กิ๊ฟท์-สิรินาถ: มากกว่าดารา คือนักแสดงที่จริงจังกับทุกบทบาท และพัฒนาตัวเองเสมอ

กิ๊ฟท์-สิรินาถ สุคันธรัต เป็นนักแสดงผู้กำลังมีละครที่ออกอากาศอยู่ตอนนี้

กิ๊ฟท์-สิรินาถ สุคันธรัต เป็นนางแบบและพิธีกรที่งานชุกใช่ย่อย

กิ๊ฟท์-สิรินาถ สุคันธรัต เป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งของฉัน

และกิ๊ฟท์-สิรินาถ สุคันธรัต คนที่ฉันพยายามพูดถึงนี่แหละ ไม่สนใจในความสวยที่ใครต่างชื่นชม และความสามารถทางการแสดงที่เธอได้รับการชื่นชม

เธอพิสูจน์ตัวเองตั้งแต่ก้าวแรกในวงการบันเทิงทั้งการทำสิ่งที่ฉันกล่าวไปข้างต้น การฝึกฝนและพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เราได้เห็นพัฒนาการทางการแสดงที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เริ่มต้นจากนักแสดงสมทบในละครหลังข่าว จนถึงมิวสิกวิดีโอ สู่บทบาทตัวร้ายอย่างชญาในตราบาปสีชมพู ละครเย็นที่เรตติ้งและเสียงตอบรับดีอย่างถล่มทลาย และมะปรางในกลับไปสู่วันฝัน ที่เธอต้องเล่นคู่ขนานไปพร้อมกับบทของพิมพ์ฉัตร ที่นำแสดงโดยป๊อก-ปิยธิดา มิตรธีระโรจน์

กิ๊ฟท์อาจเป็นที่รู้จักแล้วสำหรับบางคน แต่ในสายตาผู้ชมบางส่วนก็อาจเป็นนักแสดงหน้าใหม่ที่มีผลงานน่าจับตามองใช่ย่อย และอย่างที่ฉันบอกไป เธอไม่สนใจว่ารูปลักษณ์ภายนอกแบบพิมพ์นิยมไทยของเธอ ที่ดึงดูดความสนใจผู้คนจะเป็นอย่างไร เพราะสิ่งที่เธอมุมานะและทำงานหนักอยู่เสมอ คือทักษะการแสดงที่ต้องดีขึ้น และดีขึ้น

เพราะละครของเธอกำลังออกอากาศ และมันกำลังเป็นกระแสที่ดีในโซเชียล ฉันจึงยกหูสนทนากับเธอจากแดนไกล เรื่องราวในบรรทัดข้างล่างคงนิยามเป็นละครแนวใด หรือเรื่องไม่ได้ เพราะมันคือเรื่องจริงของเด็กหญิงคนหนึ่งที่เชื่อในการทำงานหนักอยู่เสมอ

และเชื่อในพลังของความสามารถว่า นั่นคือสิ่งที่จะทำให้ผู้คนยอมรับในตัวตนของเธอจริงๆ

 

Scene 1

หอพักรวมครูแห่งหนึ่ง ในจังหวัดทางตอนเหนือ / ภายใน / กลางคืน

 

กิ๊ฟท์-สิรินาถ ไม่มีเพื่อนสนิท

ใช่, ในวัยเด็กเธอไม่มีเพื่อนสนิท เพราะเธอต้องโยกย้ายตามพ่อแม่ของเธอที่ต้องไปทำงานในจังหวัดต่างๆ และทำให้เธอต้องย้ายโรงเรียนถึง 9 ครั้งในตลอดระยะเวลาที่เธอเรียนหนังสือตั้งแต่ประถมจรดมัธยม การย้ายถิ่นที่อยู่บ่อยๆ ของกิ๊ฟอาจมีข้อเสียที่เห็นได้ชัดเจนและส่งผลอย่างรุนแรงต่อเด็กคนหนึ่งคือ ไม่มีเพื่อนสนิท ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาในการเข้าสังคมในเวลาต่อมา

แต่กิ๊ฟกลับเห็นมากกว่าความอ้างว้างในวัยเด็ก และเลือกเอาการที่เธอต้องอยู่คนเดียวโดยไม่มีพ่อและแม่คอยดูแลมาเป็นแก่นสำคัญในการปรับพฤติกรรมในชีวิตของตนเอง

“ด้วยอาชีพของพ่อและแม่ ทำให้หนูต้องย้ายบ้านไปเรื่อยๆ เลยทำให้หนูทำความรู้จักกับคนได้รวดเร็ว แล้วมันทำให้เราสามารถเป็นคนอยู่ตัวคนเดียวได้โดยไม่รู้สึกเหงา เราไปดูหนังคนเดียวก็ได้ กินข้าวคนเดียวก็ได้ มันเหมือนจะโลกส่วนตัวสูงแต่ก็ไม่สูงนะคะ เพราะว่าหนูก็ยังเข้ากับคนอื่นได้ มันเลยทำให้เราอยู่กับตัวเองได้โดยไม่ต้องไปพึ่งใคร เพราะหนูก็แค่รู้สึกว่า เออ ไม่มีคนอยู่ด้วยก็ไม่เห็นตายนี่หว่า

“ช่วง ป.4-5 เราก็ย้ายไปอยู่หอของครูที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง มันทำให้เราต้องมีความรับผิดชอบตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่ได้เชิงว่าจะต้องหาข้าวกินเอง เพราะว่าจะมีแม่บ้านของหอที่จะซักผ้า ทำกับข้าวให้ แต่เพราะต้องย้ายมาอยู่แบบนี้ เลยต้องปรับตัวและดูแลตัวเองให้ได้”

เมื่อกิ๊ฟท์ขึ้นชั้นประถมปีที่หก กิ๊ฟท์จึงย้ายมาอยู่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งกลายเป็นแหล่งพำนักสุดท้ายของเธอ เธอใช้ชีวิตชั้นประถมหนึ่งปีในโรงเรียนพุทธ และอีกสิบปีในรั้วโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัย

สุดท้ายแล้ว กิ๊ฟท์ได้รู้แล้วว่าเธอจะพำนักอาศัยในที่แห่งใดตลอดชีวิตวัยเด็กและวัยรุ่น

แต่เธอยังไม่รู้ว่า การย้ายมาอยู่เชียงใหม่ในวันนั้น จะทำให้ชีวิตของเธอไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

Scene 2

ห้องเรียน โรงเรียนหญิงล้วนแห่งหนึ่ง / ภายใน / กลางวัน

 

เด็กหญิงกิ๊ฟท์เข้าเรียนในโรงเรียนหญิงล้วนแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่

เธอเป็นเด็กที่ไม่ชอบวิชาฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา แต่เธอกลับจดจำเนื้อหาในวิชาสังคมศึกษาได้ดีมาก รวมถึงวิชาพระพุทธศาสนาที่ใครบางคนอาจบอกว่าจำยากด้วย จึงทำให้เธอได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนแข่งขันเล่านิทานธรรมะ หรือแม้กระทั่งไปสอบเปรียญธรรมแบบเดียวกับที่พระสงฆ์สอบด้วย!

เรื่องการเรียนก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถามถึงความนิยมของกิ๊ฟท์ในโรงเรียน ณ ตอนนั้น เธอบอกฉันว่า เธอเหมือนเป็นตัวละครลับในโรงเรียนที่ไม่ได้โดดเด่นอะไรเท่าไหร่

เพราะเธอบอกกับฉันเองว่า เธอไม่ได้เป็นเด็กที่หน้าตาน่ารักสักเท่าไหร่

“หนูอาจจะโชคดีที่โตหน้าแล้วตาพัฒนาไปในทางที่ดีค่ะ (หัวเราะ)

“แต่หนูก็โดนล้อนะ แต่หนูก็ไม่รู้สึกอะไร ที่โดนหนักๆ คือจะโดนล้อว่าเท้าใหญ่ ทุกวันนี้หนูเลยกลายเป็นคนไม่มั่นใจในเท้าของตัวเองเท่าไหร่ (หัวเราะ) แล้วก็จะโดนล้อเรื่องฟันเหยินบ้าง ดำบ้าง จนวันหนึ่งหนูจำได้ว่า ตอน ม.5-6 นี่แหละ โดขึ้นมาหน้าตาก็โอเคขึ้น แต่มีคนๆ นึงเขามาว่าหนูต่อหน้าเลยว่า “ทำไมขี้เหร่อะ ไม่เห็นสวยเลย” ตอนนั้นคือช็อคมาก เกิดมาทั้งชีวิตไม่เคยมีใครมาว่าหนูขนาดนี้นะ หนูก็เลยเครียดแล้วก็ไปเล่าให้แม่ฟัง” กิ๊ฟเล่า

ถึงตรงนั้นแม่ของกิ๊ฟท์จึงสอนเธอด้วยแนวคิดที่เรียบง่ายและเป็นจริงทุกประการ ซึ่งมันกลายเป็นพลังสำคัญที่ทำให้เธอเชื่อมั่นในตัวเอง

“ตอนนั้นแม่บอกว่า ไม่เป็นไร ปล่อยเขาไปเถอะ ยังไงความสวยของคนเรามันก็มีไม่เท่ากัน แม่ก็ยกตัวอย่างเช่น นางงามเขา สวยทุกคน แต่ขึ้นอยู่กับว่าเวทีนั้นต้องการอะไรหรืออยากได้ผู้หญิงที่สวยแบบไหน เราไม่ต้องไปกังวลว่าเราจะสวยหรือไม่สวย อยู่ที่ความคิด อยู่ที่ Mind Set ของเรานี่แหละ ต่อให้ผู้หญิงสวยทุกคน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะสวยที่สุด” กิ๊ฟท์ทบทวนคำสอนของแม่ให้ฉันฟัง

 

Scene 3

ร้านเสริมสวย / ภายใน / กลางวัน

ช่วงเวลาเดียวกับที่กิ๊ฟท์สอบติดคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นช่วงเวลา 6 เดือนก่อนเปิดเทอมใหม่ กิ๊ฟท์จึงใช้เวลาว่างไปเรียนเสริมสวยทั้งแต่งหน้าและทำผม เธอจึงได้พบกับโมเดลลิ่งคนหนึ่ง ที่ปูทางให้เธอเข้าสู่วงการบันเทิง

เธอเริ่มมีงานโชว์ตัวเล็กๆ น้อยๆ บ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่เธอยังต้องจดจ่ออย่างแน่วแน่ คือการเลือกวิชาเอกสำหรับเรียนตลอด 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย

แทนที่จะเลือกแขนงอื่นๆ ซึ่งเป็นที่นิยม เธอกลับเลือกแขนงวิชาที่มีผู้เลือกเรียนน้อยมากๆ อย่างแขนงวิชาสื่อสารการแสดง หรืออย่างที่เด็ก แมสคอม มช. เรียกว่าเอกดราม่า

“หนูไม่รู้เหมือนกันว่า หนูคิดอะไรถึงเลือกดราม่าเป็นตัวเมเจอร์ แต่ใจหนูรู้สึกว่ามันจะเป็นเหมือนโชคชะตามั้ย ก็ไม่รู้เหมือนกันค่ะ คือตอนนั้นรู้แค่ว่ามีแขนงฯ สื่อสารการแสดงด้วย เราก็สงสัยว่ามันคืออะไร มันน่าเรียนนะ ก็เลยเรียนดีกว่า มาจากความสนใจแค่เพียงอย่างเดียวเลยค่ะ ยิ่งพอบวกกับไปเจอโมเดลลิ่งคนแรกในคอร์สสอนแต่งหน้าทำผม มันก็เหมือนเชื่อมต่อกันจนแนบสนิทกันไปหมดทุกอย่าง หนูเลยคิดว่า ชีวิตเราอาจจะมาทางนี้ก็ได้”

เมื่อทุกอย่างเชื่อมต่อกันอย่างแนบสนิทอย่างที่กิ๊ฟท์คิดไว้ เธอจึงได้พบกับผู้จัดละครคนหนึ่งนั่นคือตู่-ปิยวดี มาลีนนท์ ผู้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงอย่างเต็มตัว กิ๊ฟท์จึงได้เรียนรู้องค์ความรู้ด้านการแสดงมากมายผ่านการเวิร์กช็อปและคลาสเรียนการแสดง

ฉันถามกิ๊ฟท์ว่า เมื่อเธอได้เรียนรู้ทั้งจากในห้องเรียน และห้องเรียน องค์ความรู้ทั้งสองแหล่งนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

“คาบเรียนการแสดงที่คณะฯ เป็นการปูพื้นฐาน ขุดขึ้นมาตั้งแต่เท้าจรดหัวเลย ส่วนที่ได้ทำเวิร์กช็อปก็จะเป็นการทำความเข้าใจตัวละคร การเข้าถึงอารมณ์ ซึ่งมันก็คนละแบบ มันก็ทำให้หนูได้เรียนรู้ทั้งเทคนิคของละครทีวีและละครเวที แต่ถ้าถามว่าได้เปรียบมั้ย หนูว่าได้นะ เพราะมันทำให้หนูเอาความรู้หลายๆ อย่างมาผสมแล้วให้ทุกอย่างออกมาเป็นการแสดงในแบบของหนู ซึ่งหนูไม่ได้ยึดแบบไหนเป็นหลัก แต่ก็ดีทั้งคู่ค่ะ” กิ๊ฟท์อธิบาย

ใช่-เธอเรียนรู้ผ่านการแสดง ยิ่งละครเรื่องใหม่ของเธออย่างกลับไปสู่วันฝัน กิ๊ฟท์ต้องเล่นเป็นสองตัวละครในคราวเดียว ทำให้มิติการแสดงของกิ๊ฟท์ท้าทายกว่าเดิมหลายเท่า ดังนั้น กิ๊ฟท์ยังต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพราะโลกของการแสดงต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

“สุดท้ายสิ่งที่หนูเรียนมาคือสื่อสารการแสดง ก็รู้สึกดีว่ามันได้ใช้ความรู้ตรงนั้น แต่สุดท้ายคนเป็นนักแสดงจะทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้วไม่ได้ค่ะ เพราะอย่างหนูเอง ประสบการณ์ยังไม่ได้เยอะขนาดนั้น เพราะหนูยังไม่ได้ลองซีรีส์ ไม่ได้ลองภาพยนตร์ แล้วศาสตร์ของการแสดงมันมีเยอะแยะมาก มีวิธีการแสดงเยอะมาก แม้กระทั่งจังหวะการพูดก็พูดได้หลายแบบมาก หนูชอบที่หนูได้รับบทแตกต่างกันออกไป เพราะว่ามันทำให้หนูได้เรียนตัวละคร เหมือนเรียนรู้คนอีกคนหนึ่งอะ ยิ่งถ้าหยุดที่จะเรียนรู้อะ คุณเป็นนักแสดงที่ดีที่ไม่ได้”

 

Scene 4

กองถ่ายละคร / ภายใน / กลางคืน

 

กิ๊ฟท์ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ให้ทำงานหลากหลาย จุดเริ่มต้นของเธอเริ่มจากที่ได้รับบทสมทบในละครหลังข่าวเรื่องหนึ่ง ทำให้เธอเข้าสู่โลกของการทำงานแบบฉบับนักแสดงมืออาชีพอย่างเต็มตัว ละครเรื่องแล้วเรื่องเล่าที่เธอได้รับบทต่างๆ ล้วนแต่เป็นการพิสูจน์ความสามารถและช่วยดึงเอาศักยภาพของเธอออกมาใช้อย่างเต็มกำลังที่เธอมี

ตราบาปสีชมพู

คือละครเรื่องแรกที่เธอมีชื่ออยู่ในลำดับต้นๆ ในฐานะตัวร้ายของเรื่อง ละครเย็นที่ออกอากาศช่วงหนึ่งทุ่มของวันธรรมดาขนาด 24 ตอนจบสามารถทำเรตติ้งได้สูงสุดถึง 4 ซึ่งเยอะกว่าละครหลังข่าวที่ออกอากาศในสล็อตเดียวกันทั้งชุด

“คุณว่าการที่ละครเย็นเรตติ้งดีกว่าละครหลังข่าว มันกำลังบอกอะไร” ฉันสงสัย

“จริงๆ มันก็คือละครเหมือนกันค่ะ แต่จริงๆ หนูคิดว่าที่คนดูชอบละคร ก็เพราะด้วยเคมีของนักแสดงหลายๆ คน แล้วการที่ทีมงานทุกคนตั้งใจทำละครให้ออกมาดี บทละครส่งให้นักแสดงเล่นได้ดี

“หนูเลยคิดว่ามันอยู่ที่ความตั้งใจในการทำงานของทุกฝ่ายมากกว่าค่ะ” กิ๊ฟท์ตอบคำถามของฉัน

เสียงชื่นชมที่เธอได้รับ (ถึงแม้จะมาในลักษณะที่ว่า “หมั่นไส้ตัวละครจังเลย” “ถ้าชญามีตัวตนจริงๆ คงไม่มีใครคบแน่ๆ”) และเรตติ้งที่ดี เหมือนเป็นรางวัลที่เธอได้รับจากผลงานที่เธอและนักแสดง รวมถึงทีมงานทุกคนทำงานกันอย่างหนักหน่วง

แล้วนักแสดงหน้าใหม่อย่างเธอรับมือกับคำชมอย่างไร

“จริงๆ หนูไม่ค่อยยึดติดกับอะไรเท่าไหร่ค่ะ คำชมเข้ามาแล้วมันก็แค่ผ่านไป จากนั้นยังไงต่อ เราก็ต้องไปทำงานไง หนูเป็นคนที่ไม่ชอบคำว่าดารานะคะ หนูคิดว่าตัวเองคือนักแสดง เพราะหนูรู้สึกว่าสิ่งที่หนูทำมันคืออาชีพ แล้วงานที่หนูทำออกมาดี ทำให้คนอยากรู้จักเรา ดังนั้น ถ้ามีคนชม มีคนยินดี หนูก็ขอบคุณ แต่ถ้าไม่ยินดีก็ไม่เป็นไร เพราะหนูก็ทำงาน เพราะนี่มันก็คืองานของหนู” กิ๊ฟท์ตอบคำถามของฉัน

 

Scene 5

บนรถในการจราจรที่แออัด / ภายใน / กลางคืน

 

กลับมาที่เรา-ที่กำลังสนทนากันผ่านปลายสาย กิ๊ฟท์กำลังนั่งอยู่ในรถและคุยกับฉัน

สิ่งที่ฉันสงสัยอย่างหนึ่งคือ กิ๊ฟท์ประกอบอาชีพนักแสดง ซึ่งใครที่อยากประกอบอาชีพนี้ต้องคำนึงถึงรูปลักษณ์หน้าตาที่โดนใจมหาชนเป็นอย่างแรก

จากปมด้อยที่เคยโดนดูถูกจังๆ ต่อหน้าว่าเธอไม่สวย ฉันกลับแปลกใจว่าเธอไม่ได้อยากพัฒนาตัวเองให้สวยตามค่านิยมหรือกระแสสังคม แต่สิ่งที่เธอเชื่ออยู่ตลอดมา คือคำสอนของแม่ที่บอกไว้ จนเธอนำมาปรับทัศนคติของตัวเองให้เชื่อมั่นในความงามของตัวเองจากภายใน

 “หนูเป็นคนที่ชอบความหลากหลายค่ะ เพราะถ้าคนเรามันเหมือนกันหมด มันก็ไม่ใช่คน มันก็เป็นหุ่นยนต์สิ นึกออกมั้ยคะ ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างแมวค่ะ ลายก็ยังต่างกันเลย มันคือความหลากหลายของโลกใบนี้ แล้วหนูก็เชื่อว่าว่าไอ้ความหลากหลายพวกนี้มันมีความสวยงามในตัวของมัน แล้วมันก็สวยในแบบของตัวเองด้วย แต่คนอาจจะคิดว่าผู้หญิงที่ดีต้องสวย ต้องจมูกโด่งนะ ซึ่งสำหรับหนูมันไม่ใช่ ก็แค่มั่นใจแล้วแบบ เป็นตัวของตัวเอง มั่นใจไปเลย เพราะแค่เชื่อแล้วเสน่ห์มันจะออกมาเอง”

กิ๊ฟท์บอกให้ฉันลองฟังเพลง Born This Way ของ Lady Gaga แล้วจะเข้าใจในสิ่งที่เธอพยายามสื่อสาร

ฉันเห็นด้วยกับเธอทุกประการ

ความฝันของกิ๊ฟท์คือการได้ทำภาพยนตร์สักเรื่องที่เธอลงมือกำกับเอง ซึ่งกว่าจะถึงความฝันตรงนั้น สิ่งที่เธออยากทำคือการรับบทใหม่ๆ ที่ท้าทาย เพื่อให้เธอได้พัฒนาศักยภาพทางการแสดงของเธอ

เราไม่รู้ว่าเส้นทางในวงการของเธอจะไปสุดตรงไหน แต่ตอนนี้ เธอกำลังพิสูจน์ตัวเองอย่างเข้มเข้นผ่านงานแสดงที่เธอมี

และฉันก็เชื่ออีกว่า ความตั้งใจที่เธอทำทั้งหมด คงส่งผลให้เธอก้าวไปสู่วันฝันของเธอได้ในสักวันหนึ่ง

 

เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ bottomlineis.co | พฤศจิกายน 2562

Contributors

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด