เนกาถีบ: ร้านล้างฟิล์มกลางเมืองเชียงใหม่ของนายช่างผู้บันทึกความทรงจำด้วยแผ่นเนกาทีฟ

เป็นเวลาเกือบสามปี จากม้วนแรกจนม้วนปัจจุบัน นับตั้งแต่ผมใส่ฟิล์มเนกาทีฟเข้าไปหลังกล้อง ไม่อาจแน่ใจว่ารูปที่ได้จะตรงตามที่จินตนาการไว้ในหัวก่อนหน้านั้นหรือไม่ นั่นเป็นสิ่งที่ต้องลุ้น ในช่วงเวลาปัจจุบันนี้เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนหันมาสนใจความสะดวกรวดเร็วของกล้องดิจิทัลกันมากขึ้น แต่ยังมีคนที่หลงรักและใช้ชีวิตผูกติดกับกล้องฟิล์มเรื่อยมา โดยไม่คาดคิดว่าวันหนึ่งมันจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง

นี่คืออีกหนึ่งบทสนทนาเกิดขึ้นที่ร้านล้างฟิล์มย่านสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ชื่อเนกาถีบ ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนบ้าน ระหว่างผมและพี่แมน-วัชรพล ปานแก้ว นายช่างหนุ่มแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลตำแหน่งเจ้าหน้าที่ติดต่อประสานงาน ผู้มีความหลงใหลอันแรงกล้าในการถ่ายภาพด้วยฟิล์ม

จุดเริ่มต้นของ “เนกาถีบ”

ถ้าหากพูดถึงชื่อ “เนกาถีบ” ไม่น่าจะมีคนในแวดวงกล้องฟิล์มในเชียงใหม่ที่ไม่รู้จักร้านล้างฟิล์มแสนอบอุ่นร้านนี้ จากการบอกเล่าของพี่แมนทำให้ทราบว่าพี่แมนเริ่มล้างฟิล์มเองครั้งแรกเมื่อ 7 ปีก่อน

เนกาถีบ เกิดขึ้นมาจริงๆ ได้3ปีกว่าแล้ว เกิดขึ้นด้วยความรักในการถ่ายภาพด้วยฟิล์มของพี่แมน ซึ่งรักวงการนี้จริงๆ ทำเพราะรักและมีความสุขกับฟิล์มมาก ก่อนจะมีร้านเกิดขึ้น หลังจากที่พี่แมนได้ค้นพบว่าในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ยุคสมัยของฟิล์มเนกาทีฟได้เลือนหายไป ทำให้พี่แมนเกิดความคิดอยากเปิดร้านล้างฟิล์มเพื่อชุบชีวิต กระตุ้นหัวใจของยุคสมัยแห่งฟิล์มให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

“เริ่มมาจากพี่ชอบถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม เริ่มจากตั้งแต่สมัยมัธยมของพี่ พี่ชอบลองหยิบเอากล้องที่คุณปู่ คุณพ่อของพี่เคยใช้ นำกลับมาใช้ มันมีความผูกพัน ด้วยกระแสฟิล์มยุคนึงมันดรอปลง มันเลือนหายไป ด้วยความรู้สึกของเราที่จะหาร้านล้างร้านสแกนในจังหวัดพื้นที่ที่เราอยู่เนี่ยค่อนข้างยาก แทบจะหาได้ยากมากเลย เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีเหลืออยู่แล้ว เลยทำให้เราเกิดความอยากลองรับล้างฟิล์ม รับสแกนฟิล์มบ้าง ลองไปศึกษาหาข้อมูลต่างๆในโลกอินเตอร์เนต ติดต่อคุณครู อาจารย์ที่เขามีความรู้ในเรื่องนี้”

 

เน – กา – ถีบ ?

ร้านเนกาถีบเป็นแล็ปล้างฟิล์ม ขายฟิล์ม แต่ไม่ได้รับงานถ่ายภาพ ดูแลเรื่องงานฟิล์มอย่างเดียว

พี่แมนเริ่มทำในส่วนนี้มาได้และกำลังจะย่างเข้าปีที่สาม แต่ก่อนยังไม่มีหน้าร้านเหมือนๆที่บริเวณหน้าวัดสวนดอกแบบทุกๆวันนี้ จะเป็นการรับงานทางไปรษณีย์ ทางตู้ไปรษณีย์หน้าบ้านแทน ลูกค้านำฟิล์มมาฝากคุณพ่อคุณแม่พี่แมนไว้ แล้วเมื่อพี่แมนกลับก็จะมาล้างสแกนฟิล์มส่งงานให้ทุกคน รับงานแบบนี้เดือนเว้นเดือน และส่งไปรษณีย์กลับคืน ทำแบบนี้ วนเวียนมาเรื่อยๆ ล้างทุกม้วนแบบแมนนวล ใส่ใจในทุกๆขั้นตอน พอมีเครื่องล้างและสแกนอัตโนมัติช่วยให้ส่งงานได้เร็วมากขึ้น จนในเดือนตุลาคมปี 2562 นี้พี่แมนก็ตัดสินใจมาเช่าตึกเล็กๆ บริเวณหน้าวัดสวนดอก เปิดเป็นหน้าร้านขึ้นมา ส่วนที่มาของชื่อร้าน “เนกาถีบ” ก็ได้รับคำตอบจากพี่แมนมาว่า

“เรามองว่ามันเป็นคำศัพท์ล้อเลียนของฟิล์มเพราะฟิล์มเนี่ยใช้คำว่า “เนกาทีฟ” เราจงใจใช้คำเขียนเลียนแบบภาษาอังกฤษที่เขียนแบบไม่ถูกต้องเหมือนกับคำว่า “คราฟต์ (Craft) ” ที่แปลว่าสร้าง วันดีคืนดีเราก็ไปเห็นร้านเบียร์คราฟต์นี่แหละ แต่เขาเขียนเป็นเบียร์คร้าบบบบบ (หัวเราะ)”

 

 

36 Frame

สิ่งที่ทำให้หลายคนหลงใหลเสน่ห์ของกล้องฟิล์ม คงอาจจะเป็นเพราะโลกใบนี้หมุนเร็วมากเกินไป จึงทำให้บางคนก็อยากจะลองใช้ชีวิตให้ช้าลงบ้าง โดยการหันมาทดลองหยิบจับกล้องฟิล์มนั่นเพราะฟิล์มหนึ่งม้วนสามารถถ่ายได้แค่ 36 รูป อีกทั้งยังไม่สามารถเช็ครูปได้ แล้วจึงกดชัตเตอร์ ทำแบบนี้ครบ 36 ครั้ง ได้ 36 รูป ต่อฟิล์ม 1 ม้วน จากนั้นนำไปส่งร้านล้างรูป รอล้าง สแกน หรืออัดภาพ ก็จะได้เห็นรูปที่เราถ่าย  แต่สำหรับพี่แมนนั้นได้บอกกับผมว่าการถ่ายภาพด้วยฟิล์มมันรอได้ กว่าที่เราจะได้เงินมาซื้อฟิล์ม มาโหลดฟิล์มใส่กล้องถ่ายภาพ แต่ละครั้งเราก็ต้องคิดเยอะนิดนึง เพราะมันเป็นค่าล้างค่าสแกนที่มันมีราคาในยุคของมันซึ่งมันมีมากขึ้นตามยุคสมัย คนถ่ายก็จะใส่ใจในการถ่ายรูปมากขึ้น เห็นคุณค่าของรูปภาพที่เราถ่ายได้ชัดเจนกว่าตอนที่มันอยู่หลังจอ LED กล้อง

“แต่ในยุคนี้คนเรา รอกันแทบจะรอไม่ได้ คนในสมัยนี้อยู่ในยุคดิจิตอลเริ่มกลับไปเล่นอนาล็อคก็ต้องทำความเข้าใจว่าเนี่ย สิ่งนี้มันคือคุณค่าของการถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์ม ตอนนี้หลายๆร้านที่กำลังเริ่มกลับมาทำเนี่ย เขาจะต้องพยายามทำยังไงก็ได้ให้คนนึงไม่ต้องรอในการได้รูป ซึ่งสถานการณ์แบบนี้มันทำให้คุณค่าของการถ่ายภาพด้วยฟิล์มแบบอนาล็อคในยุคสมัยนี้มันลดลง แทนที่จะเกิดการรอคอยเพื่อที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในการได้ภาพ ไม่ออกไปถ่ายภาพมาแล้วก็รีบเอาไปส่งล้างที่ร้าน หรือแล็บเพื่อที่จะได้เห็นภาพเร็วๆ ความรู้สึกของพี่คุณค่าของมันคือการรอคอยผลลัพธ์ที่จะออกมาซึ่งเราตั้งใจกับมันมากๆเลย”

การกลับมาของอนาล็อคในยุคสมัยของดิจิทัล

พี่แมนได้บอกกับผมว่าการมาถึงของระบบดิจิตอลในกล้องถ่ายรูป บทบาทของกล้องฟิล์มก็เจือจางลงไปจากสังคม บริษัทผลิตฟิล์มบางเจ้าไม่สามารถทำกิจการต่อได้ กระแสความนิยมในกล้องดิจิตอลถาโถมอย่างมากมาย ผู้คนต่างสนุกสนานกับการลั่นชัตเตอร์ แน่นอนว่าด้วยความพร้อมทางเทคโนโลยี แต่พี่แมนกลับรู้สึกแปลก แปลกที่ความล้ำของเทคโนโลยีวันนี้ ทั้งถ่ายรูปได้สวยขึ้น ง่ายขึ้นไม่รู้กี่เท่า มันกลับทำให้พี่แมนยิ่งคิดถึงเครื่องมือเก่าๆ ที่ล้าสมัยเข้าไปทุกที ในวันที่มือถือถ่ายภาพได้คุณภาพดี

“พี่ว่ามันมีเสน่ห์ที่ว่ายกตัวอย่างเช่นเราเคยเปิดดูอัลบั้มภาพถ่ายของคุณพ่อ คุณแม่ สมัยนั้นมันยังเป็นโปสการ์ดนะ เรามีความรู้สึกว่าสายตาของเรามีความคุ้นชิน กับสิ่งที่เราเห็นในภาพถ่ายในสมัยก่อนที่อัดจากแผ่นฟิล์มลงบนกระดาษมากกว่า มันทำให้เราดูรูปที่ถ่ายออกมาจากกล้องฟิล์ม เรารู้สึกบันเทิงกว่า (หัวเราะ) สบายตากว่าที่จะเป็นไฟล์ดิจิตอล ดิจิตอลเต็มแบบไฟล์ที่ผ่านเซนเซอร์อะไรประมาณเนี้ย แต่สิ่งที่กำลังทำอยู่ตอนนี้มันคืออนาล็อคสู่ดิจิตอลก็จริง แต่มันยังเป็นความดิจิตอลที่คุ้นชินตาเราอยู่แค่นั้นเอง รู้สึกว่าเรายังก็คงคิดว่า ‘มันยังเป็นฟิล์มอยู่นะ’ ‘เป็นอนาล็อคอยู่’ เกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์”

คุณค่าของภาพถ่ายที่สูญหายไป

เมื่อการถ่ายรูปไม่ใช่แค่การถ่ายรูป แต่กลายเป็นการแสดงตัวตน พี่แมนเล่าให้ผมฟังว่าในกระบวนถ่ายภาพตั้งแต่เริ่มจากถ่ายภาพ จนถึงกระบวนการล้างฟิล์มนั้นไม่ได้ง่ายแต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินไป ต้องอาศัยความอดทน ใช้ระยะเวลา ความประณีต และใช้สมาธิ  สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยในกระบวนการถ่ายภาพในมือถือ หรือดิจิทัล อีกทั้งยังสร้างคุณค่าทางจิตใจ

“สำหรับเราถ้าเราทำเอง ทดลองเอง และก็ล้างได้ตามกระบวนการขั้นตอนของมันในแบบที่เขาเรียกกันว่ากระบวนการล้างมือเนี่ยถือว่าดีที่สุด”

ถึงแม้ว่าทุกวันนี้กล้องดิจิตอลจะสามารถทำภาพได้เหมือนฟิล์มแค่ไหน ซึ่งเรามั่นใจว่าเราทำได้เหมือนแล้ว แต่..มันกลับไม่เหมือนเลยเมื่อได้มาถ่ายฟิล์มแล้ว ซึ่งผลนั้นไม่ใช่ในเชิงที่จับต้องได้ อย่างน้อยฟิล์มไม่มีประตูไหนที่จะสู้กับดิจิตอลในเชิงคุณภาพในการถ่าย ความคม ความสด ความสะดวก อะไรก็ตามแต่ แต่ทั้งหมดนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการจากฟิล์ม

หลายๆคนคิดว่า ฟิล์มเนกาทีฟนี่มันสาบสูญไปแล้วแน่ๆเลย

(ซึ่งจริงๆเราก็เคยคิดแบบนั้นจริงๆ)

ถีบมันไปให้ไกลๆ

“เราอยากให้มีร้านเพิ่มขึ้นนะ อยากให้มีคนที่ทำกระบวนการต่างๆที่เกี่ยวกับฟิล์มมากขึ้น อายุรุ่นราวประมาณ 20-30 ปี ใครอยากทำมีต้นทุนที่พร้อมจะทำ อย่างเราเนี่ยพอมีคนมาขอคำแนะนำเกี่ยวกับการซื้ออุปกรณ์ น้ำยา ว่าต้องราคาเท่าไหร่อะไรยังไงเนี่ย เราไม่มีกั๊กเลย ละก็อีกอย่างอยากให้ทำกันเป็นเพราะว่าวงการนี้มันอยู่ได้ก็เพราะว่ามัน มีทั้งช่างซ่อมกล้อง คนขายกล้อง ในราคาที่เหมาะสมด้วยนะ ไม่ใช่ว่าแห่กันขายเพราะกระแส (หัวเราะ) แล้วก็ร้าน หรือแล็บรับล้างฟิล์ม สุดท้ายคือพวกเรานี่แหละ “ คนถ่ายภาพ” มันก็ต้องมีให้ครบ วงการนี้มันถึงจะอยู่ต่อไปได้ จะให้บอกว่ามี 1 ร้านในเชียงใหม่ละบอกต้องมาร้านพี่ร้านเดียวพี่คิดว่ามันไม่ถูกต้อง เราอยากให้เห็นเหมือนในยุคสมัยก่อนแบบไปตามมุมเมืองก็เจอ ไปไหนก็หาได้ง่าย ยิ่งถ้าเชียงใหม่นี่มีเยอะๆจะดีมากเลย เมืองของเรามันเป็นเมืองศิลปะ”

หลังจากที่ผมได้ถามไปว่าสิ่งที่พี่แมนคาดหวังจากการมีทำธุรกิจนี้อย่างไรบ้าง ผมก็ได้รับคำตอบที่ผ่านประสบการณ์มาว่า ปัญหาที่เจอตอนนี้ก็คือมีคนมาเล่นฟิล์มเพิ่มขึ้นเยอะมาก แต่อาจจะยังศึกษามาไม่มากพอ ทำให้ผลลัพธ์ยังไม่ดี ไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่ บางคนก็ถึงขั้นว่ารูปเสียหายเลยก็มี อาจเป็นเพราะว่าทำผิดกระบวนการ ผิดขั้นตอน พี่แมนเลยอยากให้เป็นศูนย์รวมให้กับคนชอบถ่ายภาพด้วย และให้ความรู้ไปด้วย บวกกับโลเคชั่นใกล้มหาวิทยาลัย ทำให้ที่นี่ได้รับการแนะนำปากต่อปากก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี พี่แมนเองก็พร้อมเปิดกว้างและพร้อมต้อนรับทุกคนเสมอ

“ร้านเราไม่ได้ทำเพื่อที่จะให้มันเกิดออกมาเป็นกระแสนะ ไม่ได้อยากให้คนคิดว่าเราสนับสนุนวงการฟิล์มให้จ๋าขนาดนั้น ให้เด็กรุ่นใหม่ได้ถ่ายภาพด้วยฟิล์มอย่างเดียว ต้องการให้มันคงอยู่รอบๆตัวเราในชีวิตของเรา เรารู้สึกว่าที่นี่คนชอบในสิ่งที่เราชอบเหมือนกับเราเยอะอยู่โดยเฉพาะการถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์ม อยากให้มันคงอยู่ ถ้าเกิดวันข้างหน้าวันใดวันหนึ่งร้านมันไปได้ไม่ดี สำหรับเราก็ถอยกลับไปอยู่บ้านดีกว่า เพราะเราต้องการให้มันอยู่ ให้มันเป็นอมตะในช่วงชีวิตของเราจนลมหายใจสุดท้ายดีกว่า (หัวเราะ) ถ้าให้ไปไกลกว่านี้เราก็อยากทำแล็ปฟิล์มกระจกกับอัฟกัน บ็อกซ์ มันเจ๋งมากแต่เราไม่ได้สนองความต้องการต่อโลกวงการกล้องฟิล์มนะ แต่เป็นสนองความต้องการของเราเอง ถือว่าเป็นความสนุกที่จะได้ลองทำอะไรใหม่ๆ”

เนกาถีบกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 พึ่งเริ่มจะมีหน้าร้าน เเละมีทีมงานที่รักฟิล์มมาร่วมงานด้วย การมาของ ‘เนกาถีบ’ ไม่ได้มาเพื่อเเข่งขันทางธุรกิจหรือมากอบโกยเงิน เเต่มาเพื่อสนับสนุนผลักดันคนที่ตกหลุมรักเนกาทีฟได้สนุกกันต่อๆไป กระแสกล้องฟิล์มเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้คนที่ชอบถ่ายภาพ เพื่อบันทึกภาพนั้นให้ออกมาสวยที่สุดในแบบที่แต่ละคนจะสรรค์สร้างออกมาได้ 

 

ภาพประกอบ: วัชรพล ปานแก้ว
เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ artsvisual.co | พฤศจิกายน 2562

Contributors

วรัญชิต แสนใจวุฒิ

หนุ่มเชียงใหม่ จบปริญญาตรีสาขาถ่ายภาพ ที่พยายามแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นนอกจากการถ่ายภาพ และในขณะเดียวกันก็ชอบออกไปดูพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าวันเสาร์ ส่วนแผนการในวันพรุ่งนี้ ยังไม่รู้ เพราะเท่าที่รู้มันไม่เคยตรง