ทอม-โพธิสิทธิ์ ช่างภาพแฟชั่นผู้กดชัตเตอร์เพื่อสะท้อนและช่วยเหลือสังคมในช็อตเดียว

ทอม-ธีรภัทร โพธิสิทธิ์ คือช่างภาพฝีมือดีที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ ทั้งภาพถ่ายที่เป็นสะพานให้คนไทยในต่างแดนมีโอกาสแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ภาพถ่ายแฟชั่นตามหน้านิตยสาร หรือภาพถ่ายแฟชั่นสำหรับนิตยสารทั้งในหรือต่างประเทศ รวมทั้งภาพถ่ายแคมเปญต่างๆ ซึ่งใช้ความเป็นแฟชั่นสอดประสานในประเด็นทางสังคมทั้งการเมืองที่ดุเดือด ความไม่เท่าเทียม หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งจุลภาคและมหภาค

แน่นอน-การเล่นประเด็นทางสังคมเหล่านี้ยอมมีทั้งเสียงตอบรับทั้งเป็นดอกไม้และก้อนหิน

ระยะเวลาหลายสิบปีย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์สำคัญต่อใครสักคนถึงการสร้างและผลิตงานให้เป็นที่ยอมรับ รวมทั้งเป็นแบบทดสอบสำคัญถึงความอดทน ความเข้มแข็งที่มาในรูปแบบของคำคอมเมนต์จากโลกจริงหรือโลกจอ การถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า หรือการต่อสู้กับปัญหาทั้งกายและใจที่ดาหน้าเข้ามาทดสอบอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ว่าปัญหาอะไรก็ตาม แทบไม่ส่งผลต่อจุดยืนหรือความตั้งใจในการทำงานของเขาแม้แต่น้อย

หนำซ้ำปัญหาบางอย่างที่เข้ามา เขายังใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานใหม่ๆ ด้วย

งานล่าสุดของเขาคือแคมเปญที่เขาร่วมกับ Pixerf Asia ในฐานะ Master Brand Ambassdor คนแรกของประเทศไทยที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างช่างภาพไทยฝีมือดีมากมาย กับเว็บไซต์ซื้อขายภาพถ่ายที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในโปรเจคต์ที่ชื่อว่า under/exposed

เราทานกลางวันกันที่ร้านอาหารใจกลางสุขุมวิท พร้อมสนทนาแบบนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

นับหนึ่งเพื่อทบทวนชีวิตที่ผ่านมา

นับหนึ่งเพื่อตกตะกอนสิ่งที่เกิดขึ้น และถอดบทเรียนที่ทอมได้รับจากประสบการณ์เหล่านั้น

เพราะสำหรับทอม ประสบการณ์ที่ผ่านมาตลอดช่วงชีวิตของเขา คือเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการสร้างผลงานออกมา

อย่างที่เขาย้ำกับฉันเสมอตลอดการสนทนา

 

จักรเย็บผ้า แม่สี และการตีกรอบศิลปะ

“ชีวิตของคุณเติบโตมากับอะไรบ้าง”​ ฉันเริ่มบทสนทนาหลังจากเครื่องดื่มแก้วแรกถูกเสิร์ฟ

“โตมากับความโดดเดี่ยว ความแข็งกร้าว และความอ่อนโยน”

ทอมเติบโตมากับน้าสาวผู้ประกอบอาชีพช่างเย็บผ้าเป็นหลัก เพราะแม่ของเขาต้องเป็นเสาหลักในการทำงาน ซึ่งอาจทำให้โลกของเด็กน้อยคนนั้นโดดเดี่ยวบ้าง แต่การชื่นชมธรรมชาติรอบตัวในละแวกบ้านทั้งสายน้ำคลอง สัตว์น้ำ หรือสัตว์เลี้ยงบางอย่าง คือการปลูกฝังสำคัญที่ทำให้ทอมเห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัว

“การโตมากับน้าสาวทำให้เราสนใจเรื่องของแฟชั่น แต่พอเรียนช่วงประถม มันเป็นช่วงที่เรายังค้นหาตัวเองไม่เจอ เพราะเด็กๆ เราจะรู้อยู่ว่าเราจะต้องเรียน ต้องสอบ เราไม่เคยไปเจอโลกภายนอก เราไม่เคยได้เรียนรู้ว่า นอกจากโรงเรียนเราแล้วมันมีอะไรอีก โดยเฉพาะวิชาศิลปะ

“เรามีปมเรื่องหนึ่งคือแม่สี 3 สี เราระบายสีโปสเตอร์ลงกระดาษแต่สะลับกับตัวอย่างที่คุณครูให้มา ครูก็บอกว่า ทำไมทำแบบนี้ อันนี้มันผิด กลายมาเป็นปมเล็กๆ ในชีวิตเราว่า ทำไมศิลปะจะต้องมาจำกัดแค่สิ่งที่เราถูกสอนมา จากนั้นเราก็ทำแค่ส่งอาจารย์ตามที่บอกมา ซึ่งมันไม่ได้เปิดโลกให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้วศิลปะมันคืออิสระในการคิด หรือว่าการสร้างสรรค์สิ่งที่เรารู้สึก” ทอมเล่าถึงความทรงจำที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับการเรียนศิลปะให้ฉันฟัง

 

 

การเดินทาง สร้างตัวเลือกใหม่

เมื่อข้ามวัยจากวัยเด็กสู่วัยรุ่น ทอมกลายเป็นเด็กที่ออกสังคมราตรีเป็นประจำ เขาใช้ชีวิตสุดโต่งในระดับที่มีปาร์ตี้ที่ไหน ต้องมีทอมที่นั่น

จนถึงจุดเปลี่ยนใหญ่ในชีวิตที่ทอมไม่คาดคิด หลังจากทอมได้รับทุนแลกเปลี่ยนนักเรียนไทยในต่างประเทศที่สหรัฐอเมริกา ภาพฝันแบบ American Dream ในยุค 90 คือสิ่งที่ทอมมีในความคิด เขากำลังจะได้เจอกับความซิวิไลซ์ ความเจริญ แสงสีแบบฉบับอเมริกันที่เราเห็นในหนังบล็อคบัสเตอร์

เปล่า เพราะเมืองที่ทอมได้ไปอาศัยจริงๆ คือนอร์ท ดาโกต้า ที่ใช้เวลาเดินทางกว่า 20 ชั่วโมง

“พอลงเครื่องปุ๊บ สิ่งที่เราเห็นมันไม่เหมือนกับที่เราคิดไว้เลย แต่เราให้โอกาสตัวเองบอกว่าลองไปก่อน ลองนั่งรถไปดู จากสนามบินไปหมู่บ้านที่เราอยู่มันสามชั่วโมง ระหว่างทางไม่มีอะไรเลยนอกจากทุ่งข้าวโพด พอไปถึงบ้านมันไปเจอบ้านที่จะต้องอยู่ มันเป็นบ้านดูแลผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางร่างกายและมีความต้องการพิเศษ มีผู้ป่วยสามคนต้องดูแล

“คืนนั้นขึ้นไปร้องไห้แล้วติดต่อโครงการว่าจะขอกลับบ้าน แต่เราก็คิดว่าถ้าวันเราอยู่ไม่ได้ สามเดือนกูก็อยู่ไม่ได้ อันนี้ก็คือกรอบที่คนอื่นสร้างให้ เราก็คิดว่าทำไมเราไม่สร้างตัวเลือกใหม่ขึ้นมาคือ อยู่เพื่อเรียนรู้ ก็เลยอยู่ เสร็จแล้วพอเราอยู่ เรารู้สึกว่า เฮ้ย การที่เราได้อยู่กับคนที่เขาโชคร้ายกว่าเรา เขาถูกครอบครัวเขาทิ้ง เขาไม่สามารถดูแลตัวเองได้ มันเป็นการเรียนรู้นะ การเรียนรู้สำหรับการพัฒนาตัวเองที่ยิ่งใหญ่มาก เราเรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่าง ยอมรับตัวเอง ยอมรับการเรียนรู้ใหม่ๆ เราเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหาคนอื่น เราเรียนรู้ที่จะย่อตัวเราลงมาให้เล็กเพื่อจะเข้ากับอะไรก็ได้ เราเรียนรู้ที่จะให้โอกาสตัวเอง สร้างประสบการณ์ของตัวเองเพื่อส่งต่อประสบการณ์ของตัวเองให้คนอื่นได้เรียนรู้ อันนี้คือสิ่งที่ได้เรียนรู้ จนเราตัดสินใจอยู่ถึงสองปี”

 

แค่กดชัตเตอร์ ชีวิตก็เปลี่ยน

จากนั้นทอมกลับมายังเมืองไทยในปีที่ประเทศไทยเจอกับปัญหาเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ทอมเลือกที่จะศึกษาต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญจนจบการศึกษาในเวลา 5 ปีครึ่ง จากนั้นทอมจึงทำงานในแผนกจัดซื้อของโรงแรมจนพบกับตัวเลือกใหม่ ในการเรียนต่อด้านออกแบบภายใน

เมื่อจบการศึกษา ทอมได้ทำงานออกแบบภายในสมใจที่เรียนมา และได้พบกับคู่ชีวิตคนแรกของเขา ทอมกลายเป็นพ่อบ้านเต็มเวลา และติดตามคู่ชีวิตของเขาในการขับเครื่องบินเล็กไปยังประเทศต่างๆ

เหมือนเป็นชีวิตที่หวานหอมน่าอิจฉาแบบในละครหลังข่าว หากแต่นั่นคือความทรมานขั้นขีดสุด

เพราะทอมกลัวเครื่องบิน

“ไอ้ความกลัวเครื่องบินเนี่ยเราเลือกไม่ได้ไง จะอยู่บ้านก็อยู่ไม่ได้เพราะว่าสามีก็ไปบิน แล้วเราก็เป็นห่วง ก็ต้องไปบินกับเขา ก็เลยเริ่มหาวิธีการกำจัดความกลัวบนเครื่องบินด้วยการอ่านหนังสือบนเครื่องบิน เล่นเกมบนเครื่อง PSP ทำสมาธิ ถักโครเชต์ ทำทุกอย่าง ลองมาหมด แต่มันไม่ช่วย

“สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยลองก็คือเรื่องของการถ่ายรูป ตอนนั้นจำได้ว่ากล้องที่ใช้บนเครื่องบินคือกล้องคอมแพคเล็กๆ ก็เริ่มถ่ายภาพทางอากาศ เพราะว่านั่งเครื่องบินมันไม่มีอะไรให้ถ่าย แล้วก็เห็นว่าโลกเรามันมีหลายสิ่งมาก มันมีหลาย Texture หลายภูมิทัศน์ หลายฤดู หลายทรง มันเห็นความแตกต่างระหว่างแต่ละที่ ในขณะเดียวกันในช่วงเวลาแปดปีใช้ชีวิตกับสามีด้วยกัน บางเส้นทางเราจะต้องเดินทางไปในเส้นทางเดียวกัน แล้วเราเห็นความเปลี่ยนแปลงของสถานที่นั้นก็ถ่ายเปรียบเทียบ ทีนี้ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่าโลกมันกำลังไปในทิศทางที่มันแย่ลง อันนี้ก็เป็นประเด็นอีกอย่างหนึ่งก็เก็บเป็นประสบการณ์ การถ่ายรูปบนเครื่องบินในช่วงนั้นมันช่วยเราอย่างนึงคือช่วยให้เราหายกลัวเครื่องบิน”

ทอมศึกษาการถ่ายภาพอย่างจริงจังจากหนังสือที่หาซื้อได้ตามร้านหนังสืออย่างจริงจัง จนเริ่มเขียนลิสต์รายการที่เขาอยากเรียนรู้ เช่น การถ่ายภาพมาโคร ภาพวิว จนมาถึงภาพพอตเทรตและแฟชั่นที่ทำให้ทอมเริ่มหลงไหลเสน่ห์ของการถ่ายภาพคน

“ตอนนั้นเราลงเครื่องที่อียิปต์ เราใช้กล้องที่ซูมดิจิทัลในตัวไปถ่ายรูปแขกคนหนึ่งที่ยืนหน้าพีระมิด แล้วเขาดันหันมาหาเราพอดี เขาก็เรียกเราไปหา เราก็เข้าใจผิดว่าให้ลบ แต่เขาบอกว่า จะถ่ายก็บอกสิ (หัวเราะ) ภาพที่ออกมาวันนั้นคือภาพที่เราชอบมาก แล้วเรารู้สึกว่ามันดีนะเว้ย การสั่งคนแล้วมันได้ภาพที่เราต้องการ พอกลับมาเมืองไทยก็หัดถ่ายพอตเทรตแต่ก็ยังไม่ใช่ภาพที่เราชอบ เพราะว่าบางทีคนใส่เสื้อผ้าแล้วเราขัดใจ บางทีคนนี้ควรจะเหมาะกับเสื้อผ้าแบบนี้ เราก็เลยเริ่มศึกษาเรื่องของการถ่ายภาพแฟชั่นพอตเทรต” ทอมเล่า

การเรียนรู้ด้วยตัวเองของทอมไปจนสุดทางถึงขนาดที่เขาสอบเข้า New York Institute of Photography ได้สำเร็จ แต่การเข้าคลาสเรียนทำให้เขาพบว่า ความรู้ที่เขาได้พบเจอในห้องเรียนนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการจะเรียนรู้ เขาจึงทิ้งคอร์สเรียนและศึกษาด้วยตัวเองในเวลาต่อมา

 

LAST FAREWHALE

ทอมกลายเป็นช่างภาพแฟชั่นในเวลาต่อมา หลังจากการฝึกฝนและผ่านมางานอย่างเข้มข้น

แต่สิ่งหนึ่งที่เขาตระหนักเสมอหลังจากเสร็จงานแล้วเดินกลับบ้านคือ การทำงานที่ต้องเซ็ตหรือสร้างความไม่จริงขึ้นมาเพื่อบันทึกเป็นภาพสำหรับใช้ในสื่อต่างๆ มันคือภาพฉาบฉวยแห่งโลกมายาทั้งสิ้น

เพราะความจริงบนท้องถนนหรือสองข้างฟุตปาธคือ คุณภาพชีวิตที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของคนชั้นล่าง และสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายอย่างรุนแรงขึ้นทุกวัน

“ย้อนกลับไป 12 ปีที่แล้วที่เราเริ่มทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์คือ การนั่งเครื่องบินถ่ายภาพพะยูนทางอากาศ พอเราถ่ายพะยูนได้ ก็มีหน่วยงานมาชวนให้เราถ่ายปลาวาฬ ถ่ายโลมา ถ่ายเต่า ก็กลายมาเป็นอีกเรื่องในชีวิตเราที่ไม่เคยสนใจมาก่อน แต่พอเห็นแล้ว เอ้า น่าสนใจว่ะ ความสามารถของเรามันสามารถทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้ จุดนั้นทำให้เราเชื่อมากว่า ทุกคนมีความสามารถอะไรบางอย่าง ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ความสามารถในด้านไหน

“หลังจากช่วงที่สำรวจประมาณ 6 ปี ก็มีข่าวปลาวาฬตายกลางทะเลแล้วเราเห็นแล้วก็รู้สึกว่า ตายได้ยังไงวะ ตัวใหญ่ขนาดนี้ ประกอบกับแคมเปญที่ผ่านมาที่บอกว่า จำนวนปลาวาฬ 30,000 ตัวลดลงทั่วโลก แล้วในประเทศไทยคนที่รู้เรื่องว่าอ่าวไทยหรือทะเลไทยมีปลาวาฬน้อย ตอนนั้นเห็นวาฬตัวนี้อยู่กลางทะเลแล้วเราก็รู้สึกว่า มันคงจะเปรี้ยวนะว่าถ้าเอานางแบบขึ้นเรือแล้วไปยืนอยู่หน้าซาก ภาพมันคงสวยมาก แล้วเราก็รู้สึกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้มันจะสร้างความสนใจให้กับสาธารณชนเยอะ แต่คนที่จะซวยคือ กรมทรัพย์ ทรัพยกากรทางทะเลและชายฝั่งว่า ทำทำไม

“ก็เลยปรับมาหน่อยว่าเป็นแฟชั่นกับซากวาฬมั้ย ตอนนั้นเราอยู่ภูเก็ต แล้วก็คุยกับทุกคนที่รอบตัว ทุกคนบอกว่า มึงจะบ้าเหรอ เอานางแบบแฟชั่นไปอยู่กับซากวาฬ อดีตสามียังบอกเลยว่า ยูทำไม่ได้หรอก มันไม่เหมาะสม ไอ้คำพูดพวกนี้มันยิ่งผลักเราให้ยิ่งอยากทำ เพราะว่ามันทำไมถึงทำไม่ได้ ทำไมถึงเป็นไปไม่ได้ เราจะบอกทุกคนเสมอว่า ห้ามพูดคำว่าทำไม่ได้ก่อนลงมือทำ ก็เลยปรึกษากับทางกรมทรัพย์ฯ ว่า ถ้าจะขอเข้ามาถ่ายเซ็ตแฟชั่นกันวาฬได้มั้ย แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลคนนึงที่เชื่อ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพะยูน เขาก็บอกว่า พี่รู้จักเรามานาน พี่รู้ว่าความตั้งใจของเราดี พี่เชื่อ เราลงมือทำ แต่ถ้าเกิดเรื่องไม่ต้องบอกนะว่าเกี่ยวข้องอะไรกับกรมทรัพย์ฯ (หัวเราะ)”

นั่นคือจุดเริ่มต้นในการถ่ายภาพเซ็ต LAST FAREWHALE ที่อยากให้คนตระหนักถึงการเสียชีวิตของวาฬทะเล ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากภายใน 24 ชั่วโมงจนงานสำเร็จเสร็จสิ้น หากแต่ความตั้งใจแรกที่จะเผยแพร่งานนี้ในนิทรรศการเกี่ยวกับปลาวาฬที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกาต้องสะดุดลง เมื่อมีนักข่าวแอบถ่ายภาพจากกองถ่ายไปเผยแพร่ในพื้นที่สื่อ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง

ทอมจึงแก้เกมอย่างเจ็บแสบด้วยการอัพโหลดภาพทั้งหมดลงสื่อโซเชียล แทนที่จะเจอเสียงก่นด่า ภาพถ่ายเซ็ตนี้กลับทำงานโดยอัตโนมัติ ทำให้กระแสตอบรับบรรลุไปตามจุดประสงค์ของภาพที่วางไว้ตั้งแต่ต้น

 

ANATOMY 101

ปี 2557 คือปีที่ทอมล้มป่วยด้วยอาการไตติดเชื้อจากผลพวงที่ทอมมีไต 3 ข้าง จนส่งผลให้เขาไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติ เขากลายเป็นผู้ป่วยนอนติดพื้นที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้เช่นมนุษย์ทั่วไป

ทอมบอกฉันว่า นั่นคือช่วงชีวิตหนึ่งที่เขาตกตะกอนตัวเองได้เยอะมาก

“ตอนนั้นคิดว่าชีวิตจบแล้ว คลานก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ จากคนที่ใช้ชีวิตแบบโลดโผน กลายเป็นผู้ป่วยติดพื้น ไม่ได้ติดเตียงด้วย ก็นอนคิดแล้วทำให้เรารู้สึกว่า อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ แล้วจงลงมือทำ อย่าไปเสียดาย อย่าไปคิดว่าคนจะคิดกับเรายังไง เพราะตอนนั้นเราคือไม่ได้ห่วงแล้วว่าใครจะมองเรายังไง”

ทอมต้องเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จนหายดีเป็นปกติ ระหว่างคัดกรองเขาเห็นผู้ป่วยที่เข้ารับการคัดกรอง รักษา และเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เขาจึงเกิดคำถามว่า ทำไมผู้คนถึงไม่ค่อยบริจาคอวัยวะกัน

จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำข้อมูลกว่า 16 แผ่นสไลด์เพื่อโครงการถ่ายภาพรณรงค์การบริจาคอวัยวะ โดยได้รับความสนใจจากบุคลการในโรงพยาบาลฯ จนกระทั่งทีมงานได้เห็น Reference จากสไลด์ของทอม

ทีมงานเกิดเปลี่ยนใจ เพราะภาพที่ทอมนำเสนอขัดกับภาพลักษณ์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทั้งหมด อีกทั้งโรงพยาบาลจะมีอายุครบ 100 ปีในปีนั้น

ทอมจึงสะท้อนภาพจำบางอย่างของโรงพยาบาล ด้วยการเตรียมสไลด์แผ่นที่ 17 และ 18 ด้วยภาพประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาล พร้อมกับตั้งคำถามกับทีมงานในห้องนั้นว่า

“จะอยู่กันอย่างนี้จริงๆ เหรอ”

จนสุดท้ายทีมงานอนุญาตให้ลงมือทำโครงการนี้ แต่อยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสม ทอมจึงร่วมมือกับปุย-สุรชัย แสงสุวรรณ ช่างภาพฝีมือดีอีกคนในการทำโครงการนี้ให้เสร็จสิ้น โดยได้รับความอนุเคราะห์จากแบบและทีมงานอาสาสมัครกว่าร้อยชีวิต

จนมาถึงขั้นตอนแสดงงานที่ทอมเลือกอาคารจักรพงษ์ ซึ่งเป็นอาคารคัดกรองผู้ป่วยของโรงพยาบาล ถึงแม้ว่าคุณหมอจะไม่แนะนำให้จัดแสดงงานในอาคารดังกล่าว แต่ทอมออกแบบพื้นที่จัดแสดงงานด้วย Installation Art ที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกแฟชั่นอันเป็นมายา และโลกแห่งความเป็นจริงคือพื้นที่ในโรงพยาบาล พร้อมกับการท้าทายผลสัมฤทธิ์ของภาพถ่ายคือ การตั้งโต๊ะรับบริจาคอวัยวะ

ผลลัพธ์คือ การจัดแสดงภาพถ่าย 8 วัน มีผู้ลงทะเบียนบริจาคอวัยวะกว่า 545 คน

นั่นหมายความว่า ภาพเหล่านั้นได้ทำหน้าที่ของมันจนสำเร็จแล้ว

 

under/exposed

สิ่งที่ทอมลงมือทำมาหลายปี สัมฤทธิ์ผลและทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างที่เขาสมควรได้รับ ถึงเวลาแล้วที่เขาจะส่งต่อโอกาสให้กับช่างภาพที่มีความตั้งใจเหมือนเขา

“ประมาณ 2 ปีที่แล้วทำโครงการชื่อว่า Qrated Collection ก็เป็นโครงการที่เรารวบรวมผลงานของศิลปินช่างภาพไทยที่คิดว่ามันจะไปเหมาะอยู่ตามบ้านคน เพราะศิลปินไทยมีศักยภาพมากในการทำงานพวกนี้ แต่สิ่งที่ขาดก็คือเรื่องของความกล้า แล้วก็เรื่องของการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง เราอยากจะเป็นตัวเชื่อมตรงนี้สร้างความมั่นใจให้กับคนที่ทำงานกับภาพถ่าย แต่ด้วยทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดโดยเฉพาะเรื่องของเวลา มันต้องหยุดไป”

จนทอมได้รับเลือกให้เป็น Pro Ambassador ของ Pixerf Asia ซึ่งเป็นเว็บไซต์ซื้อขายภาพถ่ายที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง กระทั่งเขาได้รับโอกาสในการแสดงศักยภาพให้เป็น Master Pro Ambassador แต่ทอมได้ยื่นเงื่อนไขที่แทบไม่มีใครกล้ายื่นมาก่อน

“เราบอกเขาไปว่า เราต้องมีอำนาจที่จะเลือกช่างภาพมาเป็น Brand Ambassador คนต่อไปจากประเทศไทยของฉันได้ องค์กรเค้าปั่นป่วนมากเพราะว่าปกติไม่เคยมีใครกล้ายื่นเงื่อนไขขนาดนี้ (หัวเราะ) แต่มันก็เป็นสิ่งที่เราเชื่อจริงๆ จากการทำ Qrated Collection ว่าเราอยากจะสนับสนุนตรงนี้จริงๆ จนทาง Pixerf เรียก CEO มาคุยทางโทรศัพท์ เราคุยกับเขาว่า ถ้าทำไม่ได้ แสดงว่าจริตเราไม่ตรงกัน เขาก็เลยบอกว่า มึงใช้ได้ (หัวเราะ) เราได้เป็น Master Pro Ambassador ภายใน 15 นาที ซึ่งหน้าที่หลักของเราก็คือ ช่วยเขาโปรโมตแบรนด์ และช่วยคัดศิลปินหน้าใหม่ๆ ในวงการภาพถ่าย ไปสู่แพลตฟอร์มของเขา​”

ทอมจึงใช้โปรเจคต์ under/exposed ที่ร่วมกับพระชัยพร ชินวโร ซึ่งจำวัดอยู่ที่วัดโพธิ์ ท่านมีความตั้งใจอยากสืบทอดศาสนาผ่านโลกปัจจุบันด้วยภาพถ่ายในพื้นที่วัดอันเป็นสถาบันที่ทรงคุณค่าของเมืองไทย จึงเกิดเป็นความร่วมมือที่ได้ช่วยสืบทอดวัฒนธรรม รักษาศาสนา และช่วยเฟ้นหาช่างภาพที่มีฝีมือดีและต้องการโอกาสในคราวเดียว

“วัดโพธิ์คือมหาวิทยาลัยทางการแพทย์แห่งแรกของไทย ช่วงที่ผ่านมาคนไทยห่างเหินจากการเข้าวัด งานภาพถ่ายไม่ใช่การพูดความรู้สึกของแค่ตัวเอง มันคือการถ่ายทอดบางอย่างที่คนอื่นสร้างไว้ หรือว่าโมเมนต์ของปัจจุบันที่เป็นบันทึกต่อผู้อื่น วัดโพธิ์มีทุกอย่างตั้งแต่นวดท่าฤาษีดัดตน จิตรกรรมฝาผนัง เจดีย์ของโปรตุเกส เราแจกโจทย์ช่างภาพคือ ไปถ่ายอะไรก็ได้ในวัดแล้วออกมาเป็นสไตล์ของตัวเอง

“สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่ว่าต้องการให้เขาโชว์ว่า เขาคือใคร แต่เราต้องการให้เขาเห็นว่า เขายังสามารถถ่ายภาพในสไตล์ของเขาในรูปแบบของเขาได้ มันมีแบบ มีกลยุทธหลายอย่างมากที่เราทดลองคนเหล่านี้ในโปรเจคต์นี้ สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือ ทุกคนได้รับคำแนะนำว่างานของแต่ละคนเป็นยังไง ควรจะไปต่อยังไง แต่อีกอย่างนึงก็คือการเสริมสร้างขาดความรู้ความเข้าใจในการทำงานศิลปะเป็นขั้นเป็นตอนว่า ทุกคนจะรู้ว่าถ่ายภาพเซ็ตติ้ง เราเรียนเซ็ตติ้ง เซ็ตแค่นี้ แต่ไม่มีมหาลัยไหนสอนว่า วิธีการเป็นศิลปินในระดับนานาชาติเป็นยังไง”

มื้ออาหารจบลง ฉันยังเหลือคำถามสุดท้ายที่อยากถามทอม

คำถามนั้นคือ ทอมใช้ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือเพื่อสื่อสาร Social Movement เพราะอะไร

“น่าจะเป็นเรื่องของการตระหนักรู้ตัวเองนะ พอโตขึ้นมาช่วงอายุ 30 ต้นๆ เรารู้สึกว่าเราโชคดีที่เราได้เห็นโลก ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง ความหลากหลายของวัฒนธรรม ของคน เพศสภาพ ทางด้านชั้นวรรณะ เพราะว่าในแต่ละที่ๆ เราไป คนที่เราไปเจอส่วนใหญ่จะเป็นคน High-Profile หรือคนที่มีคุณภาพชีวิตที่แย่มากๆ ตรงนี้เราเลยรู้สึกว่า เฮ้ย เราไม่ได้ยินดีกับการที่เราโชคดีนี้ขนาดนี้ เรารู้สึกว่า เรากำลังเอาเปรียบ เอาเปรียบ แล้วเรารู้สึกว่ามันน่าจะมีอะไรที่จะทำได้ เพื่อที่ให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แล้วเรารู้สึกดีขึ้นกับตัวเอง” ทอมตอบคำถามของฉัน

 

เรื่อง: สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์
ภาพ: บีซัน ตัน
ภาพประกอบ: ธีรฉัตร โพธิสิทธิ์
ขอบคุณสถานที่: ร้าน Gather Eatery & Bar สุขมวิท 49
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ artsvisual.co | กรกฎาคม 2562

Contributors

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด

บีซัน ตัน

ช่างภาพหุ่นหมี อารมณ์ดี มุกแป๊ก ปัจจุบันเป็นวิดีโอครีเอเตอร์ที่เว็บไซต์ท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง