10 ปีจากไอดอลโตเกียวสู่ถนนทางหลวง 106 และการเป็นชิไฮนินของอิซึรินะ CGM48

ในสายอาชีพหนึ่งๆ ใครสักคนที่ยืนระยะทำอะไรสักอย่างในวิชาชีพเดิมได้ถึง 10 ปี ถ้าไม่ใช่โชคชะตานำพา ไม่ใช่พรหมลิขิตบันดาล ก็น่าจะเป็นความสามารถและศักยภาพล้วนๆ ที่ทำให้คนๆ หนึ่งได้รับการยอมรับและอยู่ในเส้นทางเดิมได้ถึงทศวรรษ

คู่สนทนาตรงหน้าของฉันทำอาชีพเดิมมาถึง 10 ปี และเป็นครั้งแรกที่เธอเปลี่ยนอาชีพแต่ยังคงอยู่ในสายงานเดิม หากแต่เธอเปลี่ยนจากเบื้องหน้ามาเป็นเบื้องหลัง-สมกับคอนเซปต์เว็บไซต์ของเรามั้ยล่ะ

รินะ อิซึตะ คือชิไฮนินหรือผู้จัดการวง CGM48 ซึ่งพ่วงตำแหน่งเมมเบอร์ในขณะเดียวกัน เราคงคุ้นหน้าเธอจากการเป็นสมาชิกที่ย้ายจากวงพี่สาวต้นฉบับอย่าง AKB48 ซึ่งเป็นมาแล้วทุกสถานะ ตั้งแต่เด็กฝึกหรือเค็งคิวเซย์ จนได้โอกาสเข้าร่วมทีมตั้งแต่ทีม A,B,4 ก่อนจะย้ายมาเป็นหนึ่งในสมาชิกทีม BIII (B-Three) ของ BNK48 และย้ายมาเป็นชิไฮนินและสมาชิกสองลำดับแรกของทีม C ในวง CGM48

ย้ำอีกที ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลา 10 ปี

CGM48 เข้าขวบปีที่สองอย่างสวยงามด้วยกระแสที่ค่อยๆ ดีขึ้นจากการชื่นชมของแฟนคลับ โอตะ และแฟนๆ ภายนอก ที่มองเห็นพัฒนาการที่ก้าวกระโดดขึ้นเรื่อยๆ ของเมมเบอร์ทั้งการร้อง-เต้น-การสร้างความสุขให้กับแฟนๆ และการสร้างสรรค์ผลงานหลายต่อหลายชิ้นที่เราเชื่อว่ามันผ่านการคิดมาอย่างดี จนได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากแฟนๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

ในฐานะบรรณาธิการ-ฉันดีใจที่ได้รับเกียรติในการนั่งสนทนากับเธอตลอดสองชั่วโมง เพราะเรื่องราวของเธอข้นคลั่กไปด้วยแรงบันดาลใจและความพยายามของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่รักในอาชีพของเธอ และทำมันอย่างสุดตัวเพื่อสร้างความสุขให้กับผู้คนจนกลายเป็นที่รักต่อสาธารณชน และกำลังจะส่งต่อความฝัน ความพยายามก้อนเดียวกันให้กับน้องสาวอีก 24 คนที่เธอกำลังดูแลอยู่

ในฐานะโอตะคนหนึ่ง-ฉันก็ไม่คิดว่าจะได้สนทนากับคามิโอชิของตัวเองอย่างใกล้ชิดขนาดนี้

อย่าอิจฉาหรือโกรธเคืองฉันเลย-ฟังเรื่องราวการเดินทางตามความฝันจากย่านอากิฮาบาระที่ทอดยาวสู่ถนนสายต้นยาง 106 ของเธอกันเถอะ

ความฝันต้องเกิดหยาดเหงื่อจึงได้มา ใช้เวลาและค่อยเป็นค่อยไปดอกไม้จึงบาน

Shonichi-วันแรก

เด็กหญิงรินะ อิซึตะ ไม่เคยฝันอยากเป็นไอดอล

ย้อนกลับไปในช่วงหนึ่งที่ดินแดนอาทิตย์อุทัยยังไม่รู้จัก AKB48 รินะในวัยเด็กที่หลงไหลในการเต้นจนลงเรียนอย่างจริงจัง และมีโอกาสได้ขึ้นโชว์เคสตามเวทีต่างๆ อยู่บ่อยครั้งก็รู้สึกได้ว่าการเคลื่อนไหวร่างกายท่ามกลางแสงไฟตามจังหวะดนตรีเป็นสิ่งที่เธอชอบ และฝันไว้ว่าจะได้ทำมันเป็นอาชีพเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

จนเมื่อเธออยู่ชั้น ม.2 ในพิธีจบการศึกษาแบบขนบญี่ปุ่นจะมีการให้ของขวัญรุ่นพี่ เพื่อนๆ ของรินะต่างชักชวนกันให้ทำการแสดงคัฟเวอร์วง AKB48 ในเพลง Aitakatta (อยากจะได้พบเธอ) รินะเองที่มีพื้นฐานการเต้นอยู่แล้วจึงเป็นหัวหอกในการซ้อมการแสดง จนโชว์วันนั้นได้รับคำชมอย่างล้นหลามจากผู้ชมในวันนั้น 

นั่นทำให้รินะกลายเป็นหนึ่งในแฟนคลับของ AKB48 ในที่สุด

และการที่แฟนคลับวงไอดอลจะอยากเป็นไอดอล ก็คงไม่น่าแปลกอะไร

“ตอนที่ขึ้นเวทีโชว์เพลง Aitakatta ก็รู้สึกว่าสนุกมาก แล้ววันนั้นแค่มาเต้น ไม่ได้ร้องเพลง แล้วปกติที่เคยเต้นก็จะเป็นสไตล์ฮิปฮอป หรือว่าแจ๊สแบบผู้หญิงๆ ไม่ค่อยมีสไตล์ไอดอล เลยคิดว่า ‘อุ๊ย แนวไอดอลก็น่ารัก สนุกดีนะ’ ก็ตัดสินใจไปสมัคร AKB48 ทั้งๆ ที่อีก 10 นาทีจะหมดเวลารับสมัครแล้ว แล้วไม่คิดว่าจะติด ถ้าติดก็น่าจะสนุกแล้วก็ได้เจอเพื่อนที่เหมือนกับรุ่นพี่ในวง เพราะเมื่อก่อนไม่เคยเจออาชีพแบบนี้ มันน่าสนใจ”

“แล้วอาชีพไอดอลในความคิดของคุณ ณ ตอนนั้นมันเป็นยังไงบ้าง” ฉันถามกลับ

“รู้สึกวงไอดอลคือเหมือนเป็นคนที่ทำให้คนอื่นๆ ที่สนับสนุนเนี่ย มีความสุข ไม่ใช่ว่าเป็นคนที่ต้องเก่ง เต้นเก่ง ร้องเพลงเก่ง หรือมีงานจับมืออะไรเป็นเหมือนกิจกรรมอะไรขนาดนั้น แล้วก็เหมือนได้คุยกับแฟนคลับ ได้เป็นกำลังใจให้แฟนคลับ แล้วแฟนคลับก็เป็นกำลังใจให้เรา เพื่อให้แบบมีความสุขกัน ก็รู้สึกว่าเอ มีอาชีพแบบนี้ด้วย เพราะว่าตอนแรกเหมือนปกติศิลปินดาราเวลามีงาน จะไม่ค่อยมีงานจับมือ ไม่ค่อยเจอกับแฟนคลับเท่าไหร่ แต่ว่าไอดอลคือได้เจอกับคนที่สนับสนุนตลอด เลยรู้สึกว่าไม่เหมือนกันกับศิลปินคนอื่น เลยรู้สึกตกใจแล้วก็น่าสนใจ” รินะตอบคำถามของฉัน

ทักษะที่ช่วยให้รินะได้รับคัดเลือกจนเป็น Trainee ของ AKB48 ในตอนนั้นคือเรื่องการเต้น เพราะเธอร้องเพลงยังไม่เก่งมาก แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่ในความเชื่อของเธอเสมอมานับแต่วันยื่นใบสมัคร และกลายเป็นเหตุผลสำคัญในการตัดสินใจเป็นไอดอลเธอ

เธออยากให้ทุกคนมีความสุข

เธอต้องลองทำมันอีกสักครั้ง อย่ายอมแพ้คลื่นลมนั้น

River

หนึ่งในเอกลักษณ์ที่สำคัญของ AKB48 คือการแสดงสดที่จัดขึ้นในโรงละคร AKB48 Theatre ที่ตั้งอยู่บนชั้น 7 ของห้างดองกิโฮเต้สาขาอากิฮาบาระ ซึ่งกว่าการแสดงที่สนุกสนานในแต่ละรอบจะได้ปรากฎสู่สายตาผู้ชม ย่อมเกิดจากการฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วง

เพราะหลายคนพอรับรู้จากพื้นที่สื่ออื่นๆ อยู่แล้วว่าการซ้อมของวงไอดอลตระกูล 48 Group นั้นโหดและหนักมาก ทั้งซ้อมร้อง ซ้อมเต้น หรือไหนจะต้องหาเสน่ห์ของตัวเองในการเอ็นเทอร์เทนแฟนๆ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สมาชิกทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ และเด็กฝึกในตอนนั้นอย่างรินะต้องผ่านมันไปให้ได้

หลังจากได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกรุ่นที่ 10 ของ AKB48 ได้ไม่ถึงเดือนดี รินะต้องขึ้นแสดงบนเธียเตอร์ร่วมกับรุ่นพี่ในฐานะ Back Dancer ที่ยังไม่มีใครรู้จักเธอและเพื่อนๆ เพราะว่าสมาชิกรุ่นที่ 10 ไม่มีงานเปิดตัวแบบรุ่นพี่อีก 9 รุ่นก่อนหน้า วันนั้นเธอเป็นส่วนหนึ่งที่ยืนอยู่ข้างหลังมายูยุ หรือมายู วาตานาเบะ อดีตสมาชิกคนสำคัญของ AKB48 ซึ่งเป็นที่นิยมมากในเวลานั้น

ความรู้สึกของเทรนนี้ในวันนั้นคืออะไร?

“รินะเต้น แล้วก็ร้องเพลง โชว์วันนั้นมี 16 เพลง แต่วันนั้นเราเป็นอันเดอร์ของรุ่นพี่มายูยุ แล้วเขาเป็นเซ็นเตอร์ของเสตจนั้น แต่ว่าเหมือนรุ่นพี่คนอื่นก็อยู่ด้านหลัง พี่มายูอยู่ข้างหน้า เราอยู่ตรงกลาง เลยรู้สึกกดดันมากๆ แล้วก็ตื่นเต้น แม้ว่าคนข้างนอกจะไม่รู้จักรินะเพราะยังไม่มีการเปิดตัว (หัวเราะ) เลยไม่รู้ว่าแฟนคลับของรุ่นพี่มายุ แล้วก็แฟนคลับของ AKB48 รู้สึกยังไง แต่ที่แน่ๆ รู้สึกกลัวและกดดันมากๆ เพราะรุ่นพี่อยู่ข้างหลังหมดแล้วเราอยู่ข้างหน้าคนเดียว แต่เวลาขึ้นเวทีมันสนุกมากจริงๆ เพราะเวลาเราเต้น แล้วแฟนคลับเชียร์ตลอดมันสนุกมาก พอผ่านไปก็ไม่ค่อยรู้สึกกดดัน” รินะอธิบาย

รินะเล่าให้ฉันฟังต่อว่า ระหว่างที่สมาชิกยังเป็นเด็กฝึกหรือ Trainee นอกจากต้องมาซ้อมแล้วยังต้องขึ้นเป็นสมาชิกอะไหล่ให้กับเมมเบอร์บางคนที่ไม่สามารถขึ้นโชว์ได้ รินะเคยนับสนุกๆ ว่าเธอเคยขึ้นเวทีเธียเตอร์ในฐานะ Trainee กว่า 200 รอบ! ซึ่งนั่นส่งผลให้รินะจำ Set List การแสดงของหลายๆ ทีมได้ขึ้นใจ จนเธอบอกว่า เธอน่าจะได้ร้องเพลงของทุกทีมมาแล้ว และนั่นทำให้แฟนคลับหลายๆ คนเริ่มจดจำเธอได้

“จริงๆ ตอนขึ้นแสดงเธียเตอร์ก็เหนื่อย แต่รินะว่ามันสนุกมากกว่า เราอยากขึ้นเวทีจะได้มีประสบการณ์ แถมได้ขึ้นเวทีกับรุ่นพี่ทำให้ได้ประสบการณ์กับรุ่นพี่ด้วย แล้วแฟนคลับรุ่นพี่ก็เหมือนได้เห็นรินะชัดขึ้น จนแฟนคลับได้รู้สึกว่า ‘โอ๊ะ..Trainee คนนี้เก่งนะ’ ‘Trainee คนนี้มีเสน่ห์’ คนที่รู้จักรินะก็มากขึ้นด้วย ตอนเป็น Trainee เลยพยายามขึ้นเธียร์เตอร์บ่อยๆ เพราะชอบมากกว่ามันสนุกมากด้วย”

ในขณะเดียวกันที่เพื่อนร่วมรุ่นต่างถูกคัดเลือกให้กระจายเข้าทีมต่างๆ รินะเป็นสมาชิกที่ใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าจะได้เข้าทีมแรกคือทีม A ซึ่งนั่นเป็นช่วงเวลาที่บั่นทอนจิตใจ และเกิดคำถามมากมายต่อเส้นทางในการเป็นไอดอลของเธอ

“รินะเป็น Trainee ประมาณ 2 ปีกว่าๆ ซึ่งมันนานกว่าเพื่อนคนอื่น บางคนใช้เวลาแค่ครึ่งปีก็ได้เป็นเข้าทีม A หรือทีม B แต่ว่าบางคนมันต้องรอ 2 – 3 ปี ต้องใช้เวลานาน ตอนนั้นที่รู้สึกคือคือ อุ๊ย เพื่อนได้เป็นเมมเบอร์แล้ว ทำไมฉันยังเป็น Trainee อยู่ ก็รู้สึกว่าเสียใจนิดนึง แต่ก็ยังได้ขึ้นเธียร์เตอร์แล้วยังมีคนที่สนับสนุนรินะอยู่ด้วย เลยคิดว่าถ้าเรายอมแพ้หรือว่าจบการศึกษาตอนนี้ คนที่สนับสนุนอยู่น่าจะเสียใจแน่นอน ก็เลยยังพยายามเพื่อคนที่สนับสนุน”

“แล้วเคยคิดอยากจบการศึกษา (ออกจากวง) บ้างมั้ย” ฉันถามต่อ

“อึม….” 

คู่สนทนาของฉันคิดอยู่นานกว่าจะตอบคำถามของฉันว่า เพราะเธอคิดถึงแฟนคลับทุกคนที่ให้กำลังใจทั้งจากหน้าเวทีเธียเตอร์และการสนับสนุนในด้านต่างๆ จากเพื่อนๆ ภายในวง ทำให้เธอต้องพยายามและฮึดสู้ขึ้นมา เพื่อคนที่ยังคอยสนับสนุนเธอ

อย่ากลัวอะไรทั้งนั้น ต่อให้คืนนี้ฟ้ายังมีน้ำตา

Reborn

“แค่ขึ้นเวทีก็รู้สึกมีความสุข เลยไม่เคยคิดว่า ‘ฉันอยากเป็นเซ็นเตอร์’ แต่ถ้าได้ติดเซ็มบัตสึ หรือได้เป็นเซ็นเตอร์ ก็รู้สึกดีใจแถมได้ประสบการณ์ด้วย แต่ AKB48 มีเมมเบอร์เยอะมากๆ (หัวเราะ) ก็เลยโอกาสน้อยกว่าวงอื่น แต่ว่าคนที่ไม่ติดเซ็มบัตสึก็ยังมีโอกาสขึ้นเธียร์เตอร์ หรือทำงานกับรายการวาไรตี้ (ในที่นี้คือรายการ AKBINGO-ผู้เขียน) เมื่อมีโอกาสที่เข้ามา ก็ต้องพยายามเต็มที่เพื่อโอกาสนี้ แล้วยิ่งถ้าแฟนคลับมีความสุข ก็ไม่เกี่ยวกับว่าจะติดเซ็มบัตสึหรือเป็นอันเดอร์เลย เพราะคนที่สนับสนุนเราเขาอยู่กับเราเสมอ”

นี่คือสิ่งที่รินะตอบฉันเมื่อถามถึงการเป็นเซนเตอร์ หรือการอยู่ในตำแหน่งที่เด่นที่สุดประจำซิงเกิลของวง AKB48 ซึ่งจะส่งผลต่อความโดดเด่นในพื้นที่ Air Time บนพื้นที่สื่อทั้งในมิวสิกวิดีโอ การเดินสายแสดงสดตามรายการต่างๆ หรือการแสดงในเธียเตอร์

แต่เพราะชีวิตของคนเราคาดเดาอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น และโอกาสมักพัดพามาในเวลาอันสมควรเสมอ

วันหนึ่งรินะได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมโปรเจคต์ Team Surprise ซึ่งแทบไม่มีรายละเอียดอะไรมากไปกว่าเนื้อเพลงหนึ่งหน้ากระดาษที่ทีมงานมอบให้เธอเพื่อฝึกร้อง และไม่มีการเขียนมาร์คเอาไว้ว่าสมาชิกคนใดต้องร้องเพลงท่อนไหน ทำให้รินะต้องจำเนื้อเพลงทั้งหมด

“วันที่ไปห้องอัดเสียง ก็มีชื่อรินะอยู่ด้านบนสุดเลย เราก็คิดว่า ‘เอ๊ะ ทำไมเราต้องร้องตรงนี้นะ’ รู้สึกงงนิดนึง แต่พอลองร้องแล้วเพลงก็สนุกดี เนื้อเพลงความหมายก็ดี ตอนอัดเสียงเสร็จออกจากห้องก็เจอกองถ่าย ทีางานก็เดินมาขอสัมภาษณ์ เราก็คิดว่า เอ สัมภาษณ์เพื่ออะไร เขาก็มานั่งถามว่า ‘รู้มั้ยเพลงนี้เป็นเพลงของใคร’ เราก็ไม่รู้ เลยตอบไปน่าจะเกี่ยวกับโปรเจคต์พิเศษของรุ่นพี่รึเปล่า เพราะแค่มาช่วยร้องเพื่อทำเดโม่ ไมได้คิดว่ามาร้องเพลงเลย (หัวเราะ) สุดท้ายทีมงานก็บอกว่า ‘เพลงนี้รินะเป็นเซ็นเตอร์นะ’ เรารู้สึกตกใจ ตอนแรกคิดว่า เฮ้ย โกหกหรือเปล่า (หัวเราะ) เพราะมันเซอร์ไพรส์มาก สุดท้ายร้องไห้แล้วก็ดีใจมากๆ” รินะเล่าถึงการได้เป็นเซนเตอร์แบบงงๆ

เพลงนั้นชื่อว่า Reborn ที่ถูกเขียนโดยอากิโมโตะ ยาสึชิ ผู้ก่อตั้งวง AKB48 และโปรดิวเซอร์มือทองที่ปั้นศิลปินมากมาย เขาเขียนหลายๆ เพลงที่สื่อความเป็นตัวตนของสมาชิกที่ได้รับเลือกให้เป็นเซนเตอร์ในซิงเกิลนั้นๆ และอีกหลายเพลงก็กลายเป็นเพลงฮิตในชั่วข้ามคืนเมื่อถูกปล่อยสู่สาธารณะ อาทิ Heavy Rotation หรือ Koi Suru Fortune Cookie

“รินะตกใจที่เขาเขียนเนื้อเพลงให้รินะจริงๆ ก็รู้สึกว่า โอ้โห กดดันมากๆ” เธอตรงหน้าบอกฉัน

เรา เราจะบินไป เรา เราจะลอยไป

365 Nichi no Kamihikouki-365 วันกับเครื่องบินกระดาษ

เพื่อนสมาชิกและแฟนคลับล้วนแต่ยินดีกับก้าวใหม่ในการเป็นเซนเตอร์ของรินะ ซึ่งระหว่างทางเส้นทางการเป็นไอดอลของเธอ AKB48 ค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มมีวงน้องสาวในประเทศต่างๆ ในแถบเอเชีย และ AKB48 ก็ได้โอกาสในการมาแสดงที่ประเทศไทยบนเวที Japan Expo งานมหกรรมเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

รินะบอกฉันว่า ตอนนั้นเธอไม่ใช่ Top Member ที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป แต่เมื่อเธอขึ้นแสดงบนเวที และมีคนตะโกนขึ้นมาว่า “นั่นอิซึรินะ” จึงทำให้เธอดีใจมากๆ และรู้ได้ทันทีว่าดินแดนสยามเมืองยิ้มได้ต้อนรับวงไอดอลหญิงจากแดนอาทิตย์อุทัยวงนี้ไว้ในอ้อมใจเรียบร้อยแล้ว

“แฟนๆ ร้องเพลงก็เป็นภาษาญี่ปุ่น ยิงมิกซ์ก็เป็นภาษาญี่ปุ่นด้วย เลยรู้สึกว่าถ้าร้องเพลงภาษาญี่ปุ่นได้ขนาดนี้ มิกซ์ภาษาญี่ปุ่นได้ขนาดนี้ คงชอบ AKB48 จริงๆ เลยรู้สึกดีใจมากๆ แล้วก็ถ้ามีโอกาสก็อยากมาประเทศไทย มาแสดงที่ประเทศไทย”

สำหรับไอดอลหญิงจากต่างประเทศคนหนึ่ง การมีตัวตนอยู่ในประเทศที่เธอไม่รู้จักนั่นถือว่าเป็นกำลังใจที่ดีมากๆ 

แต่ก็เหมือนที่บอกไปก่อนหน้า, บางทีความฝันของเราอาจเกิดขึ้นได้จริงๆ โดยที่เราไม่ได้ทัดทานด้วยซ้ำ

วันหนึ่งรินะได้รับเชิญให้ร่วมโต๊ะอาหารกับเมมเบอร์รุ่นพี่อีกสองคนและผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งว่า AKB48 กำลังจะมีวงน้องสาวที่ประเทศไทย และการนัดทานอาหารมื้อนั้นคือ การถามความสมัครใจสมาชิกบนโต๊ะอาหารในการย้ายวง

รุ่นพี่ทั้งสองคนที่ร่วมโต๊ะอาหารในวันนั้นตอบปฏิเสธ จนการตัดสินใจไปถึงรินะที่ยังสองจิตสองใจและใช้เวลาตัดสินใจร่วมเดือน แต่เพราะเพื่อนสนิทของเธอย้ายไปเป็นสมาชิกของ AKB48 ที่ไต้หวัน ในชื่อ AKB48 Team TP นั่นทำให้เธอเดินไปบอกผู้ใหญ่ว่า เธอจะขอย้ายไปเป็นสมาชิกให้กับ AKB48 ที่ประเทศไทย

“ตอนนั้นที่ตัดสินใจไม่ได้คุยกับใครเลย ไม่ได้คุยกับคุณพ่อคุณแม่ด้วย ก็คือตัดสินใจว่าจะไปแค่นั้นเลยค่ะ เพราะพอเพื่อนบอกมาว่าจะย้ายไปไทเปก็คุยกับเพื่อนว่า เราคิดเหมือนกัน รินะก็คิดเหมือนกันเลยคุยแค่กับเพื่อนคนนั้น แล้วค่อยมาบอกพี่โปรดิวเซอร์ กับอากิโมโตะซัง แล้วก็พี่สต๊าฟด้วย 

“ตอนที่ดีใจที่สุดคืออากิโมโตะซังเขาถามว่าทำไมรินะคิดแบบนี้ เอาจริงๆ เราก็เสียใจนะ แต่เราไม่ใข่ Top Member อยู่แล้ว ถึงจะออกรายการวาไรตี้ของวงอยู่บ่อยๆ แต่เขาก็บอกว่า ถ้ารินะจะย้ายไป AKB48 ที่เมืองไทย ก็เหมือนจะเสียหายนิดนึงนะ ตกใจปนดีใจที่เขาคิดแบบนี้ แต่ตัดสินใจแล้วค่ะว่าไม่ต้องอยู่ AKB48 ในญี่ปุ่นก็สามารถช่วย 48 Group ได้ ถึงรินะจะชอบทำงาน แต่ถ้าเพื่อนทำไม่ได้แล้วรินะทำให้ตลอดมันก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนไป ก็เลยอยากรู้ อยากลองอะไรใหม่ๆ และยังไม่อยากจบการศึกษาจาก 48 Group ด้วย เลยตัดสินใจย้ายไปประเทศไทย” รินะเล่า

ปาฏิหารย์และโชคชะตาอาจทำให้เราไม่คาดคิด

Koi Suru Fortune Cookie-คุกกี้เสี่ยงทาย

“ในขณะที่คุณเป็นที่รู้จักและมีฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นในประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้วการที่คุณต้องย้ายไปเริ่มต้นใหม่ กับวงน้องสาววงใหม่ ไม่เสี่ยงเกินไปเหรอ” ฉันถามถึงการตัดสินใจของรินะที่ย้ายมาเป็นหนึ่งในสมาชิกของ AKB48 ประเทศไทย หรือชื่อทางการว่า BNK48

“สำหรับรินะ รู้สึกว่าอยากย้ายไป BNK48 มากกว่านะคะ เพราะอยากทำสิ่งใหม่ๆ อยากเรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากกว่า แต่ว่ารินะก็เข้าใจแหละว่า ตอนนั้นใน AKB48 มีงานต้องทำทุกวัน ต่อให้ไม่ใช่เซ็มบัตสึก็ต้องขึ้นเธียเตอร์ หรือออกไปถ่ายรายการทุกวัน คืองานเยอะจริงๆ (หัวเราะ) และจริงๆ แค่นี้ก็มีความสุข แต่อันนี้มันเหมือนเป็นความสุขของตัวเองแค่นั้น ไม่ใช่ของทุกคน ไม่รู้ว่าวงทั้งหมดจะมีความสุขรึเปล่า แต่ถ้าเราย้ายมาเมืองไทย มันคือการทำให้ 48 Group ดีขึ้น ใหญ่ขึ้น เลยรู้สึกว่าอยากพยายามเพื่อคนอื่น ไม่ใช่พยายามเพื่อตัวเอง” รินะตอบฉัน

หลายคนคงจำได้ว่า BNK48 เปิดตัวอย่างเป็นทางการจริงๆ ในงาน Japan Expo ซึ่งวันนั้นรินะก็อยู่ในงานด้วย น้องๆ สมาชิกหน้าใหม่เมื่อเห็นหน้ารินะก็ไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าว่านี่คือสมาชิกจากวงพี่สาว จนเมื่อต้องทำงานร่วมกันในฐานะสมาชิกของวงไอดอลเดียวกัน รินะบอกฉันว่า เธอต้องปรับตัวเยอะมาก

“สไตล์การเต้นกับร้องเพลงเป็นคนละแบบ เรื่องท่าเต้นเนี่ยเหมือนกับกับออริจินัลอยู่แล้ว แต่สไตล์การเต้นของไอดอลไทยไม่เหมือนกัน แล้วรินะก็ไม่ได้อยู่กับน้องๆ ตั้งแต่แรกเพราะว่ายังต้องทำงานของ AKB48 ให้เสร็จทั้งหมดก่อน ก็คือบินไปกลับญี่ปุ่นบ่อยมาก รู้สึกช่วงนั้นทำงานหนักมาก แต่วันที่ได้เต้นกับน้องๆ คือน้องทุกคนมีพลังมากๆ รู้เลยว่าทุกคนตั้งใจซ้อม แล้วบางคนชอบ AKB48 มากๆ ก็พูดกับรินะแบบ ‘ชอบเพลงนี้ค่ะ’ ‘อยากเต้นเพลงนี้ค่ะ’ ก็ได้เต้นเพลง Koi Suru Fortune Cookie คือเต้นเพลงที่ทุกคนเคยเต้นคือสนุกมากๆ ค่ะ แต่ว่าเป็นคนละแบบตอนแรกเลยยากนิดนึง” รินะอธิบายถึงการปรับตัวเข้ากับสมาชิก BNK48

ช่วงเวลาของซิงเกิลแรกอย่าง Aitakatta อยากจะได้พบเธอ รินะต้องร่วมเดินสายกับน้องๆ เซ็มบัตสึตามกิจกรรม Road Show ต่างๆ ซึ่งเธอสังเกตว่ายังมีแต่แฟนคลับกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น จนมาถึงความสำเร็จอย่างถล่มทลายของคุกกี้เสี่ยงทาย ซิงเกิลที่สองที่ทำให้แทบทุกคนในประเทศต้องเต้นท่าโอนิกิริได้ เพลงถูกเปิดในแทบทุกพื้นที่ ศิลปินชื่อดังต้องหยิบไปคัฟเวอร์ และนั่นทำให้ BNK48 ได้รับความนิยมถึงขีดสุดแบบที่รินะก็ไม่ทันตั้งตัวเหมือนกัน

“ตอนที่ตัดสินใจย้ายมา BNK48 คืออยากให้ 48 Group ดีขึ้น เพราะถ้าเรามาช่วยแล้ว BNK48 ดังขึ้น ตรงจุดนี้ก็จะช่วย 48 Group ของญี่ปุ่นได้ด้วย ที่ฝั่งญี่ปุ่นอากิโมโตะซังก็บอกรินะว่า ‘ตอนนี้ BNK48 ดังมากในประเทศไทยใช่มั้ย สู้ๆนะ’ รินะก็แบบแม้แต่ฝั่งญี่ปุ่นก็ยังรู้เลยนะว่า BNK48 ดังขึ้นมา เลยรู้สึกว่ารินะได้ช่วย 48 Group ญี่ปุ่นด้วย ดีใจมากค่ะ” รินะเล่าให้ฉันฟังด้วยรอยยิ้ม

อีกหนึ่งเรื่องที่รินะไม่คาดคิดว่าจะได้เจอในการเป็นสมาชิกของ BNK48 คือการติดอันดับการเลือกตั้ง General Election 2019 ในอันดับที่ 21 ซึ่งเป็นครั้งแรกตั้งแต่เป็นสมาชิกของ 48 Group ที่รินะได้รับคะแนนโหวตจนติดอันดับการเลือกตั้งจนติดตำแหน่ง Under Girls ซึ่งเมื่อเพื่อนๆ และทีมสต๊าฟที่ประเทศญี่ปุ่นรู้ข่าวก็ต่างแสดงความยินดีกับรินะเป็นการใหญ่ ซึ่งในปีต่อมา รินะติดอันดับที่ 30 และได้เป็น Under Girls เช่นกัน

ต้องละเอียดในการทำ ทุ่มเทและพยายามจึงทำขึ้นได้

Melon Juice

ในช่วงเวลาที่ BNK48 ประสบความสำเร็จถึงขีดสุด สมาชิกต่างมีผลงานมากมายทั้งคอนเสิร์ต ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ งานถ่ายแบบ โฆษณาและอีกมากมาย ผลงานของพวกเธอทำให้แฟนคลับต่างวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการมีสาขาที่สองของ AKB48 ในประเทศไทย ซึ่งยิ่งพวกเธอมีพื้นที่สื่อมากขึ้นเท่าไหร่ ข่าวลือรวมถึงข้อวิเคราะห์ต่างๆ ก็เริ่มค่อยๆ สะพัดและหนาหูขึ้นเรื่อยๆ 

จนสุดท้ายข่าวที่ผู้คนคาดเดาก็เป็นความจริง เมื่อรินะได้รับมอบหมายให้เป็นชิไฮนินหรือผู้จัดการวง CGM48 ซึ่งเป็นวงน้องสาวที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้เธอต้องย้ายขึ้นไปจังหวัดเชียงใหม่พร้อมๆ กับกัปตันของวงอย่างออม-ปุณยวีร์ จึงเจริญ นั่นเป็นความท้าทายใหม่ที่ยิ่งท้าทายกว่าเดิม เมื่อรินะต้องเป็นผู้จัดการวงที่มีงานสเกลใหญ่กว่าการเป็นสมาชิกหรือตัวแทนต้นสังกัดจากประเทศญี่ปุ่น

“พอมีคนบอกให้คุณเป็นชิไฮนิน ความคิดแรกสุดของคุณในตอนนั้น คุณคิดว่าคุณทำได้มั้ย” ฉันถาม

“ตอนแรกคิดว่าไม่น่าทำได้ค่ะ (หัวเราะ) เพราะทักษะภาษาไทยกับวัฒนธรรมไทย รินะยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ แล้วพอต้องมาทำหน้าที่ชิไฮนินของ CGM48 รินะก็คิดตลอดว่าจะทำให้ CGM48 เสียหายรึเปล่า (หัวเราะ) เพราะไม่มีสกิลจริงๆ ค่ะ เลยรู้สึกว่าจะไหวมั้ยนะ คือไม่ใช่ไม่อยากทำนะคะ แต่แค่ไม่รู้จะทำยังไงดี แต่เหมือนทุกคนก็ค่อยๆ คุยกัน แล้วทาง CGM48 เขาบอกว่าอยากให้แตกต่างจาก BNK48 เพราะถ้าสุดท้ายแล้วมันเหมือนกันหมด เพลงเหมือนกันสไตล์เหมือนกัน แค่เมมเบอร์ต่างกันก็จะไม่สนุกแน่นอน เลยคุยกันว่าถ้ารินะจะทำ CGM48 ในอยากทำแบบนี้ ก็ไปตรงกับความคิดของผู้ใหญ่ที่อยากให้สองวงมีสไตล์คนละแบบ รินะก็เลยตัดสินใจไปย้ายไป CGM48 แล้วก็ตกลงว่าจะทำชิไฮนินให้ค่ะ แล้วพอตัดสินใจแบบนั้นแล้วรินะก็คิดเลยว่าต้องทำให้ CGM48 ดีกว่า BNK ด้วย” รินะตอบฉัน

เมื่อข่าวการเป็นชิไฮนินของรินะแพร่สะพัดออกไป นอกจากเพื่อนๆ เมมเบอร์แล้ว ซาชิฮาระ ริโนะ หรือซัชชี่ อดีตราชินีไอดอลที่พ่วงตำแหน่งชิไฮนินประจำเธียเตอร์ของวง HKT48 ได้แสดงความยินดีกับเธอในฐานะเพื่อนในวงการ และในฐานะชิไฮนินด้วยกัน ซัชชี่ให้คำแนะนำกับรินะในการเป็นชิไฮนินว่า “ถ้ารินะอยากให้ CGM48 เป็นแบบไหน ก็ให้เชื่อใจตัวเอง เชื่อเมมเบอร์ และเชื่อคนที่เกี่ยวกับ CGM48 ทุกคน”

นอกจากสถานที่ตั้งของวงที่ต่างกันในความเป็นเมืองหลวงและเมืองรอง ความแตกต่างที่สำคัญของทั้งสองวงคือ อายุของน้องๆ CGM48 ยังเด็กกว่าพี่ๆ BNK48 แต่รินะมองว่านั่นคือข้อดีที่ทำให้ CGM48 มีภาพลักษณ์ที่น่ารัก สดใส มีพลัง ส่งผลต่อการแสดงบนเวทีที่จะมีพลัง มีความแข็งแรง และมีชีวิตชีวา รวมถึงการสร้างความสามัคคี ความเป็นหนึ่งเดียวของสมาชิกผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันทั้งการซ้อมหรือกิจกรรมต่างๆ ที่เราเห็นผ่านรายการของพวกเธอ

แต่ยังไงสิ่งสำคัญของการเป็นไอดอลไม่ว่าจะที่ไหนๆ จากทรรศนะของชิไฮนินคนนี้คือ การสร้างความสุขให้กับแฟนๆ ของพวกเธอ

“แล้วจริงๆ โจทย์ที่ยากที่สุดของการเป็นชิไฮนินคืออะไร” ฉันถามต่อ

“ยากเพราะวิธีการทำงานก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เด็กญี่ปุ่นกับเด็กไทยก็คนละแบบ เลยต้องทำยังไงก็ได้ให้เด็กไทยเข้าใจอาชีพไอดอล เพราะเมื่อก่อนประเทศไทยไม่มีอาชีพนี้ BNK48 เป็นวงแรกที่เห็นชัดที่สุดว่าวงไอดอลญี่ปุ่นจริงๆ เป็นแบบไหน แล้วคนที่มาสนับสนุนวง BNK48 ก็ไม่ใช่ทุกคนจะรู้จักวงไอดอลญี่ปุ่นวงอื่น เลยต้องทำให้ทุกคนเข้าใจว่า วงไอดอลญี่ปุ่นต้องตั้งใจ ต้องพยายาม ไม่ใช่แค่เต้นเก่ง ร้องเพลงเก่ง แต่ต้องคำนึงถึงคนที่สนับสนุนเราอยู่ด้วย ส่วนวงไอดอลที่เต้นเก่งร้องเพลงเก่งอันนี้จะคนละแบบ ไอดอลฝั่งญี่ปุ่นทุกคนจะไม่ได้เก่งกันเท่าไหร่ แต่แฟนคลับจะรู้สึกว่า คนนี้ไม่ค่อยเก่งนะแต่เขาพยายาม ดังนั้นจะอยากช่วยเขา อยากสนับสนุนเขา อยากเชียร์เขาให้เขาพัฒนามากขึ้น ทำให้ทั้งแฟนคลับและตัวเมมเบอร์เองพัฒนามากขึ้นด้วย ก็รู้สึกอบอุ่นเหมือนเราได้เป็นกำลังใจให้แฟนคลับ แล้วก็เป็นกำลังใจให้ตัวเองด้วย ตรงนี้ล่ะค่ะที่มันคนละแบบ” รินะตอบคำถามของฉัน

เธอและฉันจะก้าวเดินไป ไปนะ ไปด้วยกัน

เชียงใหม่ 106

ช่วงเวลาหนึ่งปีที่รินะเป็นชิไฮนิน เธอใช้เวลาร่วมกับสมาชิกและทีมงานจนเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันไปแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ CGM48 ที่มีรินะเป็นชิไฮนินค่อยๆ เติบโตอย่างมั่นคงและเริ่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

“รู้สึกว่าตอนนี้ชื่อเสียงของ CGM48 มันดังขึ้นแบบค่อยๆ ดังขึ้น ไม่เหมือนกับ BNK48 ที่ตอนซิงเกิ้ลคุกกี้เสี่ยงทายคือดังมากๆ แล้วตอนที่ออกซิงเกิ้ลแรกของเชียงใหม่ (เชียงใหม่ 106) มีเรื่องโควิด-19 ด้วย เลยไม่ค่อยได้ออกไปแสดงเท่าไหร่ ในช่วงโควิดที่ทุกคนอยู่ด้วยกันที่หอพัก แล้วมาออกซิงเกิ้ลที่สอง ก็ทำให้รู้สึกว่าช่วงเวลาระหว่างสองซิลเกิ้ลมันนาน แต่แฟนคลับก็ยังรอ ยังฟังเพลงเก่าอยู่ตลอด รู้สึกขอบคุณแฟนคลับมากๆ ที่พยายามทำให้ CGM48 ดังขึ้น เลยรู้สึกว่าท้ังแฟนคลับและเมมเบอร์ต่างช่วยกัน”

หลังจากนี้รินะบอกกับฉันเองว่า เธอจะทำหน้าที่ชิไฮนินของ CGM48 ให้ดีที่สุดในชีวิตการเป็นไอดอลตลอด 10 ปีของเธอ และเธออยากให้มันดีที่สุดใน 48 Group ซึ่งเธอเชื่อมั่นในศักยภาพของเมมเบอร์และทีมงานทุกคนว่ามันจะต้องเกิดขึ้นได้ 

อย่างที่ฉันบอกไปตอนต้น รินะทำงานหาเลี้ยงชีพในสายงานเดียวมาตลอดหนึ่งทศวรรษนั่นคือสายงานไอดอล ฉันจึงชวนรินะคิดแบบสนุกๆ ว่า ถ้าทุกวันนี้เธอไม่ได้เป็นไอดอล เธอจะทำอะไรอยู่

“เห… ไม่รู้ค่ะ (หัวเราะ) 

“เพราะว่าเป็นไอดอลมา 10 ปี ทั้งชีวิตของรินะคือเป็นไอดอลจริงๆ ถ้ากลายเป็นคนธรรมดาก็ไม่รู้จะเป็นยังไงเลยค่ะ (หัวเราะ) เพราะไม่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับคนข้างนอกเท่าไหร่ ตอนที่อยู่ AKB48 ก็มีเพื่อนบางคนไปทำงานข้างนอก แต่รินะทำแต่งานไอดอลเลยรู้สึกว่าคนละแบบมาก ถ้าตั้งแต่พรุ่งนี้ต้องเป็นคนธรรมดาคงทำงานร้านอาหารล่ะค่ะ เพราะน่าจะทำอย่างอื่นไม่ได้แน่นอน” เธอตอบคำถามของฉันซึ่งทำให้ฉันอดหัวเราะตามเธอไม่ได้

“คำถามสุดท้ายแล้วล่ะ, ถ้ามองว่าคนๆหนึ่งทำงานเดิมมา 10 ปี ก็คงจะกลายเป็นผู้เชียวชาญในอะไรสักอย่างไปแล้ว อย่างรินะที่ทำงานไอดอลมา 10 ปี อาชีพนี้มีความหมายกับคุณยังไง” ฉันถามคำถามสุดท้ายกับคู่สนทนาตรงหน้า

“คำว่าอาชีพไอดอลเป็นสิ่งที่ง่ายมากๆ แต่ก็ยากมากๆ เพราะว่าถ้าอยากเป็นไอดอลชอบไอดอลแค่พยายามกับสิ่งที่ตัวเองอยากทำแค่นั้น แต่ว่าเรามีคนที่คอยสนับสนุนอยู่ตลอด ถ้ารินะเสียใจอยู่ แล้ววันนั้นไปขึ้นเวทีทั้งที่เสียใจ แฟนคลับก็จะเห็นนะว่าวันนี้รินะเป็นอะไร เพราะแฟนคลับทุกคนรักเราจริงๆ ถ้าไม่สบาย ป่วยแล้วยังต้องขึ้นเวที ไม่มี Energy แต่มั่นใจนะว่าทุกคนไม่รู้แน่นอนว่าป่วย แต่แฟนคลับเขาจะรู้แน่นอน ถ้าเขารักมากจริงๆ เขาจะอยากรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับรินะ ดังนั้นถ้าอยากให้แฟนคลับมีความสุขรินะจะต้องเต็มที่ตลอด เลยรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ทำง่ายที่สุด แต่ก็ยากด้วยค่ะ” รินะตอบฉัน

สัมภาษณ์วันที่ 19 พฤศจิกายน 2563

ขอขอบคุณ
โรงแรมศิริปันนา เชียงใหม่
BNK48 & CGM48 Northern Thailand Fanclub

Contributors

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด

วชิรวิทย์ ศิริธนะ

ชายคนหนึ่งที่รักและชื่นชอบในการถ่ายรูป และขับขี่มอเตอร์ไซค์ไปในที่ที่ไม่เคยไป

อาภาภัทร ธาราธิคุณ

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ที่หลงใหลในจังหวะดนตรีและมีความสุขกับการเต้น ปัจจุบันทำเพลงเป็นงานอดิเรกที่จริงจัง และกำลังพัฒนาตัวเองเพื่อให้ฝันเป็นจริง