The Irishman: ผู้ปราชัยออสการ์ กับตัวตนและคุณค่าที่ไม่มีวันถูกลดทอนลง

ชีวิตที่คับข้องไปด้วยการพัวพันกับอาชญากรรม กลุ่มมาเฟีย การนองเลือด และความรุนแรง ภายใต้ชุมชนแออัดในมหานครนิวยอร์ค กลายเป็นสัญลักษณ์ในช่วงทศวรรษที่ 70-80s ที่สร้างชื่อให้กับผู้กำกับนามว่า ‘มาร์ติน สกอร์เซซี’ นอกเหนือจากความแพรวพราวในการใช้ภาษาภาพยนตร์อย่างหาตัวจับได้ยากคนหนึ่ง หลังจากเคยมีผลงานแนวนี้ทั้ง Goodfellas (1990) และ Casino (1995) จนครั้งนี้เขาเลือกหยิบเรื่องราวของมาเฟียในย่านฟิลาเดเฟียมาบอกเล่าผ่านมุมมองของ ‘ช่างทาสีบ้าน’ ได้อย่างเรียบง่ายและมีชั้นเชิงมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

The Irishman (คนใหญ่ไอริช) ดัดแปลงมาจากนิยาย‘I Heard You Paint Houses’ ของ ชาร์ลส์ แบรนด์ เล่าเรื่องราวในชั่วระยะเวลาร่วม 50 ปีในชีวิตของ แฟรงค์ ชีแรน (โรเบิร์ต เดอ นีโร) จากคนขับรถบรรทุกส่งวัวไปทำสเต๊ก ที่เข้าสู่แวดวงมาเฟียด้วยการชักชวนของ รัสเซล บัฟฟาลิโน (โจ เพสซี) จนเปลี่ยนให้แฟรงค์ได้ลิ้มรสการฆ่าคนเพื่อเลี้ยงชีพในฐานะ ‘ช่างทาสีบ้าน’ ก่อนเขาจะได้เลื่อนขั้นไปเป็นผู้ติดตามของ จิมมี ฮอฟฟา (อัล ปาชิโน) เจ้าพ่อแห่งสหภาพแรงงานที่นำลาภยศ และชื่อเสียงมาให้แฟรงค์ได้สัมผัส แต่ในแวดวงนี้ ไม่ว่ามิตรหรือศัตรูอาจจะแปรเปลี่ยนได้เพียงชั่วข้ามคืน

หนึ่งในธีมสําคัญของหนังเรื่อง The Irishman พูดถึงเรื่องของจุดจบและการผ่านพ้นของหลายสิ่งหลายอย่างพร้อมๆ กัน ตั้งแต่องค์กรอาชญากรรม สถาบันครอบครัว อํานาจ มิตรภาพ ไปจนถึงระบบระเบียบของโลกใบเก่าที่ผ่านพ้นไปแล้วและไม่หวนคืนกลับมา

ความโดดเด่นของบทภาพยนตร์ คือการใช้ระยะเวลา 50 ปีในชีวิตตัวละครเพื่อบอกเล่าคู่ขนานไปกับประวัติศาสตร์ของอเมริกา ตั้งแต่การบุกคิวบาอัน หรือการลอบสังหารประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี โดยใช้เหตุการณ์ทางการเมืองมากล่าวถึงกระแสลมเปลี่ยนทิศที่ทำให้ตัวละครในเรื่องต้องเผชิญปมปัญหาได้แนบเนียน โดยหนังสร้างโลกมาเฟียอิตาลีที่มีโครงสร้างชัดเจนผ่านสหภาพแรงงานที่ตำแหน่งประธานสหภาพก็แทบไม่ต่างจากหัวหน้าแก๊ง เป็นระบบอุปถัมภ์แบบเจ้าพ่ออย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งข้อดีอย่างแรกเลยคือทำให้มันต่างจากหนังมาเฟียเรื่องอื่นๆ ที่จะวนเวียนกับการค้าของเถื่อน หรือฆ่าฟันกันเพราะขัดผลประโยชน์ แต่ในภาพยนตร์จะเล่นอยู่แค่สองประเด็นที่โดดเด่นนั่นคือ ‘สายสัมพันธ์’ และ‘กลไกอำนาจ’ ที่ขับเคลื่อนให้ตัวละครรุ่งโรจน์ หรือตกต่ำ ไปจนถึงการประสานผลประโยชน์ หรือ แตกหัก ได้อย่างมีเหตุผล และกระทบกับอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างรุนแรงมากกว่าฉากแอ็คชั่นยิงกัน ซึ่งแลกมากับความยาวถึง 3 ชั่วโมง 29 นาทีกันเลยทีเดียว

อีกสิ่งที่น่าศึกษาใน The Irishman ได้แก่ เทคนิคในการถ่ายทำ และภาษาภาพยนตร์ต่างๆ เช่นเดียวกับ The Goodfellas ของผู้กำกับ-มาร์ติน สกอร์เซซี ที่โดดเด่นด้านการถ่ายทำแบบลองเทคเพื่อบ่งบอกถึงความเป็น ‘คนพิเศษ’ ของตัวละคร หรือการถ่ายดอลลีซูมเพื่อถ่ายทอดภาวะบางอย่างในบทสนทนา ซึ่งใน The Irishman ก็เต็มไปด้วยงานภาพ และมุมกล้องที่น่าสนใจมากมาย โดยนอกจากลองเทคที่โดดเด่นในหลายช็อตแล้ว การตัดต่อของหนังเองก็ยังสามารถกำหนดอารมณ์ของคนดูได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่การตัดสลับมุมมองระหว่าง แฟรงค์ในปัจจุบันกำลังเล่าเรื่องในอดีต ไปจนถึงการเล่าย้อนจากช่วงเวลาหนึ่งไปยังจุดเริ่มต้นของเรื่องราวก็นับว่าเป็นลูกเล่นที่เล่นกับเงื่อนเวลาได้อย่างสนุกสนาน

นอกจากนี้เทคโนโลยีลดอายุใบหน้าหรือ De-aged CGI เรียกได้ว่าคือสิ่งที่ดีที่สุดเลยก็ว่าได้ เนื่องด้วยตัวของมาร์ติน สกอร์เซซีไม่ต้องการให้นักแสดงคนอื่นมารับบทแทน 3 นักแสดงหลักของเขาในช่วงอายุอื่นๆ ทั้งในวัยหนุ่มและวัยชรากว่าปัจจุบัน และไม่อยากให้แปะมาร์กเกอร์เพื่อ Motion Capture เพราะอาจจะกระทบกับการแสดงของนักแสดง เขาจึงมีความสนใจเทคนิคพิเศษนี้ในการปรับลดและเพิ่มอายุของนักแสดงหลักแทน ทำให้ต้องใช้กล้อง 3 ตัวในการถ่ายทำพร้อมกัน โดยใช้กล้องฟิล์มเป็นกล้องหลัก และกล้องดิจิตอลอีกสองตัวที่มาพร้อม CGI ที่สามารถทำเอฟเฟ็กต์ลดอายุแบบคร่าวๆ ได้ แลกกับงบประมาณของภาพยนตร์ที่ถูกผลักไปจนสูงถึง 159 ล้านเหรียญซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Netflix แต่มันได้สร้างประสิทธิภาพส่งผลให้การเล่าเรื่องลื่นไหล และต่อเนื่องได้จริงๆ คนดูไม่ต้องเสียเวลาจำหน้านักแสดงใหม่ในวัยที่แตกต่างกัน ขณะที่สามนักแสดงมากฝีมือก็ยังสามารถแสดงโต้ตอบกันได้อย่างทรงพลัง ซึ่งเมื่อหากมองร่วมกับความยาวของภาพยนตร์แล้ว ริ้วรอยบนใบหน้าที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาทำให้แสดงให้เห็นถึง “เวลา” ที่ส่งผลให้ตัวละครโรยราทั้งสังขารและอำนาจ

ทุกสิ่งที่ว่ามานี้เป็นผลให้ The Irishman ได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่บวกจากทั่วทุกสารทิศ โดยหลังจากการออกอากาศภาพยนตร์ก็ได้เริ่มเดินหน้าคว้ารางวัลมาประดับบารมี เริ่มจาก National Board of Review หรือ NBR สถาบันภาพยนตร์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ตบรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมให้เรียบร้อย และยังติด 1 ใน 10 อันดับหนังยอดเยี่ยมของ American Film Institute (AFI) ด้วย ทั้ง 2 สถาบันถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และยังเป็นตัวเต็งหลักสำหรับเวทีออสการ์ในปี 2020 โดย The Irishman เข้าชิงถึง 10 รางวัลใน 9 สาขา รวมถึงรางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, บทดัดแปลงยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบชายที่ได้เข้าชิงถึงสองคนทั้งโจ เพสซี และอัล ปาชิโน แต่ต้องปราชัยกลับบ้านมือเปล่าไปอย่างน่าเสียดาย

ถึงแม้ The Irishman จะคว้าน้ำเหลว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณค่าในภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นจะถูกลดทอนลง เพราะตัวภาพยนตร์ก็ไม่เพียงแต่พาเราไปสํารวจชีวิตของตัวละครในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่กินเวลาไปไม่น้อยกว่า 50 ปี แต่ก็ยังสามารถถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ทั้งในแง่มุมงดงามและน่าสะอิดสะเอียน ด้วยการเล่าเรื่องอย่างละเอียดและนุ่มนวล อีกทั้งความขัดแย้งปัญหาที่ตัวละครในเรื่อต้องพบเจอก็ไม่ได้ห่างไกลจากความเป็นจริงมากเท่าไหร่ และในสถานการณ์ที่เบาบางกว่า เราทุกคนก็สามารถมีโอกาสจะพบเจอสถานการณ์ที่คล้ายคลึงแบบเดียวกัน สิ่งที่ผู้กำกับมาร์ติน สกอร์เซซี่ ทำไว้ในเรื่องนี้คือสิ่งที่ท้าทายวงการภาพยนตร์ในแบบเดิมๆ และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ก้าวต่อไปของวงการภาพยนตร์สตรีมมิ่งอย่าง Netflix ที่เราคงต้องติดตามกันต่อไป…

 

Contributors

วรัญชิต แสนใจวุฒิ

หนุ่มเชียงใหม่ จบปริญญาตรีสาขาถ่ายภาพ ที่พยายามแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นนอกจากการถ่ายภาพ และในขณะเดียวกันก็ชอบออกไปดูพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าวันเสาร์ ส่วนแผนการในวันพรุ่งนี้ ยังไม่รู้ เพราะเท่าที่รู้มันไม่เคยตรง