#ถ้าการเมืองดี หนังไทยดีๆ ที่พูดเรื่องจริงก็คงไม่โดนแบน

เวลาที่ผมเลือกดูภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง มักจะเกิดคำถามขึ้นว่า “ทำไมเราไม่ดูหนังไทยบ้างวะ” คำตอบเกิดที่ขึ้นในความคิดของผมมาตอบอย่างฉับพลันเลยว่า “หนังไทยมันห่วย” โดยส่วนตัวแล้ว น้อยนักที่จะหยิบหนังไทยมาเปิดดูซักเรื่อง หลายครั้งที่เรารู้สึกผิดหวังเมื่อเราได้ดู “ภาพยนตร์ที่ไม่ได้เรื่อง” จนทำให้ตัวเรามีอคติกับหนังไทยไปเลย โดยเฉพาะหนังกระแสหลักที่มักเล่นกับอะไรเดิม ๆ เช่น หนังผี, หนังตลก-คอมเมดี้ที่มีแต่มุกชาวบ้านหรือมุกสกปรก, หนังแอคชั่นที่มักขายแต่ฉากสตันท์จนเรารู้สึกว่ามัน “ไม่จริงเลย” แม้แต่หนังรักที่เลี่ยนก็เลี่ยนไปเลย    

จากในสถานการณ์ปัจจุบันที่เรื่องของกระบวนการยุติธรรม ความถูกต้อง ความซื่อสัตย์ ความตรงไปตรงมา ต่างถูกตั้งคำถามและเรียกร้องอย่างหนักในสังคมไทย เลยทำให้หนังไทยเรื่องล่าสุดที่ชื่อคืน-ยุติธรรม มีสถานะพิเศษที่คล้ายเป็นดั่งตัวแทนความคับข้องใจของคนในสังคม ที่หลังจากผมได้ดูตัวอย่างเนื้อเรื่องของหนังเรื่องนี้แล้ว ผมแอบคิดอยู่ว่าเนื้อเรื่องมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคมความเน่าเฟะของความอยุติธรรมในสังคมไทยมาถ่ายทอดผ่านจอภาพยนตร์ขนาดนี้จะได้ฉายไหมเนี่ย

เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำหน้าที่ในฐานะภาพยนตร์ที่น่าสนใจ และชวนตั้งคำถามต่อสังคมในการนำเสนอประเด็นความยุติธรรมให้กลายเป็นเรื่องที่ “น่าตื่นเต้น” สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยได้อย่างถูกที่ถูกเวลา

ทั้งนี้เมื่อย้อนกลับไปดูหนังไทยที่เคยถูกห้ามฉาย พบว่ามี “หนังไทย” อีกหลายๆเรื่องที่ถูกห้ามฉาย ด้วยข้อหาต่าง ๆ กัน ในหลายสิบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้

เป็นที่น่าสังเกตว่าหนังที่ถูกห้ามฉายในไทย มักจะถูกระบุว่า ขัดต่อศีลธรรมอันดี รวมถึงมีบางฉากที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองหรือสังคมเสียเป็นซะส่วนใหญ่ ยังไม่รวมถึงภาพยนตร์ต่างประเทศอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกห้ามฉายในประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน จึงทำให้เกิดคำถามต่อตัวผมเองในฐานะคนที่ชอบดูหนังเป็นประจำทั้งในโรงภาพยนตร์ และช่องทางสตรีมมิ่งอื่นๆ ว่า ใครเป็นผู้ตัดสินว่าหนังเรื่องไหนที่เราดูได้หรือไม่ได้? เสรีภาพในการดูหนังไทยสักเรื่องของเราอยู่ที่ไหนกันแน่?

แม้ว่าประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ให้มีการจัดเรตติ้งผู้เข้าชมภาพยนตร์ แต่ถึงอย่างนั้นชะตากรรมหนังไทยก็จะยังคงเหมือนติดอยู่ในบ่วงโซ่ เนื่องจากพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวยังมีมาตรา 26 (7) ที่ให้อำนาจคณะกรรมการฯ จัดภาพยนตร์ให้อยู่ในประเภท ‘ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร’ (เรต ‘ห’ ) ได้ นอกจากนี้แล้ว ในมาตรา 29 ยังให้อำนาจ ‘ไม่อนุญาตให้ฉาย’ หากคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ขัดต่อศีลธรรมอันดีได้อีกด้วย

 

ศาสนาเป็นเรื่องที่อ่อนไหวเสมอ

นาคปรก ภาพยนตร์โดย ภวัต พนังคศิริ (Six หกตายท้าตาย, อรหันต์ซัมเมอร์, หลุดสี่หลุด, ตีสาม After Shock)  นำแสดงโดย เต๋า-สมชาย เข็มกลัด, เร แมคโดนัลด์, เต้-ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์ และทราย-อินทิรา เจริญปุระ เรื่องราวเกี่ยวกับโจร 3 คนที่ปล้นรถขนเงิน แต่โดนตำรวจไล่จับ จึงตัดสินใจฝังเงินไว้ใต้ดิน ซึ่งพวกเขาไม่รู้ว่าเป็นที่ดินวัดที่ต่อมามีการสร้างโบสถ์ทับที่ตรงนั้น เมื่อโจรจะกลับมาขุดเอาเงินคืนก็ปลอมตัวด้วยการบวชเป็นพระสงฆ์และลักลอบขุดพื้นโบสถ์ในเวลากลางคืน โดยหนังมีคำโปรยบนโปสเตอร์ระบุว่า ปล้นผ้าเหลืองอำพรางตัว..ซ่อนความชั่วใต้ความดี

ถ้าไม่คิดว่าเป็นอารมณ์ตลกร้ายอย่างสุดๆ ของผู้กำกับ (จะไม่ตลกได้อย่างไร เมื่อมีอยู่ฉากหนึ่งของหนังเรื่องนี้ ตัวละครตัวหนึ่งที่อยู่ใน “รูปแบบ” ของพระแท้ๆ กลับบอกว่าตัวเองอยากบวชพระ) แต่เจตนาที่ล้ำลึกกว่านั้นซึ่งแฝงอยู่ในหนังเรื่องนี้ก็คือ การบอกกับคนดูว่า “พวกเขา” ไม่ใช่พระ ดังนั้น ใครก็ตามที่คิดว่าคนทำหนังกำลังทำให้ภาพของพระดูเสื่อมเสีย ก็ควรคิดใหม่ เพราะแม้แต่ตัวละครที่เป็นพระเอง ก็ยังยอมรับว่าพวกเขาไม่ใช่พระ

ผมเข้าใจว่าที่คนส่วนหนึ่งออกมาต่อต้านหนังเรื่องนี้ก็คงเป็นเพราะ “เปลือก” ของมันนี่เอง พระปลอมนั้นคือ “เปลือก” ไม่ต้องพูดถึงกิจกรรมที่พระปลอมทำทั้งหมดที่ล้วนแล้วแต่เป็น “เปลือก” ของหนังทั้งสิ้น แต่มันถูกต้องแล้วหรือที่เราจะหยุดตัวเองไว้แค่ “เปลือก” แทนที่จะมองทะลุเข้าไปเพื่อ “ทำความเข้าใจ” ให้ถึงแก่นแท้เนื้อในของมันว่าต้องการจะสื่อสารอะไรกับคนดู

ก็คงเหมือนกับการมองคน ที่บ่อยครั้งหลายหน เราก็ตัดสินกันที่รูปลักษณ์ภายนอก ด้วยเหตุนี้กระมัง มันจึงยังมีเรื่องราวแบบ “คนดีๆ พ่ายคนดูดี” ให้เราเห็นอยู่บ่อยครั้ง เพราะคนดีๆ มันต้องพิสูจน์กันนานๆ แต่คนดูดี มองแวบเดียวก็เห็น และมันก็เป็นเรื่องปกติเหลือเกินที่คนเรามักจะมีแนวโน้มที่จะ “หลงใหล” ไปกับคนดูดี ก่อนจะรู้จักว่าคนดีๆ นั้นคือคนไหน

ผมคงไม่อาจไปบังคับความคิดใครได้ แต่ถ้าจะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ผมอยากจะแลกเปลี่ยนความคิดบ้างก็คือว่า ถ้ามีคนให้เลือกอยู่ 2 แบบ คุณจะเลือกเป็นแบบไหน?

เลือกที่จะเป็นคน “ตัดสินหนังสือจากปกของมัน” หรือว่าเริ่มต้นอ่านหนังสือเล่มนั้นให้จบก่อนแล้วค่อยพิพากษา?

ถ้าไม่นับรวมเวลากว่า 3 ปีที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องผ่านพบกับอุปสรรคอะไรต่อมิอะไรมา ทั้งตักเตือน ต่อต้าน คัดค้าน หรือวิจารณ์ในแง่ลบ แม้แต่ช่วงก่อนที่ภาพยนตร์เข้าฉายก็ยังมีคนบางกลุ่มออกมาตีโพยตีพายต่อสิ่งที่ภาพยนตร์นำเสนอ พล็อตเรื่อง ‘โจรชั่ว 3 คนปลอมตัวมาบวชเป็นพระ’ เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนต่อสังคมไทยอย่างถึงที่สุด

นาคปรกถูกสมาคมพุทธศาสน์สัมพันธ์ และองค์กรอาสาสมัครเพื่อสันติภาพโลก ยื่นหนังสือต่อกระทรวงวัฒนธรรมให้สั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยอ้างว่าหนังจะทำให้ภาพลักษณ์ของพระสงฆ์เสื่อมเสีย ที่สุด นาคปรก ได้เข้าฉาย โดยการจัดเรตติ้งภาพยนตร์ประเภท น 18+

 

เนื้อหาการเมือง ฤๅทิ่มแทงใจผู้นำกระหายอำนาจ

ภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) ผลงานการกำกับของสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรืออิ๋ง เค (Ing K) เขาเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียน นักเขียนบทภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ภาพยนตร์สารคดี และอำนวยการสร้างโดยมานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปินอิสระที่เป็นที่รู้จักจากชุดภาพถ่าย Pink Man ที่มีภาพชายร่างท้วม สวมสูทสีชมพู และรถเข็นซูเปอร์มาร์เกต ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

บทภาพยนตร์แปลและดัดแปลงอ้างอิงมาจากบทประพันธ์คลาสสิกเรื่อง The Tragedy of Macbeth หรือ โศกนาฏกรรมของแมคเบธ ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ ซึ่งสมานรัชฎ์และมานิตจัดทำภาพยนตร์เรื่องนี้โดยมีภาพเหตุการณ์จำนวนหนึ่งอิงจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าถึงตำนานการเมืองและไสยศาสตร์ที่แปลเป็นไทยตามต้นฉบับละคร โดยโศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธถูกดัดแปลงให้เป็นภาษาภาพยนตร์และเข้ากับบริบทของวัฒนธรรมไทย เรื่องราวดำเนินไปพร้อมกันในสองโลกคือ โลกของโรงละคร-โลกของขุนพลกระหายเลือด มักใหญ่ใฝ่สูง งมงายในไสยศาสตร์ ผู้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นราชาโดยฆาตกรรม และ โลกภายนอก ในชีวิตร่วมสมัยของนักปกครองเผด็จการของประเทศสมมติแห่งหนึ่ง ผู้ที่งมงายในไสยศาสตร์ โหดเหี้ยม และบ้าอำนาจ ซึ่งมีชื่อเรียกเพียงว่า ‘ท่านผู้นำ’ และภริยาไฮโซน่าสะพรึงกลัว เหตุการณ์ต่างๆ ในสองโลกแฝดนี้ส่องสะท้อนกันและกัน ค่อยๆ เริ่มซึมเข้าหากัน กระทั่งประสานงากันอย่างรุนแรงและโหดร้าย เมื่อคณะละครต้องชดใช้ด้วยชีวิต โทษฐานบังอาจแสดงละครเรื่องนี้ในสังคมที่ปกครองโดยมนุษย์เช่นท่านผู้นำ โดยพวกเขาคิดที่จะต่อสู้กับความกลัวด้วยศิลปะ

เชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) มีการอ้างอิงถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเสริมด้วยฟุตเทจภาพความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน 2552 มาใช้ด้วย จึงถูกนำมาโยงกับปัญหาความไม่สงบในบ้านเมือง และถูกตีความว่าผู้มักใหญ่ใฝ่สูงในเรื่องคืออดีตผู้นำประเทศไทย

ทั้งนี้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ให้เหตุผลในการแบนเชคสเปียร์ต้องตาย ว่า มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกแยก ทำลายความสามัคคีระหว่างคนในชาติ เพราะมีการพาดพิงถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์ไม่สงบเดือนเมษายน 2552 ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ 2552 ข้อ 7 (3) นั้น ไม่เป็นไปตามข้อจำกัดในหลักการของสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 บัญญัติไว้

ซึ่งตามความเป็นจริง หากเราย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ไทย จะพบว่ามีการเข่นฆ่าประชาชนเกิดขึ้นหลายครั้งหลายหน ทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม  2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม  2519 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และกรณีสงครามยาเสพติดที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,500 คน ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นย่อมเป็นความรุนแรงของสังคมไทยที่มิอาจลืมเลือน หรือปกปิดไว้ได้แต่อย่างใด โดยคนไทยสมควรเรียนรู้ร่วมกันเพื่อร่วมมือกันมิให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ดังนั้นเชคสเปียร์ต้องตาย จึงมิได้มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความแตกสามัคคีคนในชาติตามที่อ้างตามคำฟ้องของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม

ผมรู้สึกว่า เนื้อหาสาระของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มีตอนใดตอนหนี่งที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะเนื้อหาของภาพยนตร์ดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยอย่างซื่อตรงต่อต้นฉบับละครเรื่อง “โศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ” ของวิลเลียม เชคสเปียร์ โดยมีการดัดแปลงเพื่อให้เป็นภาษาของภาพยนตร์และเข้ากับริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทยเท่านั้น การที่อ้างว่าไม่ให้ภาพยนตร์นี้ฉายเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐนั้น

คำว่า “รัฐ” ย่อมหมายถึงรัฐชาติ ไม่ได้หมายถึงรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใด ดังนั้นการกระหายเลือด การมักใหญ่ใฝ่สูง การงมงายในไสยศาสตร์ของตัวละครในภาพยนตร์ที่สถาปนาตนเองเป็นราชา ซึ่งเหมือนกับผู้นำประเทศต่างๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงของสังคม ก็รู้สึกว่าไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เพราะรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใดมิได้หมายถึงประเทศชาติแต่อย่างไร

แต่สุดท้ายจะด้วยเหตุผลมากมายร้อยแปด ก็ได้นำมาซึ่งความเห็นของที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติสั่ง “ห้ามฉายอย่างเด็ดขาด” เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2555 ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้อนุมัติให้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่สุดท้ายกลับเป็นกระทรวงวัฒนธรรมที่ไม่อนุญาตให้ออกฉายเป็นการทั่วไปเสียเอง เพราะมองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนความจริงของสังคมไทยเกินไป จนอาจเป็นภัยคุกคามความมั่นคง

     

การใช้อำนาจควบคุม-แทรกแซงสื่อภาพยนตร์

นับตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ฉบับปัจจุบัน ผมทราบว่ามีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ถูกห้ามฉายนั่นคือ Insects in the Backyard แมลงรักในสวนหลังบ้าน ผลงานของธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ภาพยนตร์ว่าด้วยความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่พ่อมีเพศสภาพเป็นหญิง นี่คือภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูกสั่งห้ามฉายเมื่อปี 2553 ด้วยเหตุผลว่ามีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดี ซึ่งธัญญ์วารินยื่นฟ้องศาลปกครองโดยกระบวนการพิจารณาใช้เวลา 5 ปี และศาลก็ยืนยันคำสั่งคือ ห้ามฉายเช่นเดิม สุดท้ายภาพยนตร์ก็สามารถกลับมาฉายในโรงภาพยนตร์ได้อีกครั้งในปลายปี 2560 แลกกับการโดนเซนเซอร์ฉากร่วมเพศของตัวละครหลักออกไป

นอกจากนี้ยังมีกรณีอื่นๆ ที่ภาพยนตร์รอดจากการถูกสั่งห้ามฉาย แต่ต้องแลกกับการเซ็นเซอร์เนื้อหาบางส่วนทิ้งไป เช่น ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 ที่ถึงแม้จะได้รับการพิจารณาถึงรอบ 2 จากกองเซนเซอร์ให้ฉายได้และได้เรตภาพยนตร์ 15+ โดยจะมีการตัดฉากล่อแหลมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา (อีกแล้ว!!) ออกไปในเวอร์ชั่นฉายในโรงภาพยนตร์ ถือเป็นการย้ำรอยแผลเดิมจากที่หนังไทยอย่างอาปัติ เคยเจอมาแล้ว นั่นคือการจำยอม ‘หั่น’ เพื่อให้หนังของตนยังมีพื้นที่ฉาย

ผมรู้สึกว่า ถ้าการแบนหนังไทยที่มีประเด็นหรือข้อเท็จจริงต่างๆ เกิดขึ้นอีก ในอนาคตคนก็จะไม่อยากหยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาพูดถึงในภาพยนตร์อีกต่อไป ทั้งที่จริงแล้วเรื่องเหล่านี้มันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรา ไม่ต่างจากความรัก เรื่องวัยรุ่น หรือเรื่องอะไรก็ตามที่คนทำหนังถ่ายทอดไว้ในภาพยนตร์ มันก็ล้วนเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน แต่ทำไมประเด็นหรือข้อเท็จจริงต่างๆ ขาดหายไป มันก็อาจแสดงให้เห็นได้ว่า บ้านเมืองเราไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยเต็มใบที่อย่างที่เราอ้างกัน ก็น่าแปลกที่เสียงจากประชาชนในฐานะผู้รับชม กลับไม่เคยได้รับการรับฟังเพียงแม้แต่น้อยที่หนังไทยที่ว่าเราไม่มีแม้กระทั่งโอกาสจะได้ดูเสียด้วยซ้ำ

 

สุดท้ายแล้ว ถ้าเราจะเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น ไม่ใช่เฉพาะแค่ศิลปิน แต่รวมไปถึงผู้ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างหรือขัดแย้งกับเรา โดยที่เราไม่ต้องไปกระชากคอเสื้อหรือทะเลาะเบาะแว้งกับเขา เมื่อถึงเวลาเราก็แสดงความคิดเห็นของเรา

ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ทุกคนมีความคิดเห็นเหมือนกัน และจะน่าเบื่อมากถ้าทุกคนมีความคิดเห็นเหมือนกัน เพราะนั่นก็ไม่ใช่สังคมในระบอบประชาธิปไตย

ในยุคซึ่งประชาธิปไตยเบ่งบานอย่างเต็มที่เช่นนี้  ภาพยนตร์สะท้อนสังคมกลับลดน้อยลงด้วยระะบบการเซ็นเซอร์และทุนนิยมก้าวเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ ถ้าเรามีการเมืองดี ในวันข้างหน้าภาพยนตร์จะได้หลุดพ้นจากคำว่า “อุตสาหกรรม”

และกลายเป็นผลงาน “ศิลปะ” กันซักที

Contributors

วรัญชิต แสนใจวุฒิ

หนุ่มเชียงใหม่ จบปริญญาตรีสาขาถ่ายภาพ ที่พยายามแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นนอกจากการถ่ายภาพ และในขณะเดียวกันก็ชอบออกไปดูพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าวันเสาร์ ส่วนแผนการในวันพรุ่งนี้ ยังไม่รู้ เพราะเท่าที่รู้มันไม่เคยตรง