เบื้องหลังนางสาวไทย 2020 ที่งามอย่างแตกต่างและมีคุณค่าในฉากหลังเมืองเชียงใหม่

นี่เป็นปีแรกที่เวทีการประกวดสาวงามระดับประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานอย่างเวทีนางสาวไทย ใช้ฉากหลังในการจัดการประกวดเกือบทั้งหมดที่จังหวัดเชียงใหม่

นางสาวไทยถือเป็นเวทีประกวดที่ทรงคุณค่าทั้งในการเป็นเวทีประกวดสาวงามแห่งที่สองของประเทศไทย ซึ่งผลิตบุคลากรสาวงามคุณภาพสู่สังคมและวงการบันเทิงมากมาย ทั้งอร-อรอนงค์ ปัญญาวงค์, บุ๋ม-ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี, นุ้ย-สุจิรา อรุณพิพัฒน์, หมอเจี๊ยบ-แพทย์หญิงลลนา ก้องธรนินทร์ หรือสาวงามปีล่าสุดที่คว้าตำแหน่งนางงามนานาชาติหรือ Miss International 2019 คนแรกของประเทศไทยมาครองอย่างบิ๊นท์-เภสัชกรหญิงสิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์

จากสโลแกนงามอย่างแตกต่างและมีคุณค่าที่ทำงานทันทีเมื่ออ่านเพียงครั้งเดียว ทำให้การคัดเลือกสาวงามในปีนี้เข้มข้นอย่างมีนัยยะสำคัญจนเราได้เห็น 30 สาวงามที่มีความสวยทั้งภาย-ภายนอกต่างกันไป รวมถึงเรื่องราวที่น่าสนใจและเหตุผลที่หลากหลายในการขึ้นประกวดในปีนี้ และเพราะปีนี้สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ได้มอบสิทธิ์การจัดประกวดในปีนี้ให้กับทีมผู้จัดงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ที่การันตีด้วยฝีมือการจัดงานอีเวนต์สำคัญๆ ในภาคเหนือกว่า 16 ปีอย่างบริษัทเอ็มกรุ๊ป ออร์แกไนซ์ แอนด์ มีเดีย จำกัด ทำให้เราได้บัตรผ่านหลังเวทีเพื่อถอดเบื้องหลังของการประกวดนางสาวไทยในปีนี้ ซึ่งมีคุณหนุ่ม-ดร.อดิศร สุดดี ประธานกรรมการบริษัทฯ ที่นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการกองประกวด รอนั่งสนทนากับเราถึงเบื้องหลังทั้งหมด 

ก่อนที่เวทีนางสาวไทยจะได้ผู้ชนะคนใหม่ที่งามอย่างแตกต่างและมีคุณค่า สมกับคำขวัญของงานในวันพรุ่งนี้

 

นัก (จัด) กิจกรรม

เราเดินทางมาที่ออฟฟิศของเอ็มกรุ๊ปฯ ตามเวลานัดหมาย คุณหนุ่มออกมาต้อนรับเราหลังจากประชุมเตรียมงานนางสาวไทยเสร็จพอดี

ย้อนกลับไปราว 20 ปีที่แล้วเมื่อครั้งคุณหนุ่มยังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมตัวยงที่เขามีส่วนร่วมในงานสำคัญๆ เสมอ

แต่ในยุคนั้นจังหวัดเชียงใหม่ยังไม่รู้จักอาชีพอีเวนต์ ออร์กาไนเซอร์ หรือนักจัดอีเวนต์มาก่อน 

“เมื่อก่อนการจัดอีเวนต์ไม่มีเป็นบริษัทใหญ่ๆ จะเป็นการรู้กันในวงการว่าใครดูแลงานตรงไหนบ้าง งานอีเวนต์สมัยก่อนก็จะจัดกันตามสถานบันเทิงต่างๆ แต่ปัจจุบันก็จะเป็นการส่งเสริมการขาย เปิดตัวผลิตภัณฑ์ของภาคเอกชนเป็นหลัก แต่ตอนนี้มีบริษัทเยอะขึ้น หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานภายในก็จะจัดงานอีเวนต์ซึ่งมันแตกต่างในเรื่องความหลากหลายของลูกค้าที่มีความต้องการซื้อมากขึ้น ตลาดของออร์แกไนซ์ก็โตตามไปด้วย” คุณหนุ่มเริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการจัดอีเวนต์ให้ฉันฟัง

จนถึงที่คุณหนุ่มตัดสินใจเริ่มกิจการรับจัดงานอีเวนต์อย่างเป็นกิจจะลักษณะอย่างเอ็มกรุ๊ป ออร์แกไนซ์ แอนด์ มีเดีย ที่รับดูแลการจัดกิจกรรมงานอีเวนต์และสื่อครบวงจรแบบ One Stop Service ซึ่งมีฐานการผลิตหลักคิดเป็น 50 เปอร์เซนต์อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะเป็นการจัดงานอยู่ที่กรุงเทพฯ และกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเชื่อหรือไม่ว่าเอ็มกรุ๊ปฯ เคยรับงานอีเวนต์แน่นมากตลอดทั้งปีแบบชนิดที่ว่าแทบไม่มีเวลาหายใจ

“แต่เราไม่ได้ขยับไปไกลมาก เพราะส่วนหนึ่งเราชำนาญงานอยู่ในพื้นที่ๆ เรารับผิดชอบอยู่ ก็คือจังหวัดเชียงใหม่ แต่ถ้าลูกค้าขอให้ไปตามพื้นที่ต่างๆ เราก็จะไปตามเนื้องานที่ได้รับมอบหมายในการจัดงานในแต่ละครั้ง” คุณหนุ่มอธิบายเพิ่มเติมถึงขอบข่ายงานของเอ็มกรุ๊ปฯ

 

เมื่อออร์กาไนเซอร์ต้องปรับตัว

ถึงแม้วงการอีเวนต์จะคึกคักขนาดไหน เมื่อเชื้อโควิด-19 เล่นงาน วงการอีเวนต์คือหนึ่งในธุรกิจที่เจ็บหนักที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การขายของสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงการลดต้นทุนในการประชาสัมพันธ์ผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายทั้งเน้นการจัดอีเวนต์ให้น้อยครั้งที่สุด หรือผู้ประกอบการก็จะเลือกใช้การประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายกว่า

“งานสุดท้ายที่พี่จัดคืองานไม้ดอกไม้ประดับเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากนั้นเมืองก็ล็อคดาวน์และปรับนโยบายตามหลายๆ บริษัท จนเรากลับมาทำงานได้อีกครั้งช่วงกลางๆ ปีที่มีการวางแผนต่อเนื่องที่หน่วยงานราชการกลับมาจัดประกวดราคาบางส่วนและดำเนินงานส่วนที่เริ่มดำเนินงานต่อ”

เพราะช่วงเวลาการปิดเมือง การประกาศเคอร์ฟิว และการรณรงค์งดออกจากบ้านเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 จากอุปสรรคเหล่านี้ทำให้คุณหนุ่มเลือกจะเปลี่ยนกลยุทธ์และเริ่มธุรกิจใหม่นั่นคือ ธุรกิจความงามโดยการผลิตเครื่องสำอางค์

“ธุรกิจของพี่คือการจัดอีเวนต์ แต่งานอีเวนต์ส่วนหนึ่งที่พี่จัดคือ Beauty Content ก็คือการประกวดสาวงามที่เราจัดและคุ้นเคยมานาน ดังนั้นฐานลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มผู้ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อยู่แล้ว เมื่อเจอปัญหาโควิดและประกอบกับเราคุ้นเคยกับการทำ Beauty Content  ซึ่งเป็นธุรกิจที่มาร่วมและส่งเสริมภาพลักษณ์ซึ่งกันและกัน” คุณหนุ่มอธิบายถึงที่มาของการทำธุรกิจเครื่องสำอางค์

การปรับตัวเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้เกิดขึ้น เมื่อการเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้นกลายเป็นช่องทางที่ไม่เพียงแต่ผนวกให้การจัดงานอีเวนต์ของคุณหนุ่มมีประสิทธิภาพ แต่ยังสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นที่จดจำและเกิดการรับรู้ของลูกค้าได้เช่นกัน

 

เอ็มกรุ๊ปฯ และ 2 ทศวรรษ นางสาวเชียงใหม่

สำหรับชาวเชียงใหม่และแฟนนางงามคงจะคุ้นเคยกับเวทีประกวดนางงามท้องถิ่นอย่างนางสาวเชียงใหม่ ที่จัดทุกปีในงานฤดูหนาวและงาน OTOP ของดีเชียงใหม่ ซึ่งรู้หรือไม่ว่าเวทีนางสาวเชียงใหม่นี้ คุณหนุ่มและเอ็มกรุ๊ปฯ ผูกปิ่นโตจัดงานมาตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งนับรวมๆ ก็ 20 ปีเข้าไปแล้ว!

“จริงๆ แล้วทุกจังหวัดมีเวทีการประกวดเป็นของตัวเองหมดเลยนะ อย่างลำพูนก็มีเวทีนางสาวลำพูนที่จัดมาเกือบ 70 ปีแล้ว หรือนางสาวแพร่ นางสาวน่าน เพียงแต่ว่าเวทีนั้นๆ ไม่มีคนจัดประกวดต่อ หรือการพัฒนารูปแบบให้เกิดขึ้น ซึ่งนางสาวเชียงใหม่เป็นเหมือนขนบและประเพณีของคนเชียงใหม่ แต่เราก็ต้องมีการพัฒนาและเปลี่ยนรูปแบบให้มันเป็นสาวสมัยใหม่มากขึ้น”

คุณหนุ่มยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ได้รับโอกาสเข้ามาจัดประกวดนางสาวเชียงใหม่เช่น การปรับคอนเซปต์ของเวทีให้มีความกระชับกับช่วงเวลาและความร่วมสมัยในหลายช่วงเวลา เพราะนางสาวเชียงใหม่จะถูกต่อยอดไปสู่การประกวดสาวงามบนเวทีระดับประเทศอยู่แล้ว

“เมื่อเวทีนางงามระดับประเทศมีการปรับรูปแบบการประกวดให้มีทิศทางไปสู่ความร่วมสมัยหรือสาวทันสมัยมากขึ้น เราก็ต้องปรับรูปแบบแต่ยังมีความเป็นสาวเหนือแบบเราอยู่คือพูดภาษาเหนือ ยิ้มแบบเหนือ เป็นสาวหวานแบบเหนือ แต่ก็ต้องมีความเป็นร่วมสมัยและเป็นสากลในตัวของนางสาวเชียงใหม่ปีนั้นๆ” คุณหนุ่มขยายความ

จากแฟนนางงามสู่ผู้จัดประกวดนางงาม

“ภาพจำของเวทีนางสาวไทยในสายตาของคุณเป็นอย่างไร” ฉันถาม

“พี่ติดตามเวทีนางสาวไทยมานานมาแล้ว ประกอบกับพี่มีคนที่รู้จักกันเป็นพี่เลี้ยงที่ส่งนางงามเข้าประกวดอยู่แล้ว ซึ่งพี่มองว่านางสาวไทยเป็นเวทีแห่งตำนานที่สร้างคุณค่าให้แก่ผู้หญิงที่ต่อยอดในสายอาชีพต่างๆ หรือในการส่งต่อไปประกวดเวทีไหนๆ ในระดับโลก มันเลยเป็นความตั้งใจของพี่ที่สักครั้งในชีวิตอยากมีส่วนร่วมในการจัดประกวดให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่ทิ้งความเป็นรากเหง้าของการเป็นนางสาวไทยแบบดั้งเดิมที่สง่างามแบบสาวไทยอยู่”

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คุณหนุ่มอยากจัดประกวดนางสาวไทยสักครั้ง เกิดจากการที่กิ๊ฟท์-กฤชกร หอมบุญญาศักดิ์ นางสาวเชียงใหม่ปี 2553 ได้รับตำแหน่งนางสาวไทยในปีเดียวกัน ประกอบกับช่วงนั้นคุณหนุ่มอยากท้าทายตัวเองในการจัดการประกวดในขนาดที่ใหญ่ขึ้น 

ถึงแม้ว่าสิทธิ์ในการจัดประกวดนางสาวไทยจะยังอยู่ในมือผู้จัดประกวดรายอื่น ความฝันนั้นของคุณหนุ่มยังคงอยู่มาตลอด จนถึงการประกวดนางสาวไทย 2562 เอ็มกรุ๊ปฯ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมจัดประกวดในรอบตัดสินจนได้ผู้ชนะคือบิ๊นท์-สิริธร คุณหนุ่มและเอ็มกรุ๊ปฯ จึงได้รับสิทธิ์การจัดประกวดจากสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ

เมื่อฝันของคุณหนุ่มเป็นจริงแล้ว เขารู้สึกอย่างไร

“เชื่อมั้ยว่าบริษัทอีเวนต์ในเชียงใหม่หลายๆ ที่ยังไม่กล้าคิดถึงขนาดนี้เลยนะ เพราะว่ามันเสี่ยงมากจากที่เราเจอโควิด-19 ถ้าเราไม่รักจริง ไม่ชอบจริง ไม่บ้านางงาม หรือผูกพันในการจัดงานประกวดมันอยู่ในสายเลือดก็คงเริ่มถอยแล้ว แต่เพราะเราจัดงานแล้วความสุขมันมาไง” คุณหนุ่มตอบคำถามของฉันพร้อมรอยยิ้ม

 

การจัดประกวดนางงาม คืออีเวนต์ละเอียดอ่อน

“การจัดประกวดนางงามมีรายละเอียดเยอะมาก” นี่คือสิ่งที่คุณหนุ่มบอกฉันตลอดบทสนทนา เพราะการจัดประกวดสักครั้งไม่ว่าจะเวทีเล็กหรือใหญ่ย่อมมีอุปสรรคและปัญหาเกิดเสมอๆ 

หนึ่ง-การหาสปอนเซอร์เพื่อคลอบคลุมค่าใช้จ่ายทุกอย่างให้ได้มากที่สุด

สอง-การเฟ้นหาบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานในกองประกวด ซึ่งเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรบุคคลในองค์กรให้พร้อมรับกับงานอื่นๆ ที่จะเข้ามาคู่ขนานกับการจัดประกวดให้เกิดความสมดุลในการบริหารงาน

สาม-สิ่งนี้สำคัญที่สุด คือการใช้ประสบการณ์จากการจัดประกวดเวทีในท้องถิ่นเพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ที่พอคาดเดาและมองหาลู่ทางสู่การแก้ปัญหาได้ หรือสถานการณ์เฉพาะหน้าที่จะเกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาการประกวดราว 2-3 เดือนข้างหน้า

“รูปแบบการประกวดนางงามมันคล้ายๆ กันหมด แต่ว่าแนวคิดหรือธีมงานต่างหากที่มีความแตกต่าง เพราะว่ามันจะว้าวหรือไม่ ต่อให้เราเก็บตัวมาดีแค่ไหน แต่มาถึงรอบไฟนอลถ้าทำออกมาไม่ดี มันจะเป็นส่วนที่ลบภาพความดีทุกอย่างที่สร้างมาตั้งแต่ต้น” คุณหนุ่มขยายความ

เพราะฐานผู้ติดตามนางงามเปลี่ยนและวิธีการติดตามการประกวดเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิมมาก เป้าหนึ่งที่คุณหนุ่มและทีมผู้จัดมองเห็นคือ จะทำอย่างไรให้เมื่อผู้เข้าประกวดแต่ละคนแสดงศักยภาพออกมาแล้วกินใจหรือประทับใจผู้ชมที่เป็นแฟนนางงามและผู้ที่ไม่เคยติดตามการประกวดมาก่อน

“เพราะนางงามต้องเป็นกระบอกเสียงที่เมื่อพูดอะไรจะโดนใจคน ฟังแล้วคล้อยตาม จึงได้มีรูปแบบการประกวดที่ไม่ได้สวยแต่ภายนอก เพื่อจะได้สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายหลายๆ กลุ่ม” คุณหนุ่มกล่าวถึงความละเอียดอ่อนของการจัดประกวดสาวงาม

 

งามอย่างแตกต่างและมีคุณค่า

นางสาวไทยคือเวทีการประกวดนางงามเวทีสุดท้ายที่จัดในปี 2563

การจัดประกวดเป็นเวทีสุดท้ายของปีจึงเป็นโจทย์ที่ยากที่สุด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเวทีประกวดหลายๆ แห่งต่างปล่อยของและคัดสาวงามเพื่อดึงดูดผู้ชมและผู้ติดตามให้สนใจในการประกวดบนเวทีนั้นๆ จึงเป็นโจทย์ที่ยากมากๆ ของเวทีนางสาวไทยในปีนี้

“ต้องยอมรับว่าเวทีอื่นๆ ปล่อยของกันไปหมดแล้ว แต่การปล่อยของจนสุดเป็นผลดีมั้ย มันมองได้สองแบบว่า ถ้าเราทำเหมือนเขามันก็จะซ้ำ แต่ถ้าบางอย่างที่เราทำแล้วแตกต่าง มันก็เกิดการเปรียบเทียบ เราต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถทำให้ทุกคนพึงพอใจได้ ให้แฮปปี้ทุกคนได้ยาก แต่ว่าเราจะทำอย่างไรที่จะทำให้เวทีที่เราได้รับมอบสิทธิ์ในการจัดประกวดออกมาได้ดีที่สุดในเวลาและสภาวะแบบนี้” 

ถึงตอนนี้การเก็บตัว และการประกวดรอบย่อยทั้งรอบชุดว่ายน้ำหรือรอบขวัญใจเชียงใหม่จะผ่านไปแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เวทีนางสาวไทยต้องการ คือผู้เข้าประกวดที่ครบเครื่องและต้องเป็นกระบอกเสียงได้ผ่านองค์ประกอบคือ ต้องมีความสวยรวมถึงพลังงานในการสื่อสารให้ออกมาน่าสนใจ น่าค้นหาและอยากฟังในสิ่งที่เธอพูดและส่งพลังให้กับผู้ชม

คงเป็นนิยามของคำว่างามอย่างแตกต่างและมีคุณค่า อย่างที่เวทีนางสาวไทยยึดถือเสมอมา

 

 

ภาพประกอบ: กองประกวดนางสาวไทย 2563

Contributors

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด

ธนากร สุยาลักษณ์

ผู้ที่ชื่นชอบการ Backpack เที่ยวคนเดียวพร้อมกับกล้องคู่ใจ ออกเดินทางเพื่อตามหาสถานที่และมิตรภาพใหม่ๆ