เบื้องหลังการต่อสู้เพื่อยกเลิกระบบโซตัสสู่อัตลักษณ์ใหม่ของสิงห์ขาว-รัฐศาสตร์ฯ มช.

ไม่น่าเชื่อว่า แถลงการขนาดค่อนหน้าเอสี่ที่ว่าด้วยการยกเลิกระบบอำนาจนิยมในคณะฯ ทั้งโซตัส ห้องเชียร์ และวินัยของสโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะกลายเป็นไวรัลในชั่วข้ามคืน

ถ้ามองในมุมนักศึกษาจากรั้วเดียวกัน เราก็ไม่คิดเหมือนกันว่ายุคหนึ่งในมหาวิทยาลัยมีการรับน้องที่ใช้อำนาจ ความรุนแรง และส่งต่อค่านิยมผิดๆ ผ่านวาทกรรม กิจกรรม หรือการกดดันต่างๆ จนกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ถูกสร้างขึ้นไม่รู้จบ จะถูกทำลายลงแล้วในพื้นที่หนึ่งของมหาวิทยาลัย-ที่หลายคนเคลมว่าเป็นพื้นที่ของปัญญาชน

ความพยายามในการเลิกระบบรับน้องในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีความพยายามเกิดขึ้นมากมายจนกว่ามันจะสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ แต่สุดท้ายแล้วน้องๆ สิงห์ขาวก็ทำได้ในที่สุด

เราสนทนาใต้คณะกับสามตัวแทนรัฐศาสตร์ฯ มช. ที่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ทั้งปอนด์-เรวัตร แสงมีอานุภาพ, มาร์ค-สุชัจจ์ โสสุทธิ์ และเฟิร์ส-ปรรณพัชร์ จริยปัญญานนท์ หลังการปิดวอร์รูมเพื่อถกเถียงหาข้อสรุปอยู่หลายชั่วโมง และแถลงการณ์ของสโมฯ คณะ ออกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ได้ไม่ถึง 24 ชั่วโมง

“หนูไม่คิดว่ามันจะเป็นไวรัลได้ขนาดนั้น” เฟิร์สบอกกับฉัน

ก่อนมานั่งคุยกับเขาทั้งสาม ฉันเลื่อนฟีดเฟซบุ๊คดู มีการแชร์ข้อความที่เป็นเสียงชมจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็มีทั้งความเสียดายและโกรธเคืองถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

การเปลี่ยนแปลงที่พลิกทำลายทั้งระบบไปโดยสิ้นเชิงจนนำมาสู่สิทธิที่แท้จริงของการศึกษาอย่างแท้จริงนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

น้องทั้งสามคนพร้อมให้คำตอบแล้ว แบบไม่ต้องยกมือขออนุญาตตอบแบบในห้องเชียร์

 

01: เมื่อฉันเป็นเฟรชชี่

เฟิร์ส: ตอนหนูเรียนมัธยมยังไม่ได้มีระบบมาก ยังมีโซตัสมานิดนึง แค่นิดเดียว เศษเสี้ยว ตอนที่เข้ารัฐศาสตร์มาก็ได้ยินมาว่า มีนะ แต่ตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่ามันคืออะไรกันแน่ จนเข้ามาตอนปีหนึ่งแล้าเขาก็เริ่มใช้ระบบกับเรา เพราะตอนที่เราสอบเข้ามาได้แปลว่าเราคือสิงห์ขาวแล้วนะ เราก็โพสต์หน้าวอลล์ว่าเราคือสิงห์ขาวแล้ว แต่พอเข้าไปพี่ก็บอกเราว่าเรายังไม่ใช่สิงห์ขาว เราต้องผ่าน “กระบวนการ” บางอย่าง ก็คือผ่านระเบียบและห้องเชียร์ เพื่อที่เราจะเคลมตัวเองได้ว่าเป็นสิงห์ขาว เราก็เริ่มแปลกใจละว่า อ้าว ไม่ใช่ว่าเราสอบด้วยความสามารถของเราเพื่อจะมาเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ แล้วเราจะได้เป็นสิงห์ขาวเหรอ ตอนแรกหนูก็ อึม รอดูไปก่อน แล้วก็เข้าห้องเชียร์ที่มีทั้งหมด 10 ครั้ง

ตอนเข้าห้องเชียร์ครั้งแรกก็งงว่ามันคืออะไร เพราะเราก็ต้องเข้าไปต่อแถว เงียบ แล้วก็นั่ง จากนั้นก็มีพี่ปกครองเข้ามาแล้วทุกคนก็กลัวมาก บางคนแพนิค บางคนเป็นลม ก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ตอนนั้นคุยกับเพื่อนในกลุ่มก็คิดเหมือนกันว่าเราจะทำยังไงกันดี เรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์กับเรา เราโดนกดขี่แต่พูดอะไรไม่ได้ หนูเลยไปปรึกษารุ่นพี่ชมรมต่างๆ ก็จะบอกว่าไม่ให้ออก เพราะหมายถึงเราจะโดนตัดออกจากกิจกรรมทุกอย่างของคณะฯ เป็นหัวหน้าสาขาไม่ได้ เป็นสโมฯ ไม่ได้ แต่พี่ๆ ก็บอกว่าถ้าอยากเปลี่ยนแปลง ก็ต้องเข้าไปในระบบ แต่ตอนนั้นหนูรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ถ้าเรายอมในวันนี้ ก็ถือว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่เราทำให้ระบบไปต่อได้ เราทำงานให้มันในนามระบบ หนูก็เลยยอมออกจากรุ่นเป็นคนแรก ยอมคืนป้ายชื่อ คืนทุกอย่าง แล้วก็พยายามพูดทุกอย่างที่เกี่ยวกับระบบ

มาร์ค: ตอนรับน้องด้วยความที่ผมเป็นผู้ชาย พอเข้าห้องเชียร์ก็จะรวมกับผู้หญิงแล้วจะมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าฟอร์เมน มันคือเอาผู้ชายไปว๊ากเฉพาะ ผมจำได้ว่าจะมีว๊ากเช่น ผู้ชายดูแลผู้หญิง มีระเบียบวินัย เหมือนเป็นการ Install คุณค่าบางอย่างที่บอกว่าผู้ชายต้องเหนือกว่าเพศอื่นๆ และมีบทบาทนำทั้งๆ ที่ผมสงสัยว่าคณะนี้เรียนเรื่องสังคม เรียนเรื่องการปกครอง เพศอะไรก็ต้องเท่ากันไม่ใช่เหรอ ทำไมให้คุณค่าไม่เท่ากัน ซึ่งผมไปอยู่ในระบบก็เพราะเหตุผลเดียวคือ เข้าไปเพื่อให้ได้ความชอบธรรมเพื่อ Call Out แล้วปรับอะไรบางอย่างข้างใน แต่การที่อยู่ไปก็ตรัสรู้ได้ว่าการที่จะทำอย่างนั้นได้ คุณต้องไปแตะโครงสร้างอำนาจเสาหลักของระบบ ต้องเป็นปกครอง ต้องเป็นเชียร์ ซึ่งผมพูดตรงๆ ว่าผมไม่สามารถทำได้ เลยออกมาอยู่ชมรมประชาธิปไตยซึ่งเป็นชมรมกลางที่เป็นศูนย์รวมของเด็กรัฐศาสตร์ที่ไม่เอาโซตัส เป็นชมรมที่คนในคณะบ่อนทำลายสิงห์ขาวอย่างนี้ไป (หัวเราะ) ซึ่งจริงๆ ผมพูดในสิ่งที่ถูกต้องนะ

ด้วยความที่ผมเป็นคนนนทบุรี แล้วก็ได้ยินมาว่าคณะนี้มีโซตัส แต่ก็รู้ผิวเผิน เลยไปอ่านตามพวกเว็บบอร์ดมันก็จะมีอันหนึ่งที่บอกว่าจะเป็นสิงห์ขาวได้ต้องผ่านห้องเชียร์ ต้องมีเสื้อสิงห์ ต้องผ่านโซตัส จนกระทั่งผมมาสัมผัสด้วยตัวเอง ผมพูดตรงๆ ว่าโคตรผิดหวังเลย มันกลับกันจากคณะรัฐศาสตร์อื่นๆ หมดเลย ผมเคยเจอเพื่อนๆ ที่มหาลัยอื่นที่เป็นเพื่อนกัน เขาก็ด่าเลยว่า “พวกมึงแม่งย้อนแย้งว่ะ คณะรัฐศาสตร์เหี้ยไรมีโซตัส” ผมได้ยินคำนี้มาตลอด มันก็เป็นสิ่งที่ย้อนแย้งนะครับ คณะที่ควรจะไม่มีเรื่องโซตัสมากที่สุด กลับกลายมามีเสียเอง

ปอนด์: การที่ปอนด์อยู่ฟอร์เมนมันก็หนักพอสมควร ปอนด์เคยโดนเข้าห้องดำ เหมือนกับว่าเป็นห้องเอาไปว๊ากเดี่ยว มีพี่ 5-6 อยู่รอบๆ แล้วว๊ากใส่ ซึ่งตอนนั้นที่ปอนด์โดน โดนเรื่องประเด็นที่ว่ามีรุ่นพี่แอบแฝงอยู่ในไลน์กลุ่มของปีหนึ่งเพื่อดูความเคลื่อนไหวของน้อง ตอนนั้นผมตั้งคำถามเข้าไปในกลุ่มว่า ทำไมเราต้องมาอดทนกับอะไรแบบนี้ ทำไมถึงโซตัสเป็นแบบนี้ ทำไมรุ่นพี่ต้องทำหรือสั่งแบบนี้ ซึ่งก็มีคนออกมาแสดงความคิดเห็นเยอะแยะ จนเรื่องไปถึงหูรุ่นพี่ เขาก็คิดว่าเราปลุกปั่น ปลุกระดม ก็เลยโดนเรียกไปว๊ากเดี่ยว

ตอนนั้นรุ่นพี่ยื่นข้อเสนอเลยว่า จะอยู่ในรุ่นต่อหรือจะออกเลย ถ้ามึงจะออก มึงออกตอนนี้เลย ตอนนั้นผมเลือกใช้เหตุผลในการคุยกับพี่เขา แต่พี่เขาใช้อารมณ์พอสมควรเลย ผมคิดแค่ว่าตอนนั้นถ้าผมออก ก็เท่ากับว่าผมยอมแพ้ ผมก็เลยอยู่ต่อในฐานะที่ว่า ผมอยากจะอยู่เพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เพราะตอนนั้นมีคนออกไป Call Out ข้างนอกเยอะ แต่ไม่มีคนที่อยู่ภายใน ส่วนมากก็จะกลายเป็นคนที่อินกับระบบเพราะถูกระบบกลืน แต่ถ้าสมมติเราอยู่ในระบบต่อ ทั้งฐานเสียงหรืออะไรหลายๆ อย่าง เราก็มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงจากข้างในได้

 

02: ต้องแฝงตัวเข้าระบบ

มาร์ค: สุดท้ายผมก็ไม่ได้เข้าระบบไปเป็นตัวละครพี่เชียร์หรือระเบียบนะครับ ผมอยู่ฝ่ายพยาบาล

เฟิร์ส: หลังจากที่ออกจากรับน้องก็เลยมองหาว่ามีชมรมไหนในคณะที่ไม่ใช้ภาษีการรับน้องเข้าชมรม ก็เลยเข้าชมรมวิชาการ หนูก็ทำงานมาตลอด ซึ่งมันเป็นชมรมที่ไม่ได้ยึดโยงกับระบบโซตัส พอเข้าปี 2 เทอม 2 ก็จะมีการลงสมัครเพื่อเป็นสโมฯ คณะรุ่นต่อไป ก็มีปอนด์มาชวนว่า เห็นเฟิร์สทำงานฝ่ายวิชาการมาตลอด มาเป็นรองนายกสโมฯ ฝ่ายวิชาการมั้ย หนูก็ตอบตกลงไป เพราะรู้สึกว่าอยากพิสูจน์ข้อสมมติฐานที่ว่า คนนอกรุ่นเข้ามาทำงานในสโมฯ ไม่ได้หรอก หนูเลยอยากทำให้เขาดู

พอถึงเวลาหาเสียงก็จะมีคนเริ่มครหาแล้วว่า สาเหตุที่เขาไม่ให้คนนอกรุ่นมาทำงานสโมฯ เพราะว่าคนนอกรุ่นไม่เคยทำงาน พอไม่ทำงานก็จะไม่รู้ระบบ โชคดีที่ถึงแม้ว่าหนูจะออกจากรุ่นก็ยังจะเสนอหน้าเข้าไปทำงานในระบบ เพราะหนูอยากจะสู้เพื่อได้ทำงานให้สโมคณะฯ เพื่อเวลาไปสมัครลงตำแหน่งจริงๆ จะได้ไม่มีคำครหาใดๆ แต่มันก็มีนะคะที่บอกว่า “คนไม่เอารุ่น มันทำไม่ได้นะ” “เมื่อก่อนมันเป็นแบบนี้มาตลอด เดี๋ยวนี้กลายเป็นแบบนี้ไปได้ยังไง”

ปอนด์: ตอนปีสองผมเลือกจะเข้าสู่ระบบและกระบวนการห้องเชียร์ เลยเข้าไปสมัครเป็นพี่เชียร์ เพราะอยากรู้ว่าระบบมันมีกระบวนการยังไง มันมีอะไรที่รู้สึกว่าเราสามารถปรับได้บ้าง พอเข้าไปดูก็รู้ได้ว่าบางอย่างในนั้นมันก็คือละครอะครับ ละครที่ถูกสร้างขึ้น มีบท มีสคริปต์ มีการซ้อม

มาร์ค: แต่มันเป็นละครที่เล่นกับความรู้สึกคนนะ

ปอนด์: ผมก็เฟลไปนิดนึงนะ แต่เราก็รู้สึกว่าเราก็ทำอะไรเท่าที่ทำได้ตามหน้าที่ของเราก็คือ การเป็นพี่เชียร์ แต่ว่าเราจะเป็นพี่เชียร์ที่ตั้งปณิธานไว้ว่า เราจะไม่มีวันว๊ากน้อง เราจะทำส่วนหน้าที่ของเรา และหาคอนเนคชั่นให้เราขึ้นไปเป็นสโมฯ ให้ได้ แค่นั้น

ซึ่งถามว่าหลังจากนั้นมันรู้สึกผิดมั้ยที่เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบ เรารู้สึกผิดนะ ว่าเราเข้าไปแล้วทำไมต้องเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่น้องเราถูกกดดันจากห้องเชียร์อะไรต่างๆ แต่ถามว่าถ้าไม่ทำตอนนั้น มันก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากด้านในอะพี่ อันนี้ในส่วนของผมนะ

มาร์ค: เรื่องการเปลี่ยนแปลงมันก็ต้องมีทั้งภายในและภายนอก มันต้องรับแรงกดดันมากพอสมควร อาจจะมองว่าเป็นสีเทาก็ได้เพราะว่าคนที่ยอมอยู่ในระบบยอมรับความเปลี่ยนแปลง แต่ที่ผ่านมามึงก็มีส่วนของระบบนะ ไปกดขี่นะ คือสุดท้ายมันต้องไปด้วยกันครับ ทั้งข้างนอกที่ต้อง Call Out ลากไส้มันออกมา และข้างในที่ต้องค่อยๆ บ่อนทำลายระบบ แล้วสุดท้ายมันมาเหมาะเจาะกันที่เหตุการณ์บ้านเมืองตอนนี้ที่เพดานความคิดถูกทำลายไปหมดแล้ว เราอยู่ในยุคที่พูดกันได้อย่างเสรีแล้ว นับประสาอะไรที่จะทำลายโซตัสไม่ได้ บางคนที่ออกไปชุมนุมก็จะโดนแซะว่า สนับสนุนประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ แต่บูชาระบบโซตัส มันย้อนแย้งหรือไม่ ซึ่งเด็กรุ่นนี้โตมากับการต่อต้านเผด็จการและถกเถียงเรื่องวาทกรรมนี้

ต้องขอบคุณโควิดด้วยครับที่ทำให้ระบบเสียสมดุลทุกอย่าง เป็นตัวเร่งชั้นดีเลยที่นำไปสู่การอวสานของระบบโซตัสในคณะ

 

03: ถึงเวลาสู้กับระบบ

ปอนด์: ด้วยความที่พี่เฟิร์สไม่มีเสื้อสิงห์ แต่เวลาออกไปทำงานแล้วต้องถ่ายรูปด้วยกันก็อาจจะรู้สึกแปลกแยกไปนิดนึง เราก็เลยตกลงกันว่าจะให้พี่เฟิร์สยืมเสื้อ เพราะถ้าเราไม่ให้คุณค่ากับเสื้อ แต่มองว่าเป็นเสื้อของคนทำงานเพื่อไม่ให้มีความแตกต่างกันในกลุ่มคนทำงาน พอพี่เฟิร์สใส่เสื้อตัวนั้นก็เกิดดราม่าทันที

เฟิร์ส: ก็มีดราม่าว่าเสื้อสิงห์คือรางวัลของคนทำงาน ซึ่งคนที่ไม่ทำงานจะใส่ไม่ได้ แต่มันก็ย้อนแย้งอีกแล้วว่าการมีเสื้อสิงห์มันวัดไม่ได้ว่าใครทำงาน ไม่ทำงาน เพราะว่าหนูทำงานมาตลอด หนูก็โดนด่าอีกว่าไม่มีรุ่นแล้วพอเป็นสโมฯ ให้รุ่นตัวเองได้ด้วยเหรอ แต่หนูอยากเรียกร้องความยุติธรรม ถึงแม้ว่าหนูจะไม่เคยได้รับมันเลยก็ตาม โอเค ตอนที่หนูออกจากรุ่นก็เท่ากับว่าหนูไม่ต้องอยู่ในระบบ แต่ปล่อยให้มันดำเนินต่อไป สักวันหนึ่งมันต้องมีเราคนที่หนึ่ง-สอง-สาม ไปเรื่อยๆ ถ้าเกิดเราสู้ มันก็อาจจะไม่มีเราคนที่หนึ่ง-สอง-สาม ต่อไป

ปอนด์: เพราะผมชัดเจนตั้งแต่ปีหนึ่งอยู่แล้วว่าผมต่อต้านระบบ จากตอนเป็นพี่เชียร์แล้วเป็นนายกสโมฯ คณะได้ ผมคิดว่าผมพิสูจน์จากผลงานที่เข้าไปอยู่ในระบบเพื่อทำงานและพิสูจน์ในส่วนย่อยๆ เห็นว่า เออ เราเก่งนะ เราทำงานได้ แล้วด้วยความที่ผมเป็นเด็กกิจกรรมมาตั้งนานแล้ว ก็เลยเป็นแต้มต่อในการต่อยอดความสามารถที่เรามีที่พิสูจน์ได้ว่าเราเหมาะสมกับตำแหน่ง (นายกสโมฯ คณะรัฐศาสตร์ฯ ปีการศึกษา 2562) แล้วอีกอย่างน่าจะมาจากเสียงของเพื่อนหลายๆ คนแล้วมองว่าเราทำงานได้ เรามีอุดมการณ์ที่อยากจะเปลี่ยนมันจากข้างใน เราบอกเพื่อนเราไว้ตามนี้ ซึ่งไม่รู้ด้วยว่าเพื่อนเลือกเราเพราะจากเหตุผลนี้ด้วย

เฟิร์ส: นอกจากโควิดหรือสิ่งที่มาร์คบอกไปก่อนหน้านี้ หนูว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ถูกต้อง เหมือนเราตีเหล็กตอนกำลังร้อน ถ้าไม่ถูกเวลา เรื่องเหล่านี้มันอาจจะไม่เกิดขึ้นตลอดไปเลยก็ได้

มาร์ค : มันมาจากความสะสมของรุ่นแต่ละรุ่นที่โดนมา อย่างรุ่นผมค่อนข้างจะหนักถึงขั้นลุกมาต่อต้าน แล้วการได้มาเป็นรุ่นพี่ในอนาคต เขาก็จะถ่ายทอดแนวคิดการต่อต้านสู่รุ่นน้อง แล้วดอกผลมันออกแล้วอะพี่ นึกออกปะ น้องได้รับรู้ว่ามีคนต่อสู้เรื่องนี้จริง อย่างเช่น น้องในเอกหนึ่งทำเสื้อช็อปเอกเพื่อล้อเลียนเสื้อคณะ เหมือนแสดงว่าเสื้อสิงห์ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์นะ ยิ่งเด็กรุ่นหลังๆ โตมากับการทำลายเพดานทางความคิด พอมันเหมาะเจาะกันก็เลยเกิดเหตุการณ์เมื่อวานนี้ที่มีการเชิญตัวแทนนักศึกษามาหารือกัน ซึ่งมันไม่ใช่ตัวแทนนักศึกษาทั้งหมด แต่มันคือฉันทามติที่เวลาไปถามใครทุกคนจะพูดตรงกันว่า “ยกเลิกเถอะ” มันไม่ใช่แค่ว่าเอ้ย ไม่ใช่ทุกคนต้องลงประชามติ แต่มันคือสามัญสำนึกร่วมกัน เพราะเราโดนมาตลอดว่าทำไมคณะเราไม่ออกมาเรียกร้องเรื่องโซตัส ทำไมคณะเราถึงเงียบ มันก็ระเบิดมาเป็นเมื่อวานนี้แล้ว

ปอนด์: ในห้องเมื่อวานเพื่อนๆ พูดถึงความกดดัน ผลพวง หรือมาแบ่งปันสถานการณ์ต่างๆ ที่เจอ ปรากฎการณ์นี้มันสุกงอมขึ้นอีก ผมมองว่ามันมาจากการยุบชมรมเชียร์และปกครองที่ยุบด้วยตัวเอง

มาร์ค: คนที่เคยอยู่ในระบบก็พูดออกมาเองครับว่าเขาไม่อยากถูกตราหน้าว่าสนับสนุนระบบโซตัสอีกต่อไปแล้ว เขาเจ็บเหมือนกัน มันอัดอั้นจนมันทนไม่ไหวแล้ว

 

04: สิ้นสุดคือจุดเริ่มต้น

เฟิร์ส: หลังจากที่เราลงประกาศในเฟซบุ๊ก ไม่กี่ชั่วโมงก็มีสำนักข่าวเอาไปแชร์ มีคนกดแชร์เยอะมาก

มาร์ค: มันทำให้เห็นว่าต่อไปนี้คณะนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ต่อให้ใครจะเอาระบบนี้มาใช้ มันจะไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป มันจะถูกต่อต้านอย่างถึงที่สุดแล้ว เพราะมันมีแถลงการณ์ฉบับนี้ที่ยืนยันแล้วว่าเราต่อสู้แล้วชนะจริงๆ แต่ตอนนี้ศิษย์เก่าต่อต้านแรงมากเลยนะครับ ตามกลุ่ม ตามเพจ ล่าสุดมีเรียกประชุมศิษย์เก่าด่วน จริงๆ เขาไม่ได้มีบทบาทอะไรกับคณะแล้ว

ปอนด์: เขาขู่จะตัดรุ่นปี 4

มาร์ค: ตัดก็ตัดดิ

เฟิร์ส: ที่คณะจะมีงานประจำปีชื่องานบุญเดือนสิงห์ เป็นงานทำบุญของคณะ พี่ๆ แต่ละคณะก็จะให้ทุนการศึกษากับน้องๆ ที่มาขอทุน พอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก็มีพี่ๆ มาบอกว่าจะไม่สนับสนุนเงินนี้แล้ว อยากได้ก็ต้องไปหาเอาเอง

ปอนด์: ตอนนี้เหมือนเป็นการต่อสู้ระหว่างวัยแล้วครับ

มาร์ค: เพราะคนที่เข้ามาคอมเมนต์ มาด่า ก็จะเป็นเจนก่อนหน้าเราอย่าง Baby Boomer หรือ X กับ Y คือจะมีตรรกะเดิมๆ ที่เขายังคิดอยู่

ถ้าจะมองว่าการยกเลิกระบบทำให้ความรักหรือความเป็นหนึ่งเดียวกันในสถาบันหายไป เด็กรุ่นนี้โตมากับความเป็นปัจเจกครับ ทุกคนไม่ชอบการบังคับ อะไรที่บังคับมันไม่มีทางสำเร็จหรอกครับ อะไรที่มันถึงเวลาเปลี่ยนแปลงแล้ว กงล้อประวัติศาสตร์มันไม่หยุดนิ่งหรอกครับ ความเหนียวแน่นในการรักสถาบันมันไม่สำคัญเท่าศักดิ์ศรีในมนุษย์ที่จะเลือกเส้นทางของตัวเอง

เฟิร์ส: จากที่หนูทำงานสโมฯ คณะมา เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้โฟกัสว่าเขาต้องเป็นหนึ่งเดียวกันมั้ย สังเกตจากเด็กที่มาเข้ากิจกรรมคณะมันน้อยลงๆ ตลอด หรือบางทีที่หนูไปถามน้องๆ ก็จะบอกว่ามันคือการเคารพซึ่งกันและกันซึ่งทุกคนควรจะมีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องโดนบังคับหรือรวมกันหลอกๆ

ปอนด์: ตอนนี้เราตัดต้นไม้ต้นเก่าที่มันไม่ตอบโจทย์ทิ้ง แต่เรากำลังปลูกต้นไม้ต้นใหม่ที่เรียกว่าต้นไม้แห่งเสรีภาพทางวิชาการ และสิทธิมนุษยชนที่มันกำลังจะเกิดขึ้นกับน้องๆ ปีหนึ่งรุ่นนี้ ผมมองว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น มันไม่เลวร้ายเท่ากับการไปละเมิดสิทธิ์ใครหรอกครับ ให้เขาเลือกสังคมหรือสิ่งที่เขาต้องการเอง แทนที่เราจะเลือกสังคมให้เขา

Contributors

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด