ครบรอบ 2 ทศวรรษ Linkin Park: Hybrid Theory สู่ One More Light และการจากลา

ถ้าย้อนกลับไปราว 20 ปีที่แล้ว มีหนึ่งวงดนตรีร็อกน้องใหม่ที่มีสมาชิก 6 คน ถือกำเนิดขึ้นในชื่อ Linkin Park ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นอีกหนึ่ง ‘ตำนาน’ ของประวัติศาสตร์ดนตรี และไม่ต้องเสียเวลาเถียงกันว่าเป็นที่สุดหรือไม่ เพราะพวกเขาได้ก้าวขึ้นมาเป็นโรลโมเดลในยุค 2000s พวกเขาทำให้เด็กวัยรุ่นต้องออกไปซื้อเทปและฟังจนยาน ไปหาซื้อโปสเตอร์ที่ร้านตามตลาดนัดเพื่อมาประดับผนังห้อง และต้องดูช่อง Channel V หลังเลิกเรียนเพื่อร้องตามเพลงของเขา

“Linkin Park” เกิดจากการรวมตัวกันของ Mike Shinoda และ Brad Delson ที่เป็นเพื่อนเรียนโรงเรียนมัธยมปลายเดียวกันและเริ่มตั้งวงชื่อ “Xero” ขึ้น ต่อมาก็ได้พบกับ Joe Hahn ขณะเรียนที่ Art Center College of Design ใน Pasadena และตัดสินใจเข้าร่วมวง หลังจากนั้นวงก็ดำเนินไปอย่างช้าๆ และหลังจากนั้นก็เปลี่ยนชื่อวงใหม่เป็น “Hybrid Theory” วงดำเนินต่อไปจนกระทั้งทาง Mark Wakefield นักร้องนำคนเก่าได้ออกจากวงไป จึงได้มีการคัดสรรหานักร้องนำคนใหม่เข้ามา จนวงได้ Chester Bennington เข้ามาเป็นนักร้องนำคนใหม่ของวง หลังจากนั้นสมาชิกของวงได้ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อวงใหม่อีกครั้ง อันมีสาเหตุจากการที่ชื่อวงของพวกเขาไปคล้ายกับชื่อวงอื่น โดยเปลี่ยนชื่อวงใหม่เป็น “Linkin Park” และได้ออกผลงานสตูดิโออัลบั้มชุดแรกในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 2000 ที่มีชื่อว่า Hybrid Theory

 

Takes me one step closer to the edge…

ในอดีตโลกที่เพลงป๊อปกำลังมาแรงมาก Linkin Park โผล่ผุดขึ้นมาพร้อมกับเนื้อเพลงที่ดิบและดาร์กทรงพลัง หยิบข้างในมาเล่าอย่างตรงไปตรงมา เชื่อว่าอดีตวัยรุ่นยุค 90 ตอนปลายไปจนถึงปี 2000 แทบทุกคนต้องรู้จัก หรือไม่ก็ต้องเคยได้ยินเพลงของพวกเขา เคยกระโดด เคยโยกหัว เคยเต้น เคยแหกปากร้องเพลงของพวกเขามาไม่มากก็น้อย ทำให้ในยุคนั้นเพลงอย่าง “In the End” เพลงที่พูดถึงความคับแค้นใจและความท้อใจที่บางครั้งไม่ว่าเราจะพยายามแค่ไหนแต่สิ่งต่างๆก็ดูจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราหวังจากสตูดิโออัลบั้มที่มีชื่อว่า Hybrid Theory แทบจะเหมือนตัวแทนของยุคปี 2000 เลยทีเดียว

สำหรับสตูดิโออัลบั้ม Hybrid Theory ที่มาของชื่อก็หยิบยกจากชื่อเดิมของวงก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น Linkin Park อีกทั้งชื่ออัลบั้ม ยังแปลว่า ‘ทฤษฎีลูกผสม’ อันแสดงให้เห็นถึงแนวคิดในการผสมผสานของแนวเพลงตั้งแต่การนำแนวเพลงหลายๆแนวเพลงมารวมเข้าด้วยกัน ถือเป็นอัลบั้มบุกเบิกที่ทำให้โลกรู้จักดนตรี Nu-Metal อย่างกว้างขวาง และเรียกได้ว่าเป็นงานแจ้งเกิด Linkin Park ในวงการเพลงอีกด้วย Hybrid Theory วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการเมื่อ 24 ตุลาคม ค.ศ. 2000 เพียงแค่อัลบั้มแรกของ Linkin Park มันได้สร้างสถิติมากมาย เริ่มตั้งแต่ Single แรกที่ปล่อยออกมาอย่าง One Step Closer, Crawling และเพลงที่กลายเป็นตำนานประดับอยู่คู่วงการเพลงร็อกมาจนถึงปัจจุบันคือ Single ที่ 4  In The End จนกลายเป็นหนึ่งในสตูดิโออัลบั้มเปิดตัวของวง Linkin Park ซึ่งสร้างยอดขายได้สูงสุดตลอดกาลด้วยยอดจำหน่ายมากถึง 27 ล้านชุดทั่วโลก เป็นสตูดิโออัลบั้มที่เต็มไปด้วยความสำเร็จมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการไต่ขึ้นไปอยู่อันดับ 2 ในชาร์ต Billboard 200 ของอเมริกา, การคว้า 11x Platinum ของ RIAA และเป็นสตูดิโออัลบั้มร็อคที่ขายดีที่สุดในศตวรรษที่ 21 และยังได้รับรางวัล Grammy Awards ครั้งที่ 44 สาขา Best Hard Rock Performance จากเพลง Crawling ด้วย

ตามประสาวัยรุ่นหัวร้อน ฮอร์โมนพุ่งพล่าน สับสนในหนทาง และกำลังค้นหาเข็มทิศให้ชีวิต เพลงต่างๆของ Linkin Park ล้วนแต่เข้าถึงอารมณ์ของเรา เสียงร้องทรงพลังของ Chester การแรปที่ตื่นตาตื่นใจของ Mike ผสมผสานกับดนตรี nu metal ที่กระแทกจิตใจและเสียง turntable ที่กระชากอารมณ์จาก Mr.Hahn และไม่ใช่แค่คุณภาพของดนตรี แต่เนื้อร้องของหลายๆเพลงก็ล้วนแต่เข้าถึงจิตใจและชีวิตวัยรุ่น ทั้งหมดนี้รวมกันอย่างลงตัวและทำให้ Linkin Park เป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้นได้กับวัยรุ่นสักคน อย่างน้อยก็ต้องเคยได้ยินเพลงของพวกเขา เคยกระโดด เคยโยกหัว เคยเต้น เคยแหกปากร้องเพลงของพวกเขามาอย่างแน่นอน 

หลังจากนั้นสตูดิโออัลบั้มที่ออกมาต่อก็คือ Reanimation ซึ่งเป็นสตูดิโออัลบั้มรีมิกซ์ ดูเหมือนคนส่วนใหญ๋จะไม่รู้จักอัลบั้มนี้ หรืออาจจะรู้จักแต่ไม่สนใจเพราะคิดว่าเป็นแค่อัลบั้มรีมิกซ์ ไม่ใช่สตูดิโออัลบั้มใหม่

แต่ความคิดนั้นผิดถนัด Reanimation เป็นอะไรที่ทำให้ Hybrid Theory ซึ่งยอดเยี่ยมอยู่แล้วยิ่งยอดเยี่ยมไปยิ่งกว่าเดิม และเป็นหลักฐานถึงความทรงพลังของ Linkin Park ในตอนนั้น

สตูดิโออัลบั้มนี้เป็นการดึงเอานักดนตรีคนอื่นๆจำนวนมากเข้ามาร่วมงานด้วย และในการรีมิกซ์นั้นก็มีการปรับเนื้อเพลงเพื่อสร้างความหมายใหม่ให้กับทุกเพลง ปรับดนตรีเพื่อเปลี่ยนอารมณ์เพลงไปจากเดิม เป็นเหมือนการตีความเพลงใน Hybrid Theory ใหม่ แต่ทำด้วยคุณภาพดนตรีและเนื้อร้องที่ดีเยี่ยมไม่ต่างไปจากเดิม และความพิเศษอย่างหนึ่งของอัลบั้มนี้ก็คือมันเป็นอัลบั้มที่มีเรื่องราวในตัวเอง เพลงต่างๆที่ถูกเอามาตีความใหม่นั้นถูกเอามาเรียงลำดับให้ต่อเนื่องกัน มีการแทรก track สั้นๆที่เป็นบทสนทนาเข้าไประหว่างเพลงเพื่อเติมเนื้อเรื่องให้เต็ม สตูดิโออัลบั้มนี้จึงเป็นเหมือนกับเป็นหนังสือที่มีตอนสั้นๆจบในตัวเอง แต่ว่าแต่ละตอนนั้นก็เชื่อมโยงกันและสร้างความหมายให้กับตอนอื่นๆและออกมาเป็นธีมร่วมกันของหนังสือทั้งเล่ม นี่ทำให้การฟังอัลบั้มนี้นั้นเป็นเหมือนการฟังเรื่องราว ความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของชีวิตวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้นผ่านดนตรีคุณภาพสูง

 

When this began…

ดื่มด่ำความสำเร็จจากสตูดิโออัลบั้มแรกแค่แป๊บเดียว Linkin Park ก็ลงมือทำสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 2 ต่อทันทีโดยใช้เวลานานถึง 18 เดือน ในการเขียนและบันทึกผลงาน มีนาคม ค.ศ.2003 อัลบั้ม Meteora ได้ออกวางจำหน่าย โปรดิวซ์โดย Don Gilmore มิกซ์เสียงโดย Andy Wallace และขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ตทั่วโลก ทำยอดขายไปได้ 8 แสนก็อปปี้ในวีคแรก (ปัจจุบัน ขายทั่วโลกได้เกิน 27 ล้านชุดไปแล้ว) โดยมีซิงเกิลฮิตๆ อาทิ ‘Somewhere I Belong’, ‘Faint’, ‘Breaking the Habit’ และ ‘Numb’ 

สตูดิโออัลบั้มนี้ยังคงให้กลิ่นอายที่คล้ายคลึงกับ Hybrid Theory และเข้าถึงจิตใจวัยรุ่นได้ไม่เปลี่ยนแปลง

เพลงที่รู้สึกผูกพันในอัลบั้มนี้ก็คือ Somewhere I Belong ซึ่งพูดถึงการเดินทางค้นหาบางสิ่งบางอย่าง บางคน หรือบางสถานที่ที่เรารู้สึกว่าเราถวิลหาจริงๆ Breaking the Habit ที่กล่าวถึงการที่เวลาเราล้มเหลวในเรื่องต่างๆในชีวิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนรู้สึกอยากจะเก็บตัวไม่ออกไปพบหน้าใคร แต่ก็ยังพยายามจะลุกขึ้นและทำลายนิสัยเดิมๆที่เรามี และ Numb ซึ่งสะท้อนความรู้สึกที่เราอยากจะเป็นผู้ใหญ่ อยากจะเป็นตัวของตัวเอง

ความสำเร็จของสตูดิโออัลบั้มนี้ คือการต่อลมหายใจให้ Nu Metal อย่างแท้จริง เพราะขายได้ได้ 8 แสนชุดในสัปดาห์แรก และถูกจัดมียอดจำหน่ายสูงสุดของ billboard หลังจากนั้นมีการกอดคอกันออกทัวร์กับ Mudvayne, Blindside, และ Xzibit ในปี 2003 ภายใต้ทัวร์ของพวกเขาที่ชื่อว่า Projekt Revolution ในช่วงปี 2004 – 2006 Chester ได้ออกงาน side project ร่วมกับ DJ Lethal ในเพลง “State of the Art” ทำงานร่วมกันกับวง “Dead by Sunrise”   

ถึงจุดนั้น Linkin Park กลายเป็นวงดนตรีที่ ‘ครองโลก’ ได้สำเร็จ และยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสมัยของตัวเองไปแล้ว 

 

Yeah, here we go for the hundredth time…

Minutes to Midnight สตูดิโออัลบั้มชุดที่ 3 วางจำหน่ายเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2007 ในความจริง Minutes to Midnight เป็นชื่อสื่อถึงสิ่งที่เรียกว่า Doomsday Clock หรือนาฬิกานับถอยหลังสู่วันสิ้นโลก ตั้งขึ้นโดยวารสาร Bulletin of the Atomic Scientists เป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนการนับเวลาถอยหลังสู่การปล่อยระเบิดนิวเคลียร์ เมื่อเข็มยาวเดินถึงเวลาเที่ยงคืนเมื่อไหร่สงครามนิวเคลียร์จะปะทุ แน่นอนว่าสิ่งนี้มีขึ้นในยุคที่ประชากรโลกหวาดกลัว “สงครามนิวเคลียร์” กันเป็นวรรคเป็นเวร 

เริ่มด้วยเพลงแรกที่ปล่อยออกมาเป็น Single อย่าง What I”ve done ซึ่งดู ๆ ไปแล้วเนื้อหาจะพูดถึงอะไรที่กว้างมาก ใน Music Video เพลงนี้ก็เต็มไปด้วยภาพตัดต่อของสังคมในแบบที่เห็นได้ง่าย ๆ ในสื่อทั่วไปและยังไม่รู้ว่าพวกเขาใกล้ชิดกับปัญหา แต่ก็ดีหากจะเป็นการเริ่มต้นตั้งคำถามกับตัวเองว่า ที่แล้วๆ มาเราได้ทำอะไรกับโลกใบนี้ไว้บ้าง หรืออย่างน้อย…เราทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้าง

อีกเพลงที่เนื้อหาพูดถึงสังคมในยุคสมัยใหม่คือ Hands Held High ซึ่งดูจะยังเป็น Rap Rock แบบเต็มเหนี่ยว ที่มีเสียงกลองคล้ายจังหวะมาร์ช เสียงประสานที่ใส่เข้ามาก็ฟังดูขัดๆ พิกลๆ ดูผิดที่ผิดทางไปหมดในด้านของดนตรี ส่วนในตัวเนื้อหาเองมีอะไรพอให้ชวนคิดบ้าง แต่ไม่เชิงว่าจะพูดถึงโลกรอบข้างไปเสียหมด บางเพลงพวกเขาก็ยังหันกลับมาพูดถึงตัวเองอยู่บ้างอย่างในเพลง Leave out all the Rest ที่บัลลาดป็อบจ๋าจนนึกไม่ออกว่าเป็น Linkin Park คนเดิม มีเพลงที่เกี่ยวกับความขัดแย้งกับตัวเองอย่าง Given Up ที่ก็ยังไม่ทิ้งลายเดิมๆ แถมด้วยเพลงอีกเพลงที่หันมาหม่นซึม มากกว่าโกรธเกรี้ยว ขณะที่ภาคดนตรีชวนให้นึกถึง U2 อย่างเสียมิได้อย่าง Shadow Of The Day ที่เนื้อหาพูดถึงการปิดตัวเองกลับเข้าไปสู่โลกอันมืดมนเพียงลำพัง

และเนื่องจาก Linkin Park กลัวว่าแฟนเพลงจะคิดไปว่าอารมณ์ของเพลงในอัลบั้มนี้จะหนักไปทั้งหมด Linkin Park ก็เลยใส่ความมีชีวิตชีวา และสีสันอันเต็มเปี่ยมลงไปในเพลงอย่าง Bleed It Out โดยได้พลังของกีตาร์และเบสที่มีกลิ่นอายเพลงร็อค, เปียโนบลูส์  โรดเฮ้าส์ กลองสไตล์โมทาวน์ และ ท่อนแรปหยาบกร้านเข้าไปผสมเพิ่มความลงตัวด้วย

สำหรับผลงานชุดนี้ก็ยังคงสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของวัยรุ่นออกมาได้ เพียงแต่ ในคราวนี้ผมรู้สึกว่า พลังในการปลดปล่อยของพวกเขาหายไปค่อนข้างมาก แถมเนื้อหาก็ยังไม่ได้ลึกซึ้งไปกว่าผลงานชุดก่อนๆเท่าไหร่ ทั้งที่บางแห่งบอกกันว่าพวกเขาเติบโตขึ้น แต่เรากลับรู้สึกว่า พวกเขาก็แค่…เปลี่ยนเสื้อผ้าเท่านั้น

 

You build up hope…

A Thousand Sun สตูดิโออัลบั้มชุดที่ 4 ที่สมาชิกทั้ง 6 คนยังคงอยู่ด้วยกันอย่างเหนียวแน่น แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปจากอัลบั้มที่ผ่านๆ มา คือการเพิ่มดนตรีอิเล็กทรอนิกเข้าไปในเพลงร็อกมากขึ้น โดยพวกเขาเพิ่มสัดส่วนของดนตรีอิเล็คทรอนิคส์เข้าไปมากขึ้นในเพลงร็อคที่หนักแน่นเหมือนเดิม เพราะต้องการให้แฟน ๆ ได้สัมผัสถึงความแตกต่างที่คาดเดาไม่ได้ แน่นอนว่างานอัลบั้มนี้จะต้องมีลูกเล่นใหม่ ๆ ที่แฟน ๆ คาดไม่ถึงมากมาย อัลบั้มนี้วางจำหน่ายเมื่อ กันยายน ค.ศ.2010อัลบั้มนี้ถือเป็นคอนต์เซปอัลบั้มต่อจากผลงานชุดที่แล้วอย่าง Minute To Midnight 

สำหรับสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 4 A Thousand Sun นั้นยังใช้โปรดิวเซอร์เหมือนเดิมคือ Rick Rubin เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น มีของให้ปล่อยกันเยอะขึ้น โดยเฉพาะ Mike และ Hahn เลือกวิธีการที่จะสื่อสารบทเพลงและอัลบั้มนี้ออกมาผ่านในรูปแบบของศิลปะ

งานในอัลบั้มชุดนี้แฟนเพลงทั้งเก่า และใหม่ พอได้ฟังแล้วอาจจะมึนทันทีในการฟังรอบแรก (ใช่ครับ ผมเองก็ด้วย) โดยทางด้านเนื้อเพลงจะเน้นไปที่ความหมายทางด้านสงคราม ความหวัง การสำนึกผิด การสูญเสีย การเมือง การประชดประชัน การให้กำลังใจ การดับสลาย และการเกิดใหม่ ชื่ออัลบั้ม A Thousand Suns มีที่มาจากข้อความในคัมภีร์ภควัตคีตาของศาสนาฮินดู ซึ่งกล่าวถึงดวงอาทิตย์ 1 พันดวงที่ระเบิดพร้อมกัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ J. Robert Oppenheimer เคยอ้างถึงเมื่อเห็นผลจากการทดลองใช้ระเบิดปรมาณูลูกแรก ทำให้ในด้านของเนื้อหาจะมีความหลากหลายทางอารมณ์มากขึ้นจากผลงานชุดที่ผ่านๆมา 

อีกทั้งในผลงานชุดนี้ Mike ได้ใช้เสียงร้องที่เป็นคลีนเมโลดี้มากกว่าเดิมแต่ก็ยังไม่ลืมจุดยืนของตัวเอง ซึ่งยังมีท่อนแรปอยู่บ้างในอัลบั้มนี้ ทางด้านในส่วนของพาร์ทดนตรีทางวงเลือกที่จะใช้เสียงสังเคราะห์อิเล็คโทรนิค มากกว่าการใช้กีต้าร์ เบส และกลอง ซึ่งทำให้มีความหลากหลายและสดใหม่ทางด้านอารมณ์ อาจจะเป็นเพราะว่าในอัลบั้ม Minute To Midnight Mr.Hahn ถูกโดนจำกัดในด้านของการใช้เสียงสังเคราะห์ไปพอสมควร 

เพลง The Catalyst ซึ่งมีชื่ออัลบั้ม A Thousand Suns อยู่ในเนื้อเพลงด้วยนั้น เป็นเพลงที่โดดเด่นจนทางวงเลือกมาเป็นซิงเกิลเปิดตัว และยังได้รับเลือกให้เป็นเพลงประกอบเกม Gundam Extreme VS และเพลงประกอบโฆษณารายการ Surviving the Cut ของสถานีโทรทัศน์ Discovery Chanel ส่วนเพลงอื่นๆ มีทั้งแนวคึกคักติดหูอย่าง Waiting for the End เพลงกรีดร้องแรงๆ กับเสียงดนตรีอิเล็กทรอนิกอย่าง Blackout พักยกด้วยเพลงบัลลาดที่ขึ้นต้นด้วยเสียงเปียโน Iridescent หรือเพลงอคูสติกช้าๆ The Messenger ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่พลังเสียงของ เชสเตอร์

บางเพลงในอัลบั้มนี้มีความยาวไม่มากนัก จนเหมือนเป็นเพลงเชื่อมมากกว่า เช่น The Radiance ที่มีความยาว 58 วินาที ขณะที่ Empty Spaces ยาวเพียง 18 วินาทีและประกอบไปด้วยเสียงปืนในสนามรบ ส่วนชื่อเพลง Jornada del Muerto นั้นเป็นภาษาสเปนแปลว่าการเดินทางของคนตาย เพลงนี้มีเนื้อเพลงเป็นภาษาญี่ปุ่นสั้นๆ แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า lift me up, let me go ซึ่งเป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งของ The Catalyst นั่นเอง

 

When the lights go out and we open our eyes…

หายไปนานกำลังดี 2 ปีกว่าๆ สตูดิโออัลบั้มที่ 5 ก็วางจำหน่ายเมื่อ มิถุนายน ค.ศ. 2012 แฟนเพลงคนไหนคิดว่าจะได้ฟังดนตรีหนักๆ มีจังหวะให้โยกหัวแบบชุดแรกและชุดที่สอง คงต้องผิดหวัง เพราะตั้งแต่ Minutes To Midnight ออกมา เริ่มเห็นได้ชัดว่าวง Linkin Park เปลี่ยนไป ความเกรี้ยวกราดของดนตรี nu-metal เริ่มจางหายไปพร้อมวัยวุฒิที่มากขึ้น ผลลัพธ์ที่ออกมาเลยทำให้ดนตรี “บาง” ลง แต่กลับ “ลึก” ขึ้น พร้อมกับความชัดเจนของเสียงสังเคราะห์ที่เพิ่มเข้ามาจนกลายเป็นส่วนประกอบหลักในงานยุคหลังๆของวงบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า Mike Shinoda กับ Mr.harn มีอิทธิพลต่อภาพรวมของดนตรีของวงมากจริงๆ แถมเนื้อหาหลังๆเริ่มออกแนวเพื่อชีวิต เพื่อสังคม 

Living things ก็เหมือนกับภาคต่อของ A thousand suns และ Minutes To Midnight กับดนตรี Modern Rock ที่เต็มไปด้วยเสียงสังเคราะห์คละคลุ้งไปทั้งอัลบั้ม แถมหยอดกลิ่นดนตรี techno มาเยอะพอสมควร กับจังหวะเพลงที่ค่อนข้างออกไปทางเนิบๆ เรื่อยๆ

เปิดตัวอัลบั้มนี้ด้วยซิงเกิล Burn It Down เพลงต่อต้านสงครามที่มีเสียงดนตรีอิเล็กทรอนิกสังเคราะห์เป็นแกนหลัก ส่วน Powerless เพลงบัลลาดช้าๆ ประกอบภาพยนตร์ Abraham Licoln: Vampire Hunter ยังคงมีจังหวะอิเล็กทรอนิกอยู่กลายๆ คลอไปกับการบรรเลงเปียโนที่เป็นตัวเอก โดยเล่นต่อเนื่องจาก Tinfoil เพลงดนตรีสังเคราะห์สั้นๆ ผสานกับเสียงเปียโน อีกเพลงที่น่าสนใจ คือ Lost in the Echo ซิงเกิลที่ 2 ที่โดดเด่นด้วยดนตรีสังเคราะห์ เสียงกีตาร์ ประกอบกับการแร็ปของ Mike ควงคู่ไปกับการร้องของ Chester ส่วนเพลงที่ไม่มีใครคิดว่าวงจะทำก็คือ Castles of Glass ที่มาในดนตรีแบบโฟล์กจากการบรรเลงเครื่องสายกับเครื่องเป่าโดย Mike และการร้องของเขาที่ให้ความรู้สึกมืดมนหดหู่ไปตามเนื้อหาเพลง ขณะที่ Until It Breaks มีเสียงดนตรีสังเคราะห์ที่ให้บรรยากาศล่องลอย โดยแฟนๆ จะได้ยินเสียงร้องของ Brad Delson มือกีตาร์ ในท่อนจบที่มีเนื้อหาน่าขนลุกเล็กๆ ด้วย

อัลบั้ม Living Things ถือเป็นการรวมองค์ประกอบทั้งหมดจากทุกอัลบั้มที่เคยทำมาเพื่อสร้างซาวนด์ที่แปลกใหม่แต่ก็ยังคงความเป็น Linkin Park เหมือนเดิม พวกเขาว่า ในที่สุดพวกเขาก็ค้นพบ “พื้นที่ที่พวกเขาคุ้นเคย” ในการผลิตผลงานเพลงออกมาอีกครั้ง

 

What you think we should be…

ในสตูดิโอชุดที่ 6 วางจำหน่ายเมื่อ มิถุนายน ค.ศ.2014 แนวคิดของผลงานชุดนี้ Linkin Park ต้องการหวนกลับไปทำเพลงที่เสียงดังและหนักหน่วงอย่างที่เคยทำมา ภายใต้ชื่อ The Hunting Party มีความหมายเป็นเชิงเปรียบเทียบถึงวงเอง ที่ต้องการออกตามล่า เพื่อนำจิตวิญญาณแห่งดนตรีร็อกกลับมาอีกครั้ง

หลังจากสร้างผลงานเพลงให้ผู้ฟังชื่นชมมากมาย Mike เองก็มีวงดนตรีรุ่นใหม่หลายวงที่ทำให้เขาประทับใจตลอดช่วงที่ผ่านมา แต่คราวนี้ ไมก์ กลับไปฟังเพลงที่เคยเป็นแรงบันดาลใจให้เขาก่อน Linkin Park จะตั้งเป็นวง และคราวนี้ Mike ถือโอกาสเชิญศิลปินเหล่านั้นมาร่วมปรากฏตัวให้แก่อัลบั้ม เช่น Page Hamilton นักร้องนำและมือกีตาร์จากวง Helmet ร่วมร้องเพลง All For Nothing ส่วน Daron Malakian มือกีตาร์จากวง System Of a Down ร่วมสร้างสีสันในเพลง Rebellion และ Tom Morello มือกีตาร์จาก Rage Against The Machine ก็มาเพิ่มจังหวะให้แก่เพลง Drawbar

Guilty All the Same เป็นเพลงแรกในอัลบั้มที่ถูกปล่อยออกมาให้ฟังกัน โดยมี Rakim ศิลปินแร็ปรุ่นเก๋าจาก Eric B. & Rakim มาร่วมแร็ปในเพลง ตามมาด้วย Until It’s Gone เพลงที่แต่งขึ้นมาจากความสัมพันธ์ที่ล้มเหลวของ Chester เช่นเดียวกับในเนื้อเพลงที่เขาร้องว่า “คุณไม่มีทางรู้ว่าคุณมีอะไรอยู่จนกระทั่งมันหายไป” อีกหนึ่งเพลงเด่นของอัลบั้ม คือ Final Masquerade ที่ชวนจดจำด้วยบรรยากาศดนตรีที่ไม่ยุ่งเหยิง ราวกับจะขับเน้นเสียงร้องของ Chester ให้โดดเด่นท่ามกลางเสียงคีย์บอร์ดที่ลดระดับความดุดันลง และเสียงกีตาร์ที่ไม่รวดเร็วรุนแรงเท่าเพลงอื่น นอกจากนี้ Final Masquerade ยังเป็นเพลงประกอบเกม Linkin Park Recharge – Wastelands ซึ่งทางวงตั้งใจให้เป็นเกมที่เพิ่มจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม

การกลับมาครั้งนี้ของ Linkin Park ในครั้งนี้ ขอบอกเลยว่า สุดยอดมากๆ จัดหนักจัดเต็มกว่าอัลบั้มชุดที่ผ่านมาอย่างแน่นอน ซาวน์ดดุและดิบจนเกือบจะเป็นเมทัลกันเลยทีเดียว สมาชิกทุกคนในวงสามารถดึงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ นับว่าอัลบั้มชุดนี้เกิดจากแรงขับภายในของทุกคนในวงอย่างแท้จริง ทุกคนล้วนมีบทบาทสำคัญที่ทำให้อัลบั้มชุดนี้ ออกมามันส์สะใจ ได้ใจแฟนเพลงไปเต็มๆ The Hunting Party มีความใกล้เคียงกับ 2 อัลบั้มแรกเอามากๆ แต่แตกต่างตรงที่ชุดนี้ดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ดิบขึ้น ในทางที่ควรจะเป็น 

 

Why is everything so heavy?…

“เก่าไปใหม่มา” สัจธรรมข้อนี้เป็นความจริงเสมอเหนือกาลเวลากับทุกแวดวง มีดนตรีหลากหลายแนวที่ได้ล้มหายตายจากไป และก็แนวใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งธรรมดาของโลก การที่วงดนตรีวงใดวงหนึ่งจะผันเปลี่ยนทิศทางการทำการเพลงไปต่อให้จะแบบหน้ามือเป็นหลังมืออย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

สำหรับอัลบั้มใหม่ของวงมีชื่อว่า One More Light ออกวางจำหน่าย พฤษภาคม ปี 2017 ทิ้งช่วงจากอัลบั้ม The Hunting Party ไปประมาณ 3 ปี โดยอัลบั้มนี้ทาง Mike Shinoda และ Brad Delson มือกีตาร์ของวงลงมือโปรดิวซ์กันเอง และอัลบั้มนี้ได้เผยทิศทางในการทำงานใหม่ๆ ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก และมีเรื่องราวที่เข้าถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้น ที่แทบจะลบล้างสไตล์ดั้งเดิมของตนในยุคก่อนออกไปทั้งหมดแบบไม่เหลือกลิ่น แล้วเลือกที่จะมูฟออนไปสร้างผลงานที่มีส่วนผสมของ EDM และ Trap อย่างกล้าหาญและน่าชื่นชม แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เหล่าแฟนๆ กลุ่มดั้งเดิมของพวกเขากลับออกมาบ่นอุบถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างไม่พอใจ การเปลี่ยนแนวทางแบบพลิกตลบ 180 องศาอาจทำให้แฟนเพลงบางกลุ่มทำใจรับไม่ทัน แต่นั่นอาจเป็นเหตุการณ์ที่ช่วยเตือนใจให้เรารับกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นอีกเมื่อไรก็ได้

โดยพวกเขาเปิดตัวด้วยเพลงเพราะๆ ในแบบที่ทำให้แฟนๆ ประหลาดใจ Heavy ที่ได้ Kiiara มาร่วมงานด้วย ซึ่งเผยอีกด้านของวงให้เห็นอย่างชัดเจน แล้วก็ตามด้วย Battle Symphony และ Good Goodbye ที่ได้ Pusha T สาวเสียงดีอีกคนของวงการเพลงยุคนี้ และ Stormzy ฮิพ-ฮ็อพจากเกาะอังกฤษมาร่วมงาน ที่ยิ่งตอกย้ำความไม่เคยหยุดนิ่งในพัฒนาการของวง Linkin Park ได้เป็นอย่างดี

บทสรุปของอัลบั้มนี้คือ การเปลี่ยนแปลงอีกครั้งของ Linkin Park อัลบั้มนี้มันคือความป๊อปที่ไม่มีร็อกเจือปนเลยแม้แต่น้อย ทางวงคงทำมาเพื่อเน้นขายอย่างจริงจัง (แม้จะไม่ได้พูดแบบนั้นออกมา) ซาวด์กีตาร์แตก ๆ กลองหนัก ๆ หรือแม้กระทั้งเสียงสำรอก ไม่มีให้ได้ยินในอัลบั้มนี้เลยแม้แต่น้อย หรือแม้กระทั้งท่อนแร็ปจุดเด่นของ Mike Shinoda ก็ถูกลดทอนบทบาทลงไปมากเช่นกัน พวกเขาเน้นซาวด์อิเล็กทรอนิกเป็นแกนหลักของเพลง เรียกได้ว่าอัลบั้มนี้ถ้าไปเล่นสดแค่เปิดแบ็กกิ้งแทร็กแล้วให้นักร้องออกมาร้องยังได้เลย

 

I tried so hard and got so far…

เพื่อนในวัยเด็กต้องมีการจากลากันให้แต่ละคนไปเติบโตในทางของตัวเองฉันใด เรากับ Linkin Park ก็ต้องมีการจากลากันฉันนั้น และ The Hunting Party ก็เป็นอัลบั้มสุดท้ายของวงที่ผู้เขียนผูกพันและฟัง ทั้งนี้เพราะหลังจากอัลบั้มนี้วงก็ได้เปลี่ยนแนวดนตรีไปในสู่แนวที่ผู้เขียนไม่ได้รู้สึกมีอารมณ์ร่วมสักเท่าไหร่

แม้เราจะลากันเราก็ยังมีโอกาสได้มาพบกันบ้างเป็นบางครั้ง บางครั้งบางครายูทูบก็แนะนำ MV ของ Linkin Park ขึ้นมา บางครั้งสถานที่ที่ผมไปก็เปิดเพลงของ Linkin Park เราลากัน แต่เราไม่ได้จากกันตลอดกาล เรายังคงพบปะกันตามโอกาส และความแน่นแฟ้นที่เราเคยมีด้วยกันก็ยังไม่เสื่อมคลาย 

และข่าวร้ายก็มาถึง เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ.2017 ได้เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดของ Linkin Park และแฟนเพลงทั่วโลก อันเนื่องมาจาก Chester Bennington นักร้องนำของวงได้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย โดยสาเหตุการจบชีวิตตัวเองของเขาคาดว่ามาจากอาการโรคซึมเศร้าที่ทาง Chester ได้ต่อสู้กับโรคนี้มาอย่างยาวนาน

One More Light คือผลงานสตูดิโออัลบั้มสุดท้ายของ Linkin Park ที่เราจะได้ยินเสียงแผดร้องของ Chester Bennington และที่สร้างความประหลาดใจให้หลายคน คือสไตล์ดนตรีที่เปลี่ยนไป แฟนเพลงไม่น้อยวิเคราะห์ว่า นี่คืออัลบั้มทิ้งทวนของวงก่อนจะแยกย้ายไปตามเส้นทางของแต่ละคน แต่ไม่มีแม้สักคนเดียวที่จะคาดคิดว่า ข้อความที่ถูกซ่อนในบทเพลงเหล่านั้น จะเชื่อมโยงกับการจากไปของ Chester ในวันนี้

One More Light มีหลายบทเพลงที่ถ่ายทอดเนื้อหาการจากลาและความสูญเสีย แม้แต่เพลงที่ใช้ชื่อเดียวกับอัลบั้มยังมีเนื้อหาที่ถูกนำไปตีความว่า Chester หมายถึงตัวเอง แม้ว่าเพลงนี้จะเป็นเพลงที่ Mike Shinoda เขียนขึ้นมาร่วมกับ Francis White นักแต่งเพลงและโปรดิวซ์เซอร์ชาวอังกฤษ แต่น้ำเสียงและอารมณ์ที่ Chester ถ่ายทอดออกมามันทะลุแทรกซึมเข้าไปในความรู้สึกอย่างรวดเร็ว ราวกับเป็นข้อความที่มาจาก้นบึ้งหัวใจของ Chester ทุก ๆ ประโยค ทุก ๆ พาร์ท ทุก ๆ ท่อน โดยเฉพาะเนื้อร้องท่อนฮุคที่ย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “Who cares if one more light goes out Well I do Well I do” ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “ใครเล่าจะมาสนใจเมื่อแสง ๆ หนึ่งได้ดับไป ฉันเองไง ฉันเองไง” ใช่ เราสนใจและทุกคนทั้งโลกก็สนใจในวันที่ดาวที่ส่องแสงที่ชื่อว่า Chester ได้ดับลงไป แต่มันก็สายเกินไปแล้ว โรคร้ายได้พรากชีวิตผู้ชายที่เราเติบโตมากับเสียงร้องของเค้าตลอดระยะเวลานับ 10 ปี มีความทรงจำดีมากมายตลอดเวลา และเหมือนคนสนิทใกล้ชิดได้หายไปจากชีวิตของเรา มันน่าเศร้า น่าเศร้ามากจริง ๆ หากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องการการสื่อสาร รับฟัง และทำความเข้าใจ เป็นไปได้ไหม? ที่ Chester พยายามสื่อสารในแบบของตัวเองมาตั้งแต่แรก

จากสูญเสีย Chester ไปจากภาวะซึมเศร้าที่เขาเผชิญมาหลายปี การจากไปของชายที่ชื่อ Chester Bennington สร้างความใจหาย หลุนตุ๊บ ราวกับเป็นการจากไปของเพื่อนสนิท เพื่อนผู้ที่เรานึกถึงเสียงของเขาได้เสมอเมื่อหลับตา ในวันนี้ไม่มี Chester แล้วเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า Linkin Park จะเป็นยังไงต่อไป เราเองจินตนาการไม่ออกเลยว่าดนตรีของวงที่ไม่มีเสียงของ Chester จะเป็นอย่างไร และถ้าวงนี้ในอดีตไม่มีเขาอยู่ด้วย ดนตรีของวงนี้จะเข้าถึงจิตใจของเราได้อย่างนี้ไหม เราไม่มีคำตอบ มีแต่ความรู้สึกถวิลหาและผูกพันที่วนเวียนอยู่ภายในพร้อมๆกับเสียงดนตรีที่ล่องลอยอยู่รอบๆตัว

เสียงเปียโนอิเล็กโทรนิค ติ่ง ติ้ง ติ้ง ติง ติง… ของเพลง In the End ยังก้องในความคิด แม้ตอนสุดท้ายของชีวิตจะไม่สวยงามอย่างที่คาดหวัง แม้ทุกอย่างจะพังทลายไป แต่ผู้คนที่ได้รับรู้ความรู้สึกจากเพลงของเขา ต่างได้รับความสุข เป็นความสุขอันแสนเศร้าที่เขามอบมาให้ เราคงเก็บกาลอันนั้นไว้ในหัว แม้โลกน้ีจะไร้สื่อใดใดมาบรรเลงบทเพลงเหล่านั้น…..

 

 

ด้วยรักและอาลัย แด่ Chester Bennington

 


 

Contributors

วรัญชิต แสนใจวุฒิ

หนุ่มเชียงใหม่ จบปริญญาตรีสาขาถ่ายภาพ ที่พยายามแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นนอกจากการถ่ายภาพ และในขณะเดียวกันก็ชอบออกไปดูพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าวันเสาร์ ส่วนแผนการในวันพรุ่งนี้ ยังไม่รู้ เพราะเท่าที่รู้มันไม่เคยตรง