย

พอได้รางวัลจากการแข่งครั้งนั้นแล้วมันทำให้คุณจริงจังมากขึ้นมั้ย

ตอนนั้นเหมือนจะยังนะ แค่รู้สึกว่า โอเค..เราก็เล่นเกมนี้ต่อไปนั่นแหละ แต่ผมก็เล่นผสมสองอย่างไปเรื่อยๆ นะ ทั้ง Speed และ Freestyle ถึงแม้ว่า Speed จะไม่ได้เก่งถึงขนาดแข่งได้

แล้วจุดไหนที่ทำให้คุณรู้สึกว่า “จะเอาดีทางนี้แหละ เต็มที่ไปเลย”

มันก็พูดยากนะ ขนาดเมื่อก่อนที่คิดว่าจริงจังแล้ว พอเราย้อนไปดูตัวเองอีกทีมันก็ ‘นี่เรายังไม่จริงจังพอ’ อย่างเมื่อก่อนพอมีแข่ง Dance Baze แล้วเป็นการแข่งครั้งแรกของประเทศไทย แล้วเราได้ที่ 1 เรารู้สึกว่าโอเค ตอนนั้นเราจริงจังแล้ว ฉันจริงจังดีกว่า แต่พอมามองย้อนกลับไป ผมก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองจริงจังเท่าตอนนี้ เลยบอกว่าตอบยาก

พอเราข้ามผ่านตรงจุดนั้นมาแล้ว อะไรทำให้คุณไปเริ่มแข่งในเวทีใหม่ๆ

หลังจากปี 2018 ก็มีเกม Dancerush Stardom เข้ามา พอได้ลองเล่นปั๊บแล้วรู้สึกฟินเลย เพราะเราเล่นเลเวลสูงๆ ได้เลย แถมมันกว่าที่คิด แล้วพอ Dance Baze มันไม่มีอัพเดท ก็เลยหันมาเพ่งความสนใจที่ Dancerush Stardom แทนแล้วกัน 

แต่ที่มาเริ่มจริงจังอาจจะเป็นเพราะว่า มันมีอยู่วันนึง มีคนๆหนึ่งชื่อพี่ไก่ ผมรู้จักเขามานานตั้งแต่สมัยตอนเล่น Pump it Up นะ เขาอยากจะถ่ายคลิปกับผมเล่นๆ แล้วเขาก็ถ่ายคลิปเพลง Crazy Shuffle ครับ ซึ่งเป็นเพลงที่ผมฟังแล้วก็ไม่ค่อยชอบ แล้วก็ไม่เคยเล่นมาก่อน ตอนนั้นที่เซ็นทรัลพระราม 9 มันตู้เกมนี้มีสองตู้ พี่ไก่เต้นตู้ซ้าย ผมเต้นตู้ขวา ให้อีกคนนึงตั้งกล้องถ่ายจากข้างหลัง ก็ถ่ายขำๆ ไม่มีอะไร ปรากฎว่าพอลงยูทูปไป ตอนนี้ได้ 5 ล้านวิว แล้วช่องเขาดังเลย แต่มันลงช่องเขาไง (หัวเราะ) แล้วเราก็เพิ่งมาเห็นว่า ที่เราคิดว่าท่าเราสวยน่ะ จริงๆ มันไม่ได้สวยเลยนี่หว่า แล้วทำไมเราถ่ายด้วยกันแต่เขาแบบดังคนเดียว เราต้องเริ่มจริงจังบ้างแล้ว แบบจริงจังกว่าที่ผ่านมา ต้องเริ่มเลยไม่ใช่รอแข่งแล้วค่อยซ้อม ถ่ายคลิปทำแชนแนลไปเลยนั่นล่ะครับ 

หลังจากนั้นเป็นยังไงต่อ ก็ฝึกกับตู้มาเรื่อยๆ

รู้สึกว่าช่วงนั้นที่คิดทำแบบเนี้ย ประจวบเหมาะกับมีแข่ง Dancerush Stardom พอดี ถ้าสังเกตประวัติผมตั้งแต่เริ่มมาจะเห็นว่าผมติดตู้เกมมาก ติดเกมเต้นมาก ต้องเป็นสักเกมในช่วงชีวิตหนึ่ง ผมคือขอให้เป็นเกมเต้นสักเกมมันได้หมดแหละ เราเปลี่ยนมาเกมนี้แล้วมันมีแข่งพอดี แล้วเราจะปฏิเสธทำไมล่ะ

ย้อนกลับไปคำถามเดิม ปัจจัยในการไปเลือกลงแข่งคือเพื่ออะไร ตำแหน่ง เงินรางวัล หรือไปเอาสนุก

จริงๆ ชีวิตคนเรามันไม่ได้เลือก A-B-C-D รึเปล่าฮะ มันไม่ใช่ข้อสอบมหาลัยนะ ผมคิดว่าเราเอาพร้อมกันได้ มันไม่ได้เหมือนข้อสอบมหาลัยที่เราต้องเลือก A B C หรือ D อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะมันมีผลประโยชน์หลายอย่างนี่แหละถึงยิ่งน่าลง

แล้วกว่าคุณจะได้เป็นตัวแทนไปแข่งมันมีวิธีการยังไงบ้าง

คือน่าเสียดายที่การแข่งขัน BEC (Bemani E-sports Championship) รอบคัดเลือกมันใช้คะแนนจากตู้เกมเป็นตัวคัดเลือกล้วนๆ ไม่ดูคะแนน Performance เลย แล้วเขาจะคัดเลือกตัวแทนประเทศไทย 1 โดยให้ส่งคะแนน 5 เพลงที่เขากำหนดผ่านห้อง Discord แล้วเล่นในตู้ให้ได้คะแนนสูงๆ อย่างเดียว ไม่สนท่าหรือ Perform แล้วถ่ายคะแนนตอนจบจากหน้าตู้มาลงในห้อง ใครได้คะแนนสูงสุดก็ได้เป็นตัวแทนประเทศไทย มันเลยทำให้คนสนใจน้อย ทั้งๆ ที่ผู้เล่นไทยจริงๆ ก็มีเยอะอยู่นะ ประมาณตอนนั้นที่จริงจังก็ 20-30 คน แต่มีคนแข่งกันส่งคะแนนรวมผมด้วยแค่ 4 คนเอง

ถ้ามองเป็นการกระจายความเสี่ยง ยังไงคุณก็น่าจะได้รับเลือกเพราะคู่แข่งน้อย

มันก็ควรจะเป็นแบบนั้น แต่อีกคนนึงโหดมาก แบบเป็นอัจฉริยะด้านมิวสิกเกม ไม่ใช่อัจฉริยะด้านการเต้นนะ ผมก็ชนะแบบฉิวเฉียดอ่ะ อย่างถ้าเป็นเกมอื่นๆ เนี่ยมันจะไม่อะไรเลยนะ เพราะเป็นธรรมชาติของเกมที่ต้องได้คะแนนสูงๆ แต่ DanceRush Stardom เนี่ยมันควรจะมีการเต้นจริงผสมด้วยรึเปล่า มันก็มีคนไม่พอใจแหละ

แล้วตอนคุณที่รู้ว่าตัวเองชนะแล้วได้เป็นตัวแทนจริงๆ เกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น

ตัวงาน BEC คือแข่งเพื่อคัดเลือกเอาตัวแทนไปแข่งที่ญี่ปุ่นอีกที สำหรับปีของผมแข่งที่ไทยนี่แหละ คัดเลือกแต่ละประเทศก่อน 4 ประเทศแข่งกัน ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แล้วมาเลเซียกับสิงคโปร์รวมเป็นหนึ่งประเทศ ให้แค่ 1 โควต้า เนี่ยพอคัดเลือกได้ตัวแทนแต่ละประเทศแล้วก็มาแข่งกันที่ The Street รัชดา

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับตัวแทนแต่ละประเทศในตอนนั้น คุณมองเห็นอะไรบ้าง

เอาตรงๆ มั้ย ผมว่าผมชนะอยู่แล้ว เพราะว่าระบบรอบคัดเลือกของมันคัดโดยเอาแต่คะแนนอย่างเดียว คนที่ได้มาส่วนใหญ่คือสายมิวสิกเกมที่แบบเล่นคะแนน ปกติใช้มือกดดูโน้ตเร็วๆ ได้แต่ว่าเต้นไม่ค่อยเป็น คือรอบคัดเลือกตัวแทนแต่ละประเทศใช้คะแนนอย่างเดียว แต่พอมารอบ 4 ประเทศเนี่ย มีเก็บคะแนนเต้นด้วยใช่มั้ย มันก็ยิ่งทำให้ง่ายขึ้นสำหรับผมเข้าไปอีก

ได้คิดภาพไว้มั้ยว่าการไปแข่งที่ญี่ปุ่นจะเป็นยังไง ยิ่งใหญ่ขนาดไหน หรือภาพในหัวคุณเป็นยังไงบ้าง

ไม่เคยคิดมาก่อนเลยด้วยซ้ำว่าจะได้ไปแข่งที่ญี่ปุ่น ภาพในหัวคือจริงๆ ก็หวังว่าอยากจะแบบเข้ารอบชิงเป็นอย่างน้อย แต่ก็ภาพในหัวมันก็คงประมาณที่เคยดูในคลิปการแข่ง KAC (Konami Arcade Championship) ปีที่แล้วๆ ว่าจะมีคนดูเยอะ จะมีความจริงจัง มีความเป็นทางการ

แล้วภาพที่เห็นบนเวทีจริงๆ เป็นยังไง

เวทีเล็กกว่าที่คิด จัดในฮอลล์เล็ก แต่ก็ตื่นเต้นมากๆ อยู่ดี คือตื่นตระหนกเลย เพราะว่าในฮอลล์เล็กๆ นั้นผมมั่นใจว่าคนที่ไปดูการแข่ง ถ้าไม่ใช่ผู้เล่นก็ต้องมีพื้นฐานเข้าใจเกม ไม่ใช่คนดูทั่วไป เพราะนั่นมันถิ่นเจ้าภาพที่มีแต่เทพเต็มไปหมด ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบางคนที่ยืนดูอยู่อาจจะเก่งกว่าเรารึเปล่า แอบหวั่นอยู่นะ แล้วพอเราไปเห็นคนที่เราเคยเห็นมาก่อนในวิดีโอการแข่งเมื่อปีที่แล้วอ่ะ รวมถึงแชมป์กับรองแชมป์ดวลกับผู้เล่นอื่นที่เขาเทพๆ ตัวต่อตัวแบบเนี้ย โห จะสู้ได้มั้ยนะ

แล้วเมื่อถึงเวลาแข่ง คิดอะไรอยู่

คิดว่าทำให้ดีที่สุดพอ ไม่หวังชนะ เพราะว่าคนที่เหลือคือโหดร้ายมาก โดยเฉพาะแชมป์กับรองแชมป์ปีที่แล้ว มันเป็นครั้งแรกของเรา ประสบการณ์อะไรเหมือนรีเซ็ตนะ ถึงแม้ว่าจะเคยไปแข่งที่อินโดนิเซียแล้วก็ตาม แต่ผมว่ามันต่างกัน เกมพวกนั้นคือเหมือนให้เวลาคิด Performance ล่วงหน้า แต่การแข่งครั้งนี้คือใช้คือเพลงเดียวกัน ไม่มีเวลาเตรียมท่าอะไรมาก งัดของที่ตัวเองมีทั้งหมด คือเขาบอกลิสต์เพลงที่จะสุ่ม รอบรองฯ 3 เพลง รอบชิงฯ 3 เพลง 2 – 3 วันก่อนแข่งจริง มันก็ไม่ได้มีเวลาเตรียมท่ามาก ก็เลยคิดว่า อะ เอาให้มันมันส์ที่สุดแล้วกัน แต่พอเต้นจริงแล้วมันรู้สึกดีขึ้นนะ จากที่มันเคยประหม่าๆ พอได้เต้นจริงแล้วมันค่อยๆ ระบายออกมา รู้สึกดีขึ้น เวลาคนแบบ เวลาเราทำท่าว้าวแล้วคนดูเฮตามอ่ะ ก็คือคนดูญี่ปุ่นก็ใจดีกับเรา

ผลออกมาเป็นยังไง

ก็คิดว่าคงไม่ผ่านไปรอบชิง สุดท้ายก็ไม่ผ่านไปรอบชิงจริงๆ นั่นแหละ คะแนนรวมได้ที่ 5 ซึ่งจริงๆ ผมว่าไม่น่าเกลียดมาก แต่ละคนคือคะแนนแบบสูสีมากเลยนะถ้าไปดูแล้ว แล้วคนญี่ปุ่นเขาก็ชมว่าเออ ผมเท่ดี สไตล์แบบโดดเด่นดีอะไรแบบนี้ หลักๆ คือเราพลาดเรื่องคะแนนในตู้เลยห่างกับคนอื่นเยอะ

ความรู้สึกหลังแข่งเป็นยังไง เสียใจเป็นเรื่องธรรมดากับการไม่ชนะ

จริงๆ ไม่ค่อยเสียใจเลย เพราะว่าพอยิ่งเห็นที่ 2 กับที่ 1 น่ะ วันนั้นแข่งคือเขาสมควรอยู่ตรงนั้นจริงๆ เราสู้เขาไม่ได้จริงๆ ณ ตอนนั้น แล้ว ณ ตอนนี้สู้ได้รึเปล่าก็ยังไม่รู้ โดยเฉพาะที่ 1 นี่มันเหนือมนุษย์มาก รู้สึกว่าการได้ไปอยู่ที่นั่นก็เป็นบุญแล้ว

จากที่ผ่านมาทุกเกม หรือว่าการเดินทางไปแข่งขันที่ผ่านมา มันสอนอะไรกับเราบ้าง

ที่ผ่านมาเราคิดว่าเราจริงจัง ที่ผ่านมาเราคิดว่าเราพยายามเต็มที่แล้ว ที่ผ่านมาผมคิดแต่ว่ารอให้มีงานแข่ง ต้องชนะ ต้องเอาเงินรางวัล คนที่เหลือคือศัตรูหมด ก็เลยโฟกัสแต่แข่งอย่างเดียว อาจจะไม่ได้เข้าสังคมมากอะไรขนาดนั้น แค่ถ้ามีคนทักก็ไม่ได้หยิ่งก็ตอบนะ แต่ไม่ได้เป็นฝ่ายเข้าหาใครก่อน แต่จริงๆ มันไม่ใช่ เรามันคิดผิด อย่างแรกเลยคืองานแข่งมันไม่ได้มาทุกปีทุกครั้ง โควิดเนี่ยชัดเจนมาก แต่ต่อให้ไม่ใช่โควิด ก่อนหน้านี้มันก็มีบางช่วงของชีวิตที่มันไม่มีแข่งเลย Life Lesson นั้นคือไอ้การจะหารายได้จากการเล่นเกมเต้น หรือพวกเกมดนตรีอะ ไม่จำเป็นต้องรอจากการแข่งอย่างเดียว จริงๆเราสามารถทำอย่างอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นเปิดช่องยูทูปอย่างที่พี่ไก่ทำอยู่ และก็เป็นสิ่งที่ผมกำลังพยายามทำอยู่เหมือนกันถึงแม้จะยังไม่รุ่งก็ตาม

มองเห็นอนาคตของตัวเองในเส้นทางการเป็นนักแข่งมิวสิกเกมไว้ยังไง

จริงๆ ผมต้องบอกไว้ก่อนนะว่า ผมไม่คิดว่ามันจะเป็นอาชีพได้หรอก สมัยเด็กๆ เคยคิดว่าเราจะหาเลี้ยงตัวเองด้วยการทำแบบนี้ เหมือนเป็นรายได้เสริมก้อนใหญ่ส่วนนึง แต่เราควรจะเลิกมองว่ามันเป็นช่องทางเดียวในการหาเงินได้แล้ว ช่องทางในการหาเงินมันยังมีอีกหลากหลาย แต่ถ้าถามว่าอยากจะแตะในจุดที่สูงขึ้นมั้ย ก็ต้องรอให้โควิดมันหายก่อนล่ะ ก็ยังอยากจะไปแข่ง KAC อีกครั้ง อยากจะทำให้มันดีขึ้นกว่าครั้งที่แล้ว แต่ในเวลาเดียวกันก็จะพยายามมาทำคอนเทนต์ในยูทูปบ้าง ไม่ได้เป็นแค่แข่งอย่างเดียว อยากจะเป็นคนที่เอนเตอร์เทนทุกคนในยูทูปด้วยคลิปเต้น แล้วก็ทำคลิปสอน เหมือนเป็นยูทูปเบอร์สายมิวสิกเกมคนนึงด้วย

สิ่งที่ดีที่สุดที่คุณได้รับจากการเป็นนักแข่งเกมหรือการเล่นมิวสิกเกมของคุณคืออะไร

บางคนอาจจะตอบมิตรภาพ แต่สำหรับผมมันคือความภูมิใจส่วนบุคคลแล้วกัน เวลาที่เราเล่นเพลงยากๆ ได้แล้วคนทึ่ง หรือเวลาที่เราสามารถเต้นแล้วใส่ท่าประกอบแล้วทำให้คนดูอ้าปากค้างได้เนี่ย หรือแม้กระทั่งคนที่เล่นสายสปีดแล้วเล่นเพลงระดับสูงๆ ผ่าน มันก็เป็นความภูมิใจ ความฟินอย่างหนึ่ง คือมันต้องอาศัยความพยายามจริงๆ มันอาศัยความทุ่มเทจริงๆ แล้วพอเคลียร์ได้แล้วมันก็เป็นความภูมิใจเล็กๆส่วนตัว ตอนที่ผมเล่น DanceRush Stardom แล้วได้แบบเลเวล 10 คือเลเวลสูงสุด แล้วได้คะแนนเต็ม 100 ผมก็ตะโกนลั่นห้างเหมือนกันนะ 

ขอขอบคุณ
บริษัท Echo Games & Karaoke จำกัด

Dancerush Stardom has been owned by KONAMI and BEMANI

Contributors

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด

อาภาภัทร ธาราธิคุณ

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ที่หลงใหลในจังหวะดนตรีและมีความสุขกับการเต้น ปัจจุบันทำเพลงเป็นงานอดิเรกที่จริงจัง และกำลังพัฒนาตัวเองเพื่อให้ฝันเป็นจริง